ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : กว่าจะเป็นฟุตบอลสมัยใหม่

ก่อนที่ฟุตบอลจะกลายเป็นกีฬามหาชน ชนิดที่มีมหกรรมฟุตบอลโลกปาเข้าไปเป็นครั้งที่ 21 แล้วในปีนี้ (ทั้งๆ ที่จัดแข่งกัน 4 ปีครั้ง แถมยังหยุดแข่งไปอีกตั้ง 12 ปีในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกต่างหาก) ก็ต้องผ่านพัฒนาการมามาก กว่าที่จะเป็น “ฟุตบอลสมัยใหม่” อย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

ออสเตรเลียอาจจะเป็นชาติที่เล่นฟุตบอลได้ไม่เก่งฉกาจนัก เมื่อเทียบกับชาติมหาอำนาจของโลกฟุตบอลในยุโรปและอเมริกาใต้

แต่กลับกลายเป็นว่า ชนพื้นเมืองดั้งเดิมในทวีปพบใหม่แห่งนี้อย่างพวก “อะบอริจิ้น” กลับมีเกมที่ส่วนใหญ่จะใช้เท้าเตะลูกบอลเลี้ยงไว้บนอากาศ และห้ามให้บอลหล่นลงพื้น ที่เรียกว่า “มาร์น กรุก” (Marn Grook) ซึ่งบางครั้งก็เล่นเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ถึง 50 คนเลยทีเดียว

มาร์น กรุกนั้นมีมาก่อนที่ชาวตะวันตกจะมาสำรวจพบเข้าเสียอีกนะครับ นักประวัติศาสตร์บางคนประเมินกันว่าน่าจะเล่นกันมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้วเลยทีเดียว

ว่ากันว่าเมื่อครั้งที่พวกฝรั่งมาเห็นเข้าก็งงกันจนตาแตกเสียยิ่งกว่าไก่ เพราะพวกเขาเองตอนนั้นก็รู้จักกับเกมอะไรที่ใช้เท้าเตะลูกบอลอย่างนี้เหมือนกัน แต่นั่นก็เป็นของที่พวกเขาไปเอามาจากทวีปที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ไปค้นพบเข้าอีกทอดหนึ่ง

แน่นอนว่าผมหมายถึงทวีปอเมริกากลาง

 

แต่อันที่จริงแล้วอารยธรรมใหญ่ทั้งหลายในทวีปอเมริกา ไล่ตั้งแต่โอลเม็ก ไปจนถึงแอชเท็ก ต่างก็มีเกมบอล (ที่มี “ลูกบอล” ซึ่งทำขึ้นจากยางพาราผสมกับรากไม้เถามอร์นิ่งกลอรี่) เล่นกันบนลานสี่เหลี่ยมผืนผ้า ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอเมริกากลางเท่านั้น ในเกมบอลที่ว่า ผู้เล่นของทั้งสองทีมต้องเลี้ยงบอลให้ลอยอยู่กลางอากาศ ก่อนที่จะส่งบอลเข้าไปยังแดนตรงกันข้าม

สมัยที่นครเตโอติอัวกันในเขตประเทศเม็กซิโกปัจจุบันรุ่งเรือง (ประมาณ พ.ศ.650-1300) เกมนี้ถูกพัฒนาไปเป็นใช้ไม้มาตี และไม่ให้ใช้อวัยวะของร่างกายส่วนไหนไปกระทบเลย ส่วนในอารยธรรมแอชเท็ก (ราว พ.ศ.1850-2071) ได้มีการเพิ่มห่วงหินไปติดไว้ที่ด้านข้างของลาน คล้ายๆ กับบาสเกตบอล หรือเน็ตบอล

แต่ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นเกมบอลในอารยธรรมมายา (ระหว่าง พ.ศ.1350-1950) ของอเมริกากลาง ที่เอาเกมบอลพวกนี้ไปผูกเข้ากับตำนานการสร้างโลกเลยทีเดียว

 

คัมภีร์โปปอล วูห์ ของมายาเล่าเอาไว้ว่า กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีนักบอลสองคนพี่น้องถูกหลอกให้ไปแข่งบอลกับอมตเทพในยมโลก

แน่นอนครับว่าแข่งกับเทพใครจะไปชนะ?

และเมื่อแพ้แล้ว นักบอลคนหนึ่งก็เลยต้องถูกบูชายัญ โดยการนำศีรษะของเขาไปวางไว้ที่ใต้ต้นไม้ไปตามระเบียบ แต่เรื่องมันไม่จบแค่นั้น เพราะถึงจะเหลือแต่หัว แต่หัวของนักบอลคนนั้นก็ทำให้เทพธิดานางหนึ่งที่ผ่านมาโดยบังเอิญ ตั้งครรภ์ขึ้นมาได้มันเสียอย่างนั้น

พระนางจึงต้องถูกเนรเทศมาโลกมนุษย์กันแบบงงๆ และก็ได้ให้กำเนิดฝาแฝดคู่หนึ่งขึ้นมา แฝดคู่นี้เติบโตขึ้นไปตามกาลเวลา และได้กลายเป็นนักบอลที่เก่งฉกาจ ในที่สุดพวกเขาก็ได้ไปแข่งบอลที่ยมโลก แต่คราวนี้มนุษย์ (ลูกครึ่งเทพ) เป็นฝ่ายเอาชนะเทพเจ้าไปได้ พวกเขาจึงได้ศพของลุงและพ่อของตนเองมา ซึ่งพวกเขาก็เอาศพไปเก็บไว้บนท้องฟ้า แล้วกลายเป็นพระอาทิตย์กับพระจันทร์ไป

ถึงแม้ว่าเรื่องราวจะจบลงเพียงเท่านี้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า สำหรับชาวมายาแล้ว “เกมบอล” นั้นเป็นเหมือนกับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

เมื่อแรกที่โคลัมบัสสำรวจพบทวีปอเมริกา (โดยเข้าใจผิดว่าที่นั่นคืออินเดีย) ก็ได้นำลูกบอลที่ทำจากยางพาราเป็นองค์ประกอบหลักพวกนี้กลับไปอวดด้วย แต่ก็เท่านั้นแหละครับ ครั้งนั้นยังไม่มีใครใคร่จะใส่ใจสักเท่าไหร่ เพราะไม่ได้มีใครในยุโรปครั้งนั้นเห็นว่ามันเล่นกันอย่างไร?

ต้องรอจนกระทั่งในปี พ.ศ.2071 ที่พวกสเปนพิชิตแอชเท็กได้ เอร์นัน กอร์เตช จึงได้นำตัวผู้เล่นและอุปกรณ์ของเกมบอลที่ว่า ไปถวายความสำราญให้กับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 5 ถึงราชสำนักสเปน

แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่ได้มีกติกาที่ห้ามใช้มือโดยเด็ดขาด เหมือนเกมฟุตบอลในปัจจุบันนี้อยู่ดี

 

อารยธรรมใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลกตะวันออก อย่างจักรวรรดิจีน ก็มีหลักฐานการเล่นบอลกับเค้าเหมือนกัน มันเรียกว่า “คูจู” ที่มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเมื่อปี พ.ศ.337 เป็นอย่างน้อย

“คูจู” ซึ่งมีลูกบอลที่ผลิตขึ้นจากลูกหนังยัดไส้ด้วยขนนก เป็นเกมหมากเตะก็จริง แต่ก็มีการใช้มือผลักและกระแทกกันอย่างรุนแรงได้จนดูจะคล้ายกับรักบี้มากกว่าฟุตบอล

และก็เป็นเช่นเดียวกับเกมลูกบอลในทวีปอเมริกา ชาวจีนมีการปรับปรุงและพัฒนาลูกหนังของพวกเขาให้เบาและกลวงขึ้น รวมถึงปรับปรุงกติกามาตลอดหลายสมัย

จนกระทั่งเสื่อมความนิยมและหายสาบสูญไปในช่วงราว พ.ศ.1850

 

อีกหนึ่งอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกอย่างโรมัน ก็มีกีฬาที่คล้ายกับรักบี้ เช่นเดียวกับคูจู แต่ใช้ลูกบอลที่มีขนาดเล็กมากในการเล่น ชาวโรมเรียกมันว่า “ฮาร์ปาสตุม” (Harpastum) หรือที่พวกกรีกเรียกฮาร์ปาสตอน (Harpaston)

จากภาพจิตรกรรมของชาวโรมันที่พอจะหลงเหลืออยู่บ้าง แสดงให้เห็นว่าพวกโรมันก็ใช้มือในการเล่นกีฬาชนิดนี้ แต่มันก็เกี่ยวกับฟุตบอลที่ใช้เท้าเล่นอยู่ดีนะครับ เพราะเกมที่ยังคงมีการสืบทอดมาจนกระทั่งหายไปในสมัยกลางของยุโรปนี้ มีการรื้อฟื้นขึ้นมาเล่นใหม่ที่เมืองฟลอเรนซ์ในประเทศอิตาลี ในช่วงศตวรรษที่ 16 (ราว พ.ศ.2050-2150) โดยเรียกกีฬาชนิดนี้เสียด้วยภาษาอิตาเลียนว่า “giuoco del calcio fiorentino” หรือ “เกมเตะของชาวฟลอเรนซ์”

คำว่า “เตะ” นี่เองที่แสดงให้เห็นว่าในครั้งนั้นมันใช้เท้าเล่นเป็นหลัก คล้ายกับเกมฟุตบอลสมัยใหม่ และผิดไปจากในสมัยโรมัน

แต่สุดท้ายเมื่อช่วงศตวรรษที่ 18 (ราว พ.ศ.2250-2350) กีฬาชนิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป และเป็นได้ว่าถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่น มันจึงไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นจุดตั้งต้นของฟุตบอลสมัยใหม่

แต่ถึงอย่างนั้นก็เถอะนะครับ มรดกตกทอดของการรื้อฟื้นกีฬาโบราณของพวกโรมัน โดยชาวฟลอเรนซ์ก็คือคำว่า “calcio” ที่อ่านว่า “กัลโช่” (และแปลตรงตัวว่า “เตะ”) ซึ่งกลายเป็นคำสำหรับใช้เรียกชื่อลีกฟุตบอลของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน

ดังนั้น เขาจึงไม่นับกันว่าไอ้เจ้ากีฬาโบราณทั้งหลายที่ผมร่ายยาวมาทั้งหมดนั้น เป็นบรรพบุรุษสายตรงของเกมฟุตบอลสมัยใหม่ พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า เกมฟุตบอลในทุกวันนี้ ไม่ได้มีรากมาจากอารยธรรมระดับพี่บิ๊กในอดีตเลย

 

ว่ากันว่าฟุตบอลสมัยใหม่สืบทอดมาทางชนเผ่าเคลต์ (Celt) ทางชายขอบด้านตะวันตกของยุโรปต่างหาก (แต่ก็มีผู้สันนิษฐานไว้ด้วยว่า พวกเคลต์ไปเอากีฬาชนิดนี้มาจากการเล่นฮาร์ปาสตุมของโรมันอีกทอด)

ลูกบอลของชาวเคลต์ทำจากกระเพาะหมูที่ถูกเป่าลมเข้าไป และมักจะ “เตะ” (เพราะมันห้ามใช้มือนี่แหละ ถึงถูกเรียกว่าเป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลสมัยใหม่) กันในท้องทุ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างสองหมู่บ้านโดยไม่มีการกำหนดพื้นที่สนามชัดเจนนัก ซ้ำยังมีกติกาที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นเวลส์ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์ คอร์นวอลล์ หรือบริตตานี ก็มีกติกาไม่เหมือนกันไปหมด แต่เกมชนิดนี้ในสมัยก่อนถือว่าเป็นกีฬาของ “ไพร่” นะครับ ไม่ใช่เกมของผู้ดีอะไรเลย

เอกสารจากศตวรรษที่ 14 (ระหว่าง พ.ศ.1850-1950) บางชิ้นเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า “กีฬาชนบท” ที่กลิ้งลูกบอลขนาดใหญ่ไปด้วยเท้า แต่ก็เป็นกีฬาที่เถื่อนถ่อย ไร้ความสง่างามยิ่งกว่าการละเล่นใดๆ

แถมการแข่งขันจะดำเนินไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุดจนกว่าจะมีผู้เล่นบาดเจ็บ หรือเกิดความสูญเสียใดๆ ขึ้นเท่านั้น

จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ในหลายยุคหลายสมัย กษัตริย์ของอังกฤษจะมีพระราชโองการห้ามเล่นกีฬาชนิดนี้

(ยังมีบทบัญญัติห้ามเล่นกีฬาที่ว่าของแต่ละเมืองเป็นการเฉพาะด้วย น่าสนใจที่เมืองเหล่านั้นคือ แมนเชสเตอร์ ลิเวอร์พูล และแม้กระทั่งเลสเตอร์)

 

แต่ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็ตาม กีฬาประเภทนี้กลับถูกนำมาเล่นกันในโรงเรียนเอกชนชั้นสูงของอังกฤษ ในช่วงก่อน พ.ศ.2350 เพื่อใช้ในการสร้างเสริมความเป็นชาย และดึงพลังหนุ่มออกจากความเป็นรักร่วมเพศและการประกอบอัตกามกิจ (ใช่ครับใช่ ไทยเราไม่ใช่ประเทศแรกที่บอกกับวัยรุ่นว่าถ้ามีความต้องการทางเพศให้ไปเตะฟุตบอล!)

แต่ในสมัยนั้นสถานศึกษาแต่ละที่ก็ยังมีกติกาที่แตกต่างกัน เช่น อีตันกับชาร์เตอร์เฮาส์จะเล่นด้วยเท้า (แต่ก็ไม่ได้บังคับเสมอไป) ส่วนที่รักบี้กับมาร์ลเบอโรห์จะใช้มือเล่น

เราต้องรอจนกระทั่งมีการประชุมศิษย์เก่าจากโรงเรียนเอกชนไฮโซหลายแห่งเหล่านี้ขึ้นที่ผับภายในโรงแรม Lincoln”s Inn Fields ที่ชื่อ Freemason”s Tavern กรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ.2406 จึงได้มีการตรากฎเกณฑ์การเล่นฟุตบอลให้เป็นมาตรฐาน

และเป็นจุดเริ่มต้นของฟุตบอลสมัยใหม่ที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เพราะก็เป็นการประชุมครั้งนี้แหละที่มีการตรากฎห้ามใช้มือพาบอล ส่วนคณะตั้งกฎที่ว่า พวกเขาเรียกตัวเองว่า “Football Association” หรือ “FA” ซึ่งก็คือสมาคมฟุตบอลอังกฤษในทุกวันนี้

และนี่ก็เป็นที่มาที่ทำให้ทั่วโลกต่างถือกันว่า “อังกฤษ” เป็นต้นกำเนิดของฟุตบอลสมัยใหม่ ที่พัฒนามาจนการเป็นมหกรรมฟุตบอลโลกในทุกวันนี้นั่นเอง