วิรัตน์ แสงทองคำ : จุดเปลี่ยนสังคม (ธุรกิจ) ไทย ตอนที่ 1

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ก่อนมองภาพสังคมไทยในอนาคต คงต้องย้อนกลับไปในอดีต และจากร่องรอยแห่งอดีต จะสัมผัสได้ว่าสังคมไทยกำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน

ผู้คนมักถามถึงอนาคต คำถามที่ดังมากขึ้นๆ มีบางคำตอบสำเร็จรูป บ้างก็ว่า ควรมองข้ามสถานการณ์เฉพาะหน้า ดูคลุมเครือ ผมกลับคิดว่า สิ่งที่ควรทำก่อนคือย้อนมองอดีต

ภาพกว้างๆ ทั้งเหตุการณ์ทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ มีความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวทางธุรกิจเสมอ ควรนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ถือเป็นจุดเปลี่ยนทางสังคมครั้งใหญ่ครั้งแรก ด้วยมีผู้เกี่ยวข้องมากกว่าครั้งใดๆ และส่งผลกระทบวงกว้าง

นับตั้งแต่นั้นมาสังคมไทยได้เผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง ในทุกๆ ช่วงประมาณ 20 ปี ผ่านระยะหัวเลี้ยวหัวต่อราว 3-5 ปี หากเป็นไปตามสมมติฐานข้างต้น สถานการณ์ปัจจุบันคาบเกี่ยวกับช่วงที่ 4 (2540-2560) ควรจะอยู่ในข้อต่อแห่งการเปลี่ยนแปลง

 

ช่วงที่หนึ่ง (2475-2500)
ผลพวงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ปี2475 การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร จุดเริ่มต้นการปกครอง กับความพยายามอ้างอิงระบบรัฐสภา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้มีบทบาทเป็นนายกรัฐมนตรีคนสำคัญช่วงค่อนข้างยาวนาน (ช่วงที่หนึ่ง 2481-2487 และช่วงที่สอง 2491-2500) อยู่ในช่วงความขัดแย้งทางการเมือง เป็นกระแสหลัก ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจดำเนินไปอย่างจำกัด

สาระสำคัญเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่พระคลังข้างที่ จากบทบาทเป็นพลังเศรษฐกิจของราชสำนัก มาเป็นกลไกหนึ่งของอำนาจทางเศรษฐกิจคณะราษฎร

ปี 2476 กรมพระคลังข้างที่ เปลี่ยนเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่ ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 7 ทรงประกาศสละราชสมบัติ (ปี 2478) มีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2479 และในปี 2480 จัดตั้ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ

ในช่วงนั้นมีการแต่งตั้งบุคคลในคณะราษฎรเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ

ปี 2482 คณะราษฎรได้ตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ พยายามผูกขาดการค้าทั้งระบบ โดยรัฐบาลถือหุ้น 70% และสำนักงานทรัพย์สินฯ ถือหุ้น 30%

ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญ จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญครั้งแรกๆ ในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

ทว่าเป็นไปช่วงแค่ประมาณทศวรรษเดียว เมื่อสำนักงานทรัพย์สินฯ กลับเป็นหน่วยงานการลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ ไม่อ้างอิงกับภาวะการเมืองที่ผันเปลี่ยน

 

ช่วงที่สอง (2500-2520)
อิทธิพลสหรัฐยุคสงครามเวียดนาม

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (2502-2506) จากการรัฐประหาร อำนาจการเมืองรวมศูนย์และดูมั่นคง เปิดศักราชใหม่แนวทางเศรษฐกิจให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น

ในจังหวะอิทธิพลสหรัฐซึ่งกำลังขยายเข้ามาในภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ เป็นช่วงต่อเนื่องการปกครองของกลุ่มทหาร จากยุคจอมพลสฤษดิ์ สู่ถนอม-ประภาส (2506-2516) ขณะแนวทางทางเศรษฐกิจสืบทอดต่อเนื่อง

ปี 2502 สภาพัฒนาฯ หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจก่อตั้งขึ้น จากคำแนะนำช่วยเหลือของธนาคารโลก พร้อมๆ กับบีโอไอ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน อันเป็นช่วงการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐทั้งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการช่วยเหลือทางทหาร

เป็นความต่อเนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญในปี 2493 เมื่อสงครามเกาหลีระเบิดขึ้น สินค้าโภคภัณฑ์ไทยเป็นที่ต้องการอย่างมากในตลาดโลก โดยเฉพาะธุรกิจค้าส่งออกข้าว ซึ่งเคยผูกขาดโดยรัฐ จำต้องปรับเปลี่ยนสู่บทบาทของธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน

ท่ามกลางการก่อกำเนิดธุรกิจไทย ด้วยโอกาสเปิดกว้างครั้งประวัติศาสตร์ ก่อตั้งกิจการต่างๆ อย่างคึกคัก จากธนาคารสู่กิจการอื่นๆ ธุรกิจดั้งเดิมบางรายเคยผูกขาด เริ่มมีคู่แข่ง

โมเมนตัมรุนแรงมากยิ่งขึ้น ผู้มีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นๆ แรงกระตุ้นสำคัญมาจากกระแสคลื่นธุรกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะจากสหรัฐ

การลงทุนธุรกิจสหรัฐในไทยมาเป็นระลอก โดยเฉพาะสินค้าคอนซูเมอร์และสถาบันการเงิน

 

ช่วงที่สาม (2520-2540)
ช่วงเวลากลุ่มธุรกิจรากฐานเก่า
(Old Establishment)

จากสมมติฐานว่าสังคมธุรกิจไทยสถาปนาขึ้นอย่างจริงจัง หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กลุ่มธุรกิจรากฐานเก่า (Old Establishment) ควรหมายถึงกลุ่มธุรกิจเกิดก่อนหน้านั้นซึ่งมีไม่กี่ราย กับส่วนใหญ่ก่อตั้งขึ้นในช่วงต่อระหว่างช่วงที่ 1 และช่วงที่ 2 ส่วนช่วงที่ 3 เป็นเวลากลุ่มธุรกิจดั้งเดิมอย่างแท้จริง พัฒนาการและความเป็นไป แบ่งเป็น 3 ระยะ

ระยะที่ 1 – หัวเลี้ยวหัวต่อ หลังการรัฐประหาร ช่วงต่อเนื่องกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ธานินทร์ กรัยวิเชียร มาเป็นนายกรัฐมนตรี ประมาณ 1 ปี (8 ตุลาคม 2519-20 ตุลาคม 2520) รัฐประหารได้เกิดขึ้นอีกครั้ง มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่-พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อยู่ในตำแหน่งประมาณปีครึ่ง (11 พฤศจิกายน 2520-12 พฤษภาคม 2522)

เป็นระยะคาบเกี่ยวการสิ้นสุดสงครามเวียดนาม (ปี 2518) มาพร้อมกับ “ทฤษฎีโดมิโน” สร้างความวิตกโดยทั่วไป

จากปรากฏการณ์ขยายตัวคอมมิวนิสต์ จากเวียดนามสู่ลาว (ปี 2518) และเขมร (เขมรแดงปกครองปี 2518-2522) แดนต่อแดนกับประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับขบวนการคอมมิวนิสต์ไทยเติบโตขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม

นักศึกษาจำนวนนับหมื่นเข้าสู่เขตป่าร่วมขบวนการ

ธุรกิจไทยเริ่มต้นการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ ถือว่าเป็นครั้งแรกๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ปี 2522 วิกฤตการณ์ตลาดหุ้นในฮ่องกงส่งผลกระทบทั่วภูมิภาค รวมทั้งตลาดหุ้นไทยซึ่งอยู่ในระยะเยาว์วัย ก่อให้เกิดวิกฤตสถาบันการเงินไทย วิกฤตการณ์นั้นได้ทำลายโอกาส “หน้าใหม่” อย่างราบคาบ การล้มลงของสถาบันการเงินชั้นรองซึ่งรัฐเพิ่งเปิดให้มีขึ้นในช่วงก่อนหน้านั้น ขณะที่สถาบันการเงินมีธนาคารหนุนหลัง เผชิญบททดสอบ แต่ผ่านไปได้ ขณะที่ธุรกิจสหรัฐบางรายถอนการลงทุน กลับกลายเป็นโอกาสธุรกิจไทย

ระบบธนาคารครอบครัว ในฐานะแกนกลางของระบบเศรษฐกิจไทย ได้สถาปนาโมเดลแห่งความมั่งคั่ง (อ้างอิงแนวความคิดจากหนังสือ The Fall of Thai banking ของผมเอง) ขยายตัวจากธุรกิจธนาคาร สู่ธุรกิจข้างเคียงและธุรกิจอื่นๆ

ระยะที่ 2 – การเมืองไทยเข้าสู่ระบบเลือกตั้ง มีนายกรัฐมนตรีคนสำคัญอยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องถึง 8 ปี – พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2522-2531)

เป็นช่วงเวลาเดียวกันขบวนการคอมมิวนิสต์ไทย อ่อนกำลังลง (ตั้งแต่ปี 2522) ขบวนนักศึกษาทยอยออกจากป่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกับกรณี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เปิดความสัมพันธ์กับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2518) หลังจากรัฐไทยประสบชัยชนะต่อขบวนการคอมมิวนิสต์ กลุ่มธุรกิจดั้งเดิมเดินหน้าขยายกิจการครั้งใหญ่ รวมทั้งเครือข่ายธุรกิจสำนักงานทรัพย์สินฯ

ปี 2526 อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ครบวงจรลั่นระฆัง เป็นแผนต่อเนื่องจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย (ปี 2516) ธุรกิจดั้งเดิมเข้าร่วมวงอย่างคึกคัก เพื่อเข้าสู่โมเดลการสร้างมั่งคั่งใหม่ แม้ปลายยุคเปรม ติณสูลานนท์ มีการลดค่าเงินบาท (ปี 2527) ด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แต่เป็นระยะปรับตัวทางธุรกิจช่วงสั้นๆ ก่อนก้าวทะยานต่อไป

ระยะที่ 3 (2531-2540) เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า จากยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วง 2 ปีกว่าๆ (2531-2534) แม้มีรัฐประหารอีกครั้ง ได้นายกรัฐมนตรีชื่ออานันท์ ปันยารชุน (2 มีนาคม 2534-23 กันยายน 2535) แต่โมเมนตัมทางเศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อไป ต่อเนื่องไปถึงช่วงนายกรัฐมนตรีนักการเมืองจากระบบเลือกตั้ง (ชวน หลีกภัย 2535-2538 บรรหาร ศิลปอาชา 2538-2539 และยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ 2539-2540) ถือเป็นระยะสุดท้าย

นโยบาย “เปลี่ยนจากสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ยุคชาติชาย ชุณหะวัณ

สะท้อนความเชื่อมั่นว่าไม่เป็นไปตามทฤษฎีโดมิโน ขณะที่สงครามในกัมพูชาค่อยๆ สงบลง สัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่เริ่มต้น

ปี 2531 อัตราการเจริญเติบโตเศรษฐกิจไทย (GNP) ทะยานขึ้นเป็นประวัติการณ์ ถึง 13.2%

ธุรกิจญี่ปุ่นพาเหรดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง บางกรณีถือโอกาสเข้าครอบงำเข้าแทนที่หุ้นส่วนไทย บางส่วนเป็นแผนการร่วมทุนอย่างขนานใหญ่กับธุรกิจดั้งเดิม รวมทั้งมีเป้าหมายใหญ่ โดยเฉพาะแผนการผลักดันไทยเข้าสู่วงจรอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรัฐสนับสนุนอย่างเต็มที่

และแล้วปรากฏโฉม “หน้าใหม่” อีกครั้งที่สำคัญ เป็นผลผลิตจากกลไกตลาดหุ้นที่เปิดกว้างขึ้น ท่ามกลางดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้น ในปี 2533 ทำสถิติทะลุ 1,000 จุดเป็นครั้งแรก เป็นปีที่มีบริษัทจดทะเบียนถึง 214 แห่ง เพียง 3 ปีจากนั้น ดัชนีหุ้นไทยพุ่งทะลุ 1,500 จุด

 

ว่าไปแล้วไม่มีใครสนใจใครนัก ล้วนเป็นเวลาของทุกๆ คนก็ว่าได้ เวลาทำงานอย่างแข็งขันกับช่วงโอกาสเปิดกว้างอย่างแท้จริง บางกลุ่มธุรกิจแสดงบทบาทโลดโผนยิ่งขึ้น ก้าวเข้าสู่เวทีโลก ด้วยแผนการธุรกิจยุคสมัยเข้าซื้อกิจการต่างประเทศ

“เศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปในทศวรรษ 1990 นี้ จะเติบโต แข็งแรงและยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับสิ่งท้าทายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ และการเมืองภายในประเทศ ภายในภูมิภาค หรือระดับนานาชาติ” ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังในขณะนั้น แสดงปาฐกถา “ภาพรวมเศรษฐกิจทศวรรษ 1990” ในงานสัมมนา “ประเทศไทย : อนาคตสำหรับการเติบโตและการลงทุน” จัดโดย Euro Money Magazine (30 มีนาคม 2536) แสดงความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม เป็นช่วงเวลาเดียวกับประเทศไทยประกาศเปิดเสรีทางการเงินเต็มรูปแบบ

ไม่มีใครคาดคิดว่าสถานการณ์อันเลวร้ายกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า