มุกดา สุวรรณชาติ : สืบสวนดำเนินคดีทุกฝ่าย คือ ยุติธรรม หรือนิรโทษกรรม ให้พ้นผิด แล้วลืม (จบ)

มุกดา สุวรรณชาติ

ตอน 1

นิรโทษกรรม 6 ตุลา
ปฏิบัติการกลบฝังความจริง
ผ่านสภา 3 วาระรวด ในวันเดียว

การสืบพยานคดี 6 ตุลา 3 นัดหลัง ฝ่ายโจทก์ทำท่าจะกลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง แถมพยานยังบอกว่า ใครสั่ง ยิ่งสืบยิ่งลึก พอสืบพยานวันที่ 14 กันยายน จบ วันรุ่งขึ้น 15 กันยายน 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลาคม 2519 เข้าสู่ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร และดำเนินการอย่างรวดเร็ว พอๆ กับการสังหารหมู่

โดยให้บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

แต่การนิรโทษกรรมนี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น

พ.ร.บ. นี้ ผ่าน 3 วาระรวด ในวันเดียว มีคนค้านคนเดียว

ในค่ำวันที่ 15 หลังจากที่ประชุมผ่าน 3 วาระ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ก็บินไปยังตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

พล.อ.เกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 ว่า…

“ความผิดความถูกนั้นก็ไม่รู้ว่าใครผิด แต่อย่าไปนึกถึงดีกว่า เพราะยังก้ำกึ่ง ทุกคนอาจผิดก็ได้ในวันนั้น ศาลยังไม่ได้ตัดสิน แต่ทุกคนเห็นแล้วว่า การกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการกระทำต่อบ้านเมือง และการนิรโทษกรรมก็หมายถึงเลิกกันหมด ทั้งคนในป่า ทั้งประชาชน ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ทำตามกฎหมายบ้านเมือง”

โอกาสหาความจริงในศาลก็ยุติลง นี่คือการนิรโทษกรรมเหมาเข่งแบบ คนฆ่าลอยชาย เด็กๆ ตายฟรี

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหาที่ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ แต่ที่อยู่ในป่าก็ยังรบกันต่อไป

ผลประโยชน์มหาศาลที่ซ่อนอยู่
เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา

เหตุผลของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม ไม่น่าเกี่ยวกับฐานทัพ เพราะสงครามเวียดนามจบแล้ว ฐานทัพก็ออกไปแล้ว ไม่มีใครลงมือฆ่าคนเล่นๆ ไม่มีใครลงทุนให้ฟรี แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ชัด

ข่าวใหญ่และความวุ่นวายช่วงนั้นคือนักศึกษานับพันหนีเข้าป่า จับปืนทำสงครามกับฝ่ายรัฐบาล

แต่กลางเดือนธันวาคมหลังรัฐประหาร ก็มีข่าวเล็กๆ ที่ไม่มีใครสนใจปรากฏขึ้น

รัฐบาลเผด็จการได้ให้บริษัทบิลลิงตันของอเมริกากลับมาเป็นผู้ขุดแร่ในทะเลต่ออีก 5 ปี (หลังจากถูกถอนสัมปทานในปี 2518)

ทำให้ทั้งดีบุกและแทนทาลัมถูกกวาดไปเกือบหมดทั้งอ่าวพังงา ภูเก็ต ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

ไม่มีใครรู้มูลค่าแท้จริงของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม ว่ามหาศาลแค่ไหน กี่แสนล้าน แต่ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 6 ตุลา กำไรหลายเท่า

เขาหลอกให้ฆ่าคนในชาติเดียวกัน และก็หอบทรัพย์สินของเราใส่เรือกลับบ้าน คนไทยกลุ่มหนึ่งคงได้เศษมาแค่ 0.001%

ฉากการล่าเมืองขึ้นสมัยใหม่จบลงด้วยความภาคภูมิใจของกลุ่มคนโง่ที่เรียกตนเองว่าผู้รักชาติ

ในขณะที่พวกฝรั่งหัวเราะแล้วบอกว่า…หมูสยาม

พฤษภาทมิฬ 2535 คล้ายๆ ชนะ
แต่ก็ตายฟรีเหมือนกัน

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 นับเป็นการประท้วงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งต่อคณะผู้ทำการรัฐประหาร รสช. เมื่อเหตุการณ์จบลงมีความแตกต่างกับ 2 ครั้งแรก คือฝ่าย รสช. ยอมถอยแต่ก็มิได้พ่ายแพ้จนต้องหลบหนีภัยไปอยู่ต่างประเทศ ฝ่ายชนะสามารถปรับปรุงระบบการเมืองให้เป็นแบบประชาธิปไตยได้ แต่ผลของการต่อสู้ช่วงพฤษภาทมิฬมีผู้เสียชีวิต 44 และบาดเจ็บ 600

21 พฤษภาคม 2535 ตอนค่ำ โทรทัศน์เผยแพร่การเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง โดยทรงชี้แนะให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน

ต่อมา พล.อ.สุจินดา และ พล.ต.จำลอง ออกแถลงข่าวร่วมกัน โดย พล.อ. สุจินดา แถลงว่า จะปล่อยตัว พล.ต.จำลอง และออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุม และจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ส่วน พล.ต.จำลอง แถลงว่า ขอให้ผู้ก่อความวุ่นวายยุติการกระทำ

แกนนำการชุมนุมตัดสินใจสลายการชุมนุมที่รามคำแหงในเวลา 04.00 น.

แต่ พล.อ.สุจินดา ยังไม่ประกาศลาออกเพราะมีมือกฎหมายดี

บทเรียนของการนำคดี 6 ตุลาเข้าไปพิจารณาในศาล
ทำให้ผู้กุมอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับคดีจะไม่ยอมให้เกิดขึ้นอีก

23 พฤษภาคม 2535 รัฐบาล พล.อ.สุจินดา ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 โดยให้

“บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และได้กระทำในระหว่างวันดังกล่าวไม่ว่าได้กระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิด และความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง”

พ.ร.ก. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรม แบบกรณี 6 ตุลา คนฆ่าพ้นผิด ประชาชนตายฟรี

วันรุ่งขึ้น 24 พฤษภาคม 2535 พล.อ.สุจินดา จึงประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมอบหมายให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

แม้พรรคการเมืองฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยถึงความชอบธรรมของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ แต่สุดท้าย ศาลก็วินิจฉัยว่า

การตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ถึงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2535 ก็เป็นวิธีที่แก้ไขเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นให้เรียบร้อยลงได้ และให้เกิดความสามัคคีในประชาชนชาวไทยและเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติต่อไป ดังนั้น การตราพระราชกำหนดนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษารักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และเพื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ…

23 กันยายน 2535 หลังเลือกตั้งใหม่ ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 7 ตุลาคม 2535 ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมของรัฐบาลเก่า

28 ตุลาคม 2535 รัฐบาลชวน ส่งคำร้องให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เมื่อ พ.ร.ก. ตกไป จะมีผลย้อนหลังต่อการนิรโทษกรรมหรือไม่

9 พฤศจิกายน 2535 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. มีผลนับตั้งแต่วันที่ออก คือ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2535 และการพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิงนั้นย่อมมีอยู่ตลอดไป โดยไม่ถูกกระทบกระเทือนจากการที่พระราชกำหนดฉบับนี้ตกไป เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เพราะ พ.ร.ก. มีผล เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.

คดีอื่นๆ ซึ่งผู้กุมอำนาจรัฐเกี่ยวข้อง
กับการเสียชีวิตของประชาชน
โอกาสจะเข้าสู่ศาลจะยากมาก

ลองคิดดูว่าถ้ามีการนำคดีที่มีประชาชนเสียชีวิตเนื่องจากการชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เข้าสู่กระบวนการศาลยุติธรรม และนำสืบพยานทั้งโจทก์และจำเลยก็จะมีการซักไซ้ไล่เลียงว่า

กำลังที่นำมาปราบประชาชนมาจากไหน? มีใครบังคับบัญชา? ใช้อาวุธอะไร? เข้ามาเวลาไหน? ประจำการที่ใด? ทำไมบางหน่วยจึงใช้อาวุธยิงประชาชน และบางหน่วยไม่ยิง? ทำไมบางหน่วยยิงปืนขึ้นฟ้า รู้หรือไม่ว่ากระสุนที่ตกลงมาจากที่สูงสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ ฯลฯ

และคำถามทำนองเดียวกันนี้ก็สามารถนำไปใช้ในคดีอื่น

เช่น ถ้ามีการสืบพยานของคดีที่มีการสลายการชุมนุมในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 99 คน บาดเจ็บ 2,000 คน แม้สถานที่ที่เกิดเหตุ จะแตกต่างกัน ระยะเวลาก็ห่างกันหลายปี ช่วงเวลาที่เกิดเหตุในปี 2553 ใช้เวลานานนับเดือน เหตุเกิดหลายครั้ง ไม่มีทางอ้างได้ ว่าเป็นอุบัติเหตุ หรือเป็นการทำงานนอกเหนือคำสั่งของฝ่ายปฏิบัติการภาคสนาม

หน่วยทหารที่รับผิดชอบก็มีหลายหน่วยมีความแตกต่าง ทำไมบางหน่วยจึงไม่ใช้อาวุธยิงประชาชน แต่บางหน่วยใช้อาวุธร้ายแรง เช่น สไนเปอร์

ภาพของผู้ตายจำนวนมากเห็นชัดว่าเป็นชาวบ้านธรรมดา ถูกถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ

ทำไมผู้รับผิดชอบไม่รู้สึกสะเทือนใจต่อการเสียชีวิตของประชาชน

ยังมีคำถามมากมายเช่นทหารที่เข้ามารู้หรือไม่ว่ามาทำอะไรและใครคือเป้าหมายที่อยู่ข้างหน้าของตน

เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นทหารตำรวจหลายคนก็เคยอยู่ในหลายเหตุการณ์ คงเข้าใจและอยู่ในสภาพอึดอัด เห็นความแตกต่างของคำสั่ง

แสดงว่า นี่มิใช่การละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ใส่ใจ การกระทำของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแบบนี้ต้องเป็นนโยบายและยุทธศาสตร์ของผู้กุมอำนาจที่จะสั่งการ ถ้าจะบอกว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็มีข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็น

เช่น ม็อบ กปปส. ออกมาชุมนุมปิดถนนปิดกรุงเทพฯ ยึดกระทรวงทบวงกรม เกิดความเดือดร้อนมากกว่า กินพื้นที่มากกว่าการชุมนุมสี่แยกราชประสงค์หลายเท่า แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธสงครามเข้าปราบปรามได้

คนในวงการยุติธรรมบอกว่า…
ขึ้นอยู่กับคนใช้อำนาจ คนใช้อาวุธและคนใช้กฎหมาย

1.เมื่อมีความขัดแย้งทางการเมือง มีผลประโยชน์ขนาดใหญ่ของบุคคล หรือกลุ่มคน ผู้มีอำนาจจะต้องแสดงให้เห็น ความเคารพต่อสิทธิ และชีวิตของประชาชน เป็นการวัดจิตสำนึกของผู้มีอำนาจที่มองประชาชนว่าเป็นเพื่อนร่วมชาติ เป็นเพื่อนมนุษย์ …จึงจะหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตของประชาชนได้

2. เมื่อมีผู้เสียชีวิต กระบวนการยุติธรรม ควรจัดการให้ชัดเจนว่าผู้ทำผิด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบเป็นใคร ไม่ควรยอมรับวิธีกวาดกลบไว้ใต้พรม เพราะความตาย และชีวิตของคนจำนวนมากไม่ใช่เศษธุลี ที่จะเหยียบผ่านแล้วไปล้างออก มันล้างไม่ออกเพราะติดอยู่ในใจคน และในโลกยุคใหม่ ภาพเหตุการณ์ถูกบันทึกไว้ สามารถดูได้จนถึงชาติหน้า

3. ความตายในหลายยุคนับตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 เมษายน-พฤษภาคม 2553 ล้วนแต่มีรากฐานมาจากการชิงอำนาจและก็มีการตัดสินใจทำรัฐประหาร แม้จะมีเบื้องหน้า เบื้องหลังต่างกัน จากนั้นความขัดแย้งก็ก่อตัวและเกิดเหตุการณ์ร้ายติดตามมา ระบบยุติธรรมของประเทศเรายอมรับการยึดอำนาจทุกครั้งว่าถูกต้อง จึงยอมรับการนิรโทษกรรม การกระทำนับตั้งแต่ก่อรัฐประหารจนถึงภายหลังรัฐประหาร องค์กรทางด้านยุติธรรมจะยืนอยู่กับผู้ชนะเสมอ

ดังนั้น จึงมีผู้กล่าวว่าฝ่ายชนะกำหนดความยุติธรรม และผู้ชนะจะไม่ถูกลงโทษ ถึงมีความผิดก็จะมองไม่เห็น ถ้าผิดชัดเจนก็นิรโทษกรรม ส่วนผู้แพ้ที่ไร้อำนาจต่อรอง ทำอะไรก็จะผิดทั้งหมด ไม่ว่าจะกิน ยืน นั่ง พูด เดิน เพราะผู้ชนะมีสภาออกกฎหมายและตีความได้เสมอ ถ้าเมื่อใดพลิกกลับมาชนะและมีอำนาจจริงจึงจะจัดการสะสางทุกคดีได้

สุดท้ายท่านบอกว่า ความยุติธรรม ไม่ใช่น้ำฝนที่จะรอให้หล่นจากฟ้า เพราะไม่ใช่ความกรุณาปรานี ความยุติธรรม ยุคปัจจุบัน เป็นระบบ จึงต้องสร้างขึ้นมา แบบมีฐานอยู่ข้างล่าง มีสมดุล และตรวจสอบได้ แต่ถ้ายังทำไม่ได้วันนี้ ก็ต้องเชื่อเปาบุ้นจิ้น ที่บอกว่าสวรรค์มีตา และจะไม่นิรโทษกรรมให้คนผิด