จรัญ มะลูลีม : ภูมิทัศน์ของอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (5)

จรัญ มะลูลีม

อิสลามในสิงคโปร์

สถิติจำนวนประชากรในปี 2010 ของสิงคโปร์พบว่ามีประชากรร้อยละ 15 ซึ่งมีอายุ 15 และ 15 ปีขึ้นไปเป็นชาวมุสลิม

คนเชื้อสายมาเลย์ส่วนใหญ่ในสิงคโปร์นั้นเป็นมุสลิมซุนนีในขณะที่ร้อยละ 17 ของชาวสิงคโปร์มุสลิมนั้นเป็นผู้ที่มีเชื้อสายมาจากเอเชียใต้ ส่วนชาวมุสลิมอื่นๆ ก็ไม่ได้จำกัดว่าจะมาจากจีน อาหรับและชุมชนจากยุโรปและเอเชีย (Eurasian communities)

ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในสิงคโปร์เป็นชาวมุสลิมที่ปฏิบัติตามสำนักคิดชาฟีอี (Shafi”i School of Thought) แต่ก็มีผู้ปฏิบัติตามสำนักคิดฮานาฟี (Hanafi School of Thought) ชีอะฮ์ และอะห์มะดี (Ahmadi) เช่นกัน

ลักษณะอื่นๆ ของประชากรมุสลิมในสิงคโปร์ที่น่าสนใจก็คืออัตราส่วนของหญิงและชายจะคล้ายคลึงกับอัตราส่วนของชาวจีน

ชาวสิงคโปร์มุสลิมจะประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ใช้ภาษาที่เป็นกลุ่มย่อยลงไป อย่างเช่น โบยานีส (Boyanese) บูกิส (Bugis) ชะวา (Javanese) มาเลย์ อินเดียและอาหรับ รวมทั้งชาวจีนที่เปลี่ยนศาสนา แต่มีระดับความเป็นเอกภาพสูง

กลุ่มชนเหล่านี้จะถือว่าพวกเขามาจากชุมชนมุสลิม

อิสลามถูกนำเสนอในสิงคโปร์เมื่ออิสลามเข้ามาถึงอินดีสตะวันออก (East Indies) อิสลามแผ่ขยายผ่านการค้าหลังจากได้ขยายตัวเข้ามาในมะละกา ในอดีตชาวมุสลิมในสิงคโปร์มีโอกาสอันยิ่งใหญ่ต่อความสำเร็จด้านการค้าและบางคนก็ได้รับโอกาสอันดีงามของชีวิต สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นจากความจริงที่ว่ามีถนนสำคัญในสิงคโปร์ที่มักจะมีชื่อของชาวอาหรับอิสลามที่โดดเด่นให้เห็นอยู่เสมอ

หนึ่งในถนนพาณิชย์ที่สำคัญในสิงคโปร์มีชื่อว่า “ถนนอาหรับ” ชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์จะให้ความสำคัญกับชาวมุสลิมอาหรับเป็นอย่างมาก ความเคารพนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนเมื่อพวกเขาถือว่าชาวอาหรับเป็นผู้ที่อยู่ในระดับสูงของสังคม พวกเขาจึงมักให้การเคารพเป็นอย่างมาก

การให้เกียรติแก่ชาวอาหรับเป็นอย่างสูงอีกประการหนึ่งคือการต้อนรับชาวอาหรับมุสลิมด้วยการยินยอมให้มาเป็นสามีของบุตรสาว ชาวอาหรับมุสลิมจะแต่งงานกับครอบครัวชั้นสูงและมีเกียรติของสิงคโปร์

ประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ได้รับการพิจารณาว่าเป็นประวัติของคาบสมุทรมาเลย์

อย่างไรก็ตามหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิงคโปร์ได้ตกมาเป็นรัฐใต้อารักขาของอังกฤษและแยกตัวออกมาจากชุมชนมาเลย์อื่นๆ

เมื่อสหพันธรัฐมาเลเซียได้รับการสถาปนาขึ้นในปี 1963 สิงคโปร์ก็เป็นหนึ่งในสหพันธรัฐและได้ออกมาจากสหพันธรัฐหลังจากสองปีที่เป็นสมาชิก

มีชาวจีนที่ได้หันมาเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามอย่างต่อเนื่อง แต่จำนวนของพวกเขาก็ยังน้อย พวกเขาเกิดมาเพื่อปฏิบัติตามศาสนาของบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพวกเขามาถึงชายฝั่งสิงคโปร์ในตอนต้นของศตวรรษ

ในด้านการตั้งถิ่นฐานทางภูมิศาสตร์นั้นชาวมาเลย์ได้ขยายตัวอยู่ที่สิงคโปร์

ผลที่ตามมาพบว่าอิสลามมีอิทธิพลอย่างเข้มแข็งอยู่ในชีวิตทางสังคมของชาวมาเลย์ ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของการเป็นชาวมาเลย์

ในสิงคโปร์ชาวมุสลิมเป็นผู้นิยมแนวคิดเสรี อยู่ร่วมกันหลายเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี อาจกล่าวได้ว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมเป็นเสาหลักในการสร้างชาติของสิงคโปร์ก็ได้เช่นกัน


อิสลามในฟิลิปปินส์

อิสลามเป็นศาสนาของผู้นับถือพระเจ้าองค์เดียวซึ่งบันทึกเก่าแก่ของสิงคโปร์ได้บันทึกเอาไว้ ตามรายงานว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนาของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในปี 2010 พบว่าประชากรของฟิลิปปินส์ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 9 เป็นชาวมุสลิมโดยส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมซุนนี ส่วนคนส่วนน้อยของประเทศเป็นชาวมุสลิมชีอะฮ์

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นโรมันคาทอลิก ส่วนคนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เล็กๆ จะเป็นโปรเตสแตนต์ พุทธและพวกถือไสยศาสตร์

มุสลิมในฟิลิปปินส์ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์-ศาสนาถึง 13 กลุ่มได้แก่ อีสานุน มากินดาเนา มาราเนา เตาซุก ซามา ยากับ ญะมา มาปูน กาอากัน กาลิบูกัน แซนกิล มาลบ็อก พาลาวานีและแบดเจา

นอกจากนี้ ยังมีชาวมุสลิมที่อยู่ร่วมกับชาวพื้นเมืองอื่นๆ ในมินดาเนา เช่น เทดูเรย์ มานาโม บลาอัน สุบาเนน ตโบลี และอื่นๆ

ปัจจุบันมีซาวลูซอนและวิซายาส์และชุมชนผู้อพยพอื่นๆ ในมินดาเนาหันมาเคารพนับถือศาสนาอิสลาม

จากการก่อตัวของชุมชนมุสลิมในมินดาเนา (Mindanao) และซูลู (Sulu) จนถึงตอนกลางของศตวรรษที่ 21 ความสัมพันธ์ของชาวมุสลิมในฟิลิปปินส์กับโลกมุสลิมจะผ่านมาทางชาวมุสลิมในตะวันออกเฉียงใต้

สิ่งนี้มีผลมาจากการมีบทบาทสำคัญของครอบครัวผู้ปกครองชาวมุสลิมในภูมิภาค ซึ่งทำให้อิสลามเกิดการขยายตัวในฟิลิปปินส์

ในความเป็นจริงภูมิลำเนาของชาวบังสะโมโร (Bangsamoro) และชาวบังสะโมโรนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชาวมลายู พวกเขามีศาสนาร่วมกันและมีปฏิบัติการทางวัฒนธรรมร่วมกันกับชาวมุสลิมในภูมิภาค ที่อธิบายได้ถึงความสัมพันธ์ที่พวกเขามีต่อกันอย่างแน่นแฟ้น

ในทางยุทธศาสตร์ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของมินดาเนาและซูลู จะอยู่ตามเส้นทางการค้าทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการติดต่อกับชาวมุสลิมที่อยู่ในภูมิภาค

แม้โจโล (Jolo) จะถูกนับเนื่องว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่คึกคักก่อนการเข้ามาของอาณานิคมสเปน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเมืองมนิลาก็ตาม

กระนั้นการติดต่อกับชาวอาหรับเปอร์เซียและชาวอินเดียมุสลิมยังคงจำกัดอยู่ที่การค้าและการเผยแผ่ศาสนาของผู้เดินทางมาเยือนเป็นด้านหลัก แม้ว่าบางคนของผู้เผยแผ่ศาสนาจะอยู่ต่อไปหลังจากแต่งงานกับสตรีชาวพื้นเมืองก็ตาม