มนัส สัตยารักษ์ : ตำรวจจับพระ

ตั้งใจจะเขียนถึงความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี การสื่อสารไร้สาย ไมโครโฟน นาฬิกา และทีวีดิจิตอล ต่อเนื่องจากที่เขียนไว้สัปดาห์ที่แล้ว

ก็ไม่ได้เป็นความรู้ลึกซึ้งอะไรหรอกครับ เพียงแต่ว่าเคยมีประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาบ้างก่อนเกษียณอายุในปี 2540 (กว่ายี่สิบปีมาแล้ว) เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับผู้ผลิต คุณภาพ ผู้จำหน่าย ตัวแทนผู้จำหน่าย

และที่สำคัญคือ ราคาของอุปกรณ์ต่างๆ ในท้องตลาดซึ่งลดลงอย่างมากมายในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ด้วยความตกใจกับตัวเลขงบประมาณที่เพิ่มขึ้นถึง 8,600 กว่าล้านบาทของอุปกรณ์ไอทีรัฐสภาใหม่ ประกอบกับการแถลงข่าวด้วยกิริยาอาการฉุนเฉียวแปลกแปร่งของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร!

อย่างไรก็ตาม ข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้หยุดกึกไปเฉยๆ ทั้งในสื่อหลักและสื่อโซเชียล ทำให้ตกใจอีกครั้งว่า ข่าว “ขอเพิ่มงบประมาณ 8,600 ล้านสำหรับห้องประชุมไร้สาย” ท่าจะเป็นข่าวลือข่าวหลอกอย่างที่ปรากฏอยู่เนืองๆ ซึ่งจะทำให้คนแสดงความคิดเห็นมีโอกาสเจอข้อหา “หมิ่นประมาท” เข้าก็ได้

หลังจากนั้นเพียงไม่นาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมถึงปัญหานี้ว่า

“เราอย่าไปให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องไมค์หรือนาฬิกาที่มีราคาแพงเลย เพราะมีขั้นตอนอยู่แล้ว วันนี้ยังไม่มีใครผิดใครถูกหรอก อย่าเพิ่งไปพูดจาให้ร้ายกันไปเลย คนทำงานก็จะหมดกำลังใจ… ถ้ามีการทุจริตเมื่อไหร่ก็จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อนั้น”

ก็เป็นคำให้สัมภาษณ์ที่แปลกแปร่งไปอีกแบบหนึ่ง ไม่น่าเชื่อว่าบรรดาสื่อทั้งหลายที่ดื้อกับนายกรัฐมนตรีเสมอมา จะเชื่อฟังและวางมือจากปัญหานี้

วันถัดมามีข่าว “ตำรวจจับพระ” ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เราจึงเข้าใจดีว่าเหตุใดข่าว “อุปกรณ์ไอทีราคาแพง” จึงถูกกลบเสียจนเงียบหายไป

เปรียบเทียบกรณีตำรวจจับพระกับขนาดของระเบิด มันเป็นเรื่องขนาดระเบิดแค่ตันเดียว

แต่ถ้าพระเป็นพระผู้ใหญ่ก็น่าจะเทียบได้ว่าเป็นระเบิดขนาด 10 ตัน

และถ้าเป็นพระระดับ “เจ้าคุณ” และข้อหาทุจริตที่เรียกกันว่า “เงินทอน” ก็อาจจะเปรียบได้ว่าเท่ากับระเบิดหลาย 10 ตันขึ้นไป เพราะเงินทำให้พระประพฤติผิดวินัยสงฆ์หรือผิดกฎหมายบานปลายไปอีกหลายกระทง

ถึงแม้พระที่ถูกจับจะไม่ถึงระดับใหญ่มาก แต่ถ้าเป็นพระที่มีสาวกหรือลูกศิษย์ลูกหาเป็นพวกมี “สี” หรือเป็นฝ่ายตรงข้าม มันย่อมเป็นระเบิดขนาด 100 ตัน

การเมืองเรื่อง “สี” เป็นเรื่องอัศจรรย์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อและยึดมั่น

สำหรับหลายคน เป็นความรู้สึกที่ยิ่งกว่าความศรัทธา มากกว่าความหลงใหลคลั่งไคล้ ทำให้ยึดติดเสียยิ่งกว่าสิ่งเสพติด ลองพิจารณาดูเถิดว่าสาวกคนใดบ้างที่ยอมรับความผิดของคนที่ตนเทิดทูนไว้ราวกับบิดาบังเกิดเกล้า แม้ความผิดนั้นจะประจักษ์ชัดแล้วก็ตาม

ยังคงดันทุรังก้าวต่อไปอย่างไม่ยอมถอย… อนิจจา โครงการปรองดองที่สูญเปล่า

มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่เปลี่ยนสี หรือเลิกมีสี หรือเป็นสลิ่มหลากสี หรือดิ้นหลุดออกจากกรอบความคิดแบ่งสีแบ่งฝ่ายได้

ก่อนรัฐประหาร นักเขียนบางคนประกาศตัวสังกัดสีอย่างเปิดเผย แต่ส่วนใหญ่จะวางตัวไม่มีสังกัดและไม่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับใคร กล่าวคือ อยู่อย่างมีอิสระ จะคิดและเขียนอย่างเสรีตามที่เคยทำ

หลังจากรัฐประหารยึดอำนาจไม่นาน คสช. ได้เลือก “หยิบ” บางคนไปเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ ฝ่ายนักเขียนที่ถือว่าเผด็จการทหารเป็นศัตรูก็เรียกร้องให้เพื่อนถอนตัวจากการรับใช้เผด็จการ เมื่อไม่เป็นผลก็ประณามและบริภาษอย่างรุนแรง

ตอนนั้นผมยังไม่รู้บทบาทและหน้าที่อันควรของตัวเองในเฟซบุ๊ก จึงไปขอ unfriend กับนักเขียนที่ประณามเพื่อนนักเขียนด้วยกัน อ้างว่าผมไม่อยากอ่านคำบริภาษนักเขียน แล้วเราก็คุยกันในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เป็นเรื่องการแบ่งฝ่าย

กับเพื่อนนักเขียนรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง ผมขอร้องด้วยวาจาว่าอย่าด่าว่าเพื่อนนักเขียนในเฟซบุ๊กโดยที่ผมยังคงสถานะ add friend เหมือนเดิม แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเพื่อนรายหลังนี้เขาคงโกรธหรือไม่พอใจ เราจึงไม่มีปฏิสัมพันธ์กันในเฟซบุ๊กอีก

หลังจากนั้นผมจึงตระหนักว่าเรื่อง “สี” เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่รุนแรง หรืออีกนัยหนึ่งเป็นเรื่องรุนแรงที่ละเอียดอ่อน

วันครบรอบ 117 ปีโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่สามพราน นรต.รุ่น 12 ของผมไปกัน 3 คน เป็นรุ่นที่อายุอาวุโสสูงสุดในงาน ที่น่าประหลาดใจก็คือ คนหนึ่งเป็นแดงระดับครู อีกหนึ่งเป็นเหลืองระดับแก่น ทั้งคู่อยู่ในแต่ละสีโดยเปิดเผย-ไม่ปิดบัง ส่วนผมเป็นพวกไม่มีสี จึงน่าจะอยู่ในฐานะ “กลางเขาควาย”… แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น

แต่เราไม่ได้พูดเรื่องการเมืองแบ่งฝ่ายกันเลย เรากับ นรต.รุ่นน้องที่มานั่งร่วมโต๊ะคุยกันในเรื่องอนาคตของโรงเรียน อนาคตของ นรต. ที่จะได้ปริญญานิติศาสตรบัณฑิต หรือปริญญาทางนิติวิทยาศาสตร์ โดยลดชั่วโมงการฝึกในวิชาทหารลง

อีกเรื่องที่เราคุยกันคือ อีก 3 ปีข้างหน้า เราจะยังมีชีวิตได้มางานครบรอบ 120 ปีหรือไม่?

ผมนึกถึงวันที่ นรต.รุ่นผมในบุฟเฟ่ต์มื้อกลางวัน แม้เราจะพูดคุยกันเรื่องการเมือง แต่เราก็ไม่ได้แสดงอาการหรือวาจาเกรี้ยวกราดโกรธเคืองกันแม้แต่น้อย

แต่ในใจคิดอะไรอยู่ก็ยากที่จะเดา เพราะในหน้าเฟซบุ๊กพวกเขายังคงวิวาทะกันอย่างเข้มข้นด้วยหลักการและอุดมการณ์ที่ต่างกัน

กล่าวโดยเฉพาะถึงเรื่อง “ตำรวจจับพระ” อื้อฉาวและแตกต่างกันอย่างมโหฬาร ผมไม่ควรวิพากษ์อะไรอีกแล้ว เพราะเท่าที่ติดตามข่าวต่างมีเหตุผลกันทุกฝ่าย

แต่คลิปที่เผยแพร่ปฏิบัติการของคอมมานโดกองปราบปรามต่อพุทธะอิสระเป็นคลิปที่มาจากคอมมานโดเอง ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าปฏิบัติการที่เฉียบขาดสมบูรณ์แบบเกินไปครั้งนี้มี “ความมุ่งหวัง” หรือ “ตั้งใจ” (attention) อะไรสักอย่างที่นอกเหนือจากเป็นพยานหลักฐานการปฏิบัติงาน

อาจจะเพื่อแสดงว่าตำรวจมีมาตรฐานเดียวสำหรับพระค่ายธรรมกายกับพระที่ต่อต้านธรรมกาย เพราะจับกุมในวันเดียวกัน

อาจจะเพื่อแสดงว่าตำรวจบางพวกยังเป็นตำรวจมะเขือเทศอย่างเดิม

อาจจะต้องการบอกให้รัฐบาลรู้ตัวว่า ตำรวจพร้อมที่จะไม่เป็นกองหนุน ตามที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี ว่าไว้ หรืออย่างน้อยตำรวจก็ไม่ได้เป็นพวกของ กปปส. หรือ กปปส. ก็อาจจะไม่ใช่กองหนุนของ “ลุงตู่” หลังเลือกตั้ง

สิ่งที่พอจะทำได้ในขณะนี้ก็คือ ภาวนาขอให้การดำเนินคดีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ให้ได้ข้อยุติเสียเร็วๆ อย่าหมกหรือแช่นานเป็นสิบปีอย่างคดีอื่นๆ

ความยุติธรรมที่มาช้าคือความไม่ยุติธรรม เป็นเหตุให้เกิดคดีที่ไม่ควรเกิดมากมาย

เสียดายที่ตำรวจจับพระ (ทั้ง 2 ฝ่าย) ช้าไปหน่อย คล้ายกับรอกระแสหรือรอคำสั่งของผู้มีอำนาจ ภาพน่าเกลียดและน่าสมเพชอย่างการจับกุมพระในเมืองพุทธจึงเกิดขึ้น