เศรษฐกิจ/ชลประทาน สยบข่าววิกฤตน้ำ ‘ทองเปลว’ โชว์ภารกิจ ‘เอาอยู่’ เมื่อ ‘ลานิญา’ ไป ‘เอลนิโญ’ มา…

เศรษฐกิจ

 

ชลประทาน สยบข่าววิกฤตน้ำ

‘ทองเปลว’ โชว์ภารกิจ ‘เอาอยู่’

เมื่อ ‘ลานิญา’ ไป ‘เอลนิโญ’ มา…

 

ถึงวันนี้ ปัญหาอุทกภัยสำหรับคนไทยเป็นเรื่องที่ทำเอาหลายต่อหลายคนใจคอไม่ค่อยดีติดต่อกันมาหลายปี

เนื่องจากภาพทรงจำมหาอุทกภัยรุนแรงในปี 2554 ที่เริ่มก่อตัวปลายเดือนกรกฎาคม จนถึง 16 มกราคม 2555 สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรมกว่า 150 ล้านไร่ ใน 65 จังหวัด 684 อำเภอ เกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สินและบุคคล โดยประชาชนได้รับความเดือดร้อน 4,086,138 ครัวเรือน 13,595,192 คน มีผู้เสียชีวิต 813 ราย และสูญหาย 3 คน

ทางเศรษฐกิจธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท โดยต้องจารึกว่าเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุด ทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ

และเป็นสถานการณ์น้ำท่วมที่หนักที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยในรอบ 70 ปี

ในตอนนั้น รัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ ก็ไม่คาดคิดว่าพื้นที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครจะเจอน้ำท่วมหนักเข้าทุกพื้นที่ชั้นใน ถึงประกาศให้มั่นใจว่า ‘เอาอยู่’

แต่เมื่อเอาไม่อยู่ก็มาพร้อมกับความโกลาหล เมื่อมวลน้ำเข้าพื้นที่ไหน มักมาพร้อมกับการขาดแคลนสินค้า จากการขนส่งสินค้าไม่ได้และร้านค้าต้องปิดตัว

ภาพการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคแห่เข้าซื้อตามห้างจนชั้นวางของไม่เหลือสินค้า ราคาสินค้าจำเป็นยามน้ำท่วมดีดตัวขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะทรายบรรจุถุง ปูนซีเมนต์ เรือไฟเบอร์กลาส รองเท้ายางลุยน้ำ เป็นต้น

 

ที่หยิบมากล่าวถึงนี้ เพราะเริ่มมีกระแสว่าวงจรน้ำมากเกินความจำเป็น กำลังกลับมาอีกครั้ง ซึ่งมีโอกาสเกิดครั้งใหม่ช่วง 5-10 ปีจากนั้น

เพื่อให้กระจ่างในเรื่องนี้ “ทองเปลว กองจันทร์” อธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงว่า ฤดูฝนของไทยปี 2561 ได้เริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม แต่การคาดการณ์ของกรมพบว่า ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะน้อยลงและไม่สม่ำเสมอ จนถึงเดือนสิงหาคม-กันยายน จะมีพายุเข้าไทยประมาณ 1-2 ลูก คาดว่าประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดฤดูฝนประมาณกลางเดือนตุลาคม ขณะที่ภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกคงมีฝนตกต่อไปอีกถึงเดือนธันวาคม

จากการคาดการณ์ดังกล่าว “กฤษฎา บุญราช” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้กรมชลประทานประชุมร่วมหาแนวทางบริหารจัดการกับผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ โดยเน้นย้ำ 4 เรื่องหลัก ประกอบด้วย

  1. การแบ่งพื้นที่ในการรับผิดชอบที่ชัดเจน ทั้งในเขตพื้นที่กรมชลประทานและนอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ ในพื้นที่นอกเขตชลประทาน กรมชลประทาน จะต้องช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องใดบ้าง
  2. กำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน
  3. จัดสรรเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และรถขุด โดยต้องจัดสรรเครื่องมือให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่หรือภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างสูงสุด และเพื่อช่วยสนับสนุนในการดำเนินการในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน

และ 4. หากต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่นอกเหนือไปจากข้อมูลทั้งหมดจะต้องหาวิธีการรับมือ

โดยแผนการรับมือที่ได้ดำเนินการแล้ว คือ

  1. วางแผนการใช้น้ำหรือระบายน้ำจากเขื่อน โดยต้องมีการจัดสรรให้มีความเหมาะสมกับความต้องการ รวมถึงต้องมีความเหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่
  2. การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตร โดยในพื้นที่ลุ่ม ให้เกษตรกรได้มีการเพาะปลูกไปก่อน เพื่อที่จะให้ทันเก็บเกี่ยวก่อนช่วงน้ำหลาก เช่น อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และในพื้นที่ลุ่มด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 1.5 ล้านไร่

ซึ่งขณะนี้ได้เพาะปลูกเต็มพื้นที่ 100% ส่วนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้วประมาณ 62%

 

ส่วนแผนการบรรเทาอุทกภัย ได้ยึดคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยามาทำการประเมินพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดอุทกภัยว่ามีที่ใดบ้าง เน้นพื้นที่นอกเขตชลประทาน เพราะเครื่องมือยังครบครัน หลายพื้นที่ขาดคลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่

และให้ทันการณ์ตามยุคดิจิตอล กรมชลประทานจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Smart Water Operation Center : SWOC) ก้าวแรกสู่กรมชลประทาน 4.0 สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ผ่านการปฏิบัติงาน 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. ติดตามข้อมูลสภาพปริมาณน้ำฝน น้ำท่าและปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ
  2. วิเคราะห์ พยากรณ์น้ำท่า เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำในลำน้ำสายหลักและอ่างเก็บน้ำจากแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
  3. ประเมินสถานการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง
  4. วางแผนเตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรและเครื่องมือสำหรับเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการสั่งการให้หน่วยปฏิบัติลงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น

และ 5. ประเมินความเสียหายและวางแนวทางการฟื้นฟู

 

ผลการจำลองสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ สำหรับปี 2561 ได้แบ่งออกเป็น 5 กรณี ประกอบด้วย กรณีเป็นฝนเฉลี่ย กรณีฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 10% กรณีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10% กรณีปริมาณฝนเทียบเคียงกับฝนในปี 2528 โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นผู้คาดการณ์ และกรณีเทียบเคียงกับปริมาณฝนในปี 2554 จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

พบว่า ช่วงเดือนสิงหาคมปีนี้ จะมีพายุบวกเข้ามาเพิ่ม อาจส่งผลกระทบในพื้นที่ 12 จังหวัด ประกอบด้วย อุบลราชธานี เลย หนองคาย เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ เชียงใหม่ ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ข้อมูลจะส่งต่อให้กรมชลประทาน กระจายไปตามพื้นที่เพื่อให้มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือ และดำเนินการให้ทุกกระบวนการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีผลกระทบน้อยที่สุด

ประกอบกับผลตรวจสอบสภาพเขื่อนทั่วประเทศ พบว่า เขื่อนขนาดใหญ่มีประมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ ยกเว้นเขื่อนขนาดกลาง 60 แห่ง มีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่า 80% ซึ่งถือว่าสูง ต้องเร่งระบายน้ำตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

จนเหลือเขื่อนขนาดกลาง 39 แห่ง ที่กำลังเร่งการระบายน้ำอยู่ต่อเนื่อง คาดว่าทุกเขื่อนปริมาณน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติกลางเดือนมิถุนายนนี้

 

เมื่อตรวจสอบบานประตูน้ำตามจุดต่างๆ ให้มีความพร้อมในการเปิด-ปิด หากสิ่งกีดขวางทางน้ำติดอยู่ อาทิ ผักตบชวา เร่งกำจัดโดยเร็วที่สุด ถ้าตรวจสอบบานประตูน้ำแล้วพบว่าใช้งานได้เป็นปกติ ทางกรมชลประทานจะติดป้ายประกาศเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและเกิดความสบายใจ ส่วนทางน้ำที่กรมชลประทานดูแลอยู่ ได้ติดป้ายประกาศระบุว่าคลองเส้นนี้หรือทางน้ำเส้นนี้ เขตชลประทานใดเป็นผู้รับผิดชอบ ระบุชื่อเจ้าหน้าที่ และการติดต่อสื่อสารแจ้งได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา

จากการเตรียมพร้อมของกรมชลประทาน กับพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ประเมินว่าปริมาณฝนทั้งปี 2561 จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10%

พูดได้เต็มปากว่าภารกิจพิชิตน้ำมากปีนี้เอาอยู่แน่นอน

ประชาชนคนกรุงคงสบายใจได้ไปอีกหนึ่งเปราะ

แต่ภาคเกษตรกับกังวลวิกฤตน้ำขาดมากกว่าน้ำมาก

หวั่นมีน้ำไม่เพียงพอกับการเพาะปลูกที่กำลังเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้จนถึงปีหน้า

อาจซ้ำเติมภาวะแบกรับปัญหาเศรษฐกิจเติบโตแบบกระจุกตัว