ในประเทศ/ฝนตก น้ำตาไหล

ในประเทศ

 

ฝนตก

น้ำตาไหล

 

พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รู้สึกอย่างไรกับภาพน้ำตาชุ่มหน้าของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในวันเปิดตัวพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา

ต้องอ่านคำสัมภาษณ์ของ “บิ๊กป้อม”

“ไม่เห็นที่เขาร้องไห้ เขาจะคิดอย่างไรก็ไปตามที่เขา”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกันมา สะท้อนใจหรือไม่ที่นายสุเทพต้องเสียน้ำตาและกลับคำพูดมาทำงานการเมือง พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่ตอบ นายสุเทพร้องไห้แล้วจะให้ผมรู้ได้อย่างไร”

เมื่อถามว่านายสุเทพเป็นกองหนุนให้กับ คสช. และลงเรือร่วมกันตั้งแต่ก่อนปี 2557

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ช่วงหลังก็ไม่ได้ทำ และ คสช. ทำงานของ คสช. เอง”

เมื่อถามว่าเป้าหมายในการตั้งพรรคของนายสุเทพ ในท้ายสุดคือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ต่อ

พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ต้องไปถามนายสุเทพ ถามผมไม่ได้ สื่ออยากจะคิดอย่างไรก็คิดไป

คำสัมภาษณ์ดังกล่าว มีขึ้นตอนที่ผู้สื่อข่าวไปถามนายสุเทพหลังเปิดตัวพรรค ว่าเคยให้สัมภาษณ์จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ คือสนับสนุนทั้งปัจจุบันและในอนาคตหรือไม่

นายสุเทพกล่าวว่า

“ผมแสดงเจตนารมณ์ตั้งแต่หลังออกมาจากค่ายทหารหลังการยึดอำนาจของ คสช. ว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เป็นหัวหน้ารัฐบาล เพื่อแก้ปัญหา แก้วิกฤตประเทศ และปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ประชาชนเรียกร้อง ผมประกาศแบบนี้มาตลอด แต่นับจากวันนี้เป็นต้นไป ผมไม่ใช่คนที่มีเสรีที่อยากจะพูดอะไรก็ได้แล้ว เพราะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพรรค รปช.แล้ว จากนี้การพูดหรือการตัดสินใจต้องเป็นของพรรค รปช. ซึ่งต้องมาจากประชาชนที่เป็นเจ้าของพรรคทุกคน”

 

 

จากคำพูดดังกล่าว นายสุเทพไม่เพียงยอมรับการตระบัดสัตย์กลับมาเล่นการเมืองเท่านั้น

หากแต่ได้เปลี่ยนท่าทีการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ด้วย

คือ จากไม่มีเงื่อนไข กลายเป็นมีเงื่อนไข

เงื่อนไขที่ต้องเป็นการตัดสินใจของพรรค รปช.

การเปลี่ยนไปเช่นนี้ เมื่อนำไปเทียบเคียงกับคำพูดของ พล.อ.ประวิตรที่มีต่อนายสุเทพ และพรรค รปช. แล้ว

จะพบว่ามีช่องว่างอยู่ไม่น้อย

จนอาจมองได้ว่า ทั้งสองฝ่ายมีระยะ “ห่างต่อกัน”

เป็นระยะห่าง หลังจากที่รัฐบาลและ คสช.ดูจะเอนเอียงไปกับการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่ว่ากันว่ามีพลังดูดและมีพลังในการขับเคลื่อนทางการเมืองมากกว่า

มีการโชว์ตัวเลขว่าปัจจุบันสามารถดึงอดีต ส.ส. มาร่วมได้แล้วกว่า 60 คน

พรรคพลังประชารัฐจึงน่าจะเป็นความหวังของรัฐบาลและ คสช. มากกว่า ในการสืบอำนาจต่อไป

จึงทำให้ระยะหลังบทบาทของนายสุเทพลดน้อยถอยลง ถึงขนาดว่าจะสามารถตั้งพรรคขึ้นมาได้จริงหรือไม่

 

แต่ที่สุดแล้วพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ก็ปรากฏขึ้น

พร้อมกับสิ่งที่แปรเปลี่ยนไป

นั่นคือ นายสุเทพได้ใช้น้ำตาที่หลั่งออกมา ด้วยรำลึกถึงคนที่เสียชีวิต ประชาชนที่บาดเจ็บนับพัน เพื่อชาติ เพื่อแผ่นดิน ใฝ่ฝันจะเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จึงทำให้เขาต้องตัดสินใจตระบัดสัตย์

เพื่อรวมพลังประชาชนมาทำการเมืองเพื่อประเทศ เพื่อประโยชน์สุขของประเทศและแผ่นดิน

“เมื่อพี่น้องผู้ร่วมอุดมการณ์อยากตั้งพรรคเพื่อประชาชน ผมรู้เลยว่าต้องเข้ามาร่วม แม้ผมรู้ว่าตัวเองจะเป็นจุดด้อยจุดอ่อนของพรรคนี้ให้คนนำมาโจมตีว่าผมตระบัดสัตย์ ผมขอประกาศเลยว่าจะไม่อยู่เบื้องหลัง แต่ผมจะยืนเคียงข้างประชาชน และผมไม่สนใจคำวิจารณ์เหล่านั้น ผมจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ขออาสาเป็นขี้ข้า เป็นผู้รับใช้ประชาชน” นายสุเทพกล่าว

ด้วยเหตุผล “ทื่อ-ทื่อ” เช่นนี้เอง ทำให้นายสุเทพปลดล็อก เดินอาดๆ กลับเข้าสู่สนามการเมือง

อย่างที่ใครคงขัดไม่ได้

 

คําถามที่เกิดขึ้นตามมาทันทีก็คือ พรรค รปช. ซึ่งเป็นที่รวมของมวลชน กปปส. ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มนักคิด นักวิชาการที่เป็นมันสมองให้ กปปส. และ พธม.

มีระยะห่าง หรือ “เป็นอื่น” จากรัฐบาลและ คสช. จริงหรือ

คำตอบจากการประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้วก็คือ “ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น”

เจตนารมณ์ร่วมของรัฐบาล คสช. และ กปปส. ยังคงเหนียวแน่น

และมีลักษณะแยกกันเดิน รวมกันตี มากกว่า

กล่าวคือ พรรค รปช.ไม่จำเป็นต้องเคลื่อนไหวอย่างพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นแหล่งดูดเอานักการเมืองเก่ามารวมกันไว้ และชูธงหนุน พล.อ.ประยุทธ์โดยเปิดเผย

แต่พรรค รปช. จะดำรงความเป็นพรรคในเชิงอุดมการณ์ ที่หลอมรวม “มวลชน” กปปส. พธม. นักคิด นักวิชาการ ในปีกกลุ่มอนุรักษนิยมเอาไว้ด้วยกัน

เมื่อเห็นสังคมมีท่าทีในเชิงปฏิปักษ์ต่อพรรคทหาร ก็อาจจะดึงตัวออกมา มีระยะห่างสักเล็กน้อย

สร้างระบบพรรคให้สังคมเห็นว่า รปช. คือพรรคของประชาชน ที่ต้องการ “ปฏิรูปทางการเมือง”

ซึ่งน่าจะทำให้มวลชนสบายใจ รวมถึงอาจดึงเอาคนกลางๆ ที่มีความโน้มเอียงในทางอนุรักษ์ตั้งแต่อ่อนๆ ไปจนถึงแก่จัด เดินเข้าร่วมและสนับสนุนในการเลือกตั้ง

นี่จึงอาจเป็นคำตอบว่า ไฉนนายสุเทพจึงเปลี่ยนไป

ทั้งที่ความจริงไม่ได้เปลี่ยน

นักการเมืองที่เขี้ยวโง้งอย่างนายสุเทพรู้ดีว่า ทำอย่างไรจึงจะได้รับเสียงการตอบรับและสนับสนุน

เราถึงได้เห็น “น้ำตา” ที่นองอาบน้ำ

เราถึงได้เห็นการยอมกลืนน้ำลาย และประกาศตระบัดสัตย์ได้อย่าง “ง่ายดาย”

 

ถึงที่สุดแล้ว กปปส. และ รปช. คือหน่อเนื้อเดียวกัน ไม่มีทางพลิกผันเป็นอื่น

เป็นกลุ่มอำนาจเก่าใช้การชุมนุมมวลชนเพื่อปูทางสู่การรัฐประหาร

และกำลังประแป้งแต่งตัวให้ตัวเองดูดีในเวทีโลก ด้วยการผ่านเวทีการเลือกตั้ง

ซึ่งแน่นอน เป็นเวทีการเลือกตั้งที่ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ รวมถึงการจัดตั้งองค์กรอิสระ เพื่อให้ได้เปรียบในทางการเมืองและการเลือกตั้งเหนือคู่แข่ง

ตั้งแต่ออกสตาร์ตไปจนถึงการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงวางยุทธศาสตร์ที่จะต้องดำเนินการไปตามแผน 20 ปี

เหล่านี้เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ถูกกำหนดได้ล่วงหน้าแล้ว

ขณะเดียวกันก็อาศัยประสบการณ์และชั้นเชิงทางการเมืองระดับ “เซียน” คอยเก็บเกี่ยวเอาผลประโยชน์

เช่น เมื่อพรรคอนาคตใหม่เสนอ “ฉีก” รัฐธรรมนูญปี 2560″

นายสุเทพและ รปช. ก็ขับเคลื่อนออกมาปกป้องรัฐธรรมนูญที่มาจาก “แม่น้ำ 5 สาย” ที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขเดียวกัน

ด้วยการชู 16 ล้านเสียงที่ลงเสียงให้รัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านการลงประชามติมาเป็นพวกทันที

แน่นอนว่า จุดยืนเช่นนี้ ย่อมได้คะแนนเสียงจากมวลชนฝ่ายขวา รวมถึงมวลมหาประชาชนที่มีแนวคิดอนุรักษ์อยู่แล้ว

ซึ่งหากเก็บคะแนนหน้างานแบบนี้ไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะได้รับชัยชนะก็ไม่ยาก

และเมื่อมีแนวโน้มที่จะได้เป็นรัฐบาล โอกาสที่จะดึงเอาเสียงจากพรรคอื่นๆ มาร่วมก็ย่อมมีมากขึ้น

เพียงแต่เราต้องรอดูว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเล่นเกมการเมืองนี้กับใคร

ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

ไพ่หงายใบไหน ก็คงทำให้เราสามารถวิเคราะห์อะไรได้ง่ายขึ้น

 

ซึ่งแน่นอน ภาพที่ชัดเจนดังกล่าว ย่อมทำให้พรรคคู่แข่งที่ชัดเจนอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ จับทางถูก และหาทางตอบโต้

แม้แต่เรื่องที่นายสุเทพใช้น้ำตาและใช้การตระบัดสัตย์ เพื่อทะลวงกลับเข้ามาสู่การเมืองและช่วงชิงอำนาจนั้น

ดูเหมือนจะถูกสรุปแล้วว่าเป็นเล่ห์กลอันชาญฉลาด

และพรรคการเมืองคู่แข่ง รวมถึงประชาชนทั่วไป ก็คงไม่เดียงสาถึงขนาดยอมรับทุกการกระทำของนักการเมืองเหล่านี้

ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมามีการเรียกร้องถึงการปฏิรูป ซึ่งรวมถึงนักการเมืองด้วย

หากเรายอมรับโดยความไม่กระดากใจว่า การตระบัดสัตย์เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เพียงเพื่อประโยชน์ทางการเมือง

โดยไม่ถูกตั้งคำถามหรือตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่น่าวิตกถึงความไม่คงเส้นคงวา ความไม่มีอุดมการณ์ชัดเจนพอของนักการเมืองที่เราอยากให้ปฏิรูป

ด้วยเพราะสัจจะทางการเมืองถือเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เมื่อให้สัจจะไปแล้วความคงเส้นคงวาก็ต้องมีอยู่

มิใช่พลิกผันไปตามผลประโยชน์แห่งตนหรือพรรคพวกง่ายๆ

“จิตสำนึก” ตรงนี้เอง อาจทำให้สถานการณ์การเมืองพลิกผันเป็นอื่นได้

นั่นคือประชาชนอาจจะเลือกไม่เชื่อนักการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบนี้อีกต่อไป

ด้วยการให้บทเรียนแก่คนกลุ่มนี้อย่างเจ็บแสบก็ได้

 

ฤดูฝนอันชุ่มเย็นมาถึงแล้ว

น้ำอันชุ่มเย็นนั้นควรจะ “ไหล” รวมเอาสิ่งดีๆ มารวมกัน เพื่อให้ความหวังใหม่

แต่ดูเหมือนมิใช่เช่นนั้น

กลับกลายเป็นอย่างที่ “วีรพงษ์ รางมางกูร” เขียนไว้ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า

“(แล้ว) ผู้นำขบวนปิดกรุงเทพฯ ปิดสถานที่ราชการ จนภิกษุผู้ร่วมงานถูกศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องนอนในคุก ก็ประกาศตั้งพรรคด้วยน้ำตานองหน้าเสมือนน้ำตาจระเข้ ประกาศตั้งพรรคโดยมีผู้ร่วมอุดมการณ์จากกลุ่มคนชั้นสูงที่เคยประกาศว่าชนชั้นตนเท่านั้นที่ควรมีส่วนร่วมในทางการเมือง ทึกทักเอาว่าชนชั้นตนเท่านั้นเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนความโง่เขลา ignorance หรืออคติ bias ของคนชั้นสูง คนเหล่านี้แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยอย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่เคยให้สัญญากับมวลมหาประชาชนว่าตนจะไม่เล่นการเมือง ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ตั้งพรรคการเมือง…จนบัดนี้กว่า 85 ปี ที่เราได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แผ่นดินประเทศไทยก็ยังวนเวียนอยู่กับรัฐบาลเผด็จการทหาร หรือรัฐบาลที่สืบทอดจากการปฏิวัติรัฐประหาร โดยการยึดอำนาจมาจากประชาชน เป็นรัฐบาลของทหาร โดยทหาร และเพื่อทหารมาโดยตลอด เราประชาชนเป็นเพียงคนดู”

น้ำตาของนายสุเทพ

จึงแตกต่างจากน้ำตาของประชาชนยิ่งนัก