คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ความเข้าใจเรื่องการ “สึก”

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ช่วงนี้มีข่าวการจับพระ “สึก” อยู่หลายรูป โดยเฉพาะที่บิ๊กๆ ทั้งทางสมณศักดิ์ และทางการเมือง

แล้วทำให้เกิดข้อความเห็นมากมายในโซเชียลพิภพ ซึ่งผมเองไม่ถนัดทั้งเรื่องบวชและสึกเพราะเป็นฆราวาสขี้เหม็น เลยอยากค้นคว้าทำความเข้าใจเรื่องนี้สักหน่อย

พอได้อะไรงูๆ ปลาๆ มาบ้าง จึงขอโอกาสแบ่งปันกับท่านผู้อ่านครับ

โดยไม่ขอกล่าวถึงกรณีเฉพาะ แต่พูดในเรื่องหลักการแล้วกัน

 

ผมเข้าใจว่าแต่เดิมทุกศาสนาในอินเดีย การออกบวชไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “การสึก” หรือการลาสิกขา

เพราะบวชแล้วบวชเลย ซึ่งหมายถึง “สละโลก” ออกมาใช้ชีวิตเยี่ยงอนาคาริก เร่ร่อนไป ไร้บ้าน ไร้เรือน เมื่อออกไปจากชีวิตแบบคฤหัสถ์แล้วย่อมไม่หวนคืนชีวิตแบบคฤหัสถ์อีก

ดังนั้น ในคำสอนเรื่องอาศรมสี่ของฮินดู จึงเอาชีวิตแบบนักบวช (สันยาสี) ไว้ท้ายสุด นัยว่าเป็นช่วงหมดภาระของชีวิตคฤหัสถ์ จึงทิ้งบ้านเรือนไปได้อย่างหมดกังวล

แต่ก็มีผู้ข้ามขั้นไปบวชเป็นสันยาสีตั้งแต่ยังไม่ครองเรือนก็มี ซึ่งน้อยยิ่งกว่าน้อย

ส่วนพราหมณ์นั้นไม่ใช่นักบวชในความหมายนี้อยู่แล้ว คือเป็นทำอย่าง priest อันหมายถึงบุคคลศักดิ์สิทธิ์ผู้ทำพิธีต่างๆ มากกว่า monk หรือ ascetic ซึ่งหมายถึงนักบวชสละโลก

เมื่อพุทธศาสนาเกิดขึ้นในอินเดีย ได้สร้างธรรมเนียมซึ่งนักบวชในศาสนาต่างๆ แต่เดิมไม่ได้ทำ คือการสร้างชีวิตใน “อาราม”

ที่จริงสมัยพุทธกาล พระก็มีชีวิตก้ำกึ่งระหว่างการเร่ร่อนกับอยู่ในอาราม คือ มีชีวิตชุมชนทางศาสนาพร้อมๆ กับมีเวลาที่จะปลีกออกรุกขมูล (อยู่โคนไม้) ด้วย

การอยู่ร่วมกันของพระทำให้ต้องมีการบัญญัติพระวินัย ซึ่งผมเห็นว่าส่วนใหญ่เป็น “กติกาสงฆ์” คือการทำให้ชีวิตแบบชุนชนนักบวชเป็นไปได้ พร้อมๆ กับกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม

การทำผิดต่อระเบียบนี้มีโทษร้ายแรงสุด คือ หมดจากภาวะของความเป็นนักบวช เรียกว่าปาราชิก การปาราชิกตามพระวินัย ไม่มีกระบวนการพิธีกรรมขั้นตอนอะไร เพราะเมื่อความผิดสำเร็จ เช่น เสพเมถุนสำเร็จ ฆ่าคนตายสำเร็จ ก็ปาราชิกไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องสึก

ส่วนผู้ไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่อยากจะใช้รูปแบบชีวิตนักบวชอีกต่อไป พุทธศาสนามีกลไกให้ “ลาสิกขา” คือสึกออกมาได้

 

การสึกตามพระวินัยเป็นสิ่งเรียบง่ายมาก คือภิกษุผู้จะสึกมีเจตนาที่จะสึกอย่างแท้จริง กล่าวคำสึก (ซึ่งมีตัวอย่างในพระวินัยอยู่ประมาณยี่สิบแบบ เช่น ฉันขอลาพระพุทธ ขอท่านจำไว้ว่าฉันเป็นคฤหัสถ์ ฯลฯ) บอกคำลานั้นด้วย “วาจา” ต่อหน้าพยานในภาษาใดก็ได้ที่ทั้งผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจ และผู้ฟังหรือพยานจะเป็นพระภิกษุหรือไม่ก็ได้

กระบวนการทั้งหมดนี้ทำไปด้วยสติสัมปชัญญะทั้งสองฝ่าย การสึกก็สำเร็จสมบูรณ์ คนคนนั้นก็หมดภาวะของความเป็นนักบวช

แต่หากขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่ง เช่น ผู้จะสึกไม่เปล่งวาจาคำสึก ไม่มีพยาน (เช่น สึกกับโคนไม้ กับพระพุทธรูป) การสึกก็ไม่สำเร็จ แม้จะเปลื้องจีวรออกไปจากร่างกาย ภาวะของพระก็ยังคงอยู่กับตัว

ดังนั้น หากมองจากมุมพระวินัย การบวชก็เป็นเพียงแต่การสมัครใจขอเข้าไปอยู่ในชุมชนนักบวช ใช้รูปแบบวิถีชีวิตนักบวชเท่านั้น

ส่วนการสึก (ที่ไม่ใช่กรณีปาราชิก) ก็เป็นเพียงแต่การขอลาออกจากชีวิตนักบวชและชุมชนนักบวชของตนโดยมีผู้รับรู้

 

โดยท่าทีของพระวินัยเช่นนี้ พระภิกษุในพุทธศาสนาจึงไม่ใช่ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” อย่างนักบวชหรือ Priest ในศาสนาอื่นๆ เพราะการบวชโดยตัวพระวินัยเอง ไม่ใช่การ “ทำให้ศักดิ์สิทธิ์” หรือ “อภิเษก”(empowerment) อย่างการบวชพราหมณ์หรือบาทหลวง

การเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์นี่ลำบากครับ เพราะ “สึก” ไม่ได้ คือโดยหลักการเมื่อได้รับการอภิเษกแล้วย่อมจะเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์เสมอไป แม้ว่าจะออกไปใช้ชีวิตในรูปแบบอื่นๆ ก็ตาม

โทษของบุคคลศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ใช่การออกจากสถานะนักบวช แต่ใช้การ “ปัพพาชนียกรรม” (excommunication) คือไล่ออกไปจากศาสนา ไม่คบค้าติดต่อด้วย และสำทับไปด้วยว่าอย่าหวังว่าจะรอดนรกเมื่อสิ้นใจ

การปัพพาชนียกรรม ในพุทธศาสนาอาจต่างกับในศาสนาอื่นตรงที่ แม้ว่าจะให้ลงโทษก็เป็นแต่เพียงขับออกจากอารามหมู่เหล่า ไม่ได้ถอดถอนออกจากสถานะของนักบวชหรือขับจากศาสนา

แต่สังคมไทยดูเหมือนจะมีการปฏิบัติในเรื่องบวช-สึก ต่างจากอุดมคติของพระวินัยและธรรมเนียมของพระภิกษุในประเทศอื่นๆ พอสมควร

เป็นต้นว่า พระภิกษุประเทศไหนๆ แม้แต่เถรวาทด้วยกันอย่างลังกา มักไม่มีธรรมเนียม “บวชเผื่อสึก” คือบวชชั่วครั้งคราว เอาเป็นบุญเนกขัมบารมีช่วงสั้นๆ แล้วสึกหาลาเพศอย่างไทยเรา

โดยมากมักบวชเพื่อตั้งใจจะใช้ชีวิตพระยาวๆ ส่วนการสึกก็มีบ้างเพราะเบื่อหน่าย แต่ก็เป็นกรณีพิเศษที่มีไม่มาก ไม่ใช่เรื่องปกติ

ที่สำคัญ เรามีวัฒนธรรมประเพณีที่ให้ความสำคัญกับพิธีบวช-สึกมากเป็นพิเศษ

 

ผมเคยได้ยินพระท่านพูดว่า “ฤกษ์บวชไม่สำคัญเท่าฤกษ์สึก” คือเชื่อกันว่า บวชในฤกษ์ไม่ดีก็ไม่เป็นไร แต่การสึกต้องดูฤกษ์ยามให้ดี เพราะสึกฤกษ์ไม่ดีมีผลร้ายหลายประการ คือเชื่อกันว่าสึกก็เหมือนเกิดใหม่ออกมาเป็นฆราวาสอีกครั้ง ต้องเกิดในฤกษ์ดีๆ ชีวิตจะได้ดีว่างั้น

แถมการสึกก็มักมีพิธีรีตองหลายอย่าง เช่น การรับศีลใหม่ สวมชุดขาว รดน้ำมนต์ รับพร ฯลฯ ส่วนการบวชนั้นผมเคยกล่าวไว้แล้วในบทความอื่น

พระภิกษุในพุทธศาสนาสำหรับคนไทย จึงมีลักษณะของความเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” แบบศาสนาอื่นๆ เพราะเราไม่ได้คิดว่าการบวชมิได้เป็นเพียงการรับเข้าเป็นสมาชิกชุมชนนักบวชตามอุดมคติในพระวินัย แต่มองว่าเป็นพิธีกรรมที่ทำให้ “ศักดิ์สิทธิ์” ส่วนการสึกจึงเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมาก เพราะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระอย่างยิ่ง

ผมเข้าใจว่า มโนคติเรื่องนี้จึงนำมาสู่ระเบียบการต่างๆ ทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระ เช่น การดำเนินคดีพระภิกษุที่ทำผิดกฎหมายบ้านเมือง เมื่อศาลจะตัดสินลงโทษ ก็ต้องให้สึกเสียก่อน รวมทั้งข้อที่กำลังถกเถียงกัน คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ที่ให้พระภิกษุที่แม้จะเป็นเพียงผู้ต้องหา แต่หากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ก็ต้องสึกทั้งที่ยังไม่ได้พิสูจน์ว่ากระทำผิดจริง

เพราะกระบวนการยุติธรรมมองว่าเป็นการไม่เหมาะที่พระภิกษุจะเข้าไปอยู่ในคุกตะราง ฉะนั้น ผิดไม่ผิดก็สึกไว้ก่อน

 

ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายกรณีที่พระผู้ถูกกล่าวหาไม่ยอมเปล่งวาจาสึกเพราะเห็นว่าตนเองไม่ได้กระทำผิด เพื่อไม่ให้ขาดจากความเป็นพระ กรณีที่โด่งดังที่สุดคือกรณีพระพิมลธรรม ซึ่งในภายหลังพิสูจน์ได้ว่า ท่านไม่มีความผิด

ดังนั้น ที่จริงเรื่องการสึกเป็นกติกาสงฆ์ เป็นเรื่องพระวินัยซึ่งไม่อาจบังคับกะเกณฑ์ได้ คือถ้าเป็นปาราชิกก็หมดความเป็นพระโดยไม่ต้องมีพิธีกรรม ส่วนการลาสิกขาหรือจับสึก หากไม่ครบองค์ประกอบก็ถือว่าถูกบังคับให้เปลื้องจีวรเท่านั้นเอง (ในกรณีที่ไม่ได้กระทำผิดจนขาดภิกขุภาวะ) ไม่ได้ทำให้ความเป็นพระขาดสูญ แม้จะผิดหรือจะไม่ผิดก็ตามแต่

เอาเข้าจริง ผมว่าเราอาจไม่ได้สนใจพระวินัยของพระเท่าไหร่หรอกครับ แต่เรากลัวความศักดิ์สิทธิ์ของ “จีวร” พระมากกว่า จีวรพระเป็นของสูงต้องใส่พานแว่นฟ้า มีกฎหมายห้ามแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ ซึ่งสำหรับผมคือกฎหมายปกป้องจีวรพระอยู่กลายๆ เราจึงไม่สนใจสภาพพระหรือหลักตามธรรมวินัยแต่สนใจรูปแบบภายนอกที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่า

แต่ในทางตรงข้าม ที่จริงแล้วในประวัติศาสตร์ เราจับพระสึกโดยอำนาจของบ้านเมืองกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แล้วก็เป็นมาตลอดจนถึงทุกวันนี้ เพราะถือเป็นความชอบธรรมของผู้ปกครองที่จะชำระพระศาสนา ครั้นเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบอบประชาธิปไตย การสึกพระจำนวนมากๆ โดยกษัตริย์ก็ไม่ได้มีอีก เป็นการสึกเป็นกรณีๆ

แต่หลายกรณีก็ยังเป็นสึกการเมืองเสียมากกว่าความผิดที่ทำให้ต้องขาดจากความเป็นพระ

มิตรสหายอาจารย์บางท่านว่า ในเมื่อพระเขามีระเบียบกติกา เรื่องพระวินัยก็ควรให้คณะสงฆ์ดำเนินการเอง เช่น เรื่องสึกเพราะเป็นเรื่องทางศาสนา ส่วนการผิดกฎหมายบ้านเมืองก็ดำเนินไปควบคู่ด้วยไม่ก้าวก่ายกัน

แต่จะทำแบบนั้นได้จริง ก็ต้องแยกศาสนาออกจากรัฐครับ