เทศมองไทย : ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน เมด อิน ไทยแลนด์!?

อันที่จริงจะบอกว่า “เมด อิน ไทยแลนด์” เต็มปากเต็มคำคงไม่ได้ เพราะตามข้อมูลที่ปรากฏในยูเอสเอ ทูเดย์ เมื่อ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันจะยังคงผลิตชิ้นส่วนในสหรัฐอเมริกา โรงงานในประเทศไทยเป็นเพียงโรงงานประกอบรถจักรยานยนต์ยี่ห้อดังนี้บางรุ่น ที่เป็นรุ่นยอดนิยมในภูมิภาคนี้เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การที่ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันมาเปิดโรงงานประกอบ “บิ๊กไบก์” ในฝันของผู้นิยมสองล้อหลายต่อหลายคนในประเทศไทย ถือเป็นความสำเร็จที่เป็น “โชว์เคส” หนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรืออีอีซี ตามที่รัฐบาลไทยเรียกร้องต้องการได้เลยทีเดียว

แต่อย่างที่เขาว่ากันไว้ว่า ในโลกธุรกิจทุกวันนี้ เมื่อที่หนึ่งที่ใดได้ประโยชน์ ก็ต้องมีอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเสียประโยชน์

 

ขณะที่ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันได้รับความชื่นชมในเมืองไทย ก็ตกเป็นเป้าต่อว่าต่อขานของบรรดาแรงงาน สหภาพแรงงานของบริษัทในมิลวอกี้ รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่ที่ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันฝังรกรากอยู่ยาวนาน ถึงขนาดมี “พิพิธภัณฑ์ฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน คลาสสิค” อยู่ที่นั่น

เรื่องของเรื่องก็คือ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันเพิ่งประกาศปิดโรงงานผลิต-ประกอบรถจักรยานยนต์ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ในแคนซัสซิตี้ รัฐมิสซูรี ทั้งหมดไปภายในฤดูใบไม้ร่วงปี 2019 ที่จะถึงนี้

บรรดาสมาชิกสหภาพแรงงานที่นั่นเลยออกมาต่อว่าต่อขานกันยกใหญ่ว่าโรงงานที่นั่นถูกปิดและตนเองถูกเลิกจ้างเพื่อที่จะโยกเอางานในแคนซัสซิตี้มาไว้ที่ประเทศไทย

โรงงานฮาร์เล่ย์-เดวิดสัน มีตำแหน่งงานอยู่ราว 800 ตำแหน่ง ดำเนินกิจการมานานหลายสิบปี หลายคนอยากทำงานต่อ

ที่สำคัญก็คือ มีความพยายามจากรัฐสภา ที่เรียกร้องให้บริษัทคงโรงงานแห่งนี้ไว้ ทำให้เกิดความหวังตั้งแต่ต้นปีว่า หลังจากคองเกรสผ่านกฎหมายลดภาษีกิจการให้จาก 35 เปอร์เซ็นต์เป็น 21 เปอร์เซ็นต์ บริษัทจะไม่ปิดโรงงานที่แคนซัสซิตี้ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันก็เลยตกเป็นเป้าโจมตีครั้งใหญ่

บางคนถึงกับออกมาให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า ทำทุกอย่างอย่างที่บริษัทบอกให้ทำแล้ว ประกาศปิดโรงงานยังระเบิดใส่หน้าให้ตกใจช็อกเข้าจนได้

แล้วก็เลยโยงใยโรงงานในไทยที่กำลังก่อสร้างอยู่ในเวลานี้ ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทต้องปิดโรงงานในแคนซัส ซึ่งถือว่าขัดนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งๆที่ได้รับประโยชน์ทางภาษีไปแล้ว

 

ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ทั้งสองกรณีเป็นคนละเรื่องกัน โรงงานในไทยก็เป็นแผนการพัฒนากิจการของบริษัทอยู่ก่อนแล้ว ส่วนการปิดกิจการที่แคนซัสซิตี้ ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ

ประเด็นของบริษัทก็คือ ยอดขายบิ๊กไบค์ ฮาร์เล่ย์ ในสหรัฐอเมริกานั้นลดลงฮวบฮาบในระยะหลังมานี้

เหตุผลสำคัญก็คือ อเมริกันในยุคเบบี้บูมที่เคยคลั่งไคล้วัฒนธรรมบนหลังอานจักรยานยนต์นั้น เมื่อถึงเวลานี้บรรดา “บูมเมอร์” เหล่านั้นพากันเฒ่าชะแรแก่ชรา จนจำเป็นเลิกราวงการ ทนขับขี่ต่อไปไม่ไหวแล้ว

ส่วนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เองก็น้อยคนมากที่หันมานิยมหลงใหลในอัตลักษณ์ของจักรยานยนต์ยี่ห้อนี้เหมือนผู้คนรุ่นเก่าก่อน

ผลก็คือ ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันผลิตจักรยานยนต์ออกมามากเท่าใด ปริมาณที่ล้นตลาดก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

“โชคไม่ดีที่ไม่มีอะไรที่เราสามารถทำได้อีกแล้วในการแก้ปัญหาแรงกดดันจากศักยภาพการผลิตส่วนเกินอย่างที่เราเผชิญอยู่ในตลาดสหรัฐอเมริกา” ถ้อยแถลงของบริษัทระบุ

ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันยังแจงด้วยว่า การปิดโรงงานแคนซัส ไม่ได้หมายถึงการโละงานทิ้งไปทั้ง 800 ตำแหน่ง เพราะทางบริษัทจะโยกตำแหน่งงานราว 450 ตำแหน่งไปไว้กับโรงงานในเมืองยอร์ค รัฐเพนซิลเวเนีย

ทำให้ลดตำแหน่งงานไปจริงๆ แค่ 350 ตำแหน่งเท่านั้นเอง

 

พนักงานเก่าแก่อย่างริชาร์ด เพนซ์ ช่างเครื่องที่ทำงานในโรงงานแคนซัสมานานถึง 21 ปี งานบางส่วนของตนคืองานซ่อม-บำรุงเครื่องนั้นถูกโยกไปยอร์คจริง แต่อีกหลายส่วนโยกย้ายมาที่ไทยแน่นอน แม้แต่วิศวกรที่แคนซัสก็ถูกส่งมายังไทยเพื่อช่วย “เซ็ตอัพ” โรงงานที่นี่ ซึ่งกำหนดจะ “ทดลองผลิต” ในราวปลายปีนี้

ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันอธิบายเอาไว้ว่า โรงงานในไทยนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของ “ยุทธศาสตร์ระยะยาว” ของบริษัท เพื่อขยายกิจการในต่างประเทศออกไปให้ได้ถึงระดับ 50 เปอร์เซ็นต์ ของยอดขายรวมในแต่ละปี เหมือนกับที่ไปตั้งโรงงานในอินเดียและบราซิลมาแล้ว เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ในแต่ละภูมิภาคเหล่านั้น ฮาร์เล่ย์-เดวิดสันเป็นที่นิยมชื่นชอบ

ข้อมูลของบริษัทที่เผยแพร่ผ่านยูเอสเอ ทูเดย์ ระบุด้วยว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดสินใจมาตั้งโรงงานในไทย เพราะที่ผ่านมาทางการไทยเรียกเก็บภาษีจักรยานยนต์ที่ประกอบสำเร็จจากสหรัฐอเมริกาสูงถึง 60 เปอร์เซ็นต์

การเปิดโรงงานในไทยจึงช่วยลดต้นทุนในส่วนนี้ลงไปได้ เพราะทำให้ราคาของบิ๊กไบค์ยี่ห้อนี้ลดต่ำลง ยอดขายก็ควรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

นั่นหมายความว่าเราอาจได้เห็นยักษ์ใหญ่สองล้อเสียงดังสัญชาติอเมริกันมากขึ้นบนท้องถนนในอนาคตอันใกล้นี้

ในแง่นี้เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ไม่รู้เหมือนกันครับ