เพ็ญสุภา สุขคตะ : จิตรกรรมฝาผนังวัดพระสิงห์ กับ Hairstyles แม่หญิงในออเจ้า ตอนที่ 1

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วิหารลายคำวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ได้พบ “ทรงผม” หรือ Hairstyles ค่อนข้างแปลกไปจากทรงผมพื้นถิ่นของ “แม่ญิงล้านนา”

แต่กลับไปพ้องกับทรงผมแบบเดียวกันกับที่ปรากฏในตัวละครหลักฝ่ายหญิงเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” อยู่สองทรง

ทรงแรกคือ “ผมทรงปีกจอนยาว” ของคุณหญิงจำปา ศรีภริยาของพระโหราธิบดี ซึ่งรับบทการแสดงโดยชไมพร จตุรภุช

กับอีกทรงก็คือ “ผมหางหนูหลังมอญ” ของคุณหญิงนิ่ม ภริยาของออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก) สวมบทบาทโดยรัชนี ศิระเลิศ

ทรงแรกคลับคล้ายคลับคลาว่าน่าจะมีเค้าอิทธิพลจากฝ่ายเขมร? และทรงหลังมีแนวโน้มว่ารับอิทธิพลมาจากแม่หญิงมอญ? จริงเท็จอย่างไรมาศึกษาวิเคราะห์ร่วมกัน

 

ปูมหลังจิตรกรรมวัดพระสิงห์

ก่อนเจาะลึกเรื่อง Hairstyles ของแต่ละนาง ขออรรถาธิบายเรื่องลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระสิงห์ให้ทราบกันสักเล็กน้อยพอเป็นพื้นฐาน

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารลายคำแห่งนี้ กรมศิลปากรสันนิษฐานว่า เคยมีการเขียนขึ้นครั้งแรกตั้งแต่สมัยพระญากาวิละเมื่อราว 200 กว่าปีมาก่อนแล้ว (ส่วนเนื้อหาจะเป็นเรื่องอะไรนั้นไม่อาจทราบได้)

แต่ภายหลังลบเลือนไป จึงได้เขียนทับขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ตรงกับแผ่นดินของเจ้ามหาชีวิตอ้าว หรือพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (พระบิดาของเจ้าแม่ทิพเกสร หรือเป็นตาของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีนั่นเอง) ราวปี 2402

การเขียนใหม่ครั้งนั้น ไม่ได้ใช้เทคนิคโบราณแบบที่ชาวล้านนานิยมทำกัน ดังที่เรียกว่า “ลายคำน้ำแต้ม” อันเป็นกรรมวิธีที่คล้ายการเขียน “ลายรดน้ำปิดทอง” แบบภาคกลาง ซึ่งจะเห็นสีที่เด่นเพียงสองสีคือ แดง (ชาด) และทอง

แต่เจ้ามหาชีวิตอ้าว! (ระวังนะ อย่าให้เจ้าหลวงลั่นคำนี้ออกมากับใครเด็ดขาด มิเช่นนั้นหัวของอ้ายอีทั้งหลายจักถูกเด็ดออกจากบ่าขาดสะบั้นลงแน่ อันเป็นที่มาของฉายาหรือนิกเนมของเจ้าหลวงผู้นี้) กลับใช้เทคนิคการเขียนภาพจิตรกรรมสีฝุ่นที่รับอิทธิพลมาจากภาคกลางเต็มๆ

มีการจัดวางองค์ประกอบตำแหน่งภาพเฉกเดียวกันกับแพตเทิร์นของทางอยุธยา-รัตนโกสินทร์ กล่าวคือ ตอนบนสุดของผนังทั้งสองด้านเขียนรูปเทพชุมนุม ในลักษณะเทวดาเหาะมาแซ่ซร้องสาธุการต่อการตรัสรู้ธรรมของพระพุทธองค์

การหยิบยกเนื้อหาจากวรรณคดีมาเขียนเต็มสองฟากผนังก็ดี การเขียนฉากทิวทัศน์อาคารสถานที่แบบมองจากข้างบนลงมา (สายตานก – bird eyes view) ก็ดี รวมไปถึงโครงสีเย็น (ฟ้า-เขียว) ที่เข้ามามีบทบาทแทนที่โครงสีร้อน (แดง-ทอง) ก็ดี

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นนวัตกรรมแปลกใหม่ที่สะท้อนให้เห็นถึง สายสัมพันธ์ระหว่างภาพจิตรกรรมล้านนายุคฟื้นฟูกับอิทธิพลรัตนโกสินทร์อย่างแนบแน่น

 

เสื้อผ้าหน้าผมนมเนื้อ

ในเมื่อจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการสร้างสรรค์ภาพจิตรกรรมที่วัดพระสิงห์ มีกลิ่นอายฉายชัดว่าจงใจจะเขียนภาพให้รุ่มรวยเสน่ห์ตามอย่างรสนิยมศิวิไลซ์ในยุคนั้น คือศิลปะรัตนโกสินทร์

ฉะนี้แล้วจักแปลกใจไปไยเล่า หากเราได้พบกับตัวละครบนฝาผนังที่แต่งกายแบบรัตนโกสินทร์ เดินเกี่ยวก้อยกันขวักไขว่ไปมา เด่นหราปะปนกับตัวละครพื้นเมืองอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสะท้อนถึงวิถีวัฒนธรรมของคนล้านนาแท้ๆ

พูดให้ง่ายก็คือ ภาพจิตรกรรมที่วัดพระสิงห์นี่ดูเพลินมาก หากจะให้จำแนกกลุ่มชนว่ามีชาติพันธุ์ใดอาศัยปะปนอยู่ในเชียงใหม่บ้างในยุคนั้นไม่ใช่เรื่องยาก สามารถแยกชัดได้จาก เสื้อผ้าอาภรณ์ ทรงผม ลายสักหมึกดำ การหาบคอนครุน้ำ กระเดียดกระเบียดกระบุง ใครหุง ใครนึ่งข้าว ใครเคี้ยวหมาก ใครอมเหมี้ยง ฯลฯ

เราจึงได้พบประชากรหลายเชื้อชาติ แบ่งเป็นสองกลุ่มหลักๆ

กลุ่มแรก คือคนพื้นเมืองในล้านนา ประกอบด้วยไทโยน ไทลื้อ (รวมยองและขึน) ไทใหญ่ พม่า มอญ ลัวะ กะเหรี่ยง ขมุ ฯลฯ

กับอีกกลุ่มเป็นประชากรอิมพอร์ต ได้แก่ จีน (ที่นิยมเรียกว่าเจ๊ก), แขก (ที่นิยมเรียก กุลา), ฝรั่ง (ที่นิยมเรียก กัลหว่า) เรียกไปเรียกมา แขกกับฝรั่ง บางครั้งเรียกรวมว่า กะหล่า ไปเลยก็มี

ข้อสำคัญคือ กลุ่มไทยสยาม (ไทย ที่มี ย.ยักษ์) แถบลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ก็ถือเป็นประชากรอิมพอร์ตในกลุ่มสอง แน่นอนว่ากลุ่มนี้ย่อมพ่วงเอาวัฒนธรรมเขมรที่แทรกซึมเข้ามาตั้งแต่ราชสำนักอยุธยา แฝงปนอยู่ในภาพจิตรกรรมด้วย

ยิ่งตัวจิตรกรผู้วาดเอง ก็เป็นคนล้านนาลูกผสมเชื้อสายจีนมีชื่อว่า “เจ๊กเส็ง” ย่อมบ่งบอกถึงชีวทัศน์และอุดมทัศน์บางประการ ว่าสล่าผู้นี้คงไม่ต้องการยึดติดกับความเป็น “ล้านนาจ๋า” อย่างแน่แท้

ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นภาพสตรีหลากหลาย Hairstyles บนจิตรกรรมผืนผนังเดียวกัน

 

ผมสั้นจอนยาวสาวสยาม (เชื้อขอม)

เชื่อว่าตอนที่ทุกท่านได้ชมละครทีวีเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” แล้วเห็นทรงผมของคุณหญิงจำปาปรากฏขึ้นครั้งแรก คงหงุดหงิดรำคาญใจ

และอยากอุทานออกมาเป็นภาษาโบราณว่า “โอ้! แม่เจ้าประคุณรุนช่อง อกอีแป้นจะแตก!”

ใครหน้ามืดตามัวออกแบบทรงผมให้หล่อนล่ะหนอ สไตลิสต์คิดได้ไงเนี่ย อยู่ๆ ก็ให้สาวเหมียวทัดจอนยาวเฟี้ยวฟ้าวเกินเหตุ จอนยาวเสียยิ่งกว่า “เล็บเทียม” ที่สาวเหนือใส่ไปฟ้อนกันเลยทีเดียว

หลายท่านรู้สึกขัดหูขัดตา ของขึ้น จึงได้ไถ่ถามดิฉันมาว่า “ทรงผมจอนยาวของคุณหญิงจำปานั้นมีอยู่จริงหรือไม่”

ให้พอดีว่าช่วงที่กระแสออเจ้ากำลังแรงฮิตฮ็อตอยู่นั้น (กุมภาพันธ์-เมษายนที่ผ่านมา) ดิฉันยังติดพันกับการเขียนซีรี่ส์ยาวกว่า 30 ตอนเรื่อง “ล้านนาศึกษา ในไทศึกษา ครั้งที่ 13” ไม่แล้วเสร็จ จึงไม่มีโอกาสได้ร่วมวงไพบูลย์ ถกเถียงวิวาทะเปิดประเด็นเรื่อง “จอนหูพิลึกกึกกือ” ของคุณหญิงจำปา ให้ผู้สงสัยหายคาใจ

อย่างไรก็ดี ยุคนี้ใครอยากรู้อะไรไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว ได้พบว่าตามสื่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ มีกูรูดาหน้าออกมาเฉลยถึงที่มาของทรงผมดังกล่าวนี้แล้วว่ามีอยู่จริง ผู้กำกับละครช่อง 3 ไม่ได้เมกขึ้นเอง

ทำให้คนทั่วประเทศโล่งอก และรับทราบโดยทั่วกันแล้วว่า ทรงผมจอนแหลมของคุณหญิงจำปานี้มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า “ผมทรงปีก”

ความหมายของผมทรงปีก คือการจัดการส่วนบนของศีรษะยกขึ้นให้สูงคล้ายปีกนก ส่วนด้านข้างและด้านหลัง มีสามแบบ

1. ปล่อยประบ่าแบบนางเอกการะเกด สำหรับสาวรุ่นกระเตาะ อาจไว้ผมยาวได้ไม่เป็นภาระ

2. เก็บด้านข้างและด้านหลังให้เรียบแบบคุณหญิงจำปา เพราะเป็นสาวรุ่นใหญ่ ไม่ต้องเป็นภาระเรื่องการดูแลผมยาว

และ 3. โกนให้เกลี้ยงให้เหลือแต่ไรผมที่ขึ้นใหม่คล้ายผู้ชาย แบบหลังนี้ยิ่งคล่องตัว หากมีศึกสงครามพร้อมเคลื่อนไหวหรือปลอมตัวเป็นชายออกรบได้เลย

กรณีทรงปีกแบบที่สอง ในเมื่อเก็บเรียบ ไม่มีอะไรรุ่ยร่ายกรุยกราย ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะช่วยเสริมส่งให้ใบหน้านวลอนงค์ดูโดดเด่นขึ้น ไม่โล้นเลี่ยนเตียนโล่งจนเกินไปได้ก็คือ การทัดจอนหูยาวสยายออกมาเป็นปีก และจอนที่ดูแข็งไม่หลุดลุ่ยนั้น ก็มาจากการที่คุณหญิงจำปาต้องตื่นแต่เช้าให้บ่าวไพร่เอาขี้ผึ้งไล้จอนยาวจนทรงตัวเป็นแผงนั่นเอง

เปรียบไปก็คล้ายกับการใช้หนวดเคราเป็นเครื่องประดับความหล่อเข้มของฝ่ายบุรุษฉันใดก็ฉันนั้น

 

คําถามที่ตามมาก็คือ ผมทรงปีกเก่าถึงยุคกรุงศรีอยุธยาจริงหรือไม่ หรือแค่ต้นรัตนโกสินทร์เท่านั้น เนื่องจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระสิงห์ เพิ่งวาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เองมิใช่หรือ มีหลักฐานสิ่งใดยืนยันว่าผมทรงปีกจอนยาวมีมาแล้วตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจริงบ้างไหม

คำตอบคือ เก่าถึงสมัยอยุธยาจริง เพราะได้พบภาพบุคคลไว้ผมทรงปีกของสตรีคู่กับผมทรงมหาดไทยของฝ่ายชาย ทั้งในภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ และในสมุดข่อยต่างๆ สมัยอยุธยาปลาย เพียงแต่ไม่พบจอนยาวโผล่ออกมาด้วย

และอีกคำถามหนึ่งที่ดิฉันเพียรถามตัวเองและผู้รู้ทั้งหลาย ว่าทรงผมนี้เป็นการรับอิทธิพลมาจากสตรีในราชสำนักเขมรหรือไม่

เหตุที่โยงทรงผมปีกจอนยาวไปกับชาติพันธุ์เขมร ก็เนื่องมาจากพบว่าทรงผมนี้มักปรากฏในภาพสตรีที่นุ่งห่มผ้าสไบ ในลักษณะที่เรียกว่า สะหว้ายแหล่ง (สะพายแล่ง) พร้อมกับผ้าโจงกระเบนลายดอกแบบเขมรคู่กันเสมอ

กอปรกับเคยเห็นภาพถ่ายสตรีในราชสำนักกัมพูชาหลายนางไว้ผมทรงนี้อย่างแพร่หลาย (มากกว่าสาวๆ บางกอก) ในช่วงก่อนที่กัมพูชาจะตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ในทรรศนะส่วนตัวของดิฉัน จึงค่อนข้างเชื่อว่า ทรงผมจอนยาวนี้ มีความผูกพันกับวัฒนธรรมเขมรอย่างแนบแน่น

 

สัปดาห์หน้าจะมาผ่าตัดเรื่องทรงผมพิสดารอีกทรงหนึ่งของคุณหญิงนิ่ม ที่ฮิปสเตอร์พอๆ กัน

แถมยังสร้างความเดือดดาลให้แก่ชาวเน็ตไม่แพ้กัน “ผมทรงอะไรของหล่อนอีกล่ะเนี่ย จะรวบเก็บที่ท้ายทอยให้หมดไม่ได้รึไง มาทำวับๆ แวมๆ ทิ้งกระจุกผมไว้หนึ่งปอย เพื่ออะไร?

ทรงผมนี้ก็มีตัวอย่างของภาพจิตรกรรมวัดเดียวกันให้ดูอีกค่ะ