E-DUANG : จากยุค “เราลิขิต” หลัง “สงคราม” มาสู่ยุค “อนาคต” เรา”กำหนด”เอง

การปรากฏตัวของ “พรรคอนาคตใหม่” พร้อมกับสัญลักษณ์”สีสัม”อร่ามตา ดำเนินไปเหมือนกับเป็น “สันปันน้ำ”

สันปันน้ำในทาง “ความคิด”

นักวรรณกรรมศึกษาบางท่านอาจนึกถึงชื่อนวนิยายเรื่องหนึ่ง จากปลายปากกา ร.จันทนพิมพะ นักเขียนสตรีจากสำนักวัฒนา

นั่นก็คือ “เราลิขิต”

เป็นการนำเสนอในห้วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ความคิด

ใหม่เกิดขึ้นในทางสากล เช่นเดียวกับที่”พรรคอนาคตใหม่”นำเสนอคำขวัญสั่นกระชับที่ว่า

“อนาคต” เรา “กำหนด” เอง

 

ชื่อนวนิยายเรื่อง “เราลิขิต” ของ ร.จันทนพิมพะ ท้าทายต่อระบบคิดเดิมที่ว่า “พรหมลิขิต”อย่างตรงตัว

“เราลิขิต” สอดรับกับหลักพุทธธรรม

เพราะว่าพระพุทธเจ้าสอนให้ตระหนักในความจริงอันประเสริฐที่ว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

“เราลิขิต” สอดรับกับหลักประชาธิปไตย

เพราะว่าประชาธิปไตยเตือนให้ตระหนักในอำนาจและความเป็นใหญ่ของประชาชน

นั่นก็คือ “ประชาชน” ต้อง “เป็นใหญ่”

การปรากฏขึ้นของ “พรรคอนาคตใหม่”ที่เหมือนกับเป็นความคิดใหม่ แต่แท้จริงแล้วก็คือ การสืบและสานต่อความคิดใหม่ที่เคยปรากฏในสังคมไทย

ตั้งแต่ยุค “เทียนวรรณ” ที่ว่า “ไพร่”เป็นพื้น ยืนร้องทำนอง ชอบ ตามระบอบ “ปาเลียเมนต์” ประเด็นขำ

ตั้งแต่ยุค “คณะราษฎร” ก่อการเมื่อเดือนมิถุนายน 2475

เพียงแต่เขานำเสนอ “อนาคต” เรา “กำหนด” เองอันเป็นความต่อเนื่องจาก “เราลิขิต”เท่านั้น

 

พลันที่ ความคิด“ใหม่” ปรากฏตัวพร้อมกับนำเสนอ “อนาคตใหม่” ให้เป็นอีกทางเลือก 1 ก็เหมือนแสง”อันฉายไปใน “ความมืด”

เกิดการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งเห็นด้วย ทั้งไม่เห็นด้วย จากบรรดาผู้ที่จมอยู่กับ “ความมืด”มาอย่างยาวนาน ก่อให้เกิดการปะทะ ขัดแย้ง

เพราะว่า “แสงสว่าง” ได้นำไปสู่อีก”ทางเลือก”ที่มาใหม่