ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 129 วิชั่น 2 ผู้นำองค์กร

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

“อันโตนิอู กุแตเรช” เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และ “จิม ไบร์เดนสตีน” ผู้อำนวยการองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) แสดงวิสัยทัศน์ ปลุกกระแสโลกร้อนให้เป็นที่ฮือฮาในวงการวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมได้ไม่น้อยทีเดียว

“กุแตเรช” เรียกร้องทุกประเทศระดมพลังแก้ปัญหาโลกร้อนและตระหนักถึงภัยที่กำลังคุกคามพร้อมกับเร่งช่วยควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

อดีตนายกฯ แห่งโปรตุเกส “กุแตเรช” เข้ามาเป็นเบอร์หนึ่งของสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของโลก แทนนายบัน คี มูน มองในมุมบวกว่า สถานการณ์โลกร้อนดูเหมือนกำลังไปได้ดี

เพราะบางประเทศออกแรงช่วยเต็มไม้เต็มมือ อย่างเช่น ประเทศโมร็อกโกและจีน

เลขาฯ ยูเอ็นชี้ว่า ทั้งสองประเทศที่เอ่ยชื่อมานั้น มุ่งหน้าลงทุนสร้างฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ช่วยโลกลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพราะพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ในโมร็อกโกชื่อว่า นัวร์ (Noor) มาจากภาษาอารบิก แปลว่า แสง ตั้งอยู่กลางทะเลทรายครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.4 ล้านตารางเมตร เทียบเท่าสนามฟุตบอล 200 สนามรวมกัน

“นัวร์” มีแสงแดดส่อง 330 วันต่อปี จึงเหมาะเป็นพื้นที่สร้างโซลาร์เซลล์ เมื่อแสงแดดส่องตรงกับแผงโซลาร์เซลล์เกิดความร้อนสูงถึง 350 องศาเซลเซียส

นัวร์ 1 สร้างเสร็จเมื่อปี 2559 สามารถดึงพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงกลางวันมากักเก็บเป็นพลังงานความร้อนไว้ใช้ปั่นเครื่องเทอร์ไบน์สร้างพลังงานไฟฟ้าในช่วงเย็นซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามากได้อีกด้วย

เทคนิคการเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ของนัวร์ 1 คือการใช้เกลือชนิดพิเศษทำด้วยโซเดียมและโพแทสเซียมไนเตรต สามารถดูดซับความร้อนไว้ได้นานถึง 3 ชั่วโมง

ในโครงการ “นัวร์ 2” ที่กำลังก่อสร้างและแล้วเสร็จในปี 2563 จะมีกำลังผลิตถึง 580 เมกะวัตต์ และพัฒนากรรมวิธีเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง

นัวร์ 2 จะช่วยให้โมร็อกโกมีพลังงานมากพอที่จะส่งไปขายให้ประเทศสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป

ตามแผนโซลาร์ฟาร์มของโมร็อกโกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทางเลือกทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลปีละ 7%

คาดการณ์ว่าภายในปี 2563 โมร็อกโกจะมีพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น 14% ของพลังงานทั้งประเทศ สามารถป้อนไฟฟ้าได้มากถึง 1 ล้านครัวเรือน

จากนั้นในปี 2573 มีแผนพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือกใหม่ๆ เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม เมื่อบวกกับพลังงานแสงอาทิตย์ โมร็อกโกจะมีพลังงานสะอาดเหล่านี้เข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลมากถึง 52%

ดังนั้น ในอนาคตโมร็อกโกจะเป็นแหล่งพลังงานสะอาดแห่งใหม่ของทวีปแอฟริกา ซึ่งไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศเฟื่องฟู หากยังช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นัวร์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อการลงทุนด้านภูมิอากาศ ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งเยอรมนี ธนาคารพัฒนาเพื่อแอฟริกัน ธนาคารโลกและธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยูโรเปียน

 

สําหรับจีนปักหลักลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์มานานหลายปีแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ จีนเพิ่งเปิดใช้โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 40 เมกะวัตต์ลอยอยู่กลางน้ำในเหมืองร้างของเมืองหว่านหนาน มณฑลฮันฮุย

โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ของจีนรุดหน้าไปเร็วมาก

ถ้าเปรียบเทียบกับอังกฤษและญี่ปุ่น การพัฒนาโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ จีนก้าวล้ำกว่า

อังกฤษสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาดใหญ่ในแอ่งเก็บน้ำชานกรุงลอนดอน มีกำลังผลิต 6.3 เมกะวัตต์ ส่งกระแสไฟฟ้าไปยังบ้านเรือนได้ราว 1,800 หลัง

ส่วนญี่ปุ่นสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยอยู่เหนืออ่างเก็บน้ำยามาคุระ เมืองชิบะ ใกล้ๆ กรุงโตเกียว ครอบคลุมพื้นที่ 180,000 ตารางเมตร เสร็จในปีนี้ จะมีกำลังผลิต 13.7 เมกะวัตต์ และส่งกระแสไฟฟ้าไปให้บ้านเรือนได้ราว 5,000 หลัง

แต่โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำของจีนติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ 166,000 แผง ให้พลังงานไฟฟ้าแก่บ้านเรือน 150,000 หลัง

ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานแสงอาทิตย์ คำนวณแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งทั่วแผ่นดินจีนตั้งแต่แผ่นแรกจนถึงเดือนพฤศจิกายนที่แล้ว สามารถผลิตไฟฟ้ารวมกันได้มากถึง 126 กิ๊กกะวัตต์

คาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ของจีนจะพัฒนาจนมีราคาถูกอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่เลขาฯ ยูเอ็นยกย่องเชิดชู “จีน” ในด้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์

 

“กูแตเรช” ย้ำว่า ทิศทางโลกข้างหน้าจะต้องให้ความสำคัญกับพลังงานหมุนเวียนอย่างมากเพราะเป็นพลังงานสะอาด และชาวโลกจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพรวมทั้งโลก ปรากฏว่าการลงทุนด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล

ปีที่แล้ว สมาชิกของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ เทเงินลงทุนในพลังงานหมุนเวียน 242,000 ล้านเหรียญสหรัฐ “กุแตเรช” ต้องการให้ชาวโลกช่วยกันลงทุนเพื่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มอีกหลายพันล้านเหรียญ

ถ้ายังไม่มีการเพิ่มทุน เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า ในปี 2563 โลกเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ จะล้มเหลว

 

หันมาดูวิชั่นของ “ไบร์เดนสตีน” ในเรื่องโลกร้อนกันมั่ง

ผู้บริหารคนใหม่ของนาซาบอกว่า สภาวะภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงมีสาเหตุมาจากคนเป็นหลัก

ความเห็นดังกล่าว สร้างความฮือฮา เพราะสมัยที่ไบร์เดนสตีนยังเป็น ส.ส.พรรครีพับลิกัน รัฐโฮกลาโฮมาเคยตั้งข้อสงสัยว่า คนทำให้สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจริงหรือเปล่า

เมื่อมีการเสนอชื่อไบร์เดนสตีนเป็นผู้อำนวยการนาซา จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันให้แซดว่า นาซาจะหมดความน่าเชื่อถือ การเมืองเข้าแทรก โดยเฉพาะนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งมาจากพรรครีพับลิกัน เป็นหัวโจกคัดค้านเรื่องโลกร้อน

คงจำกันได้ “ทรัมป์” เขียนทวิตเตอร์ซัดจีนเป็นคนอยู่เบื้องหลังปั่นเรื่องโลกร้อน และเมื่อเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน “ทรัมป์” ออกคำสั่งให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลง “ปารีส” ที่ประชาคมโลกร่วมกันลงสัตยาบันเพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

แต่เมื่อวุฒิสภาลงมติรับรองไบร์เดนสตีนเป็นผู้อำนวยการนาซา เหตุการณ์เปลี่ยนไป เนื่องจากผู้อำนวยการนาซาคนใหม่ยอมรับว่าโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์เกิดขึ้นจากฝีมือคน

“ผู้คนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเป็นปริมาณมากอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และก๊าซเรือนกระจกทำให้โลกร้อนขึ้น ฉะนั้นเราต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น”

ผู้บริหารคนใหม่ของนาซา เดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยด้านโลกร้อนซึ่งสวนทางกับแนวนโยบายของ “ทรัมป์”

“นาซาต้องทำเรื่องวิทยาศาสตร์ และต้องให้เกิดความมั่นใจว่าวิทยาศาสตร์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง วิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อมนุษยชาติ” ไบร์เดนสตีนยืนยัน

เมื่อผู้อำนวยการนาซาคนใหม่หันมายืนบนจุดที่โลกยอมรับ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็หายไป

 

ปิดท้ายกับสถิติอุณหภูมิร้อนที่สุดที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจดบันทึกได้ที่เมืองนาวาบซาห์ ประเทศปากีสถาน เมื่อเดือนเมษายน อยู่ที่ 50.2 องศาเซลเซียส

ถือเป็นอุณหภูมิที่ร้อนสุดๆ ในเดือนเมษายนของเมืองนี้

“เดือนเมษายนเมืองนาวาบซาห์ไม่เคยร้อนทะลุถึง 50 องศาเซลเซียสอย่างนี้มาก่อน อากาศร้อนๆ ต้องเดือนมิถุนายนหรือเดือนกรกฎาคม” เจ้าหน้าที่ขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแถลงด้วยท่าทีตกอกตกใจ