ต่างประเทศอินโดจีน : ค่าแรงขั้นต่ำที่ลาว

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัฐบาลลาวประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ จากเดิมที่กำหนดไว้ 9 แสนกีบต่อเดือน (ราว 3,450 บาท) ให้สูงขึ้นเป็น 1.1 ล้านกีบ ตกเป็นเงินบาทราวๆ 4,220 บาทต่อเดือน

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของลาวชะงักอยู่ช่วงใหญ่ เนื่องจากสมาพันธ์สหภาพการค้าลาว (แอลเอฟทียู) ซึ่งเป็นองค์กรสหภาพแรงงานที่รัฐเป็นผู้สนับสนุน เรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้เป็น 1.2 ล้านกีบต่อเดือน (อยู่ที่ประมาณ 4,600 บาท)

ในขณะที่สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว คัดค้านตัวเลขดังกล่าวอย่างหนัก โดยให้เหตุผลว่า ค่าแรงขั้นต่ำที่เกินกว่าระดับ 1 ล้านกีบ จะส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตของประเทศซึ่งเพิ่งจะ “ตั้งไข่” จะถึงกาลหายนะ

ไม่เพียงคัดค้านค่าแรงเกิน 1 ล้านกีบเท่านั้น ทางสภายังเรียกร้องต่อรัฐบาลให้กำหนดระยะเวลาผ่อนปรน 2 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถรับมือกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

นักวิเคราะห์เคยคาดหมายกันว่า รัฐบาลลาวอาจตัดสินใจปกป้องอุตสาหกรรมต้นทุนต่ำ พึ่งพาแรงงานสูง ที่กำลังเริ่มพัฒนาของประเทศ แต่เอาเข้าจริง นายกรัฐมนตรี ทองลุน สีสุลิด กลับเลือกยืนข้างผู้ใช้แรงงาน

อันที่จริง ค่าแรงในลาวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนต้นปี 2012 เคยอยู่ที่ 348,000 กีบ ก็ถูกปรับเพิ่มขึ้นในปีเดียวกันนั้นเกือบเท่าตัวเป็น 626,000 กีบ ถัดมาอีก 3 ปี คือในปี 2015 ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เช่นเดียวกับเมื่อครบ 3 ปีถัดมาในปีนี้

แต่ดูเหมือนทางการลาวไม่ได้คำนึงถึงการปรับค่าแรง “ตามวาระ” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังพยายามดำเนินการเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นไปในแนวเดียวกับเป้าการพัฒนาประเทศด้วยอีกต่างหาก

 

ในทางหนึ่ง การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ค่าครองชีพในลาวเพิ่มขึ้นสูงมาก ใครที่เดินทางข้ามไปมาระหว่างลาวกับประเทศเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกันตระหนักเรื่องนี้ดี

ในการประชุมสมัชชาแห่งชาติเมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของลาว ยอมรับต่อที่ประชุมว่าราคาสินค้าจำพวกอาหารในลาว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ แพงกว่าราคาสินค้าประเภทเดียวกันในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยและเวียดนาม

บางอย่างสูงกว่าถึง 20 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ต่อให้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงยิ่งว่า แรงงานลาวก็จะยังคงอยู่ในสภาพปากกัดตีนถีบต่อไป แม้จะดีขึ้นกว่าเดิมอยู่บ้างก็ตาม

ลาวเพิ่งได้รับเสียงชื่นชมจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในด้านการพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความสามารถในการลด “คนจนสมบูรณ์แบบ” (คือคนที่ดำรงชีพอยู่กับรายได้ต่อวันไม่ถึง 1.25 ดอลลาร์หรือราว 40 บาท) ลงได้ถึงครึ่ง แต่ข้อสังเกตของนักวิชาการหลายคนก็คือ ในช่วงเวลาที่คนยากจนในระดับนั้นลดน้อยลง ความไม่เสมอภาคของรายได้กลับเพิ่มสูงขึ้น

ตัวเลขของค่าสัมประสิทธิ์จินี ที่ใช้วัดความไม่เสมอภาคของรายได้ จากในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงราวต้นทศวรรษนี้ เพิ่มขึ้นจาก 0.311 เป็น 0.364

นั่นหมายความว่าในขณะที่คนจนในลาวร่ำรวยขึ้น คนรวยของลาวก็ร่ำรวยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน แถมยังได้ประโยชน์มากกว่าบรรดาคนใช้แรงงานอีกต่างหาก

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ด้วยระดับค่าแรงเช่นที่ผ่านมา อุตสาหกรรมในลาวกลับไม่สามารถว่าจ้างแรงงานได้มากมายอย่างที่อวดอ้างกัน เพื่อเอาชีวิตรอดจากค่าครองชีพสูงๆ แรงงานเหล่านี้กลับอพยพออกไปทำงานภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไทย ที่จ่ายค่าแรงสูงกว่า

เฉพาะส่วนที่เข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในขณะนี้มีแรงงานลาวอย่างน้อย 170,000 คน ทำงานอยู่ในไทย จำนวนรวมจริงๆ น่าจะสูงกว่านั้นมาก

ถ้าการขึ้นค่าแรงครั้งนี้ ส่งผลให้แรงงานลาว “กลับบ้าน” ไปทำงานในถิ่นเกิดได้จริงอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง

อุตสาหกรรมลาวก็อาจได้ประโยชน์จากแรงงานเหล่านี้มากกว่าที่คิดไว้ก็เป็นได้