จับแรงสั่นสะเทือน คสช.ครบวาระ 4 ปี ผ่านกรณี 8 เพื่อไทย เป้าหมาย “ยุบพรรค”?

สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอาการหวั่นไหวของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างหนึ่งคือ

การส่งนายทหาร “ขาประจำ” ฝ่ายกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปราม ให้ดำเนินคดีกับ 8 แกนนำสมาชิกพรรคเพื่อไทยใน 4 ข้อหา ประกอบด้วย

ฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ข้อ 2 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจกรรมใดๆ ทางการเมือง

ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 มั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

ทั้งหมดสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แกนนำพรรคเพื่อไทย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายจาตุรนต์ ฉายแสง นายชัยเกษม นิติสิริ นายนพดล ปัทมะ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายวัฒนา เมืองสุข

ขณะเตรียมเปิดแถลงข่าว “4 ปีที่ล้มเหลวของรัฐบาลและ คสช. นำประเทศไปสู่ความมืดมนและอันตราย” ก็ได้ปรากฏสัญญาณเตือนเบื้องต้น

เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.มักกะสัน เข้ามาเจรจากับแกนนำพรรค ขอให้ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง การแถลงข่าวเกิน 5 คน สุ่มเสี่ยงต่อการขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และขอให้หลีกเลี่ยงประเด็นการเมือง

อย่าให้เกิดความวุ่นวาย

ผลการเจรจา จบลงด้วยการที่แกนนำพรรคเพื่อไทยยอมลดจำนวนผู้แถลงข่าวลง จาก 8 คน เหลือเพียงนายชูศักดิ์ ศิรินิล นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายวัฒนา เมืองสุข

พร้อมเชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมฟังการแถลงด้วย ระหว่างนั้นยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 20 นาย กระจายกำลังอยู่ภายนอกอาคารที่ทำการพรรค

“การที่ คสช. ส่งเจ้าหน้าที่มาบอกพรรคเช่นนี้ ถือเป็นการประจานไปทั่วโลกว่า คสช. ไม่ได้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นความล้มเหลวในการทำตามข้ออ้างการยึดอำนาจ และการสร้างความปรองดอง” นายจาตุรนต์กล่าวตอนหนึ่งในการแถลง

ต่อมาเวลา 19.30 น. วันเดียวกัน หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวไม่กี่ชั่วโมง

พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าส่วนปฏิบัติการคณะทำงานด้านกฎหมาย คสช. พร้อม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ เสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาฝ่ายกฎหมาย คสช.

เดินทางเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสวนกองบังคับการปราบปราบ (บก.ป.) ให้ดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานความผิด 4 ข้อหา

ขณะที่ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รอง ผบ.ตร. ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์รับลูกทันทีว่า หากสอบสวนพบมีมูลความผิดจะพิจารณาดำเนินคดีตามพยานหลักฐาน

พร้อมกับยืนยันไม่มีการกลั่นแกล้ง เพราะหากมีการกระทำนอกเหนือพยานหลักฐาน อัยการคงพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดี การดำเนินการต้องตรงไปตรงมาโดยเฉพาะคดีความมั่นคง

จากนั้นวันที่ 21 พฤษภาคม หลังถูกแจ้งความดำเนินคดี 4 วัน แกนนำพรรคเพื่อไทยทั้ง 8 คน ได้เดินทางมายังกองบังคับการปราบปราม เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามที่ทหารฝ่ายกฎหมาย คสช. แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ

ก่อนทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว เนื่องจากไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และมารายงานตัวก่อนหมายเรียก

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล เผยว่าในจำนวน 8 คน รวม 4 ข้อหา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มแรก นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายจาตุรนต์ ฉายแสง และนายวัฒนา เมืองสุข แจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116

กลุ่มที่สอง พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ นายภูมิธรรม เวชยชัย นายชัยเกษม นิติสิริ นายนพดล ปัทมะ และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 รวมทั้งนายศักดา นพสิทธิ์ ซึ่งยังไม่มารับทราบข้อกล่าวหา

กลุ่มที่สาม กลุ่มแอดมินเพจ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

การแจ้งความดำเนินคดีกับ 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้จำนวนมากทั้งจากสังคมทั่วไปและนักการเมืองพรรคต่างๆ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า กรณี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทยค่อนข้างพิเศษต่างกับทุกครั้ง เพราะทุกพรรคการเมืองก็เคยแถลงในลักษณะนี้หลายครั้ง รัฐบาลก็รู้

การบังคับใช้กฎหมายในการแสดงออกทางการเมืองนั้น ก่อนเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งควรผ่อนคลาย แต่กลายเป็นว่าเข้าสู่โหมดเลือกตั้งกลับยิ่งเข้มงวด

ยิ่งเป็นช่วงครบรอบ 4 ปี คสช. ควรเปิดโอกาสให้วิพากษ์วิจารณ์ได้ตามสมควร ไม่ให้วิจารณ์เลยก็แปลก และ คสช. ไม่มีเหตุผลต้องกลัว เพราะรัฐบาล คสช. ยังมีอำนาจเต็ม

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา แสดงความเห็นทำนองเดียวกันว่า การเมืองเข้าสู่ช่วงจะมีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ตามที่นายกฯ ประกาศไว้

รัฐบาลจึงควรเปิดกว้างให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้แสดงความเห็น บางเรื่องอาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็ควรยอมรับความเป็นจริง

“อย่าโยนฟืนโหมเข้าไปในกองไฟ แล้วทำให้บรรยากาศทางการเมืองร้อน ขมุกขมัวไปด้วยการเผชิญหน้ากันอีก”

แต่ที่น่าสนใจคือความเห็นของคนในแม่น้ำ 5 สาย

ต่อเนื่องจากนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปด้านกฎหมาย และอดีตประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แผนการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

4 ปีไปไม่ถึงไหน มีแต่แผน ไม่มีการปฏิบัติ ไม่มีจุดสิ้นสุด

ล่าสุดเป็นนายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุถึงกรณี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย เชื่อว่าเป็นเพียง “เกมการเมือง” เพราะนักการเมืองและพรรคการเมืองถือเป็นคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาลปัจจุบัน

ดังนั้น การวิจารณ์เรื่องใดจึงเกี่ยวกันกับความมุ่งหมายของการ “ช่วงชิงอำนาจ”

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะรับรองสิทธิการแสดงความคิดเห็นหรือการวิพากษ์วิจารณ์ของบุคคลและประชาชน แต่รัฐธรรมนูญก็มีบทเฉพาะกาลที่เป็น “รอยต่อ” ทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้เต็มที่

โดยเฉพาะบทบาทนักการเมืองและพรรคการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่าน การวิจารณ์ผู้มีอำนาจปัจจุบันอาจถูกเพ่งเล็ง เพราะถือเป็นคู่แข่งทางการเมือง

พูดยาก หากจะให้มองว่าการแจ้งความดำเนินคดีกับพรรคเพื่อไทย แต่พรรคการเมืองอื่นที่วิจารณ์ คสช. เหมือนกัน กลับไม่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งหรือหวังอะไรในทางการเมืองหรือไม่

“เป็นปฏิปักษ์กับเขา ก็ต้องระมัดระวัง” นายอุดมกล่าวสรุป

การดำเนินคดี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย ด้วยข้อหาไม่ค่อยสมเหตุสมผล

เป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดเกินจริง ในช่วงเวลาที่สมควรผ่อนคลาย ทำให้รัฐบาลและ คสช. ถูกมองว่าเป้าหมายแท้จริงอาจไม่ได้หยุดอยู่แค่เฉพาะ 8 แกนนำ

แต่น่าจะมีเป้าหมายใหญ่กว่านั้น

คือการดำเนินการกับ 8 แกนนำ อาจเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการ “ตัดสิทธิ” ทางการเมือง ไปจนถึงการ “ยุบพรรค”

ถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย จะปฏิเสธอ้างว่ายังมองไม่ออกว่าในทางข้อกฎหมาย จะเชื่อมโยงไปถึงขั้นยุบพรรคได้อย่างไร

แม้แต่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา ก็ไม่เชื่อว่ากรณี 8 แกนนำจะเป็นเหตุนำไปสู่การยุบพรรคหรือตัดสิทธิทางการเมืองได้

แต่จากประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่พรรคไทยรักไทย ต่อเนื่องพรรคพลังประชาชน เคยประสบเมื่อปี 2549 และ 2551 ก็เป็นเสมือน “บทเรียน” ที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถประมาทได้แม้แต่ก้าวเดียว

โดยเฉพาะในยุครัฐบาล คสช. ที่ผู้มีอำนาจสามารถดลบันดาลให้เกิด “อภินิหาร” ทางกฎหมายได้ตลอดเวลา

แม้ความ “แข็งกร้าว” ภายนอก จะสะท้อนถึงความ “หวั่นไหว” ภายใน แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็น ผ่านมา 4 ปี ไม่ว่าจะมี “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” หรือไม่มี

พรรคเพื่อไทยยังคงอยู่ในสถานะคู่ปรับที่น่ากลัวของ คสช. ไม่เปลี่ยนแปลง