การศึกษา /รับ ‘เด็กรีไทร์’ กลับมาเรียน สะท้อนวิกฤตมหาวิทยาลัย??

การศึกษา

 

รับ ‘เด็กรีไทร์’ กลับมาเรียน

สะท้อนวิกฤตมหาวิทยาลัย??

 

ทันทีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ออกมาประกาศรับสมัครนักศึกษาที่ถูกรีไทร์จาก มทร.ธัญบุรี ให้กลับมาสมัครเรียนระดับปริญญาตรีในปีการศึกษา 2561 โดยการสอบสัมภาษณ์

ก็เกิดความคิดเห็นที่แตกแยกเป็น 2 ฝ่ายทันที

ฟากหนึ่งซึ่งประกอบด้วยอธิการมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) สนับสนุน มองว่าเป็นการให้โอกาสนักศึกษา

ขณะที่อีกฟากซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ กังวลเรื่องคุณภาพทางวิชาการและห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อสถาบันอุดมศึกษา

นำมาสู่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โยนให้สภา มทร.ธัญบุรี ตอบคำถามสังคมให้ได้

ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัย เพราะมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่อยู่ได้ด้วยค่าเทอมนักศึกษา ขณะที่ปัจจุบันนักศึกษาลดลงอันเนื่องจากประชากรวัยเรียนน้อยลง

และที่สำคัญมหาวิทยาลัยรัฐเก่าแก่ยังมีภาษีดีกว่าในสายตาของผู้ปกครอง กลุ่มมหาวิทยาลัยขนาดกลางและเล็กจึงต้องดิ้นรนเพื่อให้อยู่รอดให้ได้

 

นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรีรับสมัครนักศึกษาที่ถูกรีไทร์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2557-2560 ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้กลับมาเรียน เพราะที่ถูกรีไทร์อาจเกิดจากปรับตัวไม่ได้ ขาดความพร้อม และมีผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ ไม่อยากให้สังคมมองว่าเป็นเด็กเกเร สอบตกจนต้องถูกคัดออก เพราะเด็กกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงเด็กที่ได้งานทำระหว่างเรียน หรือมีปัญหาทางบ้าน ปัญหาส่วนตัว

เมื่อ 2 ปีก่อน มทร.ธัญบุรีนำร่องกับคณะวิศวกรรมศาสตร์กว่า 20 คน ใช้วิธีสัมภาษณ์ และไม่เทียบโอนรายวิชา พบว่านักศึกษามีผลการเรียนดีมาก จบแล้วมีงานทำ

เมื่อประสบความสำเร็จจึงได้ดำเนินการกับทุกคณะทุกสาขาวิชาในปีการศึกษา 2561 นี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรก โดยครั้งนี้นักศึกษาสามารถเปลี่ยนสาขาและเทียบโอนรายวิชาได้ เพื่อไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่

การคัดเด็กกลับเข้ามาเรียนใหม่ ใช้กฎระเบียบตามสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และระเบียบของ มทร.ธัญบุรี ดูผลการเรียนย้อนหลัง ความประพฤติ เหตุผลการดร็อปเอาต์

ปัจจุบันมีผู้สมัครแล้ว 40 คน จากเป้าหมาย 200 คน

 

นายฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดี มร.สส. ระบุว่า มองเป็นเรื่องที่ดี ช่วยให้เด็กที่อาจผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจได้มีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา มทร.ธัญบุรีตัดสินใจอย่างกล้าหาญ

ตนเคยเสนอ มร.สส. แต่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยเพราะเกรงว่าจะกระทบกับคุณภาพการศึกษา ซึ่งไม่จริง และเชื่อว่า มทร.ธัญบุรีมีมาตรฐานในการรับและต้องปรับพื้นฐานเพื่อให้ได้คุณภาพที่กำหนด มร.สส. จะรอดูผลของ มทร.ธัญบุรี

ถ้าเป็นไปในทิศทางที่ดี อาจเสนอให้ฝ่ายบริหาร มร.สส. พิจารณาอีกครั้ง

นายวันชัย สุทธะนันท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) บอกว่า มศก. คงไม่เปิดช่องทางพิเศษให้คนที่ถูกรีไทร์กลับมาเรียน เพราะไม่จำเป็น นักศึกษาที่พ้นสภาพไปแล้ว หากอยากกลับเข้ามาก็ต้องสอบคัดเลือกตามช่องทางปกติ ส่วนกรณีของ มทร.ธัญบุรี จะกระทบกับคุณภาพการศึกษาหรือไม่นั้น คิดว่าไม่กระทบ มหาวิทยาลัยคงมีมาตรฐาน อีกทั้งเด็กที่ถูกรีไทร์มาจากหลายสาเหตุ เช่น มีปัญหาส่วนตัว เมื่อพร้อมก็อาจอยากกลับมาเรียน

นายพีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มน. กล่าวว่า เห็นด้วยกับ มทร.ธัญบุรี เพราะที่เด็กถูกรีไทร์ บางครั้งไม่ได้เกิดจากปัจจัยความประพฤติ แต่เกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การปรับตัว ความไม่ถนัด การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา ฯลฯ

ฉะนั้น จึงควรให้โอกาสนักศึกษา แต่ทั้งนี้ต้องไม่ใช่คณะ/สาขาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์หรือที่จะต้องมีสภาวิชาชีพกำกับ เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ เป็นต้น

ส่วนที่มองกันว่าจะกระทบต่อคุณภาพการศึกษานั้น ควรเปลี่ยนมุมมอง ไม่ควรให้ความสำคัญกับเกรด แต่ควรมองถึงผลผลิตที่จบออกมาว่าเป็นคนดี มีจิตสำนึก และมีความรู้ความสามารถที่จะทำงานได้หรือไม่

ส่วนที่ถามว่าถ้ารับเด็กรีไทร์กลับมาเรียน แล้วจะวางกฎเกณฑ์เรื่องรีไทร์ทำไมนั้น มหาวิทยาลัยมีระเบียบให้เทียบโอนหน่วยกิตได้ ที่ผ่านมาก็เปิดช่องให้คนที่ลาออกไปแล้วสามารถสมัครกลับเข้ามาโดยสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ ซึ่งไม่ต่างจากการให้โอกาสเด็กที่ถูกรีไทร์กลับเข้ามาเรียน

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งอยู่รอดได้ก็ด้วยจำนวนนักศึกษาและค่าเทอม ยกเว้นมหาวิทยาลัยที่มีทรัพย์สินหรือที่ดินให้เช่า หรือมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ และระหว่างทางชั้นปีที่ 2-4 ก็จะมีเด็กหลุดจากระบบทุกปี

ฉะนั้น ถ้าจะพูดว่าแนวทางการรับเด็กถูกรีไทร์ก็เพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตขาดแคลนนักศึกษา ก็สามารถพูดได้

 

ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ตนเพิ่งได้ยิน แต่ตนเคยพูดมาแล้วว่าระบบทีแคส จะทำให้กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี (มทร.) ได้รับผลกระทบและจะเกิดปรากฏการณ์แปลกๆ

เช่น การแย่งนักศึกษา เป็นต้น

ตอนนี้ปรากฏการณ์แปลกๆ อีกอย่างเกิดขึ้นแล้ว คือการรับเด็กที่ถูกรีไทร์กลับเข้าเรียน ซึ่งส่วนตัวมองว่า มทร.ธัญบุรีควรจะต้องคิดให้รอบคอบและถี่ถ้วนมากกว่านี้

ถ้าถามตน ไม่เห็นด้วย มองว่าไม่เหมาะสม ถือเป็นความล้มเหลว เพราะเป็นเรื่องที่ตอบสังคมยากมาก ระยะแรกอาจจะรอด แต่ระยะยาวส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัยแน่ ซึ่งไม่ใช่แค่กับ มทร.ธัญบุรีเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือต่อสถาบันอุดมศึกษา

โดยภาพรวม เพราะเป็นเรื่องที่ตอบสังคมยากมากว่าทำไมถึงเอาเด็กที่ถูกรีไทร์ออกไปแล้วกลับมา รวมถึงเรื่องมาตรฐานทางวิชาการ ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ

นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ระบุว่า โดยหลักการหากไม่ผิดระเบียบมหาวิทยาลัย ก็สามารถทำได้ ถือเป็นการให้โอกาสนักศึกษา

ทั้งนี้ การให้โอกาส มหาวิทยาลัยอาจต้องพิจารณาความเหมาะสม เช่น ถ้านักศึกษาถูกให้พ้นสภาพนักศึกษาจากข้อหาที่ไม่รุนแรง อย่างกรณีเกรดเฉลี่ยไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ก็ควรให้โอกาส

แต่หากถูกให้ออกด้วยข้อหาที่รุนแรง เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย มหาวิทยาลัยอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบ

ส่วนจะมองเป็นการเพิ่มยอดนักศึกษาหรือไม่นั้น ไม่อยากให้มองลบ คิดว่ามหาวิทยาลัยตั้งใจให้โอกาสเด็ก และเด็กเหล่านี้อาจจะไม่กล้าไปสมัครที่ไหน

อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยไหนทำแบบนี้มาก่อน ส่วนว่ามหาวิทยาลัยอื่นจะทำตาม ตนมองว่าขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละแห่ง ที่จะต้องไปดูให้เป็นไปตามระเบียบมหาวิทยาลัย และที่สำคัญต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา อย่าไปทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง

ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ระบุว่า มหาวิทยาลัยถือเป็นอิสระ ถ้าไม่ผิดกฎหมายและเป็นโครงการที่ มทร.ธัญบุรีทำขึ้นเอง ถ้าสังคมตั้งข้อสงสัยในเรื่องคุณภาพ ทางสภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบและอธิบายต่อสังคมให้ได้

ทุกวันนี้มหาวิทยาลัยมีอิสระทางวิชาการ แต่ถ้าความอิสระไร้ซึ่งการกำกับคุณภาพ ก็น่าเป็นห่วง มหาวิทยาลัยอาจได้เด็กตามยอด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหลังพ้นอ้อมอกมหาวิทยาลัยไปแล้ว คุณภาพของบัณฑิตจะตอบโจทย์สังคมได้หรือไม่??