มนัส สัตยารักษ์ : ข้อค้นพบทางการแพทย์ของสารกระตุ้น

เขียนเชียร์นโยบาย “ลดราคายาบ้า” ไปเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน โดยมีข้อเสนอให้กฎหมายถือว่ายาบ้าหรือเมทแอมเฟตามีนเป็น “สารกระตุ้น” และให้แบ่งประเภทของผู้เสพ (ที่อยู่ในคุก) เป็นส่วนที่มีปัญหาน้อย (90% ของผู้ต้องหายาเสพติด) เป็น “ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการบำบัดมีสิทธิซื้อมาเสพภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่

ต่อมาได้พบคอมเม้นต์หยาบคายในสื่อโซเชียลจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับ “ยาบ้าราคา 50 สตางค์” ของ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

ทำให้ผมต้องค้นหาตัวอย่างของคนที่เสพยาแล้วไม่ติดและสามารถหยุดได้ มาเป็นพยานหลักฐานยืนยัน

ตัวอย่างแรกที่นึกได้ก็คือตัวเอง… เพราะผมติดบุหรี่ตั้งแต่อายุ 16 เลิกได้ (เด็ดขาด) เมื่ออายุ 70 และเคยกิน Glutamic Acid อยู่ช่วงหนึ่งตอนอายุ 18

สอบถามพรรคพวกเพื่อนฝูงที่คลุกคลีอยู่กับปัญหายาเสพติด ได้รับคำตอบว่า ตัวอย่างมีมากมาย แม้ไม่เป็นความลับแต่เจ้าตัวคงไม่อยากเผยแพร่ พวกเขาเสพสารกระตุ้น (อาจจะตามกระแส) ตั้งแต่วัยรุ่นกำลังเรียนในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย พอเข้าสู่วัยทำงาน ก็ยุติโดยที่สุขภาพทั้งทางกายและใจเป็นปกติเหมือนเดิม

เอกสารที่ “สำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม” พิมพ์แจกเนื่องในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 เรื่อง “บูรณาการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวัตกรรมยุติธรรมตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด” ก็ยืนยันเรื่องนี้

หนังสือเล่มหนึ่งเล่าเรื่องของ พอล แอร์ดิช (Paul Erdos) อัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ชาวฮังการีที่ทั่วโลกรู้จักกันดี (เขาคูณเลขสามหลักในใจได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และเป็นเด็กชั้นประถมที่สามารถคิดกำลังสองของตัวเลข 4 หลักได้ ฯลฯ)

หนังสือเล่าว่า ในปี ค.ศ.1971 ที่สหประชาชาติประกาศใช้สนธิสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทฯ แอร์ดิชเริ่มเปลี่ยนจากการดื่มกาแฟขนาดหนักมาใช้แอมเฟตามีน จนเพื่อนๆ วางเดิมพันกันว่าเขาไม่มีทางหยุดใช้แอมเฟตามีนได้ถึง 1 เดือน ปรากฏว่าในที่สุดแอร์ดิชชนะพนัน เพราะเขาหยุดได้นานกว่า 1 เดือน

แอร์ดิช ใช้แอมเฟตามีนยาวนานถึง 25 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่ออายุ 83 ปี โดยไม่เป็นบ้าหรือประสาทหลอนดังที่มักเป็นข่าวบ่อยๆ ของสื่อในเมืองไทย

ก่อนเสียชีวิตแอร์ดิชมีผลงานทางด้านคณิตศาสตร์มากมาย

ถือเป็นข้อค้นพบทางการแพทย์ ที่แสดงให้เห็นว่ สารนี้เมื่อใช้อย่างถูกวิธี ในปริมาณที่เหมาะสม อาจส่งผลดีต่อผู้ใช้ ส่วนผลเชิงลบนั้นเกิดจากการใช้ที่ผิดเพราะขาดความรู้

เรื่อง Glutamic Acid เริ่มจากผมกับเพื่อนนักเรียนชั้นมัธยม 8 สวนกุหลาบฯ 5 หรือ 6 คน ถูกอาจารย์ใหญ่เรียกพบเนื่องจากมีรายงานว่า เวลาเรียนไม่พอ ทางโรงเรียนอาจจะไม่ส่งสอบ

ด้วยความรับผิดชอบ (ต่อตัวเอง) ทำให้ผมวางแผน “เตรียมตัวสอบใน 40 วัน” ด้วยการจัดระเบียบตัวเองเป็นรายวันและรายชั่วโมง เพื่อทบทวนบทเรียนและดูหนังสือไปจนถึงวันสอบภายในเวลาอันจำกัด

นอกจากต้องตัดบางวิชาที่พิจารณาเห็นว่าเหลือวิสัยที่จะทบทวนได้ทันออกจาก Agenda (เช่น วิชาเคมี) แล้ว ผมต้องเตรียมกาแฟดำร้อน (โอยัวะ) บุหรี่ อาหารบำรุงร่างกาย และ Glutamic Acid ซึ่งโฆษณาว่าเป็นยาหรือวิตามินบำรุงสมองและความจำ

จำไม่ได้ว่าเมื่อปี 2497 มี อย. หรือยัง Glutamic Acid มีวางจำหน่ายอย่างเปิดเผย มันเป็นยาเม็ดบรรจุขวดเล็กๆ ราคาค่อนข้างแพงเมื่อเทียบกับวิตามินหรือยาชนิดอื่น

ผมสอบมัธยม 8 ผ่าน แถมได้ประกาศนียบัตรมีข้อความว่า “วิชาที่ได้เป็นเยี่ยม-คณิตศาสตร์” แต่ผมไม่คิดว่าตัวเองเยี่ยมคณิตศาสตร์ด้วย Glutamic Acid เพราะวิชาอื่นๆ ล้วนคาบเส้น

ผมไม่รู้สึกมีความต้องการกินอีก หรือไม่เสพติด Glutamic Acid แต่อย่างใด และลืมเรื่องนี้จนเวลาผ่านไปเป็นสิบๆ ปีมีการประกาศว่า Glutamic Acid เป็นยาอันตรายหรือถือเป็นสารกระตุ้นที่ต้องควบคุม

ลงทุนเปิดดิกชันนารี คำว่า Acid แปลว่า “กรด” ตามที่รู้มาแต่เด็กนั่นแหละ แต่มันยังแปลว่า “ยาเสพติดแอลเอสดี” อีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีวงเล็บบอกไว้ว่าเป็นคำสแลง

ผมสูบบุหรี่หนักมากจนกล่าวได้ว่าบุหรี่เป็นนิ้วที่สิบเอ็ด แต่ผมก็หยุดสูบบ่อยๆ เช่นกันเพราะไอและเจ็บคออย่างทรมานจนต้องไปพบหมอ

เมื่อร่างกายทรุดโทรมมากขึ้นก็พยายามเลิกบุหรี่เสมอ แต่เลิกไม่กี่ชั่วโมงก็กลับมาสูบอีก จำได้ว่าหลังเกษียณอายุผมเลิกได้นานกว่า 2 เดือน รู้สึกเหมือนกับว่าได้ประสบกับ “ชัยชนะ” เด็ดขาดแล้ว ถึงขนาดเที่ยวคุยอวดใครต่อใครว่าเลิกบุหรี่ได้

แต่แล้วก็กลับมาสูบบุหรี่อีกด้วยความคิดเข้าข้างตัวเองว่า “มีประสบการณ์เคยเลิกบุหรี่มาแล้ว ทำไมจะเลิกอีกไม่ได้” และเหมือนคนประมาท ไม่ฟังเพื่อนที่เตือนว่า เลิกสูบแล้วกลับมาสูบอีก จะสูบหนักกว่าเก่า

ท้ายที่สุดเมื่ออายุ 70 ต้องเข้าโรงพยาบาล หมอต้องผ่าตัดทำบายพาสเปลี่ยนเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ 3 เส้น คราวนี้ผมเลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาดจริง เพราะกลายเป็นคนเหม็นและแพ้กลิ่นบุหรี่ไปอย่างน่าประหลาดใจ

ผมสงสัยว่าอะไรทำให้ผมเปลี่ยนไปถึงขนาดนั้น เคยถามศัลยแพทย์ท่านหนึ่งว่าเป็นไปได้ไหมที่การผ่าตัดทรวงอกไปโดนเอาต่อมอะไรเข้าสักต่อมหนึ่งจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย แต่หมอยืนยันว่าที่เลิกบุหรี่ได้นี้เป็นเพราะ “จิตสำนึก” เป็นการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกาย

ผมนึกย้อนไปถึงวันที่จะออกจากห้อง ICU มีพิธีกรรมแสดงความยินดีของการ “เกิดใหม่” แก่ผู้ป่วย แต่ผมลืมตาไม่ขึ้นและจะหลับคาเก้าอี้รถเข็นท่าเดียว ในระหว่างสะลึมสะลือคอพับคออ่อนอยู่นั้นแว่วเสียงบุรุษพยาบาลที่ดูแลผมอยู่

“คนนี้ไม่ยอมฟื้น ทำไงดีครับหมอ”

“เอากลับไปที่เตียงอย่างเดิม” ผมได้ยินหมอสั่งก่อนจะหลับไปในวินาทีถัดมา คงจะเป็น “จิตสำนึก” กระมังที่ทำให้ผมถามตัวเองว่า “เรากำลังจะตายหรือ?”

อาจจะเป็นจิตสำนึกที่คิดว่ากำลังจะตายนี่หรือเปล่าที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด?

ย้อนกลับไปคิดถึงข้อเสนอในการ “แยกประเภทและบำบัด” ที่กล่าวมาแต่ย่อหน้าแรก ผมเห็นว่าหากบำบัดแล้วมีบางคนไม่ยอมฟื้นกลับเป็นปกติ เรายังมีวิธีที่จะทำให้เขามีจิตสำนึกของคนใกล้ตายหลายวีธีด้วยกัน คือ

ทำใจ ตัดเนื้อร้ายทิ้งไป ตัดหางปล่อยวัด สละส่วนน้อยเพื่อรักษาส่วนใหญ่ และ…ปล่อยวาง