นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ทหารเกณฑ์ญี่ปุ่นในพม่า

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในขณะกำลังเลือกหาหนังสือในร้านหนังสือแห่งหนึ่ง ก็เหลือบไปเห็นหนังสือเล่มหนึ่งบนชั้นหนังสือเกี่ยวกับพม่า มีปกเป็นภาพทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามคนหนึ่งกำลังนั่งหลับอยู่ ผมหยิบขึ้นดูด้วยความแปลกใจว่าทำไมญี่ปุ่นจึงมาอยู่ชั้นเดียวกับพม่า

หนังสือเล่มนั้นคือ Tales by Japanese Soldiers ของคุณ Kazuo Tamayama และคุณ John Nunnelley เป็นหนังสือที่รวบรวมบันทึก, จดหมาย, คำสัมภาษณ์, ปาฐกถา, ข้อเขียน, ฯลฯ ของทหารญี่ปุ่นซึ่งเข้าร่วมปฏิบัติการในพม่าระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ตั้งแต่เริ่มบุกเข้าพม่าจนต้องล่าถอยกลับอย่างยับเยินในปลายสงคราม – จากทหาร ๓๐๕,๐๐๐ คน กลับมาได้เพียง ๑๒๕,๐๐๐ คนเท่านั้น – ทุกคนล้วนเป็นทหารระดับล่าง สูงสุดไม่เกินร้อยเอก และรวมทหารทุกประเภทตั้งแต่ทหารราบ, พลปืนกลเบา, กลาง, หนัก, พลปืนใหญ่, พลดูแลงัวต่าง, พลสูทกรรม, ไปจนนายทหารประจำตัวแม่ทัพ ฯลฯ

ดังนั้นสงครามในพม่าของพวกเขาจึงเป็นประสบการณ์จริงที่ทหารตัวเล็กๆ ต้องเผชิญ ไม่ใช่แผนยุทธการระดับใหญ่, ไม่ใช่การเมืองและแผนการณ์ทางการเมืองเบื้องหลังสงคราม, ไม่ใช่แผนยุทธการระดับกองทัพแม้แต่ในพม่าเอง, ไม่ใช่ประวัติของนายพลนักรบยิ่งใหญ่คนใด, ไม่ใช่บันทึกของนักกู้ชาติชาวพม่าหรืออินเดีย (ซึ่งร่วมอยู่ในปฏิบัติการทางทหารของญี่ปุ่น) แม้บางหน่วยเล่าถึงคนเหล่านี้ไว้นิดหน่อย และไม่ใช่หนังสือประวัติศาสตร์สงคราม

และนั่นแหละคือสิ่งที่ผมอยากรู้ เพราะนี่คือเรื่องราวของคนเล็กๆ ที่มักถูกลืมในประวัติศาสตร์ จึงหาอ่านที่ไหนไม่ได้ ผมหยิบมารวมไว้ในกองหนังสือซึ่งจะซื้อ และกลับเอามาอ่านเป็นเล่มแรกเลยทีเดียว

ความประทับใจแรกที่ผมได้รับเมื่ออ่านไปสักครึ่งเล่มก็คือ มองจากฝั่งทะเลจีนใต้อย่างเดียวกับมุมมองของเด็กไทยทั่วไปก็คือ กองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามนั้นเกรียงไกรเกินกว่ามหาอำนาจตะวันตกหรือไทยจะสามารถต่อกรได้ ขึ้นฝั่งประเทศไทยแล้วอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ยึดสิงคโปร์ ซึ่งอังกฤษวางแผนให้เป็นปราการด่านสุดท้ายที่แข็งแกร่งที่สุดในการสะกัดการขยายตัวของญี่ปุ่นในเอเชีย จับทหารอังกฤษ, อินเดีย, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, และคานาดาเป็นเชลยได้เป็นหมื่น

แต่มองกองทัพญี่ปุ่นจากฝั่งมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามันอย่างที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ กองทัพญี่ปุ่นไม่ได้เกรียงไกรอย่างนั้น การส่งกำลังบำรุงค่อนข้างแย่เอามากๆ แม้ว่าอังกฤษตัดสินใจถอยหนีไปตั้งหลักในอินเดียหลังจากเริ่มปะทะกับกองทัพญี่ปุ่นและสู้ไม่ได้ในตอนแรก แต่การถอยของอังกฤษไม่ได้ทำอย่างไม่เป็นกระบวนดังที่กล่าวในหนังสือประวัติศาสตร์พม่าทั่วไป กองกำลังของอังกฤษสามารถรวบรวมกันเพื่อตั้งสะกัดเป็นจุดๆ ปกป้องการยกขบวนหนีได้ตลอดทางไปจนถึงชายแดนอินเดีย ญี่ปุ่นจึงต้องรบไปพร้อมกับการขยายกำลังไปยึดครองพม่าทั้งประเทศ และสูญเสียมากทีเดียว

หลายครั้งด้วยกันที่กองทหารญี่ปุ่นซึ่งต้องเผชิญกับรถถังหรือรถหุ้มเกราะฝ่ายอังกฤษ แต่กองทหารญี่ปุ่นไม่มีปืนต่อสู้รถถังและรถหุ้มเกราะ เนื่องจากยังส่งมาไม่ถึง เพราะทุกครั้งที่ต้องเคลื่อนกำลังขึ้นเขา จำเป็นต้องถอดปืนเหล่านี้ออกเป็นชิ้น เพื่อขนขึ้นเขาด้วยกำลังม้า, งัวต่าง, เกวียน หรือคน จึงมักมาช้าหรือไม่มาเลย ญี่ปุ่นต้องสู้กับรถถังด้วยทุ่นระเบิดแม่เหล็ก คือเสี่ยงตายเข้าไปใกล้รถถังเพื่อเหวี่ยงทุ่นระเบิดไปติดรถถัง หรือเสี่ยงเอาระเบิดโมโลตอฟ (ระเบิดขวดใส่น้ำมัน แต่ตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อนี้) ไปหย่อนลงในตัวรถถัง

เกือบตลอดระยะเวลาที่รุกไล่กองกำลังอังกฤษ ญี่ปุ่นไม่อาจครองน่านฟ้าพม่าได้ มีเครื่องบินรบฝ่ายอังกฤษเข้ารบกวนบ่อยมาก บางครั้งต้องเดินทัพในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันพักนอนในป่า

ส่วนหนึ่งของกองกำลังที่บุกพม่า ถูกส่งไปทางบกผ่านประเทศไทย ทำให้การขนส่งกำลังบำรุงประสบปัญหามาก ทหารคนหนึ่งเล่าว่าเขาเดินทางเข้าพม่าจากพิษณุโลกด้วยรถบรรทุกไปจังหวัดตาก แล้วเดินทางต่อไปจนถึงชายแดนบนถนนที่วิศวกรญี่ปุ่นกับไทยร่วมกันสร้างขึ้น (เข้าใจว่าคือสายตาก-แม่สอดในปัจจุบัน โบราณเรียกด่านแม่ละเมา เพราะเมื่อข้ามแดนพม่าก็รุกเข้าตีเมืองพะอัน ซึ่งเป็นเมืองเอกของแคว้นกะเหรี่ยงในบัดนี้)

โดยสรุปก็คือญี่ปุ่นสูญเสียมากทีเดียว กว่าจะยึดพม่าได้หมดประเทศ ซ้ำร้ายกว่านั้น ยึดได้เพียงประมาณปีเดียว อังกฤษซึ่งปลดภาระสงครามในยุโรปลงได้มากแล้ว ก็เริ่มรวบรวมกำลังในอินเดียยกกลับมาใหม่ใน ๑๙๔๔ และสามารถเอาชนะกองทัพญี่ปุ่นซึ่งกำลังขาดแคลนไปหมดทุกอย่าง เพราะเส้นทางเดินเรือถูกเรือดำน้ำฝ่ายสัมพันธมิตรรบกวนอย่างหนัก การถอยทัพของญี่ปุ่นในปลายสงครามกลายเป็นตำนานความทุกข์ทรมานอย่างหนักของกองทัพที่ปราชัย อย่างที่กองทัพยึดครองของญี่ปุ่นในทุกแห่งทั่วโลกไม่เคยต้องเผชิญมาเลย

อย่าลืมนะครับว่า พม่าและฟิลิปปินส์เป็นเพียงสองแห่งที่กองทัพญี่ปุ่นพ่ายแพ้การรบในปลายสงคราม ส่วนกองทัพญี่ปุ่นในแมนจูเรีย, เกาหลี, ไต้หวัน, อินโดจีน, ไทย, มลายู, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ต้องยอมแพ้เมื่อโตเกียวยอมจำนนหลังถูกทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ไปสองลูก

หากญี่ปุ่นต้องรบแพ้ในทุกสมรภูมิอย่างในพม่า ความสูญเสียคงมากเสียจนกระทั่งญี่ปุ่นคงไม่สามารถฟื้นตัวหลังสงครามได้เร็วอย่างนี้ก็ได้ … แหะๆ ระเบิดนิวเคลียร์ก็มีประโยชน์แก่ญี่ปุ่นเหมือนกันนะครับ หรือในทางกลับกันระเบิดนิวเคลียร์ก็ช่วยให้ประเทศที่ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครองไม่ต้องสูญเสียมากนักในสงครามแตกหักขั้นสุดท้าย

กล่าวโดยสรุปก็คือ ญี่ปุ่นไม่มีกำลังมากพอจะเข้ามาแทนที่มหาอำนาจจักรวรรดินิยมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ หากไม่เกิดสงครามในยุโรปเสียก่อน อย่างเก่ง กำลังทหารญี่ปุ่นคงแย่งอินเดียตะวันออก (อินโดนีเซีย) จากฮอลันดาได้ แต่ความขัดแย้งในการแย่งอาณานิคมระหว่างมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้บรรลุความตกลงที่ทำให้เจ้าอาณานิคมทุกประเทศไม่ต้องลงทุนด้านการป้องกันตนเองระหว่างกันไปกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว ดังนั้นหากญี่ปุ่นยึดเอาอินโดนีเซียไปจากฮอลันดา อังกฤษและฝรั่งเศสคงไม่ยอมและคงบีบบังคับ (จนถึงพร้อมทำสงคราม) ให้ญี่ปุ่นต้องยอมคืนอาณานิคมนี้แก่ฮอลันดาจนได้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ญี่ปุ่นขยายดินแดนของตนในเอเชียตะวันออก เช่นเกาหลี, ไต้หวัน และบางส่วนของจีน โดยยอมรับอธิปไตยและเขตอิทธิพลของตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนเมื่อเกิดสงครามขึ้นในยุโรปแล้ว ญี่ปุ่นจึงถือโอกาสยกกำลังลงมายึดเอาเชียอาคเณย์ไว้ในมือตน

นักประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นบางคนเชื่อว่า ที่ต้องขยายตัวลงใต้ในครั้งนั้นก็เพราะญี่ปุ่นถูกสหรัฐบีบ โดยนโยบาย embargo หรืองดขายวัตถุดิบจำเป็นที่อ้างว่าเป็นยุทธปัจจัยให้แก่ญี่ปุ่น จึงทำให้รัฐบาลทหารญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าสงคราม รบกับสหรัฐและขยายลงทางใต้เพื่อยึดทรัพยากรที่ขาดไปจากการค้ากับสหรัฐ

ไม่ว่ารัฐบาลทหารญี่ปุ่นตัดสินใจเข้าสงครามเพราะเหตุไร ญี่ปุ่นก็ไม่อยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจและการทหารที่จะเปิดสงครามได้ทั่ว”มหาเอเชียบูรพา”อย่างแน่นอน

ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า การยึดครองของญี่ปุ่นเป็นคุณูปการทางการเมืองแก่นักชาตินิยมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ญี่ปุ่นไม่ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวชาตินิยมขึ้น เพราะความเคลื่อนไหวเช่นนี้ของปัญญาชนชาวพื้นเมืองได้มีมาก่อนแล้วในทุกประเทศ แต่ในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครอง ญี่ปุ่นไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องตั้งรัฐบาลภายใต้กำกับของตนขึ้นโดยเอาพวกชาตินิยมที่เป็นศัตรูกับฝรั่งเจ้าอาณานิคมเป็นผู้นำ

นอกจากนักเคลื่อนไหวชาตินิยมจะได้ประสบการณ์การบริหารเป็นครั้งแรกแล้ว พวกเขายังใช้โอกาสอันนี้ในการเชื่อมต่อกับ”มวลชน”ในระดับกว้างขวางขึ้นกว่าที่จะอาจทำได้ภายใต้ระบอบอาณานิคมของฝรั่ง ซ้ำยังปลุกเร้าประชาชนให้ต่อต้านอำนาจของเจ้าอาณานิคมทุกรูปแบบ (โดยนัยะคือเจ้าอาณานิคมแบบทหารของญี่ปุ่นด้วย) ดังนั้น เมื่อสิ้นสงครามและนายฝรั่งกลับเข้ามา จึงพบว่าอาณานิคมของตนไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว ความคิดชาตินิยมไม่ได้จำกัดอยู่กับปัญญาชนผู้มีการศึกษาเพียงไม่กี่คน ที่ไม่มีมวลชนหนุนหลังมากนักอย่างเดิม แต่กลายเป็นชนชั้นนำซึ่งเป็นที่นิยมยกย่องของประชาชนอย่างกว้างขวาง คนเหล่านี้สามารถต่อต้านนายฝรั่งได้ไม่แต่เพียงด้วยการปราศรัยอันแหลมคมเท่านั้น แต่สามารถนำกองกำลังทำสงครามกองโจรกับเจ้าอาณานิคมได้เป็นเวลานานปี

ชะตากรรมทางการเมืองของไทยสยามแยกออกจากเพื่อนบ้านอาณานิคมตรงนี้ อย่างน้อยเราไม่มีนายฝรั่งให้ต่อต้าน ในขณะเสรีไทยสายท่านปรีดี พนมยงค์สามารถสมัครสมานรวมกำลังกับเจ้านายได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ขบวนการเสรีไทยไม่มีเป้าหมายทางการเมืองอื่นนอกจากการรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้

จอมพล ป.พิบูลสงคราม

จอมพลป.พิบูลสงครามได้เริ่มการต่อต้านญี่ปุ่นในปลายสงครามเช่นกัน แน่นอนว่าท่านย่อมอาศัยกองทัพเป็นฐานกำลัง แต่การเคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นในสายของจอมพลป.ไม่เป็นที่ยอมรับในฝ่ายสัมพันธมิตรเหมือนขบวนการเสรีไทย จึงทำให้บทบาทของสายนี้เมื่อสิ้นสงครามไม่โดดเด่นเป็นที่รู้จัก

สมมติว่าสงครามไม่ได้สิ้นสุดลงอย่างฉับพลันด้วยระเบิดปรมาณู ผมเชื่อว่าการต่อต้านญี่ปุ่นสายจอมพลป.ก็จะเป็นที่ยอมรับในฝ่ายสัมพันธมิตร ไม่ต่างจากกองกำลังของนายพลอองซานในพม่า เช่นหากอังกฤษต้องยกพลขึ้นบกประเทศไทย เพื่อทำสงครามขับไล่ญี่ปุ่น นอกจากจะได้กำลังสนับสนุนจากกองกำลังลับของฝ่ายขบวนการเสรีไทยแล้ว ยังจะได้รับการสนับสนุนจากกองทัพไทยด้วย

หากเป็นเช่นนั้น บทบาททางการเมืองของฝ่าย”ศักดินา”หลังสงคราม ก็จะไม่โดดเด่นขึ้นมากนักอย่างที่ผ่านมา การเมืองภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรก็จะยังดำเนินต่อมาด้วยความมั่นคง โดยไม่เกิดการรัฐประหาร ๒๔๙๐ ขึ้น

แต่ความน่าอัศจรรย์ของประวัติศาสตร์กลับอยู่ที่ว่า แม้บทบาทของกองทัพไม่ได้รับการยอมรับในแง่รักษาเอกราชของชาติ (ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน และตกอยู่ใต้การยึดครองในทางปฏิบัติ ซ้ำยังไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยประเทศด้วย) แต่หัวหน้าขบวนการเสรีไทยกลับเป็นผู้ปกป้องกองทัพไว้อย่างสุดความสามารถ เริ่มจากต่อรองไม่ให้อังกฤษเข้าปลดอาวุธกองทัพไทยหลังสงคราม และในเวลาต่อมาไม่ยอมรับข้อเสนอของอังกฤษที่จะเข้ามาจัดองค์กรด้านการทหารในไทยทั้งหมด ด้วยข้ออ้างว่าจะไม่ให้บุคคลใดใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทางการเมืองของตน หรือเครื่องมือทำลายสันติภาพได้อีกเลย

ผมเข้าใจว่า ท่านรัฐบุรุษอาวุโสต้องการปกป้องอธิปไตยของชาติมิให้มัวหมองด้วยประการทั้งปวง เพราะหากยอมรับอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าความเป็นเอกราชของชาตินั้นไม่เด็ดขาด ยังมีเงื่อนไขที่มหาอำนาจตั้งขวางกั้นไว้อยู่ แต่ดูเหมือนกองทัพไทยในปัจจุบันลืมบทบาทสำคัญของท่านรัฐบุรุษอาวุโสในด้านนี้ไปเสียแล้ว

อีกด้านหนึ่งของหนังสือเรื่อง Tales by Japanese Soldiers แสดงให้เห็นจากบันทึกของทหารญี่ปุ่นชั้นเล็กๆ เหล่านี้ก็คือ ความชื่นชมต่อชาวบ้านพม่า ซึ่งเจือจานอาหารและที่หลบภัยให้ในยามที่ทหารญี่ปุ่นตกยาก หรือความเป็นชายชาติทหารของญี่ปุ่น เช่นเมื่อขับไล่อังกฤษออกจากพม่าได้สำเร็จด้วยความสูญเสียไม่น้อยแล้ว นายพลญี่ปุ่นซึ่งดูแลเมืองยีนางยองได้สร้างอนุสาวรีย์ให้แก่ทั้งทหารญี่ปุ่นและทหารอังกฤษที่เสียชีวิตในการรบ ตั้งเคียงกันไว้ในเมือง

เมื่อให้โอกาสทหารญี่ปุ่นเล่าเรื่องของเขาเอง จึงไม่แปลกอะไรที่เขาย่อมต่างจากทหารญี่ปุ่นที่เชลยฝรั่งเคยเล่าไว้ในการสร้างสะพานข้ามแควใหญ่