นิธิ เอียวศรีวงศ์ : นิยายย้อนยุคกับความอับจนทางประวัติศาสตร์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

วันหนึ่ง ผมถามเพื่อนสองคนที่เชี่ยวชาญภาษาไทย และเป็นนักอ่านนวนิยายไทยว่า เหตุใดในบรรดานิยายย้อนยุคของไทย ส่วนใหญ่จึงเป็นแต่เรื่องคนปัจจุบันย้อนกลับไปมีชีวิตในอดีต ไม่ค่อยมีคนในอดีตกลับมามีชีวิตในปัจจุบันบ้าง

ทั้งสองคนตอบว่า ก็ไม่จริงนัก เพราะมีนิยายที่นำเอาคนในอดีตกลับมาใช้ชีวิตในปัจจุบันอยู่หลายเรื่อง แล้วเขาก็ให้ชื่อมาหลายชื่อด้วยกัน

ผมกลับไปค้นรายละเอียดของนิยายที่เขาให้ชื่อมา และพบว่าเขาถูก คือก็มีเหมือนกัน แต่จำนวนน้อยอย่างที่ผมคาดแล้ว ซ้ำบางนิยายที่เขาระบุยังไม่ตรงกับความสงสัยของผมทีเดียวนัก เช่น นางเอกเป็นคนในอดีตที่มีความคับแค้นใจ จึงกลับมามีชีวิตในปัจจุบัน และดำเนินชีวิตเหมือนคนปัจจุบันเป๊ะ เพื่อทำให้ผัวเก่าในชาติก่อนโน้นสำนึกผิด เนื้อเรื่องอย่างนี้ไม่ทำให้อดีตกับปัจจุบันต้องมาปะทะกันมากไปกว่าความเจ็บแค้นของตัวละคร ไม่ต่างจากนิยายที่พูดถึงนางเอกกลับมาแก้แค้นแทนน้องสาวที่ถูกหักอก หรือแทนพ่อที่ถูกหักหลังทางธุรกิจ ฯลฯ ก็เหมือนกัน คือไม่ต้องอ้างถึงอดีตกาลนานไกลสมัยอยุธยาเลยก็ได้

หรือนิยายที่เอาเทวปกรณัมฮินดูเป็นฉากและปูมหลังของเรื่อง ไม่ใช่ “อดีต” ในความหมายที่ผมอยากรู้

หลังจากสำรวจนวนิยายต่างๆ แล้วผมเพิ่งได้สำนึกว่า คำถามหรือความสงสัยที่ผมมีเกี่ยวกับนิยายย้อนยุค ที่นำคนในอดีตมาสู่ปัจจุบันนั้น เป็นคำถามที่ผิด หรือเป็นความสงสัยที่ไม่เข้าท่า เพราะไม่ว่าจะเอาคนในอดีตมาอยู่ปัจจุบัน หรือคนปัจจุบันไปอยู่ในอดีต ก็ไม่ได้แตกต่างกันตรงไหน นั่นคือสร้างสถานการณ์ที่ไม่ปรกติขึ้น

นวนิยายจำนวนมากสร้างสถานการณ์ไม่ปรกติขึ้นจากความสัมพันธ์ของคนต่างกาละ, ต่างเทศะ (เช่น ไพรัชนิยาย หรือนิยายผจญภัยเช่นทาร์ซาน) ต่างชนชั้นหรือต่างสถานภาพทางสังคม (ซึ่งนวนิยายไทยจำนวนมากในสมัยหนึ่งใช้เป็นท้องเรื่องหลัก) ต่างอุดมการณ์หรือต่างความภักดี (ลูกชายที่เป็นตำรวจต้องไปจับพ่อที่เป็นโจร หรือทหารอเมริกันคนหนึ่งหลุดไปอยู่บนเกาะที่มีทหารญี่ปุ่นเหลือตายอยู่คนเดียว)

พูดง่ายๆ ก็คือสร้างพล็อตขึ้นจากสถานการณ์ไม่ปรกติ ซึ่งก็คือเอาสิ่งที่โดยปรกติแล้วไม่มีความสัมพันธ์กันมาทำให้เกิดความสัมพันธ์กัน อย่างหลีกเลี่ยงได้ยากหรือหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย นับเป็นกลวิธีสร้างพล็อตที่นักเขียนใช้กันมาแต่โบราณ และยังใช้อย่างแพร่หลายจนปัจจุบัน นิยายย้อนยุค (ทั้งย้อนไปข้างหลังหรือย้อนไปข้างหน้า) ก็เป็นหนึ่งในสถานการณ์ไม่ปรกติในนวนิยายเท่านั้น

(ในฐานะคนที่ไม่เคยเขียนนวนิยายเลย ผมอยากเดาว่า สถานการณ์ไม่ปรกติทำให้สร้าง “วิกฤต” ได้ง่าย ซ้ำยังดำเนินเรื่องต่อไปได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความสมจริงนัก ก็สถานการณ์ไม่ปรกติอยู่แล้วนี่ครับ หากสร้าง “วิกฤต” ขึ้นในนิยายที่ชีวิตแสนจะปรกติ ราบเรียบ และเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไปหมด เช่น “ชายชรากับทะเล” น่าจะยากกว่ากันหลายเท่า)

อย่างไรก็ตาม นอกจากเป็นกลวิธีการเขียนแล้ว การนำเอาอดีตมาเป็นฉากสำคัญของท้องเรื่องในนิยายย้อนยุค รวมทั้งนิยายอิงประวัติศาสตร์ ยังอาจเป็นกลวิธีในการเขียนเพื่อบรรลุเป้าหมายได้อีกสองสามอย่าง

อย่างแรกคือสร้างมุมมองใหม่ ทั้งต่ออดีตและปัจจุบัน คนที่ต้องไปใช้ชีวิตผิดจากยุคสมัยของตน คงไม่เพียงแต่ตระหนก, สับสน และงุนงง กับสำนวนภาษา, การแต่งกาย และขนบธรรมเนียมผิวเผินของสังคมต่างยุคสมัยเท่านั้น แต่เพราะมีค่านิยมและวิธีปฏิบัติที่ต่างกันมาก จึงเท่ากับนำเอามุมมองที่ตั้งอยู่บนระบบความสัมพันธ์และความคิดที่คนอีกยุคสมัยหนึ่งนึกไปไม่ถึงมาเสนอแก่ผู้อ่าน อย่างง่ายๆ เช่น ทำไมเราต้องแต่งตัวเป็นฝรั่ง จึงหันมาแต่งตัวตามแบบ “ไทย” ตามที่เข้าใจกัน นั่นคือหยิบเฉพาะส่วนที่เป็นความต่างภายนอกซึ่งมองเห็นและจับต้องได้ง่ายมาเป็นมุมมองหลักของนิยาย

ที่หยิบเอาบางอย่างที่ลึกกว่าเสื้อผ้าหน้าผมก็มี เช่น ย้อนกลับไปปลายอยุธยาก่อนกรุงจะแตก สังคมแตกแยกเป็นขั้วตรงข้ามระหว่างกลุ่มที่รักชาติ กับกลุ่มที่รักตัวเอง มีการแข่งดีกันระหว่างสองกลุ่มนี้อย่างหนักเพื่อเป้าหมายที่ต่างกัน แม้ระหว่างที่ต้องทำสงครามกับพม่าเพื่อปกป้องบ้านเมือง แน่นอนพระเอกนางเอกย่อมอยู่ฝ่ายรักชาติ แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถรักษาบ้านเมืองไว้ได้ พล็อตในสถานการณ์ไม่ปรกติเช่นนี้ ทำให้ผู้อ่านเกิดมุมมองใหม่ว่า บ้านเมืองอาจล่มสลายได้หากเรายังขาดความสามัคคี แบ่งเป็นฝักฝ่ายที่รักชาติกับฝ่ายที่รักแต่ตัวเอง

(พล็อตอย่างนี้ถูกเขียนเป็นนวนิยายซ้ำแล้วซ้ำอีก – ตั้งแต่ “ขุนศึก” – และแต่ละเรื่องก็ถูกนำมาทำเป็นละครทีวี แสดงซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกๆ 10 ปี ด้วยผู้แสดงที่กำลังเป็นที่นิยม ตั้งแต่พระเอกผู้รักชาติยังมีหน้าไทย มาเป็นหน้าฝรั่ง และหน้าเจ๊กในปัจจุบัน ผมเข้าใจว่าพล็อตอย่างนี้ซึมเข้าไปเป็นอุดมการณ์และโลกทัศน์ของคนไทยจำนวนมาก และก่อให้เกิดทัศนคติกระเหี้ยนกระหือรือของม็อบคนชั้นกลางไทยในอันที่จะทำร้ายหรือปราบปรามม็อบคนบ้านนอกให้ “สิ้นซาก” พากันโห่ร้องยินดีที่รัฐใช้กำลังปราบปรามม็อบคนบ้านนอกอย่างโหดเหี้ยมกลางเมือง กลุ่มคนไม่รักชาติตายแล้ว บ้านเมืองย่อมปลอดภัย ละครจบ)

แน่นอนว่า นวนิยายย้อนยุคและอิงประวัติศาสตร์อาจให้มุมมองที่มาจากการคิดอย่างลึกซึ้ง และการตรวจสอบข้อมูลทางประวัติศาสตร์ (หรือวิทยาศาสตร์ในนิยายย้อนไปสู่อนาคตเช่นนิยายท่องอวกาศ) ของนักเขียนก็ได้

อันที่จริงความต่างของยุคสมัย, ของประเทศ, ของชนชั้น ฯลฯ ที่เป็นสถานการณ์ไม่ปรกติในนวนิยายนั้น หากใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ มันก็จะกลายเป็นแสงที่ส่องให้เห็นตัวเราในอีกสีหนึ่ง ซึ่งเราไม่เคยเห็นมาก่อน

ประการที่สอง นิยายย้อนยุคหรือการจำลองสถานการณ์ผิดปรกติขึ้นจากอดีต อาจช่วยตอบสนองความใฝ่ฝันหรือโหยหาบางสิ่งบางอย่างของผู้อ่านซึ่งมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่น Maurizio Peleggi เคยตั้งข้อสังเกตใน “The Politics of Ruins and the Business of Nostalgia” ว่า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง คนไทยหมดความเชื่อมั่นในปัจจุบัน และอยากย้อนกลับไปมีชีวิตในยุคสมัยที่ตนเชื่อว่า ประเทศชาติมีความสงบสุขและมั่นคง ธุรกิจย้อนอดีตนับตั้งแต่ “กาแฟโบราณ”, ตลาดน้ำ, “ก๋วยเตี๋ยวสูตรอากง” ฯลฯ จึงเกิดขึ้นทุกหัวระแหง

รวมทั้งความนิยมภาพยนตร์เรื่อง “บางระจัน” และละครทีวีเรื่อง “ทวิภพ” ด้วย

ประการที่สาม เพราะกลวิธี “ย้อนยุค” ในนวนิยายมีพลังที่โน้มนำความคิดความอ่านของผู้คนได้มาก ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น จึงอาจเป็นเครื่องมือในการสถาปนาอุดมการณ์ใหม่ก็ได้ ทั้งโดยที่ผู้เขียนตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ผมนึกถึงนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ดีที่สุดในภาษาไทยคือ “สี่แผ่นดิน” ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าผู้เขียนเสนอเรื่องนี้ใน พ.ศ.2494-2495 ในหนังสือพิมพ์รายวัน 2494 คือปีที่เกิดรัฐประหารโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งให้อำนาจและบทบาทของกลุ่มนิยมเจ้าไว้สูงในการเมือง แล้วนำเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2475 กลับมาแก้ไขเพิ่มเติมและประกาศใช้ใหม่

ฝีมือระดับคุณคึกฤทธิ์ไม่เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์โดยให้ตัวละครเป็นบุคคลจริงในประวัติศาสตร์หรอกครับ เพราะข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ซึ่งท่านรู้ดีจะจำกัดการสร้างบุคลิกตัวละครอย่างมาก ท่านใช้อดีตเป็นฉากและบรรยากาศของเรื่องซึ่งแวดล้อมชีวิตของตัวละครทุกตัว แต่ฉากและบรรยากาศของเรื่องกลับสื่อ “สาร” หลักของเรื่องได้ไม่น้อยกว่าความผันแปรของชีวิตตัวละคร

ยกตัวอย่างเมื่อตอนคุณพลอยกลับเข้าวังหลวงหลัง 2475 เพื่อไปเยี่ยมเพื่อนๆ ที่ยังเหลือตกค้างอยู่ คุณพลอยมองไปยังพระที่นั่งจักรี แล้วบรรยายถึงความเสื่อมโทรมของพระที่นั่งนั้น มีเถาวัลย์ไม้เลื้อยขึ้นปกคลุมบางส่วน เกิดความสลดสังเวช ใครอ่านแล้วก็รู้ได้ทันทีว่าพระที่นั่งจักรีหมายถึงอะไร ความรุ่งเรืองในอดีตของพระที่นั่งจักรีที่แม่พลอยนึกถึงคืออะไร

และสิ่งที่ถูกที่ควรของพระที่นั่งจักรีในปัจจุบัน (2494-2495) คืออะไร

ผมไม่คิดว่าคุณคึกฤทธิ์ต้องการโน้มนำให้ผู้อ่านหันกลับไปรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (พระที่นั่งจักรีสร้างขึ้นในช่วงที่กำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่างยิ่ง ชิงอำนาจกันภายในและถูกคุกคามจากภายนอก แต่ในที่สุดก็แก้ปัญหานั้นได้สำเร็จพร้อมทั้งสถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามขึ้นได้ ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ในแง่สถาปัตยกรรมนะครับ แต่ในแง่บทบาทหน้าที่ทางการเมืองของสถาบัน) แม้ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่คุณคึกฤทธิ์ยังเชื่อว่า เพื่อให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ก็ยังต้องมีพื้นที่ให้แก่บทบาทของสถาบันอยู่ระดับหนึ่ง จะเป็นทางการเมืองหรือทางสังคมก็ตาม

แต่อุดมคติของคณะราษฎรยังตกค้างอยู่ แม้จะเป็นหลังการรัฐประหาร 2490 แล้วก็ตาม อย่างน้อยก็ตกค้างอยู่กับตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความนิยมยกย่องจากคนจำนวนหนึ่ง และที่สำคัญคือจากกองทัพด้วย ทำให้อำนาจต่อรองของนายกฯ มีสูงมาก อุดมคติของคณะราษฎรไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่มองพระราชอำนาจและบทบาททางการเมืองที่ควรเป็นของสถาบันไปอีกทางหนึ่ง

ผมคิดว่าอุดมการณ์ทางการเมืองใน “สี่แผ่นดิน” กลายเป็นอุดมการณ์หลักอันหนึ่งของคนไทยหลังการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บางคนไปไกลถึงกับจะคืนพระราชอำนาจหรือกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กันใหม่ แต่ผมให้สงสัยว่าคนที่เสนออย่างนี้คงไม่เคยอ่าน “สี่แผ่นดิน” ฉบับจริง ได้แต่ดูละครหรือหนังเท่านั้น

อีกประมาณ 25 ปีหลังสฤษดิ์ยึดอำนาจ คุณคึกฤทธิ์มีปฏิกิริยาต่อความนิยมชมชื่น “สี่แผ่นดิน” ของคนไทยว่า ความจริงแล้วแม่พลอยนั้นเชย อีกทั้งไร้เดียงสาในทางสังคม ไม่เป็นตัวของตัวเอง สุดแต่ผู้ใหญ่จะชักนำไป แต่ส่วนใหญ่ของผู้อ่านไทยก็เป็นอย่างแม่พลอยนี่แหละ จึงทำให้เรื่อง “สี่แผ่นดิน” ดัง

แต่ตอนที่คุณคึกฤทธิ์ให้สัมภาษณ์ข้างต้น เป็นเวลาหลังจากที่ได้เขียน “สี่แผ่นดิน” ไปประมาณ 30 ปี ผู้เขียนได้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบายที่กองทัพสมัยนั้นไม่ค่อยชอบ เช่น ล่วงล้ำเข้าไปในการวางนโยบายต่างประเทศซึ่งเคยถูกกองทัพผูกขาดมานาน นำการพัฒนาชนบทออกมาจากมือของทหาร ฯลฯ ผลก็คือสอบตกในการเลือกตั้ง และไม่อาจกลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้อีกจนถึงแก่กรรม

ความคิดตอนให้สัมภาษณ์เป็นความคิดเดียวกับเมื่อตอนเขียน “สี่แผ่นดิน” หรือไม่ ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ แต่ประสบการณ์ที่ต้องประสบพบเจอตลอด 30 ปี ย่อมเปลี่ยนคึกฤทธิ์ ปราโมช ใน 2494 ให้เป็นคึกฤทธิ์ ปราโมช คนใหม่ เหมือนมนุษย์อื่นทั่วทั้งโลก มันจะมีหรือที่ใครฟอร์มความคิดได้ในวัยหนุ่มแล้ว ก็เป็นอย่างนั้นตลอดไปจนวันตาย

เมื่อพูดถึงความเปลี่ยนแปลงแล้ว ผมรู้สึกว่า มีจุดอ่อนอันหนึ่งในนิยายย้อนยุคไทยทั้งหลาย (ถ้าจะยกเว้นก็ “สี่แผ่นดิน” นี่แหละครับ) นั่นคือส่วนใหญ่แล้วตั้งบนสมมติฐานว่า มนุษย์มีธรรมชาติที่คงที่ตลอดมาแต่บรมสมกัลป์จนปัจจุบัน ธรรมชาติของมนุษย์จะมีจริงหรือไม่ผมก็ไม่ทราบหรอกครับ เพียงแต่ว่า หากไม่นับ “สัญชาตญาณสัตว์” ซึ่งมีติดตัวมาทุกคน เช่น ต้องกิน ต้องถ่าย ต้องสืบพันธุ์ ต้องกลัว ฯลฯ แล้ว อะไรที่ถูกนักเขียนสมมติว่าเหมือนกับที่เรารู้จักในปัจจุบัน มันไม่เหมือนจริงสักที

เช่น ความรักของคนอยุธยาก็ไม่น่าจะเหมือนกับความรักของคนปัจจุบัน ความโลภหรือความอยากได้ใคร่ดี ก็ไม่น่าจะเหมือนกัน…ไม่เหมือนทั้งคนที่อยู่ต่างยุคสมัย หรือในแต่ละคนซึ่งอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน บ้านเกิดเมืองนอนของคนอยุธยาคงมีความหมายอย่างหนึ่งซึ่งแตกต่างจากบ้านเกิดเมืองนอนของคนปัจจุบันมาก ทำให้ความผูกพันที่มีต่อบ้านเกิดเมืองนอนก็ต่างกันไปด้วย

เมื่อพูดถึงยุคสมัยที่ต่าง อะไรอื่นๆ ก็ต่างไปอีกมาก ไม่ใช่เฉพาะเครื่องแต่งกายและภาษาพูดนะออเจ้า ผมคิดว่านิยายย้อนยุคและนิยายอิงประวัติศาสตร์ไทยคิดถึงความเปลี่ยนแปลงน้อยเกินไป

ทั้งนี้ผมอยากจะโทษการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ในเมืองไทย เพราะประวัติศาสตร์ที่สอนกันให้ความสำคัญแก่ความเปลี่ยนแปลงน้อย มีแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ผิวเผินเช่นรัชกาลและราชธานี อันที่จริงประวัติศาสตร์คือศาสตร์ที่ว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงโดยแท้เลย แต่เราสอนประวัติศาสตร์ไปไม่ถึง “จิตวิญญาณ” ของวิชา เราจึงสมมติว่าทุกอย่างก็เหมือนทุกวันนี้อย่างง่ายๆ นิยายย้อนยุคของเราจึงตั้งอยู่บนฐานของความอ่อนแอทางประวัติศาสตร์ตลอดมา