หลากมุมมองสื่อ ต่อคำสั่ง “ห้ามนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว”

โดย เบญจพร ศรีดี

การนำผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถือว่าเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา ทั้งภาพที่เผยแพร่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ออนไลน์ รวมถึงหนังสือพิมพ์

แม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเคยมีคำสั่งห้ามนําหรือจัดให้ผู้เสียหาย ผู้ต้องหา หรือพยาน มาแถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ยกเว้นกรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน โดยให้ขออนุญาตต่อผู้บัญชาการ คำสั่งนี้มีขึ้นตั้งแต่ปี 2548 และยังมีคำสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติ การให้ข่าว และการแถลงข่าว เมื่อปี 2550

แต่ดูเหมือนคำสั่งดังกล่าวจะถูกละเลยมาตลอด

กระทั่งมีคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงผลการดำเนินการเท่านั้น โดยไม่ต้องนำผู้ต้องหาออกมาแถลงข่าว เนื่องจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่งผลให้ทุกกองบัญชาการตำรวจต่างเร่งสนองนโยบาย แต่นอกจากการทำงานของตำรวจที่เปลี่ยนแปลงแล้ว การทำงานของผู้สื่อข่าวและช่างภาพสายอาชญากรรมก็ต้องผันแปรตามไปด้วย

โดยสื่อมวลชนสายอาชญากรรมมีมุมมองเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันออกไป

“ศิโรจน์ มิ่งขวัญ” นายกสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย เห็นว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ขึ้นอยู่กับการตีความว่าจะไปทิศทางใด

ส่วนตัวในฐานะช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์ที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี เคยพบเจอกับคำสั่งห้ามในลักษณะเช่นนี้มาอย่างน้อย 3 ครั้ง แต่สุดท้ายก็กลับไปสู่รูปแบบเดิมอีก และตนเองเชื่อเสมอว่าคนที่กระทำความผิด หากได้รับโอกาสก็อาจกลับตัวเป็นคนดีในภายหลังได้

ด้าน “สราวุฒิ ศรีเพ็ชรสัย” ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด เห็นว่าการห้ามนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวอาจทำให้การทำงานของสื่อมวลชนยากขึ้น โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ ที่จะได้ข้อมูลจากตำรวจเพียงฝ่ายเดียว

และถึงแม้ที่ผ่านมา ข้อมูลที่ได้จากผู้ต้องหาอาจเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาต้องการสื่อสารอะไร สามารถพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูดได้

ดังนั้น การห้ามนำผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าว อาจส่งผลให้ช่องทางที่ผู้ต้องหาจะใช้แสดงความบริสุทธิ์หมดไป

แต่อีกมุมหนึ่งก็มีความเห็นว่าการไม่นำตัวผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าว นอกจากจะเป็นการรักษาสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังช่วยปกป้องไม่ให้ผู้ต้องหาถูกสังคมรุมประณาม และยังเปิดช่องว่างให้ผู้ต้องหาได้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีสู่สังคม

อย่างไรก็ตาม ในบางครั้ง แม้ตำรวจจะไม่ได้นำผู้ต้องหามาแถลงข่าว แต่สื่อบางสำนักก็ยังนำภาพระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหามาเสนออยู่ดี

ส่วนตัวจึงเห็นว่าเรื่องนี้อาจต้องมีการหาจุดตรงกลางหรือจุดที่ชัดเจนกว่านี้ เพื่อกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป

ขณะที่ “ฐิตารีย์ สายสว่าง” ผู้สื่อข่าวอาชญากรรม สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานข่าวทีวีมานานกว่า 13 ปี เห็นว่าการนำผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าวโดยไม่ปกปิดใบหน้าในหลายๆ คดี อาจก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เสียหาย เช่น คดีฉ้อโกง แชร์ลูกโซ่ รวมไปถึงคดีล่วงละเมิดทางเพศ

ซึ่งผู้เสียหายที่เคยถูกหลอกลวงหรือถูกกระทำ แล้วไม่ทราบชื่อที่แท้จริงของผู้ต้องหา เมื่อได้รับชมภาพผู้ต้องหาผ่านโทรทัศน์ หรือสื่ออื่นๆ ก็จะสามารถเข้าร้องขอความเป็นธรรมให้กับตัวเอง หรือแจ้งความเพื่อดำเนินคดีเพิ่มเติมได้

ฐิตารีย์ระบุว่า ในอดีต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็เคยออกคำสั่งในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่เมื่อเวลาล่วงเลย การทำงานก็ปรับเปลี่ยนไป นอกจากนั้น ตำรวจที่นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวก็ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาอยู่แล้ว

สำหรับมุมมองส่วนตัว ในฐานะสื่อมวลชน เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสื่อโดยตรง เนื่องจากสามารถใช้ภาพหรือวิธีอื่น ที่จะนำเสนอข้อมูลไปสู่สาธารณชนได้

ส่วน “ไพศาล รัตนบรรเทิง” ผู้สื่อข่าวอาชญากรรมช่อง 7 ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำสกู๊ปข่าวมานานกว่า 12 ปี เห็นว่าหากไม่มีการนำตัวผู้ต้องหามาร่วมในการแถลงข่าว บางครั้งอาจทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถสื่อสารบางอย่างไปยังสื่อมวลชนและประชาชนได้

โดยส่วนตัวเห็นว่า ปกติผู้ต้องหาที่ยินยอมแถลงข่าวร่วมกับตำรวจ ก็ใช้ช่องทางนี้ชี้แจงรายละเอียดในคดีต่างๆ ทั้งการปฏิเสธข้อกล่าวหา รวมถึงการรับสารภาพ

การนำผู้ต้องหามาร่วมแถลงข่าวยังมีประโยชน์ในบางคดี เช่น คดีลักรถจักรยานยนต์ หากเจ้าหน้าที่เป็นผู้ชี้แจงหรือแนะนำวิธีป้องกัน อาจไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่หากเป็นผู้ต้องหาที่มายอมรับและเล่าถึงวิธีการเลือกรถจักรยานยนต์ ตลอดจนลักษณะสถานที่ที่จะลงมือก่อเหตุ ก็อาจทำให้ผู้ชมมีความสนใจมากกว่า และนำไปสู่การป้องกันทรัพย์สินของตัวเองด้วย

ส่วนการทำงานของสื่อมวลชน โดยเฉพาะการทำสกู๊ปข่าว หากไม่มีเสียงของผู้ต้องหา ตนเห็นว่าความสมบูรณ์ของข่าวอาจลดลงไป หรือทำให้รายละเอียดในการทำงานมีความยากลำบากขึ้นบ้าง

แต่ตามหลักจริยธรรมแล้ว ตนเห็นด้วยกับคำสั่งที่เพิ่งออกมา เพราะผู้ต้องหาบางคดีก็ไม่พร้อมที่จะร่วมแถลงข่าว จนต้องมีการปิดบังใบหน้าของตัวเอง เนื่องจากเกิดความอับอาย

ความคิดเห็นของผู้สื่อข่าวและช่างภาพข่าวอาชญากรรมบางส่วนต่อประเด็นนี้ จึงมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป

บางคนเห็นว่าการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว อาจทำให้ตัวผู้ต้องหาเองและผู้ที่คิดจะก่อเหตุร้ายเกิดความเกรงกลัวต่อการกระทำความผิด ขณะเดียวกัน ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมก็มีโอกาสชี้แจงข้อมูลต่อสื่อ

แต่บางคนกลับเห็นว่าการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าว นอกจากจะละเมิดสิทธิมนุษยชนของตัวผู้ต้องหาเองแล้ว ยังอาจซ้ำเติมบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหา ทั้งพ่อแม่ บุตร และสมาชิกอื่นๆ ในครอบครัว ที่คล้ายจะต้องคำพิพากษาจากสังคมไปเรียบร้อยแล้ว

กระทั่งบางคนต้องย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน เพื่อหนีความอับอาย ทั้งๆ ที่การตกเป็นผู้ต้องหาตามกฎหมายไทยนั้น ยังถือว่าเป็น “ผู้บริสุทธิ์” อยู่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

แต่ถึงแม้ต่างคนจะต่างความคิด เพราะเลือกมองในมุมที่แตกต่างกัน ทว่า สุดท้ายผู้ปฏิบัติงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและสื่อมวลชน ก็ต้องแสวงหาแนวทางที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการทำงานอย่างยั่งยืนต่อไป

ไม่ให้คำสั่งล่าสุดถูกละเลยเหมือนคำสั่งที่ผ่านๆ มา