ไปทำความรู้จัก “Big Data” ในมุมมองอื่นๆ : ความหวังที่ยังคลุมเครือ

ระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม วิทยาลัยศิลปะลาซาลล์ที่ประเทศสิงคโปร์ ได้จัดการประชุมสหวิทยาการในหัวข้อ “Is Big Data a New Medium?” ขึ้น

น่าสนใจว่าทำไมสถาบันอุดมศึกษาที่มีแต่คณะวิชาทางด้านศิลปะของประเทศเพื่อนบ้าน ถึงให้ความสนใจเรื่อง “บิ๊กเดต้า”

และทำไมวิทยาลัยศิลปะที่เปิดสอนหลักสูตรระดับประกาศนียบัตรถึงปริญญาโท (ไม่มีปริญญาเอก) จึงสามารถเชื้อเชิญนักวิชาการและศิลปินระดับโลกหลายรายมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องเทคโนโลยีร่วมสมัยได้อย่างน่าทึ่ง

อย่างไรก็ดี คงต้องขอเตือนผู้อ่านรายงานชิ้นนี้ไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อเรื่อง “บิ๊กเดต้า” ถูกนำมาถกเถียงกันในโรงเรียนศิลปะ นี่จึงเป็นการพยายามทำความเข้าใจเทคโนโลยีสมัยใหม่ผ่านมุมมองในเชิงศิลปะ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ มากกว่าในเชิงไอทีหรือการตลาด (ดังที่เราคนไทยพอจะได้ฟัง ได้ดู ได้อ่าน กันอยู่บ้างแล้ว)

แน่นอน ผลลัพธ์ที่ได้จากวงเสวนาลักษณะนี้ย่อมมิใช่ตัวเลขทางการตลาดอันชัดเจน แหลมคม และน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ว่าจะในมุมของผู้ผลิตหรือผู้บริโภค รวมถึงมิใช่การนำเสนอข้อมูลผ่านอินโฟกราฟิก (ซึ่งหลายหนสามารถเขียนอธิบายเป็นความเรียงง่ายๆ ไม่กี่ย่อหน้าก็ได้) อย่างที่เราคุ้นชินในระยะหลัง

กระทั่งคำถามหลักที่เป็นหัวข้อของงานเสวนาเอง ก็ดูเหมือนจะไม่ได้รับคำตอบเป็นชิ้นเป็นอันเสียด้วยซ้ำ ว่าตกลง “บิ๊กเดต้า” คือสื่อชนิดใหม่ใช่หรือไม่?

ตรงกันข้าม นี่เป็นการร่วมตั้งคำถามถึงอนาคตที่ยังเต็มไปด้วยความพิศวงงงงวยและความไม่ชัดเจน

นี่เป็นความพร่าเลือนที่กระตุ้นให้เราไม่ได้ใฝ่ฝันถึง “บิ๊กเดต้า” อย่างโรแมนติกด้วยมุมมองแบบเดียว ภายใต้อิทธิพลครอบงำของ “เฟซบุ๊ก-กูเกิล”

(บังเอิญว่าพวกนักวิชาการ-ศิลปินฝรั่งและเอเชียส่วนใหญ่ในงานนี้ ดันเป็นคนรุ่นอายุ 40-50-60 ที่แอนตี้ “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ซะอีก)

มาเริ่มต้นกันด้วยคำถามง่ายๆ ว่า “บิ๊กเดต้า” คืออะไร?

คำตอบที่ได้กลับสลับซับซ้อนเกินคาด

ในเชิงรูปธรรม “บิ๊กเดต้า” อาจเป็นชุดข้อมูลมากมายมหาศาลที่ต้องพึ่งพาระบบคอมพิวเตอร์ในการอ่านและประมวลผลเท่านั้น (เพราะมนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ มีศักยภาพ-ความไม่สามารถไม่เพียงพอ)

“บิ๊กเดต้า” อาจเป็นฐานข้อมูลของประชากรในบางประเทศที่มีจำนวนเกินกว่าหนึ่งพันล้านคน

“บิ๊กเดต้า” อาจถูกจัดเก็บผ่านระบบ “ไบโอเมทริกซ์” (เช่น การสแกนลายนิ้วมือเพื่อทำเอกสารราชการต่างๆ, ทำวีซ่า หรือการเข้าออกประเทศ)

ผลลัพธ์ของ “บิ๊กเดต้า” อาจปรากฏในรูป “แผนที่ดาวเทียม” ที่เปิดให้ใช้งานตามอินเตอร์เน็ต

และบทกวีภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเอื้อนเอ่ยถึงจำนวนข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างละเอียดลออ ก็อาจกำลังนำเสนอ “(บิ๊ก) เดต้า” อยู่เช่นกัน

เมื่อมองจากนิยาม รูปลักษณ์ และหน้าที่อันหลากหลายเลื่อนไหลดังกล่าว ไปๆ มาๆ “บิ๊กเดต้า” จึงเป็นได้ทั้งข้อมูล “ดิจิตอล” และ “อะนาล็อก”

“ไซมอน บิ๊กส์” ศิลปินผู้มีชื่อเสียงในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีดิจิตอลและศาสตราจารย์ด้านศิลปะแห่งมหาวิทยาลัยเซาธ์ ออสเตรเลีย คือ คนหนึ่งที่มองเห็นแง่งามและประโยชน์ของ “บิ๊กเดต้า”

เขาเสนอว่ากระบวนการอ่านข้อมูลมากมายมหาศาลผ่านวิธีวิทยาใหม่ๆ จะช่วยให้เรามองเห็นโครงสร้างฐานรากอันลึกซึ้งซับซ้อน ที่ดำรงอยู่ภายใต้วิถีชีวิตประจำวันอันแสนธรรมดาสามัญของมนุษย์

หมายความว่า “บิ๊กเดต้า” จะมอบวิธีการมองโลกแบบใหม่ให้แก่เรา จนได้ยินเสียงที่ไม่เคยได้ยิน ได้เห็นสีสันที่ไม่เคยได้พบ

ตลอดจนการได้ตระหนักรับรู้ว่าโลกไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยความเป็นอันหนึ่งอันเดียว การคิดทำอะไรเหมือนๆ กัน และเสถียรภาพอันมั่นคง

สำหรับบิ๊กส์ เราควรเสาะหาวิธีที่จะวิเคราะห์ “บิ๊กเดต้า” จากหลายมุมมองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

นักทฤษฎีและศิลปินผู้นี้ชี้ว่าหาก “บิ๊กเดต้า” คือตัวกลางเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่าง “ผู้มอง” (ผู้วิเคราะห์ข้อมูล) กับ “ผู้ถูกมอง” (ตัวข้อมูล)

“บิ๊กเดต้า” ไม่เพียงจะส่งผลให้ “ผู้ถูกมอง/ข้อมูล” ได้รับการพินิจพิเคราะห์ผ่านแง่มุมอันหลายหลากมากขึ้นเท่านั้น แต่ตัว “ผู้มอง/ผู้วิเคราะห์ข้อมูล” เอง ก็จะได้เห็นหรือทำความเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเองในแง่มุมใหม่ๆ ที่พวกเขาอาจคาดคิดไม่ถึงมาก่อน

อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังถึงความหลากหลายและโลกทัศน์ใหม่ ย่อมดำรงอยู่เคียงคู่กับข้อจำกัดเป็นธรรมดา

หรืออย่างน้อย ลักษณะเด่นของ “บิ๊กเดต้า” ก็อาจไม่ต้องตรงกับความคาดหวัง-ความเข้าใจของใครหลายคน

“อิซาเบล เดส์จูซ์” นักชีววิทยาที่หันมาทำงานศิลปะ และ “สุเรช จีสุเธซาน” นักประสาทวิทยาชาวมาเลเซีย แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ผู้มีพื้นฐานการศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้ามาก่อน เตือนถึงสิ่งที่พวกเราควรรู้ว่า การทำงานกับ “บิ๊กเดต้า” คือ การพยายามทำความเข้าใจข้อมูลมหาศาล โดยปราศจากการตั้งสมมติฐานล่วงหน้า

และที่สำคัญ เราไม่ได้ต้องการ “ความถูกต้องแม่นยำ” จากฐานข้อมูลเหล่านั้น

ผลลัพธ์ที่ได้จากวิเคราะห์ “บิ๊กเดต้า” มักเป็นการพบเห็น “ความสัมพันธ์” ระหว่างชุดข้อมูล (ซึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อหรืออธิบายขยายความเพิ่มเติม)

ทว่า เรามักไม่ค่อยค้นพบคำตอบจาก “บิ๊กเดต้า” ว่าอะไรคือ “เหตุปัจจัย” ที่ชักนำให้ข้อมูลชุดนั้นมาเชื่อมโยงกับข้อมูลชุดนี้

(ยกตัวอย่างง่ายๆ -ตามประสบการณ์ของบ้านเรา- เช่น “บิ๊กเดต้า” อาจทำให้เราตระหนักว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวไทยจำนวนไม่น้อยมีพฤติกรรมชอบเสพข่าวการเมืองและภาพโป๊วาบหวิว แต่มันจะไม่สามารถอธิบายลงรายละเอียดได้ว่าเพราะเหตุใด บุคคลเหล่านั้นจึงมีรสนิยมในลักษณะดังกล่าว)

สุเรชแจกแจงว่าการทำงานกับ “บิ๊กเดต้า” คือ การวิเคราะห์ข้อมูลผ่าน “พร็อกซี” (ระบบคอมพิวเตอร์/โปรแกรมประยุกต์-จำลอง) ไม่ใช่ “ตัวข้อมูลจริงๆ” (คล้ายคลึงกับภาพแผนที่ดาวเทียมที่พวกเราเห็นในอินเตอร์เน็ต ซึ่งมิใช่ลักษณะทางกายภาพหรือเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ ช่วงเวลานั้นๆ)

และสิ่งที่เราควรคาดหวังจาก “บิ๊กเดต้า” คือ แบบแผนภาพรวมกว้างๆ ที่ข้อมูลหลายชุดมีร่วมกัน มากกว่าการใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆ น้อยๆ

จึงไม่แปลกอะไรที่เขาจะเปรียบเปรยว่า “บิ๊กเดต้า” มีลักษณะเหมือนงานศิลปะแนวแอบสแตร็ก

ส่วนเดซ์จูส์ก็ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า “แบบแผน” ที่เราสังเคราะห์ได้จาก “บิ๊กเดต้า” ไม่ใช่สัจจะอันถูกต้องสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากสามารถเปลี่ยนแปลงผันแปรได้ตามข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา หรือวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลที่วิวัฒน์ไปไม่หยุด

สอดคล้องกับ “หลุยส์ ฟิลิปป์ เดแมร์ส” รองศาสตราจารย์ประจำสถาบันศิลปะ, การออกแบบ และสื่อ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และศิลปิน ผู้ศึกษาการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์ปกติกับเครื่องจักรกลระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากการประมวลข้อมูลและพฤติกรรมมนุษย์จำนวนมหาศาล

เดร์แมร์สยกตัวอย่างงานของเขา ที่กำหนดให้มนุษย์ต้องเคลื่อนไหวร่างกายไปตามจังหวะการเต้นของเครื่องจักรกลภายนอก พร้อมตั้งคำถามว่าทำไมคนที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์ส่วนใหญ่ถึงแสดงสีหน้ามีความสุขยามถูกควบคุมบังคับโดยเครื่องจักร

พวกเขามีความสุขกับการได้กลายเป็นหุ่นยนต์? หรือบางที พวกเขาอาจจะต้องการเต้นรำด้วยท่าทางทำนองนั้นอยู่แล้ว แม้เมื่อไม่มีหุ่นยนต์มาคอยควบคุมบังคับร่างกาย?

นักวิชาการ/ศิลปินรายนี้ตั้งข้อสังเกตว่าบางทีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูง อันเกิดจากการจัดการข้อมูลที่กว้างขวางใหญ่โต ก็อาจเป็นสิ่งเดียวกันกับอารมณ์ความรู้สึกที่ “เรียบง่าย” และ “ไม่ซับซ้อน” ซึ่งดำรงอยู่ในธรรมชาติและร่างกายของมนุษย์

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่า “บิ๊กเดต้า” ยังเป็นพลังใหม่ๆ ที่ช่วยส่งต่อความหวังมากกว่าความหดหู่สิ้นหวัง

“ฟรังโก้ เบราร์ดี” หรือ “ไบโฟ” นักคิดนักเคลื่อนไหวผู้ทรงอิทธิพลชาวอิตาลี กล่าวผ่านสไกป์ข้ามทวีปมาว่า หากมองในแง่ดี สิ่งที่พวกเราเพิ่งพบเห็นจากกรณีการปะทะกันระหว่าง “เฟซบุ๊ก” กับ “สภาคองเกรส” ก็คือ สภาพการณ์ที่นักการเมืองจากสังคมการเมืองแบบเก่า ไม่มีน้ำยาพอจะจัดการรับมือกับเจ้าของเทคโนโลยีผู้ถือครอง “ข้อมูล” อยู่ในมือ

ตามความเห็นของเขา “เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ไม่ได้อยู่ภายใต้อาณาเขตของสหรัฐอเมริกา แต่เป็นสหรัฐอเมริกาต่างหากที่อยู่ภายใต้อาณัติของสองบรรษัทยักษ์ใหญ่

เบราร์ดีเสนอว่าเราควรตระหนักถึง “ด้านมืด” อันเกิดจากพฤติกรรมหรือความรู้สึกนึกคิด “ร่วม” ของผู้คนในสังคมโลก ที่ถูกเรียงร้อยเข้าหากันโดยเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลสมัยใหม่

ขณะเดียวกัน เราก็จำเป็นต้องแสวงหา “โอกาส/ความเป็นไปได้” ใหม่ๆ (ที่จะลุกขึ้นสู้) ใน “จิตวิญญาณร่วม” ของมนุษย์ อันผลิดอกออกผลขึ้นจากเทคโนโลยีเหล่านั้น

ท่ามกลางฝันร้ายที่เต็มไปด้วยการผูกขาดของระบบทุนนิยมและการเกิดขึ้นของรัฐบาลฟาสซิสต์ทั่วทุกมุมโลก

ความฝันของไบโฟก็คงไม่ต่างกันกับความปรารถนาของ “มาซากิ ฟุจิฮาตะ” ศาสตราจารย์ด้านศิลปะและศิลปินนิวมีเดียระดับโลกชาวญี่ปุ่น ซึ่งบุกเบิกการสร้างผลงานด้วยคอมพิวเตอร์กราฟิกมาตั้งแต่ทศวรรษ 1980

ฟุจิฮาตะ (ผู้ไม่เข้าใจว่าสังคมโลกปล่อยให้เฟซบุ๊กมีอิทธิพลถึงขนาดนี้ได้อย่างไร?) กำลังสนุกสนานกับการใช้เทคโนโลยีภาพสามมิติ และเทคโนโลยีวีอาร์/เออาร์ มาประกอบสร้าง/ทำซ้ำประวัติศาสตร์และความทรงจำส่วนบุคคลของสามัญชนในย่านชุมชนต่างๆ จาก “ชิบุยะ” ที่โตเกียว จนถึง “หว่านไจ๋” ที่ฮ่องกง

ศิลปินอาวุโสชาวญี่ปุ่นยังยืนยันความเชื่อที่ว่าเราจะสามารถปลดปล่อยตัวเองจากลัทธิทุนนิยมได้ด้วยศิลปะ (และเทคโนโลยี)

แต่ทุกอย่างก็คงคลุมเครือดังเช่นการอุปมาของไซมอน บิ๊กส์ (ผู้ยอมรับว่า “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” นั้นเข้าใจมนุษย์อย่างถูกต้องแม่นยำ เพียงแต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นกลับผลักไสให้คนใช้เฟซบุ๊กมีชีวิตย่ำแย่ตกต่ำลงเรื่อยๆ) ซึ่งเปรียบเทียบ “บิ๊กเดต้า” กับ “กล่องดำ”

เมื่อเผชิญหน้ากล่องปิดทึบดังกล่าว มนุษย์อาจพอ “รู้” ว่ามีอะไรถูกสอดใส่เข้าไปภายใน และมีอะไรโผล่ยื่นออกมาภายนอก

ทว่า สิ่งสำคัญสูงสุดที่พวกเรายัง “ไม่รู้” ก็คือ กระบวนการต่างๆ ภายใน “กล่องดำ” ใบนั้น มันทำงานกันอย่างไร?