ล้านนาคำเมือง : ไปรู้จัก“ฟ้อนผี” พิธีกรรมเซ่นสังเวยบรรพบุรุษ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ฟ้อนผี”
“ฟ้อนผี” เป็นพิธีกรรมเซ่นสังเวยบรรพบุรุษ เพื่อแสดงความกตัญญู ระลึกถึงคุณของคนรุ่นก่อน มีการเลี้ยงผี มีการฟ้อนรำบวงสรวง ซึ่งจำแนกได้เป็น 4 ระดับคือ ฟ้อนผีเจ้านายหรือผีบ้านผีเมือง ฟ้อนผีมด ฟ้อนผีเม็ง และฟ้อนผีมดซอนเม็ง
ฟ้อนผีเจ้านาย ผีบ้านผีเมือง เป็นการเลี้ยงผีหรือฟ้อนผีเพื่อสังเวยผีเทพหรือผีอารักษ์ซึ่งทำหน้าที่รักษาบ้านเมือง ผีแบบนี้จะมีประวัติเก่งกล้า เช่น เจ้าพ่อประตูผาของลำปาง เจ้าหลวงคำแดงของเชียงใหม่
ในการเซ่นผีจะทำกันที่ “หอผี” โดย ม้าขี่หรือคนทรงจะนำเครื่องสังเวยไปคารวะให้เจ้าพ่อประทับทรง จากนั้น คนทรงก็จะแต่งตัวตามแบบที่เจ้าพ่อโปรดปรานออกไปฟ้อนหน้าหอผี คนทรงของสารพัดเทพที่ได้รับเชิญมาร่วมพิธีก็จะแต่งตัวแล้วออกไปร่วมฟ้อน
ฟ้อนผีมด ผีมด เป็นผีประจำตระกูลหรือผีบรรพบุรุษ ทำหน้าที่ “มด” แปลว่า ดูแลลูกหลานในตระกูล คำว่า “มด” มีตัวอย่างคำเดิมใช้มาแต่โบราณเช่น มดลูก คือส่วนที่ปกป้องทารกในท้อง
การฟ้อนผีมด จะมีท่าปัดต่อปัดแตน ยิงนก ยิงกระรอกกระแต คล้องช้างคล้องม้า ชนไก่ ทำไร่ทำสวน ทอดแห ฟ้อนดาบ และถ่อเรือแพ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของเพศชาย ดังนั้นผีมด จึงน่าจะเป็นผีฝ่ายพ่อ
ฟ้อนผีเม็ง ส่วนมากเป็นการฟ้อนที่แสดงพฤติกรรมของเพศแม่ เช่น การโหนผ้าจ่องคลอดบุตร ปั่นด้าย ทอผ้า ปรุงอาหาร แสดงว่าเป็นผีของฝ่ายแม่ แต่บางที่ ก็มีท่าฟ้อนดาบ ชนไก่ ซึ่งเป็นเรื่องของผู้ชายอยู่ด้วย
พิธีเลี้ยงผี มีทั้งการทำพิธีอย่างเงียบๆ ภายในครอบครัว ซึ่งอาจจะทำกันทุกปี แต่พิธีฟ้อนผีมักจะจัดเลี้ยงสามปีต่อครั้ง โดย “เก๊าผี” ซึ่งเป็นหญิงอาวุโสของกลุ่มตระกูลที่นับถือผีเดียวกันและเป็นผู้ครอบครองบ้านที่มีหอผีของสายตระกูลตั้งอยู่ จะเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มด้วย “เก๊าผี” จะบอกกล่าวผีปู่ย่าว่าจะจัดการฟ้อนผี แจ้งข่าวแก่คนทั้งหลายที่เป็นสายผีเดียวกัน รวมทั้งเชิญผีในตระกูลอื่นให้ไปร่วมงาน ซึ่งมักจะจัดขึ้นประมาณเดือนมีนาคม เมษายน แต่หากเป็นการฟ้อน “แก้บน” “ เก๊าผี ” ก็สามารถจัดให้ได้

ฟ้อนผีมดซอนเม็ง ในกรณีที่สายผีเป็นลูกผสมคือ บรรพบุรุษฝ่ายผีมดและผีเม็งมาแต่งงานกัน เมื่อจะทำพิธีสังเวยผีบรรพบุรุษ ก็ต้องมีพิธีกรรมของทั้งสองฝ่าย
อาหารที่จะเอามาเลี้ยงผีก็แล้วแต่ว่าผีชอบกินอะไร เช่น ผีมดจะกินอาหารคาวหวานทุกชนิด บางที่จัดเป็นเนื้อสด ๆ ส่วนอาหารของผีเม็งจะมีปลาร้าเป็นหลัก แต่บางที่ผีเม็งก็เลือกกินเฉพาะอาหารหวานและน้ำมะพร้าวเท่านั้น
การฟ้อนผีเป็นประเพณีชุมนุมเครือญาติ เป็นงานสังสรรค์สามัคคี สร้างความเอื้ออาทรต่อกัน ส่งเสริมการรักษากฎระเบียบของสังคม ผู้น้อยนับถือผู้ใหญ่ที่ให้คุณ ทำให้ลูกหลานไม่กระทำการ “ผิดผี”สะท้อนถึงภาพความงดงามของวิถีชีวิตชาวชนบทแบบล้านนา คนล้านนายังเชื่อว่าการฟ้อนผีจะนำมาซึ่งโชคลาภ ความเจริญ ทำแล้วจะประสบแต่สิ่งดีงาม อาการทุกข์โศก ป่วยไข้ โรคภัยก็จะหายไปได้เอง