โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 128 จีนยกมาตรฐาน “รีไซเคิล”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ในทันทีที่จีนประกาศห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลและเพิ่มมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในด้านการขนส่งวัสดุรีไซเคิล เพื่อปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวจีนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวโลกพากันช็อก

โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้สินค้าอย่างฟุ่มเฟือยจนเกิดขยะล้นเมือง หาพื้นที่เก็บฝังและทำลายไม่ได้ต้องส่งออกไปให้จีนรีไซเคิล ต่างประสบความปั่นป่วน

คำสั่งห้ามนำเข้าขยะ 3 ประเภท แบ่งเป็นขยะชนิดต่างๆ รวม 24 ชนิด อาทิ ขยะพลาสติก กระดาษใช้แล้ว เสื้อผ้าเก่าๆ สายเคเบิล เชือก ฯลฯ ซึ่งจีนเห็นว่าทำลายสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ของจีนเป็นอย่างมาก

ก่อนหน้านี้จีนเป็นแหล่งนำเข้าขยะรีไซเคิลที่สำคัญของโลก แต่ละปีมีขยะหลากชนิดส่งไปยังจีนราว 30 ล้านตัน

ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเป็นผู้ส่งออกขยะรีไซเคิลมากที่สุดในโลก ส่งไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วน 34 เปอร์เซ็นต์ขยะส่งออกทั้งหมด

รัฐบาลจีนมองเห็นผลกระทบจากการนำเข้าขยะเหล่านี้มานานแล้ว และเกิดกรณีตัวอย่างที่ทำให้จีนต้องเร่งจัดการกับปัญหาขยะนำเข้า

เมื่อปี 2539 โรงงานรีไซเคิลของจีนเกิดอุบัติเหตุครั้งใหญ่ จากการสอบสวนพบนำเข้าขยะปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากประเทศคาซัคสถานและคีร์กีซสถาน

ปี 2556 จีนออกนโยบายที่เรียกว่า ปฏิบัติการรั้วเขียว (Operation Green Fence) มีเป้าหมายห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิลที่มีความปนเปื้อนสูง

มาในปี 2560 รัฐบาลจีนประกาศโครงการ “กระบี่แห่งชาติ” (National Sword program) เป้าหมายเพื่อปราบปรามกลุ่มพ่อค้าที่ลักลอบนำเข้าขยะผิดกฎหมาย เช่น ขยะอุตสาหกรรม ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก

เจ้าหน้าที่จีนให้สัมภาษณ์ว่า “เราไม่ต้องการซื้อของห่วยๆ ขยะไร้คุณภาพ ต่อไปนี้เราซื้อเฉพาะของดีๆ เท่านั้น”

กลางเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน รัฐบาลจีนแจ้งองค์การการค้าโลกว่าในต้นปี 2561 จีนห้ามนำเข้าขยะ 24 ชนิดอย่างที่เกริ่นไว้

 

ในเอกสารของทางการจีนที่ชี้แจงต่อองค์การการค้าโลก ถึงเหตุผลและความจำเป็นในการห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศว่า จากการตรวจสอบขยะเหล่านี้อย่างเข้มงวดพบขยะสกปรกและขยะอันตรายจำนวนมากมายมหาศาลซึ่งทำให้เกิดผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมของจีนอย่างรุนแรง

“เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของชาวจีน ปกป้องสัตว์และพืชพันธุ์ รัฐบาลจีนจึงต้องออกประกาศห้ามนำเข้าขยะ”

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจีน สั่งควบคุมสินค้ารีไซเคิลนำเข้าที่ใช้วัสดุห่อหุ้มปนเปื้อนสกปรก พร้อมกำหนดมาตรฐานความปนเปื้อนต้องต่ำกว่า 0.5 เปอร์เซ็นต์

มาตรฐานดังกล่าวถือว่าสูงกว่ามาตรฐานโลกซึ่งกำหนดความปนเปื้อนอยู่ที่ 1.5%

ปลายปีหน้า จีนมีแผนห้ามนำเข้าวัสดุใช้แล้ว เช่น สแตนเลส ไม้

บรรดาสื่อตะวันตก ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจีนเร่งวางนโยบายห้ามนำเข้าขยะพลาสติก หลังจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “พลาสติกไชน่า” ออกฉายในเทศกาลซันแดนซ์ฟิล์ม ที่ซอล์ตเลกซิตี้ รัฐยูทาห์ สหรัฐ

“พลาสติกไชน่า” นำเสนอเห็นภาพอันน่าสลดของครอบครัวคนจน อย่างเช่น ภาพของสาวน้อยตัวเล็กกระจี๊ดจุ่มหวีลงในน้ำมีขยะลอยฟ่องแล้วเอาหวีมาสางผมของเธอ

ครอบครัวสาวน้อยคนนี้อยู่ในบ้านเล็กๆ แค่หลังคาคลุมล้อมรอบไปด้วยกองขยะปนเปื้อนไปด้วยสารพิษ และขยะที่รอทำความสะอาดเพื่อนำมาอัดบดและรีไซเคิลกลับไปใช้งานอีกครั้ง

“พลาสติกไชน่า” ตีแผ่เบื้องหลังอุตสาหกรรมรีไซเคิลของจีนชนิดหมดเปลือก

 

ภาพยนตร์เรื่องนี้เคยออกฉายผ่านอินเตอร์เน็ตเมื่อปี 2557 แต่รัฐบาลจีนสั่งลบทิ้งทันควัน ชาวจีนในแผ่นดินใหญ่จึงไม่มีโอกาสได้ดูทางอินเตอร์เน็ตอีกต่อไป

สื่อตะวันตกเชื่อว่า “พลาสติกไชน่า” ฉีกหน้ารัฐบาลจีนเป็นอย่างมากจึงต้องออกกฎห้ามนำเข้าขยะต่างด้าว

นโยบายห้ามนำเข้าขยะรีไซเคิล ส่งผลดีกับอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศจีน

ตั้งแต่มีคำสั่งห้ามออกมา ขยะรีไซเคิลในจีนมีราคาพุ่งสูงขึ้น เช่น ขยะพลาสติก จากราคาตันละ 5,000 บาท พุ่งเป็น 1 หมื่นบาท

นอกจากแบนขยะต่างด้าวแล้ว จีนพยายามลดปริมาณการใช้ขยะพลาสติกภายในประเทศ อย่างเช่น เมื่อ 8 ปีก่อนออกคำสั่งห้ามผลิต จำหน่ายถุงพลาสติกที่มีความบางน้อยกว่า 0.025 มิลลิเมตร

มาตรการดังกล่าวช่วยรักษาสภาพแวดล้อมและยังสามารถประหยัดน้ำมันที่มาใช้ในการผลิตถุงพลาสติกได้ปีละ 3 ล้านตัน

 

ขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ที่มีขยะล้นเมืองคงต้องคิดหาทางออกใหม่ๆ อย่างเช่น อังกฤษส่งขยะรีไซเคิลไปยังจีน เฉลี่ยปีละ 14 ล้านตัน

ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษสั่งห้ามใช้หลอดดูดเครื่องดื่มพลาสติก เตรียมเก็บค่ามัดจำขวดพลาสติกและมีแผนกำจัดพลาสติกที่ไม่จำเป็นภายใน 25 ปี

สหรัฐอเมริกา ส่งขยะรีไซเคิลไปจีนปีละ 16 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 180,000 ล้านบาท)

กลุ่มอุตสาหกรรมรีไซเคิลในสหรัฐกำลังมึน ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เนื่องจากขยะมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกวัน

การรีไซเคิลขยะในสหรัฐมีต้นทุนสูงมากเมื่อเปรียบกับส่งออกไปให้จีนรีไซเคิล

ที่ไอร์แลนด์ กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตขยะ เพราะขยะพลาสติกไอร์แลนด์ส่งออกไปยังจีนสูงถึง 95%

ที่แคนาดาก็เช่นกัน หลายๆ เมือง อาทิ คัลการี่ ฮาลิเฟ็กซ์ ผู้บริหารเมืองต้องหาที่กลบฝังใหม่หลังจีนห้ามนำเข้าขยะต่างด้าว

แม้ว่ามาตรการ “แบน” ขยะต่างด้าวของรัฐบาลจีนจะส่งผลกระทบกับประเทศพัฒนาแล้ว

แต่ในมุมกลับกันสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้จีนให้ความสำคัญกับการรักษาสภาพแวดล้อมและยึดถือเป็นทิศทางการพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืน

กรมควบคุมมลพิษของบ้านเรา ดึง “จีน” เป็น 1 ใน 7 ตัวอย่างประเทศเพื่อศึกษาการรีไซเคิลขยะ นับว่าเป็นแนวทางถูกต้องแล้ว

ว่าแต่ว่ากรมควบคุมมลพิษจะลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังเฉียบขาดต่อเนื่องเหมือน 7 ประเทศตัวอย่างหรือไม่?