ล้านนาคำเมือง : หลุก

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “หลุก”

หลุก หมายถึง ระหัดวิดน้ำ

สำหรับคนล้านนา คำว่า หลุก คือสิ่งประดิษฐ์ที่หมุนรอบตัวเองเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หมุนเพื่อสาวถังตักน้ำขึ้นจากบ่อ หมุนเพื่อวิดน้ำ หรือเพื่อทดกำลังไปใช้อย่างอื่น

แต่โดยความหมายทั่วไป หลุกมีลักษณะเป็นกังหันทำด้วยไม้ไผ่ สร้างขึ้นเพื่อชักน้ำไปใช้ในการเกษตรกรรม หรือใช้กำลังจากน้ำไหลไปขับเคลื่อนสากของครกกระเดื่อง โดยจำแนกออกเป็น หลุกกำลังน้ำ

และหลุกที่ใช้กำลังของสัตว์ เช่น วัวหรือควาย

หลุกซึ่งอาศัยพลังน้ำเพื่อชักน้ำเข้าสู่ไร่นานั้น มีส่วนประกอบ ดังนี้

1. ล้อหลุก มีลักษณะเป็นโครงลูกล้อ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4-5 เมตร มีโครงไม้ไผ่ยื่นเป็นรัศมีออกมาจากเพลากลางซึ่งทำด้วยไม้จริง ตรึงปลายไม้โครงด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ส่วนปลายของโครงไม้ติดแผงไม้ไผ่สาน ซึ่งจะจุ่มลงไปในน้ำ เวลาสัมผัสกับกระแสน้ำ น้ำจะผลักให้ล้อของหลุกหมุนได้อย่างต่อเนื่อง

2. ภาชนะตักน้ำ เป็นกระบอกไม้ไผ่ตัด ผูกยึดติดกับซี่หลุกที่บริเวณขอบล้อด้านใน ในลักษณะเอนนอน เมื่อหลุกหมุนไปกระบอกไม้ไผ่จะตักน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำ แล้วเทราดลงในรางรับน้ำ วนเวียนกันอยู่เช่นนี้ตลอดเวลา

3. รางน้ำ มักทำด้วยไม้ไผ่ขนาดใหญ่ผ่าซีกทะลวงข้อให้ทะลุถึงกันทุกปล้อง จัดวางให้ตรงกับตำแหน่งของน้ำที่เทลงจากกระบอกไม้ข้างล้อหลุก ทอดไปถึงตลิ่ง ซึ่งชาวบ้านจะขุดร่องรับน้ำมาต่อเข้าอีกที

ในบริเวณลำห้วยหรือบริเวณที่น้ำไหลแรงและมีฝั่งน้ำต่ำนั้น ชาวบ้านจะทำหลุกขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อนเหมือนหลุกในน้ำสายใหญ่

หลุกน้ำห้วยมักจะใช้ไม้ไผ่ยื่นออกจากเพลาเป็นคู่ๆ มักใช้ในการทำครกกระเดื่องพลังน้ำ

การชักน้ำของหลุกที่อาศัยพลังงานจากกระแสน้ำนี้ เป็นวิธีการของเกษตรกรที่มีฐานะพอสมควร เพราะการทำหลุก ต้องใช้ทุนมาก

ส่วนเกษตรกรที่มีฐานะด้อยนั้น มักจะต้องใช้แรงงานนำภาชนะตักน้ำไปรดไร่นาของตน ซึ่งจะทำได้ในขอบเขตจำกัด

ถ้าหากมีหลุกใช้ ก็อาจชักน้ำไปใช้ได้มากกว่า

ในอดีต มีการทำหลุกเพื่อใช้งานตามริมแม่น้ำใหญ่ที่มีตลิ่งสูง และไม่สามารถผันน้ำเข้าถึงไร่นาโดยระบบเหมืองฝาย แต่ในปัจจุบันนี้คนพื้นถิ่นใช้หลุกน้อยลง เพราะเมื่อถึงหน้าน้ำแล้วหลุกมักจะถูกน้ำแรงพัดให้พังทลายไป เมื่อถึงหน้าแล้งก็จะต้องทำหลุกกันใหม่อีกครั้ง แถมต้นทุนในการทำหลุกแต่ละตัวก็มีราคาพอๆ กับเครื่องสูบน้ำ คนจึงหันไปใช้เครื่องสูบน้ำกันหมด

แต่ในชนบทยังคงพบเห็นการทำหลุกเพื่อวิดน้ำเข้านาอยู่บ้าง โดยอาศัยน้ำจากเหมืองฝายบางแห่ง อีกทั้งมีพัฒนาการนำเอาล้อรถจักรยานมาดัดแปลงใช้สำหรับวิดน้ำเข้าสวนแปลงเล็กๆ

การเปลี่ยนแปลงของสังคม วิวัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้เครื่องมือเครื่องใช้ของคนล้านนาที่มีมาแต่โบราณได้กลายเป็นของล้าสมัย ลดทอนประโยชน์ลง ไม่มีผู้ผลิตหรือผู้ใช้อีกต่อไป

ทุกวันนี้ “หลุก” เหลือเพียงแต่ชื่อให้เรียกขาน หาได้มีหลุกใช้งานมากมายแบบสมัยโบราณ

เช่น บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ชุมชนบ้านหลุก ตำบลเหมืองง่า อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

บ้านท่าหลุก ตำบลหนองล่อง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน

ชุมชนบ้านหลุก ตำบลนาครัว อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง เป็นต้น