เมื่อ “ปูติน ยุค 4.0” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

“วลาดิมีร์ ปูติน” สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียเป็นสมัยที่ 4 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา เท่ากับว่าปูตินได้ปกครองประเทศรัสเซียไปอีก 1 วาระ คือ 6 ปี

สำนักข่าวเอเอฟพีได้วิเคราะห์การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 4 ของปูตินเอาไว้ว่า แม้ว่าปูตินจะปกครองรัสเซียมาแล้ว 18 ปี คือเป็นประธานาธิบดีอยู่ 2 สมัย ก่อนจะไปเป็นนายกรัฐมนตรีอีก 1 สมัย เพราะรัฐธรรมนูญของรัสเซียห้ามเป็นประธานาธิบดีติดต่อกันเกิน 2 สมัย แล้วปูตินก็กลับมาเป็นประธานาธิบดีต่อ

หากแต่การขึ้นมาอีกในครั้งนี้ กลับเริ่มต้นไม่ค่อยสวยเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง 2 วัน มีกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเกือบ 1,600 คนรวมตัวกันทั่วประเทศ ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการขึ้นปกครองประเทศอีกสมัยของปูติน ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ไม่ใช่พระเจ้าซาร์” จนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวไปหลายร้อยคน

และในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมตัว มีนายอเล็กซี นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้าน ที่ถือเป็นคู่แข่งคนสำคัญที่สุดของปูตินรวมอยู่ด้วย

 

โดยในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นายนาวาลนีถูกห้ามให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง และทำให้ปูตินได้รับชัยชนะไปแบบสบายๆ แบบไร้คู่แข่งที่น่ากลัว ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนเกือบ 77 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของปูตินที่ผ่านมา ดูเหมือนจะสร้างศัตรูเอาไว้เยอะ โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของปูตินหลายสิ่ง ตั้งแต่การใช้กำลังทหารในการผนวกเอา “แคว้นไครเมีย” ของยูเครนมาเป็นของรัสเซีย จนถูกนานาชาติประณาม เมื่อปี ค.ศ.2014

ปีต่อมาปูตินก็ส่งกองกำลังทหารรัสเซียเข้าไปช่วยรัฐบาลซีเรีย ภายใต้การนำของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของอัสซาด

แถมด้วยเรื่องล่าสุด ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลอังกฤษกล่าวหารัสเซียว่าเป็นผู้ลอบวางยาพิษอดีตสายลับสองหน้าชาวรัสเซียกับลูกสาว ขณะอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

และรัสเซียยังถูกกล่าวหาจากสหรัฐด้วยว่า แทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จนทำให้โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เหนือนางฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งจากพรรคเดโมแครต

เรียกได้ว่าในช่วงเวลาของการดำรงตำแหน่งของปูตินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้สร้างศัตรูเอาไว้อย่างมาก

ขณะที่ความสัมพันธ์กับต่างประเทศไม่ได้ดีเท่าที่ควร หากแต่เรื่องเศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ได้ดูสวยหรูเช่นกัน

 

ดังนั้น การขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในสมัยที่ 4 ของปูติน ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของประเทศ ก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป หลังจากรัสเซียเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากมาตรการคว่ำบาตรอย่างรุนแรงจากชาติตะวันตก นับตั้งแต่การไปเอาดินแดนไครเมียมาครอบครองเมื่อปี 2014 หลังจากนั้นก็ยังมีเรื่องของภาวะราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงทั่วโลกเมื่อปี 2016 ทำให้รัสเซียซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างหนัก

ซึ่งในการหาเสียงของปูติน เขาได้ประกาศเอาไว้ว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จะดำเนินการ “ยกระดับ” ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

หากแต่ปูตินไม่เคยที่จะพูดถึงเรื่องของ “ผู้สืบทอด” ตำแหน่งแต่อย่างใด แม้ว่าจะเริ่มมีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับผู้ที่จะมาสืบทอดตำแหน่งต่อจากปูติน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน กำหนดไว้ว่า ประธานาธิบดีห้ามอยู่ในตำแหน่งเกิน 2 สมัยติดต่อกัน

เท่ากับว่า ปี 2024 นี้ ปูตินซึ่งจะมีอายุ 72 ปี ก็จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 4 และยังไม่รู้ได้ว่าใครจะมารับตำแหน่งต่อ หรือถ้าปูตินหาคนมาอยู่ต่อไป ระหว่างช่วงเว้นวาระไป เขาก็จะสามารถกลับมาเป็นประธานาธิบดีได้อีกครั้งเมื่อตอนอายุ 78 ปี ในปี 2030

 

เอเอฟพีระบุไว้ว่า แม้ว่าชัยชนะในการเลือกตั้งของปูตินเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาคงจะไม่ถูกตั้งคำถามใดๆ หากแต่ปูตินกลับเลือกที่จะจัดพิธีสาบานตนแบบเงียบๆ ไม่เอิกเกริกเหมือนกับครั้งก่อนๆ ซึ่งมีการวิเคราะห์กันว่า อาจจะเป็นเพราะปูตินไม่ต้องการที่จะมีภาพลักษณ์ที่แย่ๆ ออกไปในตอนนี้

โดยปูตินได้กล่าวไว้ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ว่า หน้าที่ของเขาและชีวิตของเขาตั้งใจไว้ว่าจะทำทุกสิ่งที่ทำได้เพื่อรัสเซีย ทั้งเพื่อปัจจุบันและเพื่ออนาคต และหลังเสร็จสิ้นพิธีสาบานตน ปูตินก็แต่งตั้งให้ ดมิทรี เมดเวเดฟ พันธมิตรคนสำคัญ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปูตินจะพยายามสร้างภาพลักษณ์อย่างไร หากแต่การลุกขึ้นมาปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงที่ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยของปูติน ทำให้นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า อาจจะสร้างปัญหาใหญ่ให้ปูติน

ทัตยานา สตาโนวายา นักวิเคราะห์จากศูนย์เทคโนโลยีเพื่อการเมืองในกรุงมอสโกของรัสเซีย บอกว่า การปราบปรามฝ่ายต่อต้านของรัฐบาลรัสเซีย เพื่อต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า ปูตินในตำแหน่งอีกสมัย ห้ามมีใครมีความเห็นขัดแย้ง

“เครมลินต้องการขีดเส้นแดงเอาไว้ไม่ให้คนข้ามไป” สตาโนวายากล่าวกับเอเอฟพี

ขณะที่นักสังเกตการณ์แสดงความห่วงกังวลว่า การจับกุมตัวผู้ประท้วงในครั้งนี้ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนเมื่อครั้งการชุมนุมประท้วงต่อต้านปูตินเมื่อปี 2012 เมื่อครั้งที่ปูตินขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 3 และเกิดการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงครั้งใหญ่

ในตอนนั้นผู้ที่ถูกจับกุมตัวราว 30 คน ถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรม หลายคนถูกตัดสินจำคุก 2 ปีครึ่ง บางคนถูกตัดสินจำคุก 4 ปีครึ่ง

ศึกในประเทศก็ไม่ได้ดูน้อย ศึกนอกประเทศกับชาติตะวันตกก็ยังตึงเครียด ดูแล้วว่า ปูตินยุค 4.0 คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียแล้ว