ต่างประเทศอินโดจีน : กรณี “สม สเรย”

ที่มา Phanom Penh Post

“สม สเรย” เป็นนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “แนวร่วมเสรีภาพแห่งชาติเขมร” หรือ “เคเอ็นแอลเอฟ” ซึ่งถูกกล่าวหาจากรัฐบาลกัมพูชาว่าเป็นองค์กรการเมืองที่ดำเนินการ “ก่อการร้าย”

ข้อหาหนักก็คือ พยายามใช้กำลังอาวุธเพื่อล้มล้างรัฐบาล

เคเอ็นแอลเอฟ กับ สม สเรย ถูกตั้งข้อหา “วางแผน” ก่อเหตุรุนแรงหลายครั้งในประเทศ แม้ว่ารัฐบาลไม่ค่อยจะมีพยานหลักฐานชัดแจ้งเท่าใดนักมาสนับสนุนข้อกล่าวหาเหล่านั้นก็ตาม

ล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดโปงอีกว่า เจ้าหน้าที่ของตนสามารถทำลายแผนลอบวางระเบิดของเคเอ็นแอลเอฟ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่วัดพนมและเสียมราช เมื่อวันปีใหม่กัมพูชาที่ผ่านมา หลังจากในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ สมาชิกของเคเอ็นแอลเอฟกว่า 20 คน ถูกจับกุมดำเนินคดีต่างกรรมต่างวาระกัน

ที่น่าสังเกตก็คือ ในการจับกุมทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาไม่เคยพบ “อาวุธ” ใดๆ อยู่ในครอบครองของคนเหล่านั้นเลยแม้แต่ชิ้นเดียว

ในปี 2016 ศาลกัมพูชาพิพากษาลับหลังว่า สม สเรย มีความผิดจริง ฐาน “วางแผน” ก่อการใช้อาวุธโจมตี โดยให้ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 9 ปี

สม สเรย จึงเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาอีกรายที่ต้องหลบหนีไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน โดยมีเดนมาร์กเปิดประตูต้อนรับให้ “ลี้ภัยการเมือง” โดยมี “ถิ่นพำนักถาวร” อยู่ที่นั่น

 

กรณี สม สเรย กลายเป็นเรื่องน่าสนใจขึ้นมาเมื่อผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชารายนี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยจับกุมที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา ฐานพักอยู่ภายในราชอาณาจักรเกินกำหนดเวลาที่วีซ่าอนุญาตไว้

แน่นอนที่ว่า เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเคเอ็นแอลเอฟ ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในไทยเหมือนกัน ต้องออกมากล่าวหาการจับกุมดังกล่าวว่า “มีมูลเหตุมาจากเรื่องการเมือง” และเป็นการจับกุม “ตามคำร้องขอ” ของรัฐบาลกัมพูชา

แน่นอนอีกเหมือนกันว่า บรรดาองค์กรเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างประเทศทั้งหลาย รวมถึงตัวแทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ต้องออกมาเคลื่อนไหวกดดันเรียกร้องให้ปล่อยตัวสม สเรย เป็นอิสระ

เพราะกลัวว่าไทยจะส่งตัวสม สเรย ให้กับกัมพูชา

และแสดงความเชื่อที่ว่า ถ้าไทยส่งตัวสม สเรย ให้กับกัมพูชา ก็จะกลายเป็นการละเมิดสนธิสัญญาและกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยทางการเมืองทันที

 

ความกังวลที่ว่าเป็นจริงขึ้นมาโดยเร็ว เพราะในวันที่ 26 เมษายน พลตำรวจเอกเนต โสเวือน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกัมพูชา ลงนามในจดหมายร้องขอให้ส่งตัวสม สเรย ให้กัมพูชา ในฐานะ “ผู้ร้ายข้ามแดน” อย่างเป็นทางการส่งมายังฝ่ายไทย

น่าคิดที่ว่า พอถึงเช้าวันที่ 27 เมษายน สม สเรย ก็ออกเดินทางจากไทยไปถึงเดนมาร์ก และยืนยันการได้รับอิสรภาพกับเพื่อนสมาชิกเคเอ็นแอลเอฟในเย็นวันเดียวกัน

ว่ากันว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เกิดขึ้นภายใต้การประสานงานของหน่วยงานของยูเอ็นกับองค์กรที่เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนองค์กรหนึ่ง

สภาพการณ์ทางการเมืองในไทยและในกัมพูชาส่งผลให้เกิดสภาพขอตัว “ผู้ร้ายข้ามแดน” กันในทำนองนี้บ่อยครั้งในที่ช่วงระยะหลังมานี้ แต่ในช่วงหลังๆ ไทยมักตกเป็นฝ่ายได้รับการร้องขอเสียมากกว่า

ในขณะที่กัมพูชามัก “ไม่รู้ไม่เห็น” หรือไม่ก็ “ปฏิเสธ” ว่ามีนักการเมืองไทยหลบหนีเข้าไปในประเทศของตน

กรณีหลังสุดที่ทำให้ไทยตกเป็นเป้าโจมตีของทั้งยูเอ็นและองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลายคือ กรณีการส่งตัวสม โสกา ที่ถูกตามล่าตัวเพราะใช้ “รองเท้า” ปาหน้าภาพสมเด็จฯ ฮุน เซน ในบิลบอร์ดโฆษณาหาเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชา กลับไปถูกจำคุกในกัมพูชา ทั้งๆ ที่เธอมีสถานะ “ผู้ลี้ภัย” ของยูเอ็น

มีความต่างที่น่าสังเกตของ 2 กรณีดังกล่าวอยู่บ้าง นั่นคือ ในขณะที่สม โสกา ยังไม่มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศหนึ่งประเทศใด สม สเรย กลับมีถิ่นพำนักถาวรอยู่ในเดนมาร์กเท่านั้นเอง