บูชา คือการแสดงออกของความรัก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

“ปูชา” เป็นคำสันสกฤต ในภาษาไทยเราใช้ว่าบูชา (แผลง ป เป็น บ) หมายถึง การถวายความเคารพบุคคลหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องสักการะ เป็นต้นว่า ดอกไม้ ธูป เทียน อาหาร ฯลฯ

แม้ว่าบูชาจะเป็นคำแขก แต่พิธีกรรมอย่างเดียวกันนี้ก็มีในทุกศาสนาซึ่งมีรายละเอียดต่างกันออกไป

ผมเพิ่งเปิดสอนคอร์สการ “บูชา” ให้กับสถาบันวัชรสิทธา ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาทางเลือกที่ก่อตั้งโดย วิจักขณ์ พานิช เพื่อนรักของผม

การเรียนการสอนที่นี่โดยมากจัดเป็นคอร์สอบรมระยะสั้น รวมทั้งกิจกรรมเสวนา ภาวนา ฯลฯ

วัชรสิทธาสอนอะไรหลากหลายครับ ทั้งส่วนที่เราเรียกว่า ห้องเรียนศาสนธรรม

คือสอนเรื่องเกี่ยวกับศาสนาต่างๆ เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์และประเด็นในโลกสมัยใหม่

ส่วนที่เป็นเรื่องทักษะที่ผสานกับการภาวนา เช่น การจัดดอกไม้แบบอิเคบานะ การวาดภาพทังก้าทิเบต การปั้นพระพุทธรูป ฯลฯ รวมทั้งประเด็น (ความทุกข์) ร่วมสมัย เช่น เรื่องจิตวิทยา โรคซึมเศร้า ครอบครัว เป็นต้น

ผมเคยไปสอนคอร์สแรกคือ “อุปนิษัท” ซึ่งเน้นในเรื่องความเข้าใจและการตีความ ในที่สุดก็ปรารภกับวิจักขณ์ว่า เรื่องบูชาหรือเรื่องความหมายของพิธีกรรมนี่ก็น่าสอน เพราะมันมีอะไรซ้อนอยู่หลายชั้น

แต่จะสอนบูชาแบบฮินดูอย่างเดียวก็ใช่ที่ เพราะโดยมากคนบ้านเราเป็นชาวพุทธ (ผสม) เสียมาก

ผมจึงออกแบบสอนหลักการทั้งพุทธและฮินดูและให้ผู้เรียนทดลองทำด้วย

ท่านเจ้าสำนักก็อนุมัติ

 

การบูชา นักวิชาการบางท่านก็ว่าศาสนาฮินดูได้พัฒนามาจากการทำพิธี “ยัชญะ” หรือการบูชายัญ ซึ่งหมายถึงการ “ถวาย” (offering) ชีวิตสัตว์และอาหารอื่นๆ แด่ทวยเทพ ต่อมาเมื่อมีการบูชาเทวรูปหรือสัญลักษณ์แทนเทพ ก็เพิ่มการ “ปรนนิบัติ” สิ่งนั้นด้วย เช่น การสรงสนาน การประดับประดาด้วยดอกไม้ เป็นต้น

หากเรามองการบูชาในฐานะที่เป็นพิธีกรรมจากมุมมานุษยวิทยาหรือจิตวิทยา การบูชาก็คือการ “สื่อสาร” รูปแบบหนึ่ง

แต่เป็นการสื่อสารในสามลักษณะ

อย่างแรก คือการสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (Divine Being) จะเป็นอะไรก็ได้ที่เรานับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ คุรุ พระเจ้า เทพ พระรัตนตรัย ผี ฯลฯ ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ใช้วิธีการสื่อสารแบบที่เราคุยกันปกติ

สวดมนต์หรือร่ายจึงต้องมีทำนองและโดยมากเป็นร้อยกรองไงล่ะครับ

เพราะจะสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงต้องใช้การสื่อสารแบบพิเศษ

 

การสื่อสารอย่างที่สอง คือสื่อสารกับชุมชนที่ตนอยู่ หรือสื่อสารกับคนอื่น

การทำพิธีกรรมเป็นการสื่อสารกับชุมชนด้วย คือบอกว่าเราเป็นใคร เรามีบทบาทสถานะอย่างไร

เรามีความเชื่อ-ปัญหา อย่างเดียวกันหรือไม่

และสุดท้ายซึ่งเป็นชั้นในสุด คือการสื่อสารกับตนเอง

ผมออกจะสนใจแง่นี้เป็นพิเศษด้วยเหตุว่า หากมองพิธีกรรมหรือการบูชาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีในการปฏิบัติหรือการแสวงหาความจริง

การสื่อสารกับตนเองนั้นอาจทำให้เราเข้าใจมิติที่ลึกลับอะไรบางอย่างของเราได้

อีกหน้าที่หนึ่งของพิธีกรรมคือการเปลี่ยนผ่านสภาวะ เช่น จากไม่ศักดิ์สิทธิ์เป็นศักดิ์สิทธิ์ จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากฆราวาสเป็นนักบวช เป็นต้น

หลักการบูชาโดยทั่วไปแล้วมักแบ่งออกเป็นสองส่วน คือส่วนที่เป็นการทำให้บริสุทธิ์ (purify) ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ทำพิธี หรือของในพิธีทั้งหมด และส่วนที่เป็นเครื่องบูชา

การทำให้บริสุทธิ์นี้ โดยตัวมันเองก็น่าสนใจไม่น้อย

เพราะ “บริสุทธิ์” ในความหมายของพิธีกรรมนั้น มีความแตกต่างกันออกไป

เช่น บริสุทธิ์ด้วยตัวของเครื่องบูชาเอง (เช่น เป็นของสะอาด เป็นผลหมากผลไม้)

บริสุทธิ์ด้วยพิธีกรรมบางอย่าง เช่น พรมน้ำ บริสุทธิ์ด้วยการอธิษฐานหรือมนตร์ และบริสุทธิ์ด้วยการภาวนาหรือใช้ใจ

 

ในแบบหลัง ของที่อาจดูไม่บริสุทธิ์ในตัวเองมันเองเช่น เนื้อและสุราก็อาจเป็นของบริสุทธิ์ได้ (ตามทัศนะนี้) เช่น เรามักพบการบูชาด้วยเนื้อและสุราในพิธีกรรมแบบตันตระ ซึ่งมโนทัศน์ทางตันตระถือว่า สิ่งต่างๆ มีเนื้อแท้บริสุทธิ์บริบูรณ์อยู่แล้ว เราต่างหากที่เป็นผู้แบ่งแยก พิธีกรรม purify ของตันตระก็เพื่อตอกย้ำทัศนะนี้ว่า ทุกอย่างในโลกบริสุทธิ์ได้ด้วยญานทัศนะของเรา

การบูชาตามหลักศาสนาของฮินดูมีหลายรูปแบบตามจำนวนของขั้นตอน (เรียกว่า อุปาจาระ) เช่น บูชาพื้นฐาน 5 ขั้นตอน (ปัญโจปจาร) ได้แก่ การถวายเครื่องหอมสำหรับเจิม การถวายดอกไม้ ธูป ประทีป อาหารและน้ำ ซึ่งชาวบ้านปฏิบัติกันโดยทั่วไปและถือเป็นพิธีประจำวัน

ดังนั้น การที่ชาวพุทธบูชาพระด้วยดอกไม้ธูปเทียนนั้น ที่จริงก็มีรากฐานจากปัญโจปจาระของฮินดูนี่เอง (คือหากเพิ่มเครื่องหอมและอาหารก็ครบทั้งห้าประการ)

ส่วนการบูชาลำดับสูงๆ ถัดไปนั้น มีทั้งแบบ 16 ขั้นตอน (โษฑศอุปจาระ) คือเพิ่มการสรงสนานด้วยอะไรต่างๆ เสื้อผ้า หมากพลู ฯลฯ ไปจนที่เรียกว่า “ราโชปจาร” คือปรนนิบัติดุจพระราชา มีเครื่องสูงและดุริยดนตรีต่างๆ แถมเข้ามาด้วย

 

ที่จริงแล้วการบูชาจะมีกี่ขั้นตอนก็ตามล้วนมีหลักพื้นฐานอยู่ที่การถวาย “ธาตุทั้ง 5” (ดิน น้ำ ไฟ ลม อวกาศหรือที่ว่าง) และเพื่อปรนเปรอความสุขทางผัสสะทั้ง 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) เท่านั้น

เครื่องหอม ควันธูป ดอกไม้ ดวงประทีป อาหาร เสียงกระดิ่งระฆังและคำสวด ล้วนปรากฏแก่อายตนะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และของผู้บูชา เป็นของขวัญจากธาตุห้าเพื่อความสุขแห่งอายตนะห้า

แต่หากไม่มีเครื่องบูชาทั้งหลาย ทั้งพุทธศาสนาและฮินดู ต่างมีเทคนิคที่เรียกว่า “มานัสบูชา” หรือการบูชาด้วยใจ เช่นการทำมุทราและตั้งนิมิตว่ามีเครื่องบูชาบังเกิดขึ้น

เทคนิคนี้พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทอาจไม่แพร่หลาย แต่มีมากในฝ่ายมหายาน วัชรยาน และฮินดู

พุทธศาสนามีเทคนิคตั้งนิมิต (visualization) ว่าเครื่องบูชาทั้งหลายจะบังเกิดขึ้นจากความว่างและพีชะพยางค์ (ตัวอักษรมนตร์พิเศษ เช่น โอมฺ หุมฺ ผฏฺ) อันศักดิ์สิทธิ์

ในขณะที่ทางฮินดู ก็ใช้พีชะพยางค์แทนธาตุต่างๆ อันมีอยู่แล้วในร่างกายของผู้บูชาบังเกิดเป็นเครื่องบูชาต่างๆ เช่นกัน

การบูชาในลักษณะนี้ แม้จะยากจนข้นแค้นแค่ไหนก็ทำได้ และถือกันว่าอานิสงส์ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย อีกทั้งยังเป็นอุบายการภาวนาอันวิเศษด้วย

 

ผมเน้นย้ำในคอร์สว่า การบูชาควรเป็นสิ่งที่เราปรับแปลงได้ตามจริตนิสัยของผู้บูชา ภายใต้หลักการพื้นฐาน เอาเข้าจริง การบูชาคือการตอกย้ำความสัมพันธ์ของเรากับสิ่งที่เราบูชาต่างหาก ความรู้สึกเคารพ ความอบอุ่น การได้ใกล้ชิดในช่วงเวลาพิเศษ การตระหนักถึงภาวะที่บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง

ถือเป็นหัวใจไม่แพ้หลักปฏิบัติตามประเพณีนิยมที่สืบมา

รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในการบูชา ล้วนมีความหมายในเชิงอารมณ์ความรู้สึก

ตัวอย่างในพิธีกรรมบูชาของฮินดู เครื่องบูชาทั้งหลายจะได้รับกลับคืนมาทั้งหมดจากเทพ เพื่อให้ผู้บูชาได้เสพเสวยความสุขอันนั้นทางผัสสะของตนเองเช่นเดียวกัน และย้ำว่าเราเองก็มีภาวะเทพเหมือนสิ่งที่เรากำลังบูชา

การแบ่งปันอาหารในการบูชาก็เป็นกฎอันหนึ่ง เพื่อละวางความตระหนี่ และเพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่เพียงแต่เราเท่านั้นที่มีภาวะศักดิ์สิทธิ์ในตัว แต่ผู้อื่นโดยทั่วไปก็มีภาวะศักดิ์สิทธิ์นั้น

ทุกท่วงท่า ทุกเสียงสวด ควรเป็นการกระทำแห่งสติ ที่เปี่ยมไปด้วยความงาม ความเนิ่นช้า ไร้ความเร่งรีบหยาบคาย และสูงส่งศักดิ์สิทธิ์

 

ศักดิ์สิทธิ์ในความหมายของผมมิได้หมายถึงอำนาจทิพยศักดิ์ที่มืดบอด รุนแรง ห้ามท้าทายและไร้เมตตาดังความหมายที่มักใช้กันโดยทั่วไป แต่หมายถึง เราทั้งหลายและโลกธรรมชาติมี “คุณค่า” อันควรแก่การเคารพ มีคุณค่าแท้บางอย่างภายในด้วยกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้น หากเรามองการบูชาไปพ้นจากรูปแบบขนบประเพณี การบูชาที่จริงเป็นสิ่งเรียบง่าย เป็นเรื่องของการให้และรับ

คำถามสำคัญคือ เราจะแปรเปลี่ยนทุกขณะของชีวิตเป็นการบูชาได้อย่างไร? ทำให้ทุกก้าวเดินของเรา ทำให้ทุกการพบปะผู้คนของเราเป็นการบูชาได้อย่างไร? เราจะบูชาต่อคนที่เราเผชิญหน้าในชีวิตได้อย่างไร? เพราะเราต้องไม่ลืมนะครับว่า ในปรัชญาฮินดูหรือแม้แต่พุทธศาสนาเอง ทุกคนและทุกสิ่งที่เราพบคือการปรากฏของเทพหรือของพุทธะทั้งหลาย

ทุกครั้งที่มีใครสักคนหยิบยื่นของสิ่งหนึ่งมาให้เรา หรือทุกครั้งที่เรามีของขวัญไปให้ใครสักคน เราไปพบปะเยี่ยมเยียน มีคำพูดที่ไพเราะกับเขา ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ นั่นก็เป็นการบูชา

ทุกขณะที่เราสัมผัสเพื่อนมนุษย์ ต้นไม้ ภูเขา แม่น้ำ เราสัมผัสด้วยความอ่อนโยน ด้วยความเคารพ ทุกก้าวที่เราเหยียบไปบนภูเขา นั่นคือการบูชา ความศักดิ์สิทธิ์เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ บ่งบอกว่าทั้งใจเราที่นอบน้อมเคารพ และสรรพสิ่งที่ใจเข้าไปสัมผัส ผูกร้อยด้วยสายสัมพันธ์อันแยกขาดจากกันไม่ได้

สำหรับผม การบูชาที่แท้จริงจึงเป็นการแสดงออกของความรัก ซึ่งปรากฏในทุกขณะของชีวิต