ประจักษ์ มองชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการสลายขั้วพรรคฝ่ายค้าน เพื่อปกป้องระเบียบแบบ “คณาธิปไตย”

อวสานการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ เพื่อไทยจับมือข้ามขั้วแค่ชั่วคราว ?

รศ.ดร.ประจักษ์ แห่งรัฐศาสตร์ มธ. มองแนวโน้มการเมืองไทย อนาคตเพื่อไทย และ ก้าวไกล ภายใต้ “เกมของชนชั้นนำ” ? 

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวช่วงหนึ่งในงานสัมมนา “สำรวจภูมิทัศน์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของไทย : ตอนที่ 1 ฉันทามติใหม่การเมืองไทย”
โดยชี้ให้เห็นภาพแนวโน้มการเมืองไทยการย้ายตำแหน่งแห่งที่ทางการเมืองครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อการถือกำเนิดขั้วที่ 3 ในทางการเมือง (ก้าวไกล) จะเห็นได้ว่า 2 ขั้วทางการเมือง คือ พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยในอดีต กับ ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่ต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ มารวมเป็นขั้วเดียวกัน (รัฐบาลข้ามขั้ว) เพื่อสู้กับขั้วที่ 3 (ก้าวไกล) แต่อาจารย์มองว่าการจับมือเป็นการจับมือเพียงชั่วคราวของชนชั้นนำระหว่าง 2 ขั้วที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน (mutual interest ) เท่านั้น ยังไม่ลงลึกระดับผู้สนับสนุนหรือผู้เลือกตั้งของพรรค กล่าวคือ จะยังไม่เห็นมวลชนของแดงไปเลือกพรรคเหลือง หรือมวลชนของเหลืองไปเลือกพรรคแดง
ซึ่งการเมืองแบบมี 2 พรรคใหญ่ได้ที่ผ่านมาได้จบแล้ว ในอาคตการเมืองไทยจะเป็นระบบหลายพรรคที่ต่อสู้กัน คือมีตั้งแต่ พรรคขวา ขวากลาง – ซ้าย ซ้ายกลาง

อาจารย์ปะจักษ์ยังชี้ให้เห็นว่าคะแนนของพรรคก้าวไกลมาจากไหน ถ้าไปดูคะแนนปาตี้ลิสต์ 14 ล้านเสียง และคะแนนแบบแบ่งเขต 10 ล้าน ซึ่งต้องมาจากพรรคอื่นๆ เพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคใหม่ที่ลงเลือกตั้งเพียง 2 ครั้ง โดยเฉพาะ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าหากมองว่าพรรคก้าวไกลเป็น พรรคสลิ่มเฟส 2 หรือแดงเฟสใหม่ก็ไม่แปลก เพราะคนที่เลือกพรรคก้าวไกลมาจากคนที่เคยเป็นเหลืองและแดง ทั้งนี้ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้ง (voting behavior) มารองรับ หากมีงานวิจัยจะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างเป็นวิทยาศาตร์ เราจะไม่ต้องมาทะเลาะในเชิงวาทะกรรม

อย่างไรก็ตามฉันทามติของชนชั้นนำต้องการรัฐบาลที่ไม่เข้าไปแตะต้องระเบียบเศรษฐกิจ การเมืองที่พวกเขาสร้างตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 2557 คือระเบียบแบบ “คณาธิปไตย” ที่ไม่ค่อยจะเป็นประชาธิปไตยในทางการเมือง และมีการผูกขาดทางเศรษฐกิจสูง

แต่เมื่อประชาชนต้องการออกจากระเบียบดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากชนชั้นนำประสบความสำเร็จในการสลายขั้วพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคที่เคยแข็งแกร่งอย่างมากในการร่วมกันต่อสู้กับระเบียบ เพราะฉะนั้นการสลายพรรคฝ่ายค้าน ชนชั้นสามารถดึงพรรคเพื่อไทยไปเป็นพวกในการตั้งรัฐบาล ดังนั้นพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลโดยรวมกับชนชั้นนำเดิมจะสามารถเปลี่ยนระเบียบอำนาจได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ครั้งหน้าก็จะเป็นการต่อสู้กันด้วยโจทย์เดิมเพียงแค่เปลี่ยนตัวละคร  และเป็นโจทย์ยากสำหรับเพื่อไทยคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง เพื่อไทยจะเข้าไปแตะมากน้อยแค่ไหนรวมถึงการเลือกตั้งในอนาคต