BLUES | สีสันที่สะท้อนจิตวิญญาณอันปวดร้าวของดนตรีบลูส์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

BLUES | สีสันที่สะท้อนจิตวิญญาณอันปวดร้าวของดนตรีบลูส์

 

นับแต่อดีตกาลนานมา โสตศิลป์ (Auditory art) ที่รับรู้ด้วยการฟัง กับ ทัศนศิลป์ (Visual art) ที่รับรู้ด้วยการดู เป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้

และในหลายครั้ง ศิลปะสองแขนงนี้ก็ส่งผ่านแรงบันดาลใจซึ่งกันและกันเสมอมา

ดังเช่นศิลปินอย่าง จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ (Georgia O’Keeffe) ผู้กล่าวว่า “แนวคิดทางดนตรีสามารถแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นอะไรบางอย่างสำหรับดวงตาได้” และสร้างสรรค์ผลงานโดยได้แรงบันดาลใจมาจากดนตรี

หรือศิลปินอย่าง พีต มองเดรียน (Piet Mondrian) ผู้หยิบเอาแรงบันดาลใจจากดนตรีแจ๊ซ และดนตรี Boogie-woogie แอฟริกัน/อเมริกันบลูส์ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา

นิทรรศการ BLUES
นิทรรศการ BLUES
นิทรรศการ BLUES

ไม่ต่างอะไรกับ จิรภัทร อังศุมาลี หรือที่มิตรรักนักอ่านผู้หลงใหลดนตรีกาลในบ้านเราหลายคนรู้จักเขาจากนามปากกา “สิเหร่” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้หลงใหลใฝ่รู้เรื่องดนตรีแจ๊ซ ระดับลึกซึ้งแตกฉานของเมืองไทย

นอกจากดนตรีแล้ว ความหลงใหลอันลึกซึ้งอีกประการหนึ่งของจิรภัทรคืองานศิลปะที่เสพด้วยดวงตาอย่างทัศนศิลป์

ทั้งในฐานะผู้เสพและผู้สร้างสรรค์ จิรภัทรหลอมรวมความหลงใหลทั้งสองประการนี้มาถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะของเขา

โดยก่อนหน้านี้ เขาแปรเปลี่ยนท่วงทำนองและจังหวะจะโคนอันเปี่ยมสีสันของดนตรีแจ๊ซ ให้กลายเป็นสีสัน เส้นสาย และฝีแปรงบนผืนผ้าใบในนิทรรศการ The Colors of Jazz ในปี 2565 ที่ผ่านมา

ในปีนี้ จิรภัทรหวนกลับไปสู่สุ้มเสียงของดนตรีบลูส์ อันเป็นเสมือนรากเหง้าของดนตรีแจ๊ซและร็อก ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาที่มีชื่อว่า BLUES

“บลูส์ คือดนตรีแห่งจิตวิญญาณ คือเสียงสะท้อนของความปวดร้าวอย่างสิ้นหวัง”

BLUES-22 (Willie Dixon)
BLUES-1/1 (Legend)
BLUES-1 (Legend)

ในนิทรรศการครั้งนี้ จิรภัทรสร้างสรรค์ผลงานภาพวาดหลากรูปแบบหลายเทคนิค ทั้งภาพวาดนามธรรมและกึ่งนามธรรม, ภาพวาดเทคนิคสื่อผสม ผลงานเหล่านี้สะท้อนจิตวิญญาณอันรวดร้าวแห่งดนตรีบลูส์ด้วยสีสันอันลุ่มลึกและร้าวรานบาดใจยิ่ง

(หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า นอกจากดนตรีแจ๊ซแล้ว จิรภัทรยังหลงใหลและศึกษาดนตรีบลูส์อย่างลุ่มลึกแตกฉาน โดยมีหลักฐานคือหนังสือ “ตำนานเพลงบลูส์” ที่เขาเขียนเอาไว้ในนามปากกา “สิเหร่” (ร่วมกับ พจน์ อนุวงศ์) นั่นเอง)

“นิทรรศการ BLUES ของผมในครั้งนี้เป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องกับนิทรรศการครั้งที่แล้วอย่าง The Colors of Jazz ที่แสดงไปเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เป็นการต่อเนื่องที่ย้อนกลับ เพราะดนตรีบลูส์นั้นเป็นต้นกำเนิดของดนตรีแจ๊ซ, ร็อกแอนด์โรล, ริทึมแอนด์บลูส์ (อาร์แอนด์บี) และอื่นๆ อีกมากมาย และอันที่จริง ตัวผมเองฟังเพลงบลูส์มาก่อนที่จะฟังแจ๊ซด้วยซ้ำไป เพราะโดยหลักของการฟังดนตรีคนส่วนใหญ่จะฟังดนตรีร็อก แล้วค่อยตามไปฟังดนตรีบลูส์และแจ๊ซในภายหลัง”

BLUES-2
BLUES-3
BLUES-23

“ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้เหมือนเป็นการถ่ายทอดความรู้สึกของผมที่มีต่อดนตรีบลูส์ ด้วยการหวนกลับไปสู่ยุคต้นกำเนิดของดนตรีบลูส์ อันมีที่มาจากคนผิวดำที่ถูกลักพาตัวจากแอฟริกามาเป็นทาส ใช้แรงงานในสหรัฐอเมริกา ทั้งทำทางรถไฟ ทำงานในไร่ฝ้าย คนผิวดำเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เลวร้ายมาก นายทาสผิวขาวปฏิบัติกับทาสผิวดำเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับสัตว์”

“มีกฎหนึ่งที่นายทาสผิวขาวตั้งเอาไว้อย่างเคร่งครัด คือห้ามเล่นดนตรีด้วยการตีกลองเด็ดขาด เพราะคนแอฟริกันใช้กลองเป็นเครื่องมือสื่อสาร ส่งสัญญาณข้ามหมู่บ้านได้ ถ้าปล่อยให้เล่นกลอง อาจนำไปสู่การปลุกระดมให้ทาสผิวดำเกิดการต่อต้านได้”

“ในขณะเดียวกัน คนผิวขาวก็ใช้ศาสนาคริสต์ครอบงำคนผิวดำ โดยให้ทาสหยุดพักเพื่อไปเข้าโบสถ์ในวันอาทิตย์ สำหรับคนที่ถูกกดขี่ข่มเหง ไม่มีที่ยึดเหนี่ยว ศาสนาย่อมเป็นการครอบงำที่แนบเนียนที่สุด”

“แล้วเวลาทาสผิวดำเหล่านี้เข้าโบสถ์ พวกเขาก็จะร้องเพลงกอสเปล (Gospel) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดดนตรีบลูส์ขึ้นมา”

BLUES-4 (Grave Marker) ภาพวาดที่ได้แรงบันดาลใจจากท่อนเหล็กดัดที่ปักให้รับรู้ถึงตำแหน่งสุสานของทาสผิวดำ
BLUES-20
BLUES-21

“จากนักดนตรีพื้นบ้านที่ถูกลักพาตัวจากแอฟริกามาเป็นทาสใช้แรงงานในอเมริกา ไม่มีเครื่องดนตรีให้เล่น พวกเขาก็สร้างเครื่องดนตรีง่ายๆ อย่าง กีตาร์ เครื่องสี”

“พอตีกลองไม่ได้ เขาก็หยิบเอากระดานซักผ้า หรือ Washboard มาทำเป็นเครื่องเคาะ”

“พวกเขาเอาส่วนผสมของดนตรีกอสเปล และดนตรีท้องถิ่นของแอฟริกันที่ฝังรากอยู่ในตัว ตั้งแต่ก่อนถูกจับมาเป็นทาส และเนื้อร้องที่ถ่ายทอดความเจ็บปวดรวดร้าวในชีวิตมาผสมผสานกันเป็นดนตรีบลูส์ เพื่อร้องเล่น เต้นรำกันในวันหยุดพักผ่อนจากงานหนัก”

“ผมหยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้มาเปลี่ยนเป็นภาพวาดที่แสดงในนิทรรศการครั้งนี้”

BLUES-5
BLUES-6 (Radio)
BLUES-7

เมื่อพูดถึงความเป็นบลูส์ สีสันที่หยิบมาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนก็ย่อมต้องเป็นสีสันอันเข้มข้นลึกซึ้งอย่าง สีน้ำเงิน ที่เป็นโทนสีหลักของผลงานในนิทรรศการครั้งนี้

“สีน้ำเงิน เป็นลักษณ์ของความเศร้า คำว่า blues ในภาษาอังกฤษก็หมายถึงความโศกเศร้า ดนตรีบูลส์จึงเป็นบทเพลงที่ตีแผ่ความโศกเศร้า ความเจ็บปวดรวดร้าวของคนผิวดำที่ถูกกดขี่เป็นทาสอย่างไร้มนุษยธรรม ส่วนลักษณะเด่นของดนตรีบูลส์คือ 12 ห้องเพลง หรือ Twelve-bar blues ที่มีจังหวะ 12 ห้อง ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้าไปอยู่ในดนตรีร็อก แจ๊ซ และริธึ่มแอนด์บลูส์ ในทุกวันนี้”

BLUES-8
BLUES-9
BLUES-10

นอกจากผลงานภาพวาดนามธรรมแล้ว ในนิทรรศการ BLUES ของจิรภัทร ยังมีภาพวาดบุคคลของนักดนตรีบลูส์ระดับตำนานหลายต่อหลายคนอีกด้วย

“งานในนิทรรศการครั้งนี้ จะเริ่มตั้งแต่ห้องแสดงงานชั้นล่างที่เน้นเกี่ยวกับบประวัติศาสตร์ของทาสผิวดำที่ถูกกดขี่ อย่างภาพของนักดนตรีบลูส์ที่เป็นวณิพกข้างถนน หรือภาพของ วิลลี ดิกสัน (Willie Dixon) นักดนตรีบลูส์ระดับตำนาน หรือภาพนักร้อง/นักดนตรีสี่คน ที่เป็นผู้บุกเบิกดนตรีบลูส์อย่าง มา เรนีย์ (Ma Rainey), บลายนด์ วิลลี แมคเทลล์ (Blind Willie McTell), สกิป เจมส์ (Skip James) และ โรเบิร์ต จอห์นสัน (Robert Johnson) ที่ผมวาดให้เป็นเหมือนโปสเตอร์ประกาศจับโจรในหนังเคาบอย ซึ่งในที่นี้คือประกาศจับทาสผิวดำที่หลบหนี ผมเลยทำให้เหมือนโปสเตอร์เก่าๆ ยับๆ ที่ติดบนข้างฝาในบาร์เหล้า”

BLUES-11
BLUES-12
BLUES-13

“ส่วนในห้องแสดงงานชั้นสอง ผมวาดภาพสี่เหลี่ยมจัตุรัส ที่แทนค่ามาจากซองอัลบั้มแผ่นเสียงขนาด 12 นิ้ว กับ 7 นิ้ว วาดเป็นภาพวาดสื่อผสมที่เกี่ยวของกับเรื่องราวของดนตรีบลูส์ที่มีรากเหง้ามาจากตรีกอสเปล ดนตรีบลูส์ที่มีถิ่นกำเนิดในแถบปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี ดนตรีบลูส์ในแคนซัส และเมมฟิส และจบไปลงที่ผลงานชิ้นใหญ่ในห้องแสดงงานชั้นสามที่ชื่อ Twelve-bar blues ที่พูดถึงจังหวะ 12 ห้องเพลงของบลูส์ ที่เป็นต้นกำเนิดของดนตรีหลากหลายแขนง”

“ตอนทำงานในนิทรรศการ The Colors of Jazz ผมวาดภาพจากความรู้สึกส่วนตัวที่ได้ฟังดนตรีแจ๊ซ แต่พอมาทำเรื่องดนตรีบลูส์ ผมคำนึงว่าควรจะยึดเรื่องเนื้อหาและประวัติศาสตร์ของดนตรีบลูส์ด้วย อย่างการหยิบเอาภาพของนักดนตรีบลูส์ สัญลักษณ์ของทาสผิวดำ หรือสัญลักษณ์บางอย่างที่ทำให้เรานึกถึงการกดขี่ทารุณทาสผิวดำ อย่างวาดภาพลายเส้นสีดำ ที่เป็นสัญลักษณ์ของหลุมศพทาสผิวดำที่ถูกฝังรวมกันแบบหยาบๆ มีเพียงท่อนเหล็กดัดสนิมเขรอะ ปักให้รับรู้ถึงตำแหน่งของสุสานเท่านั้น”

BLUES-14
BLUES-15
BLUES-16

“เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงเนื้อหาของงานได้ลึกยิ่งขึ้น ผมเลยใช้วิธีเขียนเรื่องย่อเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานของดนตรีบลูส์ที่ผมโพสต์ลงในเฟซบุ๊กจำนวน 11 ตอน มาตีพิมพ์เป็นบทความและภาพประกอบ วางอยู่ในห้องแสดงงานชั้นล่างของหอศิลป์ ให้ผู้ชมได้หยิบไปอ่าน เพื่อช่วยให้ดูงานได้อย่างมีรสชาติยิ่งขึ้น”

นิทรรศการ BLUES โดย จิรภัทร อังศุมาลี (สิเหร่) จัดแสดงที่ Red Dog Gallery เชียงใหม่, ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน-20 กรกฎาคม 2566, เปิดทำการทุกวัน 08:00-17:00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ : 09-1076-8585, อีเมล : [email protected] 

BLUES-17
BLUES-18
BLUES-19

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์