อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินและแม่ ผู้ใช้ศิลปะต่อต้านสงคราม และความอยุติธรรม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปินและแม่

ผู้ใช้ศิลปะต่อต้านสงคราม

และความอยุติธรรม

 

จากข่าวที่นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ แม่ของเพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมด้วยการโกนผมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวลูกชายของเธอ และคนที่ถูกจับกุมคุมขังเพราะข้อหาทางการเมือง

ในตอนนี้เราจึงขอเล่าเรื่องราวของศิลปินผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ใช้ศิลปะในการต่อต้านความอยุติธรรมและต่อสู้เพื่อลูกของเธอ

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

เคเธอ โคลวิตซ์ (Käthe Kollwitz)

ศิลปินชาวเยอรมันผู้สำรวจประเด็นของความยากจน ความตาย ความโหดร้ายทารุณของสงคราม และแสดงการประท้วงต่อต้านความอยุติธรรมในสังคม ด้วยการเปิดเผยถึงความโศกเศร้าในงานศิลปะของเธอออกมาได้อย่างทรงพลัง

The March of the Weavers in Berlin (1897), ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://bit.ly/3ujVteH

เธอยังมีส่วนสำคัญในการเป็นแรงผลักดันให้ผู้หญิงยุคใหม่สามารถแสดงภาพของตนเองในผลงานศิลปะนอกกรอบเดิมๆ ด้วยการนำเสนอภาพเหมือนของตัวเธอเองและภาพของผู้หญิงในหลากหลายอิริยาบถ

ไม่ว่าจะเป็นการใช้แรงงาน ไปจนถึงการแสดงออกถึงอารมณ์ต่างๆ อย่างความรักใคร่ ความโศกเศร้า สูญเสีย

หรือแม้แต่ในภาพผู้หญิงในฐานะผู้นำการปฏิวัติ

The Outbreak (1903), ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://bit.ly/2PQZTLg

ในช่วงแรกของการทำงาน โคลวิตซ์ได้แรงบันดาลใจจากบทละคร The Weavers (1892) ของ แกร์ฮาร์ต เฮาพต์มานน์ (Gerhart Hauptmann) นักประพันธ์ชาวเยอรมัน ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการลุกฮือของช่างทอผ้าชาวเยอรมันและแสดงโศกนาฏกรรมในการต่อสู้ของชนชั้นแรงงานได้อย่างสะเทือนอารมณ์

โคลวิตซ์กล่าวว่า บทละครชิ้นนี้ปักหมุดหมายในวิชาชีพศิลปินให้แก่เธอ

นอกจากบทบาทศิลปินแล้ว อีกบทบาทที่โดดเด่นที่สุดของโคลวิตซ์คือความเป็นแม่

ในฐานะศิลปิน เธอสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความเป็นแม่ในทุกแง่มุมอย่างละเอียดอ่อนซับซ้อนตลอดอาชีพการทำงานของเธอ

การเป็นแม่เป็นประสบการณ์สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิตของโคลวิตซ์

Whetting the Scythe (1908), ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://bit.ly/3ujVteH

เธอกล่าวว่า “มีสามสิ่งที่สำคัญในชีวิตของฉันคือการมีลูก, การมีคู่ครองที่ซื่อสัตย์ไปตลอดชีวิต และการทำงานศิลปะ”

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผลงานส่วนใหญ่ของเธอจะเต็มไปด้วยภาพของตัวเธอและเหล่าบรรดาลูกๆ หลานๆ ทั้งหลาย

โคลวิตซ์ยังนำเสนอประสบการณ์พื้นฐานที่สุดของความเป็นแม่ นั่นก็คือความหวาดกลัวที่จะสูญเสียลูก และความโศกเศร้าจากการที่แม่ต้องสูญเสียลูกของตัวเองไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสงคราม

Woman with Dead Child (1903), ภาพพิมพ์โลหะ, ภาพจาก https://bit.ly/3ujVteH

ไม่ว่าจะเป็น Woman with Dead Child (1903) ผลงานภาพพิมพ์โลหะที่แสดงอา รมณ์ของแม่ผู้สูญเสียลูกได้อย่างเปี่ยมความรู้สึกรันทด

หรือ The Parents from War (1923) ผลงานภาพพิมพ์ไม้ที่แสดงถึงความโศกเศร้าของผู้สูญเสียลูกจากสงครามได้อย่างถึงเลือดเนื้อ

แทนที่จะนำเสนอภาพของความรุนแรงในสงคราม โคลวิตซ์กลับเลือกที่จะมุ่งเน้นในการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกอันเจ็บปวดรวดร้าวจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ที่สูญเสียลูกชาย สามี หรือพี่น้องไปในสงคราม

The Mothers (1922), ภาพพิมพ์ไม้, ภาพจาก https://bit.ly/2PQZTLg

เหตุผลอีกประการที่ผลงานของโคลวิตซ์แสดงออกถึงความรู้สึกโศกเศร้าของผู้เป็นแม่ที่สูญเสียลูกไปในสงครามได้อย่างลึกซึ้งและทรงพลัง เพราะตัวเธอเองก็สูญเสียพีเทอร์ ลูกชายคนเล็กของเธอไปกลางสนามรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1914 การสูญเสียลูกทำให้ชีวิตของเธอจมอยู่ในห้วงของความทุกข์โศกอย่างไม่อาจเยียวยา โดยเธอกล่าวว่า

“ผู้หญิงอย่างพวกเราจำเป็นต้องเข้มแข็งที่จะยอมเสียสละในสิ่งที่เจ็บปวดกว่าการสูญเสียเลือดเนื้อของตัวเอง เพราะเราต้องเห็นสามีและลูกชายของเราออกไปต่อสู้และตายเพื่อเสรีภาพ”

The Volunteers (1922), ภาพพิมพ์ไม้, ภาพจาก https://bit.ly/2PNXSPZ

โคลวิตซ์เป็นศิลปินที่ฝักใฝ่ในอุดมการณ์สังคมนิยม และเป็นนักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ผู้อุทิศตนเพื่อตีแผ่ความอยุติธรรมทางสังคมและการเมืองที่เธอพบเห็นในเยอรมนีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เธอมักแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับสังคมการเมืองผ่านผลงานภาพพิมพ์ไม้

ดังเช่นในผลงาน The Volunteers (1922) ที่แสดงถึงลางร้ายจากอุปทานหมู่และความคลั่งชาติที่นำไปสู่สงครามในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ด้วยภาพของกลุ่มเด็กหนุ่มที่เดินตามยมทูตไปอย่างหน้ามืดตามัว

หรือ Memorial Sheet of Karl Liebknecht (1920) ผลงานภาพพิมพ์ไม้ที่โคลวิตซ์ทำขึ้นเพื่อตอบสนองต่อเหตุการณ์ฆาตกรรม คาร์ล ลีพค์เน็ชต์ (Karl Liebknecht) ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ผู้ต่อสู้เพื่อชนชั้นแรงงานและคัดค้านการนำพาประเทศเข้าสู่ความเป็นจักรวรรดินิยมและนำพาประเทศเข้าสู่สงครามอีกครั้ง

เธอยังมีส่วนร่วมกับสภาแรงงานเพื่อศิลปะ (Arbeitsrat für Kunst) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี ในช่วงหลังสงคราม เมื่อเกิดอุดมการณ์ชาตินิยมที่มีการเรียกร้องให้เกณฑ์เด็กและคนชราเข้าร่วมรบในสงคราม โคลวิตซ์ก็ออกมาต่อต้านอย่างแข็งขัน รวมถึงตีพิมพ์แถลงการณ์ของเธอที่กล่าวว่า

“มีคนตายมากพอแล้ว! อย่าให้มีใครต้องล้มตายอีกเลย!”

The Parents from War (1923), ภาพพิมพ์ไม้, ภาพจาก https://bit.ly/2PQZTLg

ในช่วงที่เกิดความสับสนวุ่นวายทางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ศิลปินเยอรมันส่วนใหญ่มักทำงานภาพพิมพ์มากกว่างานจิตรกรรม ด้วยเหตุที่ภาพพิมพ์สามารถผลิตภาพเดียวกันซ้ำๆ ออกมาได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นสื่อที่เหมาะสำหรับการเผยแพร่ประเด็นทางการเมือง โคลวิตซ์เองก็เป็นศิลปินที่ทำงานส่วนใหญ่ด้วยกระบวนการภาพพิมพ์ และเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินภาพพิมพ์ ผู้นอกจากจะทำผลงานภาพพิมพ์ที่แสดงออกถึงความเจ็บปวดรวดร้าวของแม่ผู้สูญเสียลูกในสงครามแล้ว

เธอยังทำงานตีแผ่ชะตากรรมความทุกข์ยากและถูกกดขี่ของชนชั้นแรงงานทั้งหลาย โดยเฉพาะแรงงานเพศหญิงออกมาให้ผู้คนได้รับรู้

นอกจากจะเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากผลงานภาพพิมพ์โลหะ, ภาพพิมพ์ไม้ และภาพพิมพ์หินแล้ว โคลวิตซ์ยังเป็นที่รู้จักจากผลงานการวาดภาพโปสเตอร์ให้กับฝ่ายซ้ายทางการเมือง และใบปลิวรณรงค์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชนชั้นแรงงานและคนยากจน

Memorial Sheet of Karl Liebknecht (1920), ภาพพิมพ์ไม้, ภาพจาก https://bit.ly/2PQZTLg

เธอยังสร้างผลงานประติมากรรมในเชิงต่อต้านสงครามที่ติดตั้งในอนุสรณ์สถานของผู้เสียชีวิตจากสงครามหลายแห่ง

ในช่วงปลายปี 1914 เธอร่างแบบสร้างผลงานประติมากรรมเพื่อเป็นอนุสรณ์ให้แก่ลูกชายของเธอและเหล่าบรรดาเพื่อนของเขาที่ตายในสนามรบ และสร้างเป็นผลงานประติมากรรมออกมาในปี 1914

แต่เธอก็ทำลายมันทิ้งเพราะทำใจไม่ได้ ก่อนที่จะสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 1925 และตั้งชื่อว่า The Grieving Parents (1925) โดยนำไปติดตั้งไว้ในสุสานรูกเกอร์เฟลด์ ประเทศเบลเยียม ในปี 1932 เพื่อเป็นเสมือนหนึ่งอนุสรณ์ให้ลูกของเธอและลูกๆ ของพ่อ-แม่ผู้สูญเสียลูกไปในสงคราม

ต่อมาเมื่อศพลูกชายของเธอถูกย้ายไปฝังไว้ในสุสานสงครามเยอรมันในเมืองวลาดสโลที่อยู่ใกล้ๆ กัน ตัวประติมากรรมก็ถูกย้ายตามไปติดตั้งที่นั่นด้วย

The Grieving Parents (1925), ประติมากรรม, ภาพจาก https://bit.ly/3ujVteH

โคลวิตซ์ยังทำงานประติมากรรมในเชิงศาสนาที่แสดงออกถึงความสูญเสียอย่างลึกซึ้งของมนุษย์

ดังเช่นในผลงาน Pietà (Mother with her Dead Son) (1932) ที่นอกจากจะได้แรงบันดาลใจจากภาพทางศาสนาของพระแม่มารีผู้กำลังตระกองกอดพระศพของพระเยซูคริสต์ บุตรชายของเธอผู้เพิ่งสิ้นพระชนม์จากการตรึงกางเขนแล้ว

เธอยังทำผลงานชิ้นนี้เพื่ออุทิศให้กับลูกชายของเธอผู้เสียชีวิตในสงครามอีกด้วย

ด้วยผลงานเหล่านี้ เคเธอ โคลวิตซ์ แสดงให้เห็นถึงความเศร้าโศกและประสบการณ์อันเลวร้ายอันเป็นผลกระทบของสงครามที่มีต่อผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เป็นแม่คนได้อย่างทรงพลังและสั่นสะเทือนจิตใจผู้ชมอย่างมหาศาล

ทำให้เธอได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในศิลปินหญิงผู้โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะแห่งศตวรรษที่ 20

Pietà (Mother with her Dead Son) (1932), ประติมากรรมสำริด, ภาพจาก https://bit.ly/2QRw79C

สุดท้ายนี้ เราขอใช้พื้นนี้ตรงนี้ร่วมส่งกำลังใจให้คุณแม่ของเพนกวิน

ขอให้ลูกของเธอ รวมถึงลูกๆ ของแม่ทุกคนที่ต้องถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยปลอดภัยและได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ววัน

และขอภาวนาให้ความรักของแม่ทุกคนสามารถเอาชนะความอยุติธรรมในสังคมนี้ได้ในที่สุด

ข้อมูล https://bit.ly/3vKb6N1, https://bit.ly/3ujVteH, https://mo.ma/3xNh9lu