อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Extended Release สำรวจซอกหลืบประวัติศาสตร์ผ่านม่านฝุ่น (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Extended Release

สำรวจซอกหลืบประวัติศาสตร์ผ่านม่านฝุ่น (1)

 

เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Extended Release โดยปรัชญา พิณทอง ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในระดับสากล และมีผลงานแสดงนิทรรศการศิลปะในหลายประเทศทั่วโลก

ในครั้งนี้เขาหวนกลับมาแสดงนิทรรศการเดี่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง บนพื้นที่หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร สถานที่ที่เขาเคยใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษามาก่อน

ปรัชญาเป็นศิลปินคนแรกที่จัดแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ หลังจากการปิดปรับปรุงมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558

กลุ่มอาคารอนุรักษ์อันประกอบด้วย ท้องพระโรง ตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรอันมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้รับการบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์งดงามอีกครั้ง

Extended Release

การเชื้อเชิญปรัชญาให้เข้ามาแสดงผลงานในพื้นที่แห่งนี้ นอกจากจะเป็นการย้อนรอยประวัติศาสตร์ความทรงจำส่วนตัวที่เขามีร่วมกับพื้นที่ในฐานะศิษย์เก่าของสถาบัน

การเปิดโอกาสให้ศิลปินได้เข้าไปมีส่วนร่วมปฏิสังสรรค์กับพื้นที่ในระหว่างกระบวนการปรับปรุงอาคารในระยะสุดท้าย ยังก่อให้เกิดบทสนทนาอันแยบคายที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ไทยเข้ากับประวัติศาสตร์โลก และเรื่องราวอื่นๆ ที่รอผู้ชมมาค้นหาและตีความอย่างเสรี

 

กฤษฎา ดุษฎีวนิช ผู้รับบทบาทภัณฑารักษ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ด้วยความที่การปรับปรุงซ่อมแซมพื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากรทั้งหมดกินระยะเวลายาวนานมาก พอถึงเวลาที่หอศิลป์กำลังจะเปิดใหม่อีกครั้ง ก็มีการพูดคุยระหว่างทีมงาน ว่าเราต้องการศิลปินที่ทำงานที่เชื่อมโยงกับกระบวนการปรับปรุงหอศิลป์ ทั้งในแง่ของประวัติศาสตร์และการบูรณะพื้นที่”

Extended Release

“เราเห็นว่าการทำงานของปรัชญามีลักษณะในการแทรกซึม รื้อร่อนตะกอนบางอย่างในประวัติศาสตร์ออกมา จึงเชื้อเชิญเขาเข้ามาแสดงงานกับเรา โดยให้เขาเข้าสังเกตการณ์กระบวนการซ่อมแซมอาคารช่วงสุดท้าย ในช่วงที่ช่างกำลังขัดไสผิวพื้นไม้สักเก่าแก่ของอาคารออกจนเกิดเป็นฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ม่านฝุ่นนี้นำพาทั้งศิลปินและทีมงานย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์เมื่อครั้งในอดีตที่อาคารแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมา หรือเมื่อครั้งที่เจ้าของเดิมเคยอาศัยอยู่ที่นี่”

ฝุ่นที่ว่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชุดแรกในนิทรรศการที่ประกอบด้วยวิดีโอบันทึกภาพกิจกรรมการขัดไสพื้นอาคารหอศิลป์จนเกิดเป็นฝุ่นฟุ้งลอยในอากาศ ฉายผ่านฟิล์มภาพยนตร์ 35 ม.ม. โดยเครื่องฉายหนังไทยประดิษฐ์บนจอหนังกลางแปลงเก่าเหลือใช้

และผลงานจิตรกรรมที่เกิดจากคราบฝุ่นละอองจากการขัดไสพื้นหอศิลป์ตกลงจับเขรอะบนเฟรมผ้าใบจนกลายเป็นร่องรอยที่ดูๆ ไปก็คล้ายภาพวาดนามธรรมอยู่ไม่หยอก

Extended Release

 

ปรัชญากล่าวถึงแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเขาว่า

“ตอนที่ผมถูกเชิญให้เข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ตอนที่กำลังปรับปรุงหอศิลป์ในช่วงสุดท้าย กิจกรรมที่เห็นคือการขัดพื้น ตอนเดินสำรวจภายใน ผมเห็นหยากไย่ใยแมงมุมจับอยู่ตรงมุมบันไดหอศิลป์ จากที่ธรรมดาเราจะไม่ค่อยสังเกตเห็นใยแมงมุมพวกนี้เท่าไหร่ แต่ตอนเข้าไปมันถูกฝุ่นจากการขัดพื้นตกลงมาจับตัวจนเกิดเป็นรูปทรงและน้ำหนักที่สวยงามแปลกตาขึ้นมา หยากไย่พวกนี้ยังเป็นหลักฐานอันสมบูรณ์ในเรื่องมิติเวลาของสถานที่ เพราะถ้าเวลาไม่ผ่านไปมากพอ มันก็จะไม่เกิดขึ้นมา ซึ่งหอศิลป์นั้นถูกปิดปรับปรุงอยู่นานพอสมควร ผนวกกับสถานการณ์โควิด ผมก็ทำการบันทึกวิดีโอกิจกรรมการขัดพื้นและภาพหยากไย่ด้วยกล้องสมาร์ตโฟน และแจ้งให้ทีมงานหอศิลป์เก็บหยากไย่ที่ถูกฝุ่นจับเอาไว้ เพื่อเป็นผลงานแรกของนิทรรศการครั้งนี้”

“แต่พอกลับมาอีกวัน หยากไย่ถูกปัดกวาดจนหายเกลี้ยงหมด เกมเปลี่ยนเลยทีนี้ ก็คิดว่า เอาไงดี? ด้วยความที่ผมได้รับอนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่แค่สองวัน ก็เลยสั่งเฟรมผ้าใบวาดรูปมา 20-30 อัน เพื่อลองทำงานจิตรกรรมจากฝุ่นที่ลอยฟุ้งในอากาศ”

“ผมสนใจการเป็นอิสระของสิ่งที่ถูกกดทับ แล้วก็ไม่ได้มองฝุ่นเป็นแค่ฝุ่นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่มองในฐานะของน้ำหนักที่พื้นหอศิลป์แบกรับเอาไว้มาเนิ่นนาน พอพื้นถูกขัดไสก็เกิดเป็นสภาวะที่เปลี่ยนจากพื้นที่รับน้ำหนัก กลายเป็นไร้น้ำหนัก ฝุ่นที่กระจัดกระจายไปทั่วโดยไม่มีทิศทางก็อาจเรียกว่าความเป็นอิสระเหมือนอิสระทางความคิดก็ได้ ผมก็เลยใช้เฟรมผ้าใบที่มีความเป็นระนาบไปรองรับมวลของฝุ่นที่ร่วงหล่นลงมา เพื่อบันทึกการเปลี่ยนที่อยู่ของฝุ่นเหล่านี้”

Extended Release

ปรัชญายังตัดสินใจเปลี่ยนฟอร์แมตของไฟล์วิดีโอดิจิตอลที่เขาถ่ายทำเอาไว้ให้กลายเป็นฟิล์มหนัง 35 ม.ม. เหตุผลหนึ่งก็เพื่อเล่นกับบริบทของยุคสมัย เพราะในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เรามักจะเปลี่ยนสื่ออะนาล็อกอย่างฟิล์มให้กลายเป็นดิจิตอล แต่ปรัชญาย้อนรอยในมุมกลับกัน ด้วยการเปลี่ยนไฟล์วิดีโอดิจิตอลที่เขาถ่ายทำด้วยสมาร์ตโฟนให้กลายเป็นฟิล์มหนัง 35 ม.ม.แทน

การถ่ายทอดภาพกิจกรรมธรรมดาอย่างการขัดพื้นหอศิลป์ของคนงานก่อสร้างลงบนฟิล์มหนัง 35 ม.ม. ที่ในอดีตเคยถูกใช้ถ่ายแต่เหตุการณ์ยิ่งใหญ่ หรือบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงเด่นดัง ยังเป็นเสมือนการบันทึกและแสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของคนธรรมดาสามัญผู้เป็นแรงงานอยู่เบื้องหลังความสวยงามมลังเมลืองของโลกศิลปะ ที่ผู้ชมศิลปะส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสเห็นหรือมองข้ามไป ดังเช่นในผลงานที่ผ่านๆ มาของเขา https://bit.ly/31Sekkn

ยิ่งกว่านั้น การฉายฟิล์มที่ว่านี้ด้วยเครื่องฉายหนังกลางแปลง (ที่เขาวานให้ช่างท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นมา) ยังเป็นการจำลองประสบการณ์ที่ศิลปินได้สัมผัสในวันที่เขาเข้าไปสังเกตการณ์กิจกรรมการขัดพื้นหอศิลป์อีกด้วย

Extended Release

“การฉายวิดีโอด้วยเครื่องฉายหนัง 35 ม.ม. จะทำให้เกิดเสียงดังและแรงสั่นสะเทือนของมอเตอร์ ซึ่งเป็นเหมือนการจำลองแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากการขัดพื้นหอศิลป์ ในขณะเดียวกันผมก็ทำการตัดเสียงของวิดีโอให้เกิดความเงียบในหนัง แต่ให้ผู้ชมรับรู้ถึงเสียงและแรงสั่นสะเทือนของมอเตอร์ในเครื่องฉายหนัง เพื่อให้ผู้ชมถูกดึงเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาวะที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่เดียวกันกับช่วงเวลาที่เหตุการณ์บนจอเกิดขึ้นและดำเนินอยู่”

ด้วยเหตุนี้ผู้ชมจึงถูกขอให้ถอดรองเท้าก่อนเข้ามาชมงานในหอศิลป์ ไม่ใช่เพื่อความสะอาดหรือมารยาทในการเข้าชมสถานที่เป็นหลัก หากแต่เพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสและมีประสบการณ์กับพื้นที่อย่างแนบชิด (ฝ่าเท้า) ต่างหาก

 

นอกจากการบันทึกและจำลองประสบการณ์ในการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารหอศิลป์ให้ผู้ชมได้รับรู้แล้ว ปรัชญายังขับเน้นถึงผลลัพธ์ของกิจกรรมที่ว่านี้ โดยจงใจเปิดเผยให้เห็นถึงความสวยงามของตัวอาคาร

ด้วยการติดตั้งผลงานในลักษณะที่แตกต่างจากการแสดงผลงานในหอศิลป์ทั่วๆ ไป คือแทนที่จะแขวนผลงานบนผนังเพื่อให้อยู่ในระดับสายตาตามปกติ ปรัชญากลับเลือกจัดแสดงผลงานจิตรกรรมฝุ่นของเขาด้วยการวางพิงผนังบนพื้นแทน

Extended Release

“ที่ผมวางภาพอยู่ในระนาบที่ต่ำกว่าระดับสายตา เพราะผมให้ความเคารพในความเป็นอาคาร และพยายามแสดงสภาพที่ปรับปรุงใหม่ของอาคารหอศิลป์แห่งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

“ถ้าสังเกตจะเห็นว่าในนิทรรศการนี้แทบไม่มีพื้นที่ไหนที่ถูกเจาะผนังเพื่อแขวนงาน แต่จะเป็นการวางพิงผนังมากกว่า และสามารถเคลื่อนย้ายผลงานทุกชิ้นออกไปได้อย่างสะดวกง่ายดาย เพราะผมมองว่าตัวอาคารคือผลงานของผม ไม่ใช้แค่พื้นที่ที่ผมเอาอะไรมาแขวนแสดง แต่อาคารแห่งนี้เป็นเหมือนประติมากรรมชิ้นหนึ่งที่ห่อหุ้มผลงานของผมเอาไว้”

“แนวคิดของผมคือการปลดปล่อยให้บางอย่างเป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการปลดปล่อยให้หอศิลป์เป็นอิสระจากการเป็นแค่พื้นที่แสดงงานเพียงอย่างเดียว หรือปลดปล่อยฝุ่นบนพื้นให้เป็นอิสระจากการถูกกดทับในร่องไม้หรือกาลเวลา”

Extended Release

นิทรรศการ Extended Release โดยปรัชญา พิณทอง จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เปิดให้ชมตั้งแต่ 19 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2564 วันจันทร์ถึงเสาร์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.art-centre.su.ac.th

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช