ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Ticket to Ride
บันทึกความทรงจำ
แห่งการเดินทางด้วยบทกวีคอลลาจ

ใครบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า “การเดินทางคือลมหายใจของศิลปิน” ศิลปินหลายคนจึงมักเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเก็บเอาแรงบันดาลใจจากการเดินทางมาสร้างเป็นผลงานศิลปะขึ้นมา
มีศิลปินผู้หนึ่งไม่เพียงใช้แรงบันดาลใจจากการเดินทางมาสร้างผลงาน
หากแต่หยิบเอาวัตถุที่เก็บสะสมจากการเดินทางมาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำงานศิลปะ
วัตถุที่ว่านั้นก็คือ “ตั๋วเดินทาง” นั่นเอง
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า วรรณประภา ตุงคะสมิต หรือ collagecanto

ผลงานศิลปะของเธอเกิดจากการค่อยๆ กรีด ตัดฉลุตั๋วเดินทางที่เก็บสะสมจากการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทั้งการเดินทางท่องเที่ยว หรือการเดินทางในชีวิตประจำวัน ให้กลายเป็นลวดลายและรูปทรงวิจิตรบรรจง นำมาปะติดปะต่อร้อยเรียงเรื่องราวบอกเล่าประสบการณ์จากการเดินทางผ่านภาษาภาพอันละเอียดอ่อนงดงามราวกับเป็นบทกวีคอลลาจ (ตัดแปะ) ก็ไม่ปาน
ศิลปินมองว่าตั๋วเดินทางเหล่านี้ไม่ต่างอะไรกับสมุดบันทึกที่บรรจุความครุ่นคิด ความสุข ความเศร้า ความกลัว ความสงบ ซึ่งปรากฏขึ้นระหว่างที่มนุษย์กำลังมุ่งสู่จุดหมายปลายทาง เธอเชื่อว่าความหมายของชีวิตไม่ได้อยู่ที่จุดหมายปลายทาง หากแต่เป็นการเดินทางต่างหาก

“ฉันไม่ใช่นักเดินทาง แต่หากมีโอกาสฉันก็มักจะเขียนโน้ตสั้นๆ ถ่ายรูปเร็วๆ ไว้เป็นการบันทึก
หรือเก็บข้าวของที่ระลึกจากการเดินทางเอาไว้ ส่วนมากจะเป็นแผ่นพับ โปสเตอร์ แก้วกระดาษ ทิชชู่ หรือสิ่งละอันพันละน้อยที่พอจะเก็บกลับมาได้ ตั๋วเดินทางก็เป็นอีกสิ่งที่ระลึกที่ฉันพอจะเก็บไว้บ้าง เมื่อมองตั๋วที่ตัวเองเก็บเอาไว้ ทำให้ฉันนึกถึงช่วงเวลาที่เดินทางไปที่ต่างๆ ไม่ใช่แค่การท่องเที่ยว แต่รวมไปถึงการเดินทางในชีวิตประจำวันด้วย”

“ฉันคิดว่าการเดินทาง ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ก็มักจะทิ้งร่องรอยความทรงจำระหว่างทางไว้”
ในครั้งนี้ collagecanto รวบรวมผลงานศิลปะจากตั๋วเดินทางมาจัดแสดงในนิทรรศการที่มีชื่อว่า Ticket to Ride ที่ไม่ได้เป็นแค่การย้อนกลับไปเปิดอ่านทบทวนความทรงจำจากการเดินทางในสมุดบันทึกอีกครั้ง แต่ยังเป็นการกลับไปเขียนความทรงจำลงในสมุดบันทึกเหล่านั้นเพิ่มเติม ด้วยการกรีดตัด ซึ่งการกรีดตัดนั้นช่วยขยายภาพความทรงจำเหล่านั้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

“ฉันเริ่มต้นทำงานคอลลาจมาได้ 10 ปีแล้ว แต่ไม่ได้ทำแบบจริงจัง เป็นเหมือนงานอดิเรกมากกว่า เพราะว่ายังทำงานประจำอยู่ แต่พอทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าสนุกขึ้น งานก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความที่ชอบรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากที่เคยทำคอลลาจปะติดแบบปกติ ก็เริ่มหันมาใช้เทคนิค Paper Cutting (ตัดฉลุ) ก็พบว่าเป็นอะไรที่เหมาะกับตัวเองดี พอทำไปก็ค่อยๆ เพิ่มความละเอียดในการตัดขึ้นเรื่อยๆ”
“และด้วยความที่ฉันสนใจในเส้นสายลวดลายของรูปทรงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ก็เลยจับเอารูปทรงเหล่านั้นมารวมกันเป็นแพตเทิร์นขึ้นมา”

COLLAGECANTO เล่าให้ฟังถึงการเดินทางจากงานอดิเรกยามว่างมาสู่ผลงานคอลลาจตั๋วเดินทางในนิทรรศการครั้งนี้ของเธอว่า
“โดยส่วนตัวฉันไม่ได้เป็นคนเดินทางเยอะแยะอะไร ตั๋วที่มีอยู่แรกๆ ก็มาจากการเผลอเก็บตั๋วจากการเดินทางในชีวิตประจำวัน หรือจากการเดินทางไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ เอาไว้ เผื่อจะเอามาทำอะไรได้ ก็จะมีทั้งตั๋วจากการเดินทางในญี่ปุ่น หรือเมื่อก่อนรถเมล์จะมีตั๋วรายวัน (รายสัปดาห์ รายเดือน) แต่ใช้ได้ไม่นานก็ไม่เห็นมีออกมาแล้ว”

“รูปทรงและลวดลายที่ตัดฉลุบนตั๋วส่วนใหญ่จะเชื่อมโยงกับความทรงจำในการเดินทางในช่วงนั้น อย่างตั๋วรถเมล์รายวันก็จะเป็นลวดลายเส้นทางการเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านกับมหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็นจุดกลมจะแทนป้ายรถเมล์”
“หรือตั๋วรถเมล์ธรรมดาที่ตัดให้เป็นลวดลายเหมือนใบไม้ ก็เชื่อมโยงไปถึงเวลาที่ฉันนั่งมองต้นไม้ริมทางระหว่างนั่งรถเมล์จากบ้านไปมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีต้นไม้เยอะมาก”

“หรือตั๋วรถเมล์อีกอันก็จะเป็นตั๋วรถเมล์ที่นั่งระหว่างการเดินทางจากบ้านกับโรงพยาบาล เพราะตอนนั้นไม่ค่อยสบาย ฉันก็ตัดตั๋วรถเมล์เป็นรูปทรงของมดลูกเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องสุขภาพของตัวเอง”
“หรืออย่างตั๋วเรือด่วนเจ้าพระยา ด้วยความที่ไม่ค่อยได้เดินทางด้วยเรือเท่าไหร่ รู้สึกตื่นเต้น ก็เลยเก็บตั๋วเอาไว้ ลวดลายที่ทำก็เชื่อมโยงจากการที่ตัวเองเป็นคนที่ชอบน้ำ ก็เลยทำให้เป็นเหมือนรูปทรงของน้ำและดอกบัวที่กลายพันธุ์นิดๆ”

“รูปทรงและลวดลายที่ทำส่วนใหญ่มักจะเชื่อมโยงกับช่วงเวลาที่เราทำงานชิ้นนั้นขึ้นมา อย่างงานคอลลาจตั๋วทางด่วน เป็นโครงการทำในช่วงที่ไปเป็นศิลปินพำนักที่โรงแรมเพนนินซูล่า ซึ่งเวลาเดินทางไปโรงแรมก็ต้องขึ้นทางด่วนบ่อยๆ ก็เลยตัดฉลุตั๋วทางด่วนเป็นลวดลายของผ้าลูกไม้เพื่อเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ของโรงแรม ก็เอาผ้าลูกไม้จริงๆ มาสแกนเพื่อทำเป็นแบบสำหรับตัดฉลุลวดลาย”

หลายคนอาจสงสัยเหมือนที่เราสงสัยว่าชื่อ COLLAGECANTO ของเธอนั้นมีที่มายังไง ซึ่งเธอเฉลยให้เราฟังว่า
“ชื่อนี้มีที่มาจากสมัยก่อนที่ฉันทำงานคอลลาจลงบล็อก แล้วเขียนแคนโต้* ประกอบ เพราะไม่ชอบเขียนอะไรยาวๆ ก็เลยเอาสองคำนี้มารวมกันเป็นนามปากกาของตัวเอง” (*บทกวีร่วมสมัยของไทยประเภทหนึ่ง มีลักษณะเป็นกลอนเปล่า ไม่มีสัมผัส)
“เวลาทำงาน ฉันมักจะได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวในความทรงจำใกล้ตัว ถึงแม้จะไม่ใช่ประสบการณ์ที่พิเศษอะไรนัก แต่ก็เป็นเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ที่ฉันจำได้มากที่สุดในช่วงเวลาเหล่านั้น”

การได้ชมผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ของ collagecanto ทำให้เราอดนึกขึ้นมาไม่ได้ว่า ถึงแม้จะเป็นวัตถุข้าวของเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องราวธรรมดาสามัญ แต่สิ่งเหล่านั้นก็สามารถกลายเป็นอะไรที่พิเศษ เปี่ยมความหมาย และส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นได้ ถ้าเราค้นหาความงามในสิ่งเหล่านั้นเจอ
นิทรรศการ Ticket to Ride โดย collagecanto จัดแสดงที่ VS Gallery โครงการ N22 ซ.นราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2563 – 13 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงแม้นิทรรศการจะจบไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถติดตามผลงานของเธอได้ที่อินสตาแกรม Bua Smith (@collagecanto)
ขอบคุณภาพจาก VS Gallery ข้อมูลจากบทความประกอบนิทรรศการ/บทสัมภาษณ์ศิลปิน