อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะแห่งเครื่องแบบ ที่สะท้อนการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
114b.tif

 

ศิลปะแห่งเครื่องแบบ

ที่สะท้อนการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ

 

จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่อาสาสมัครทางการแพทย์ผู้เข้ามาปฏิบัติภารกิจในการชุมนุมถูกทำร้ายโดยเจ้าหน้าที่รัฐจนได้รับบาดเจ็บในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนองานศิลปะที่พูดถึงความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐมีต่อประชาชนมาให้อ่านกัน

ผลงานนั้นมีชื่อว่า

L.A.P.D. Uniforms (1993)

โดย คริส เบอร์เดน (Chris Burden) ศิลปินอเมริกันผู้ทำงานศิลปะการแสดงสด, ประติมากรรม และศิลปะจัดวางชวนช็อกที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะอเมริกันในศตวรรษที่ 20 ที่เราเคยกล่าวถึงเขาไปแล้วในตอน https://bit.ly/3rWkPxz

คริส เบอร์เดน ทำผลงานชุดนี้ขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จลาจลในลอสแองเจลิส ในปี 1992 (1992 Los Angeles riots) ซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งปีหลังจากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแองเจลิส 4 นาย ร่วมกันใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมร็อดนีย์ คิง (Rodney King) ชายผิวดำและเพื่อนอีกสองคนในข้อหาเมาแล้วขับ

เหตุการณ์ที่ว่าถูกบันทึกเป็นวิดีโอและถูกเอาไปเผยแพร่ทางสำนักข่าวท้องถิ่น

การทารุณกรรมผู้ต้องหาผิวดำโดยหลักฐานชัดเจนเช่นนี้ ถูกจับตาจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนและชุมชนคนผิวดำทั่วประเทศ

แต่ในเดือนเมษายน ปี 1992 หลังจากอัยการเขตเทศมณฑลลอสแองเจลิสตั้งข้อหาตำรวจ 4 นายว่ากระทำการเกินกว่าเหตุและใช้กำลังประทุษร้าย คณะลูกขุน (ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกันผิวขาว) กลับมีความเห็นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้ง 4 นายพ้นผิดจากข้อกล่าวหาทั้งหมด

หลังจากตีความเหตุการณ์ในวิดีโอว่าคิงพยายามขัดขืนการจับกุม

L.A.P.D. Uniforms (1993) ในคอลเล็กชั่นของ Fabric Workshop and Museum ภาพจาก https://bit.ly/2ZkuUbp

คําพิพากษาในครั้งนั้นส่งผลให้เกิดความโกรธเกรี้ยวของประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนผิวดำ เกิดการชุมนุมประท้วงลุกลามจนกลายเป็นเหตุการณ์รุนแรงปะทุขึ้นทั่วลอสแองเจลิส ทั้งการจลาจล ปล้นสะดม ลอบวางเพลิง และการต่อต้านแบบอารยะขัดขืนเป็นเวลา 6 วัน

เหตุการณ์จลาจลในครั้งนั้นก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากมายมหาศาล มีผู้เสียชีวิต 63 คน บาดเจ็บ 2,383 คน และถูกจับกุม 12,111 คน อาคารบ้านเรือนถูกเผาทำลายกว่า 3,767 แห่ง รวมมูลค่าทรัพย์สินเสียหายกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เหตุการณ์นี้ยังส่งผลให้กรมตำรวจลอสแองเจลิส (LAPD) ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทในการควบคุมและจัดการสถานการณ์ผิดพลาด จนผู้บัญชาการตำรวจในเวลานั้นต้องประกาศลาออกจากตำแหน่ง

ส่วนคดีร็อดนีย์ คิง ก็ถูกนำมาพิจารณาใหม่ในปี 1993 นำไปสู่การตัดสินโทษตำรวจ 4 นายที่เคยทำร้ายเขา โดย 2 นายได้รับโทษจำคุก 30 เดือน ฐานละเมิดสิทธิพลเมือง อีก 2 นายถูกไล่ออกจากกรมตำรวจลอสแองเจลิส

ส่วนรอดนีย์ คิง ได้รับเงินชดเชย 3.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของนโยบายของกรมตำรวจลอสแองเจลิสในการลดละเลิกการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและสีผิวมาจนถึงทุกวันนี้

L.A.P.D. Uniforms เป็นผลงานประติมากรรมจัดวางในรูปเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแองเจลิส 30 ชุด แบบเต็มยศ ทั้งเข็มขัดตำรวจ, กระบองตำรวจ, กุญแจมือ, ซองปืน, ปืนพกบาเร็ตต้า 92F และตราตำรวจที่จำลองมาจากของจริง โดยเบอร์เดนและพิพิธภัณฑ์ศิลปะ FWM (The Fabric Workshop and Museum) ในฟิลาเดลเฟียร่วมกันออกแบบต้นแบบชุดเครื่องแบบ และสั่งทำชุดโดยบริษัทที่ผลิตเครื่องแบบเจ้าหน้าที่ตำรวจลอสแองเจลิสจริงๆ

ตัวชุดถูกออกแบบให้มีขนาดพอดีตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจร่างกายสูงใหญ่ถึง 7 ฟุต 4 นิ้ว เครื่องแบบแต่ละชุดถูกจัดวางให้แขนเสื้อเหยียดกางออกจนเกือบจะแตะแขนเสื้ออีกตัวที่เรียงแถวหน้ากระดานล้อมรอบผู้ชมในห้องแสดงงาน

สร้างบรรยากาศให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกำลังถูกกดข่มคุกคามจากการปรากฏตัวของเครื่องแบบอันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจรัฐเหล่านี้

นอกจากจะเป็นการบันทึกเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกาแล้ว และสะท้อนถึงความขัดแย้งไม่ลงรอยระหว่างประชาชน (โดยเฉพาะคนผิวดำ) กับผู้ใช้อำนาจรัฐ (ที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว)

ผลงานชุดนี้ยังเป็นเหมือนเครื่องมือในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมของการบังคับใช้อำนาจรัฐอีกด้วย

L.A.P.D. Uniforms และ America’s Darker Moments แสดง ณ หอศิลป์ Gagosian นิวยอร์ก ปี 1994 ภาพถ่ายโดย Erik Landsberg, ภาพจาก https://bit.ly/37l7185

คริส เบอร์เดน มักจะจัดแสดงผลงานชุดนี้ร่วมกับผลงานประติมากรรมจัดวางอีกชิ้นอย่าง America’s Darker Moments (1994) ที่เขาทำขึ้นในช่วงที่เป็นศิลปินพำนักที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ FWM ประติมากรรมรูปตู้โชว์ทรงห้าเหลี่ยมที่บรรจุแบบจำลองทำจากดีบุกขนาดจิ๋วดูคล้ายของเล่นเด็กชุดนี้ บอกเล่าเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกาอันเกิดขึ้นจากความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

ทั้งเหตุการณ์การลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี้

การสังหารหมู่นักศึกษาที่ประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามในมหาวิทยาลัยรัฐเคนต์ โดยกองกำลังพิทักษ์ชาติ (Kent State Shootings)

การสังหารหมู่พลเรือนผู้ไม่มีอาวุธที่หมู่บ้านหมีลายในสงครามเวียดนาม (My Lai Massacre)

การทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา

คดีฆาตกรรมเอ็มเมตต์ ทิล (Emmett Till) เด็กชายผิวดำวัย 14 ปี โดยคนผิวขาว ที่จุดประกายให้มีการเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนรวมถึงสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา

ผลงานเหล่านี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญในอาชีพศิลปินของเบอร์เดน ในช่วงที่เขาทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองอย่างเข้มข้นจริงจัง

และใช้ผลงานศิลปะของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

L.A.P.D. Uniforms (1993) ? Chris Burden / licensed by The Chris Burden Estate and Artists Rights Society (ARS), New York ภาพจาก https://bit.ly/2ZkQa0O

หันกลับมามองในบ้านเรา

ศิลปินไทยหลายคนเองก็ใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือในการตีแผ่ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐต่อประชาชนอยู่หลายต่อหลายคน

ถ้ามีโอกาสเราจะกล่าวถึงพวกเขาในตอนต่อๆ ไป

 

ข้อมูล https://bit.ly/37l7185, https://bit.ly/2OHfhJc, https://bit.ly/2OCQyFH, https://bit.ly/3aoM5Pn