ราชินีแห่งบอดี้อาร์ตของยุโรป ผู้ท้าทายร่างกายด้วยความเจ็บปวด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Action Escalade non-anesth?tsi?? (Action non anaestheticized Climb) (1971) ปฏิบัติการแสดงสดปีนบันไดที่เต็มไปด้วยเศษโลหะมีคมด้วยเท้าเปล่า, ภาพจาก https://bit.ly/3apaqoV

ราชินีแห่งบอดี้อาร์ตของยุโรป
ผู้ท้าทายร่างกายด้วยความเจ็บปวด

ในตอนที่ผ่านๆ มา เราเคยกล่าวถึงศิลปินผู้ทำงานศิลปะด้วยการใช้ร่างกายตัวเองท้าทายขีดจำกัดอย่างสุดขั้วมาแล้วหลายคน

ในตอนนี้เราจะขอกล่าวถึงศิลปินอีกคนที่ใช้ร่างกายตัวเองท้าทายความขีดจำกัดอย่างสุดขีดคลั่งไม่แพ้กัน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า จีนา เพน (Gina Pane)

ศิลปินแสดงสดและบอดี้อาร์ตชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอิตาเลียน ผู้ใช้ร่างกายของตัวเองเป็นเสมือนผืนผ้าใบในการแสดงออกถึงประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์, เพศสภาพ, การเมือง, การต่อต้านสงคราม, แนวคิดสตรีนิยม, สิ่งแวดล้อม, ไปจนถึงประเด็นทางจิตวิญญาณ

ผลงานของเธอส่งอิทธิพลอย่างมากต่อการถือกำเนิดของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะบอดี้อาร์ตของฝรั่งเศสที่เรียกว่า Art Corporel ที่ศิลปินใช้เลือดเนื้อร่างกายของตัวเองเป็นสื่อในการแสดงออกทางศิลปะ เพื่อท้าทายขอบเขตความอดทนของมนุษย์

เธอถูกขนานนามว่าเป็น “ราชินีแห่งบอดี้อาร์ตของยุโรป” (Queen of European Body Art)
ในขณะที่บางคนก็มองว่าเธอเป็นแค่คนบ้าเท่านั้น

จีนา เพน ใช้มือเท้าเปลือยดับกองไฟ, ปีนบันไดที่เต็มไปด้วยเศษโลหะแหลมคมด้วยเท้าเปล่า, เด็ดหนามกุหลาบทิ่มลงบนเนื้อหนัง, เคี้ยวเนื้อดิบในปาก, เฉือนริมฝีปากและเชือดฝ่ามือด้วยใบมีดโกน

เธอกระทำกิจกรรมอันรุนแรงเลือดสาดกับตัวเองเช่นนี้อย่างต่อเนื่องยาวนานในผลงานศิลปะแสดงสดของเธอมาตลอดยุค 1970 และ 1980

เกิดในปี 1939 ที่ฝรั่งเศส และใช้ชีวิตวัยเด็กที่อิตาลี ก่อนที่จะหวนกลับมาฝรั่งเศส และเข้าศึกษาในสถาบัน École des Beaux-Arts ในปารีส ในช่วงปี 1960-1965

จีนา เพน เริ่มทำผลงานศิลปะแสดงสดด้วยการใช้ความรุนแรงกับตัวเองหลังเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ.1968

เธอกล่าวว่า เธอได้แรงบันดาลใจจากบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเหล่าบรรดานักเรียน-นักศึกษาและผู้ใช้แรงงานของฝรั่งเศสในช่วงนั้น

ในช่วงยุค 1970 เพนเปลี่ยนร่างกายของตัวเองให้เป็นเครื่องมือแห่งการทรมาน, หลั่งเลือด, ถูกเผา ฯลฯ เพื่อช็อกและสร้างความสะเทือนอารมณ์ให้แก่ผู้ชม

แต่ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงเหล่านี้ก็ถูกนำเสนอออกมาอย่างเรียบง่าย ธรรมดาสามัญ ไม่ได้ขับเน้นให้เว่อร์วังอลังการหรือยิ่งใหญ่จนเป็นวีรกรรมแต่อย่างใด

เธอมักจะสวมเครื่องแบบธรรมดา บางครั้งก็สวมแว่นตากันแดด วางท่าทางเหมือนผู้หญิงธรรมดาทั่วไป และทำกิจกรรมอันรุนแรงกับตัวเองในนามของศิลปะ

ในขณะเดียวกันเธอก็ทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วยความพิถีพิถันและตั้งใจอย่างยิ่ง

เธอเรียกขานการแสดงสดของเธอว่า “azioni” หรือ “actions” (ปฏิบัติการ)

และบันทึกปฏิบัติการทางศิลปะของเธอเหล่านี้เก็บเอาไว้ในรูปของภาพถ่ายหรือวิดีโอ

“ฉันทำร้ายตัวเอง แต่ฉันไม่เคยทำลายตัวเอง สำหรับฉัน แผลเป็นก็เหมือนกับหลักฐานระบุตัวตนและการสำรวจตัวเองอย่างหนึ่ง”

จีนา เพน มีความสนใจในภาษาภาพของพิธีกรรมทางศาสนา เธอมักจะหยิบยืมแรงบันดาลใจจากพิธีกรรมทางคริสต์ศาสนามาใช้ในปฏิบัติการแสดงสดเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและจิตวิญญาณในรูปแบบร่วมสมัย

ในแง่หนึ่ง ความเจ็บปวดที่เธอได้รับนั้นไม่ต่างอะไรจากประสบการณ์ของมรณสักขี หรือนักบุญผู้ยอมพลีชีพเพื่อศาสนาหรือความเชื่อของตนเอง เป็นการเดินทางผ่านความทุกข์ทรมานเพื่อรับใช้หรือตอบสนองบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า

ถึงแม้จะเปี่ยมด้วยความรุนแรงเลือดสาด แต่ปฏิบัติการแสดงสดของเธอก็เปี่ยมด้วยอารมณ์ความรู้สึกอย่างลึกซึ้งไปจนถึงโรแมนติก

ด้วยความที่เธอเป็นหญิงรักเพศเดียวกันในยุค 1973 ช่วงเวลาที่เกย์หรือเลสเบี้ยนถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดและวิปริตเบี่ยงเบน

ดังเช่นในผลงานศิลปะแสดงสด Azione Sentimentale (Sentimental Action) (1973) ที่จัดแสดงให้เฉพาะแค่ผู้ชมเพศหญิงดูเท่านั้น โดยเธอแต่งกายในชุดสีขาวล้วน ถือช่อดอกกุหลาบ และใช้หนามที่เด็ดมาจากก้านกุหลาบแทงลงไปในแขนของตัวเอง

Azione Sentimentale (Sentimental Action) (1973), ภาพจาก https://bit.ly/3nqUeH7

รวมถึงใช้ใบมีดโกนกรีดฝ่ามือของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการอ่านจดหมายรักจากผู้หญิงถึงผู้หญิงโดยผู้หญิงสองคน (คนหนึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส อีกคนเป็นภาษาอิตาเลียน) บรรยายถึงความสัมพันธ์ของเพศหญิงในรูปแบบต่างๆ

ปฏิบัติการแสดงสดทำร้ายร่างกายตัวเองที่ดูคล้ายพิธีกรรม ตลอดจนการจำกัดให้มีแต่ผู้ชมเพศหญิงที่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมการแสดงเท่านั้น ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้ชม และตอกย้ำถึงอคติเกี่ยวกับเพศหญิง อย่างความอ่อนแอ เปราะบาง ความเป็นเบี้ยล่าง และการลดคุณค่าของตัวเอง

Azione Sentimentale (Sentimental Action) (1973), ภาพจาก https://bit.ly/3oXPOb3

ประสบการณ์ที่แบ่งปันระหว่างผู้หญิงถึงผู้หญิงของเธอแสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างเพศหญิงทั้งจากคนรักสู่คนรัก จากแม่สู่ลูก

การใช้ดอกไม้และการทำร้ายร่างกายตัวเองด้วยหนามกุหลาบ เป็นเหมือนการรับรู้ถึงความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาน, การแบ่งปันประสบการณ์ และการพิจารณาใคร่ครวญถึงความรู้สึกที่คนรักเพศเดียวกันจะรับรู้และสัมผัสได้

ในทางกลับกัน จีนา เพน มองว่าการสร้างความเจ็บปวดให้แก่ตัวเองในการทำงานศิลปะแสดงสดนั้นไม่ได้เป็นการแสดงออกถึงความรุนแรงเพื่อช็อกผู้ชมไปเปล่าๆ ปลี้ๆ โดยไม่มีความหมาย

หากแต่เธอต้องการแสดงปฏิกิริยาต่อต้านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ ที่โปรโมตสงครามเวียดนามของรัฐบาลอเมริกัน ว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และมีเกียรติ เธอต้องการช็อกผู้ชมเพื่อให้พวกเขารู้สึกรู้สากับการที่ผู้คนต้องบาดเจ็บล้มตายในสงครามอันไร้สาระ ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความหวาดกลัว, สยดสยอง หรือความเห็นอกเห็นใจก็ตามที

ดังเช่นในผลงาน Nourriture/Actualités télévisé es/Feu (Food/TV News/Fire) (1971) จีนา เพน เชื้อเชิญให้ผู้ชมเฝ้าดูเธอยัดเนื้อวัวดิบๆ จำนวน 6 ขีด เข้าปากเคี้ยวแล้วคายทิ้งออกมา ก่อนที่จะดูข่าวทางโทรทัศน์ผ่านแสงจ้าของหลอดไฟที่ห้อยลงมาขวางข้างหน้า ในช่วงไคลแมกซ์ของการแสดง เธอทำการดับกองไฟด้วยมือเท้าเปล่าเปลือย!

เธอกล่าวว่า ในระหว่างการแสดงที่ว่านี้ ผู้ชมต่างดูอย่างเงียบกริบ ไม่มีใครส่งเสียงอะไรออกมาเลย

หลังจากการแสดงจบ พวกเขากล่าวว่า มันช่างน่าประหลาดใจและน่าอับอายจนหน้าชา ที่พวกเขาไม่เคยรู้สึกรู้สาเลยว่ามีคนตายในสงครามเวียดนาม และเศรษฐกิจตกต่ำจนมีคนตกงานอยู่ทุกหนแห่ง

Nourriture/Actualit?s t?l?vis?es/Feu (Food/TV News/Fire) (1971), ภาพจาก https://bit.ly/3mkSTAs

องค์ประกอบอันสำคัญที่สุดในผลงานของจีนา เพน ไม่ใช่แค่ตัวศิลปินหรือการแสดงแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงผู้ชมที่เข้ามาร่วมเป็นประจักษ์พยานและรับรู้ประสบการณ์แห่งความเจ็บปวดไปพร้อมๆ กับเธอด้วย

ดังเช่นในผลงาน Lettre à un(e) inconnu(e) (Letter to a stranger : จดหมายถึงคนแปลกหน้า) การแสดงสดที่เธอบอกเล่ากับผู้ชมถึงเหตุผลที่เธอต้องทำให้ตัวเองเจ็บปวดทุกข์ทรมานว่า

“ฉัน (กรีด) เปิดร่างกายของฉันออกเพื่อที่คุณจะได้เห็นเลือดของคุณเองในนั้น ฉันทำสิ่งเหล่านี้ด้วยความรักที่มีต่อคุณ และคนอื่นๆ ป.ล. นั่นคือเหตุผลว่า การที่คุณปรากฏตัว (มาชมงาน) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งกับปฏิบัติการ (แสดงสด) ของฉัน”

ถึงแม้จีนา เพน จะไม่เป็นที่รู้จักเท่าไรนักในหมู่ผู้ชมงานศิลปะร่วมสมัยรุ่นหลังๆ ด้วยความที่เธอทำงานแสดงสดแบบส่วนตัวในวงแคบๆ และกลุ่มผู้ชมแบบจำกัด

แต่เมื่อสถาบันศิลปะต่างๆ เริ่มมีการจัดแสดงฐานข้อมูล, จดหมายเหตุ และเอกสารเกี่ยวกับงานศิลปะคอนเซ็ปช่วลต่างๆ ในรูปแบบของนิทรรศการศิลปะ ผลงานแสดงสด หรือ “ปฏิบัติการ” ของเธอที่ถูกบันทึกไว้ในรูปของภาพถ่าย, วิดีโอ และเอกสารต่างๆ ก็ถูกเผยแพร่ให้ผู้ชมในวงกว้างจนเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ผลงานและแนวคิดของเธอส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินแสดงสดผู้ใช้ร่างกายตัวเองทำงานศิลปะมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปินเจ้าของฉายา “แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด” อย่างมารีนา อบราโมวิช ที่หยิบเอาปฏิบัติการแสดงสด The Conditioning (1973) ที่จีนา เพน นอนอยู่บนเปลวไฟจากเทียนไขนับสิบเล่มใต้เตียงที่มีแต่โครงมาทำขึ้นใหม่เพื่อเป็นการแสดงการคารวะแก่เธอ

The Conditioning (1973) ภาพจาก https://bit.ly/3mn17rT

จีนา เพน เสียชีวิตในปี 1990 ด้วยวัยเพียง 50 ปี เหลือไว้แต่เพียงผลงานและแรงบันดาลใจต่อศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง

ข้อมูล หนังสือ Forgotten Women : The Artists โดย Zing Tsjeng, เว็บไซต์ https://bit.ly/2WjE5aK, https://bit.ly/3gY1vvU, https://bit.ly/2IUOYMX