อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ในความหยุดนิ่งมีความเคลื่อนไหว ผลงานของนักออกแบบเก้าอี้ไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
ขอบคุณภาพจาก Artist +RUN

STILLNESS ในความหยุดนิ่งมีความเคลื่อนไหว งานแสดงศิลปะของนักออกแบบเก้าอี้ไทย ผู้มีชื่อเสียงไกลระดับสากล

ในหลายตอนที่ผ่านมา เราเคยแนะนำนิทรรศการศิลปะของนักทำเก้าอี้ระดับโลกชาวต่างชาติไปแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้มีนิทรรศการศิลปะของนักออกแบบเก้าอี้ชาวไทยผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักในระดับสากลถูกจัดแสดงขึ้นมา

เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่กันฟัง

นักออกแบบผู้นั้นมีชื่อว่า

อุดม อุดมศรีอนันต์

เขาเป็นนักออกแบบผู้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการดีไซน์

เขาศึกษาที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในช่วงเรียนเขาเป็นนักกิจกรรมตัวยง และทำงานรับจ้างสารพัดไปด้วย

ประสบการณ์การทำงานอย่างโชกโชนตั้งแต่วัยเรียนนี่เอง ที่ทำให้ในเวลาต่อมา อุดมตัดสินใจเปิดบริษัทออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของตัวเองที่มีชื่อว่า “Planet 2001” ขึ้นมา

แต่เฟอร์นิเจอร์ของเขาก็ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ที่เราๆ ท่านๆ พบเห็นหรือใช้งานกันดื่นดาษธรรมดา

ถ้าจะให้นิยามผลงานของ อุดม อุดมศรีอนันต์ ว่าคืออะไร ก็คงต้องบอกว่ามันเป็นประติมากรรมที่นั่งได้ หรืองานศิลปะที่มีฟังก์ชั่น

ผลงานของเขาเป็นการสอดใส่ฟังก์ชั่นลงในวัตถุที่มีความงดงามราวกับประติมากรรม เพื่อให้คนนั่งได้สัมผัสกับความพึงใจจากงานศิลปะมากไปกว่าแค่การมอง

ผลงานของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว

แต่สิ่งที่ให้แรงบันดาลใจเขามากที่สุดก็คือ “ธรรมชาติ”

ไม่ว่าจะเป็นกิ่งก้านของต้นไม้ในป่าโกงกาง รังแมลง หรือแม้กระทั่งรูปทรงจากกระดองเต่า

แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจเริ่มแรกให้เขากลับเป็นอะไรที่เรียบง่ายและธรรมดาสามัญที่สุดอย่าง “ก้อนหิน” นั่นเอง

ขอบคุณภาพ artist + run

แรงบันดาลใจของงานเฟอร์นิเจอร์ตัวแรกที่เขาออกแบบขึ้นมาในปี 2000 คือก้อนหินที่เขาพบที่ริมแม่น้ำ

“ผลิตภัณฑ์ที่เราทำ เราเรียกมันว่าที่นั่ง เราใช้วิธีคิดว่าเรานั่งที่ไหนแล้วมีความสุข เก้าอี้ของเรามันเลยกลายเป็นเรื่อง “ก้อนหิน” ที่เราเคยนั่ง ง่ายๆ อย่างงั้นแหละ มันเป็นสิ่งที่ได้มาจากประสบการณ์ที่เรามีความสุขในช่วงเวลาหนึ่ง คือเมื่อไหร่เรารู้สึกหดหู่ หรือไม่มีสมาธิ เรามักจะหาเวลาออกนอกเมือง ไปนั่งบนก้อนหินริมน้ำตก นั่นเป็นสถานที่ที่เราโปรดปรานที่สุด

คือสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติมันไม่ได้เกิดมาตอบสนองการใช้งานของมนุษย์เท่าไหร่หรอก แต่มนุษย์ก็พยายามที่จะเอามันพลิกไปพลิกมา ตัดมัน แต่งมัน เฉือนมัน จนมันใช้ได้ จนมันนั่งได้ เราใช้วิธีคิดย้อนกลับไปให้มันดิบ มองแบบพื้นๆ เหมือนเราไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย เหมือนเรากลับไปสู่ธรรมชาติแล้วเราไม่มีอะไรเลย แล้วเราจะนั่งตรงไหนดี เราจะนอนตรงไหน เราจะปรับเปลี่ยนอิริยาบถของเรายังไง

บางครั้งเราเอาหิน มาวางด้วยกัน และมองมันจากทุกมุม กลับหัวกลับหาง และนั่นเองเป็นที่มาของเก้าอี้ของเรา

มันก็เป็นเหมือนวิธีหนึ่งในการเอาธรรมชาติเข้ามาสู่เมือง เหมือนคนจัดสวน คนที่เขียนภาพเหมือนของต้นไม้ ป่า มาแขวนบนผนัง แต่ละคนก็มีแต่ละวิธีที่จะเอามาทดแทนในสิ่งที่เขาขาด

มันเหมือนเราอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมมากๆ แล้วเราถามตัวเองว่าทำไมเราต้องอยู่แบบนี้ ความรู้สึกเรามันเรียกหาว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้เราอยู่ได้สบายกว่านี้”

ด้วยการผสมผสานของวัสดุที่แตกต่างกัน ความเรียบเนียน ความหยาบขรุขระ ความนุ่มและความแข็งของพื้นผิว ลักษณะเหล่านี้เองที่เขาหยิบมาทำเป็นเรื่องราวในการทำชิ้นงานและเฟอร์นิเจอร์

มันเป็นการนำพาเรื่องของธรรมชาติและสไตล์เหล่านี้มาเป็นแนวคิดในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของเขา

ไม่เพียงแค่รูปทรงเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงจิตวิญญาณวัตถุดิบจากธรรมชาติ

ด้วยการใช้วัสดุอย่าง หวาย ปอ และเถาวัลย์ ผลงานของเขาไม่ได้เพียงปฏิวัติแนวคิดและสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เท่านั้น หากแต่มันยังปฏิวัติฟังก์ชั่นการใช้งานของเก้าอี้อีกด้วย

เพราะในบางครั้ง เก้าอี้ของเขาไม่ได้มีไว้ให้นั่งอย่างเดียว

แต่เราสามารถเข้าไปอยู่ข้างในมันได้ด้วย

“ทำไมเฟอร์นิเจอร์ต้องเป็นอะไรที่เราได้แต่นั่งบนมันเท่านั้น ทำไมเราไม่สามารถเข้าไปอยู่ข้างในมัน? ตอนคุณเป็นเด็ก คุณเองก็คงเคยเอากล่องมาทำเป็นห้องเล่นกัน ธรรมชาติมันก็มีแบบอย่างให้เราเห็น อย่างหอยอยู่ในเปลือก เต่าอยู่ในกระดอง หรือหินบางก้อนมันแตกแล้วข้างในเป็นโพรง สารพัด ซึ่งพอเราเห็นพวกนี้ปุ๊บ เราก็จะมีอิสระในการคิด ในการวางดีไซน์ให้มากขึ้น”

หลังจากเปิดตัวแบรนด์ Planet 2001 ผลงานออกแบบของเขาก็ได้รับความนิยมในระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย และกลายเป็นคอลเล็กชั่นสะสมของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ/ดีไซน์และหอศิลป์ชั้นนำหลายแห่งทั่วโลก

แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แบรนด์ Planet 2001 ได้หายหน้าหายตาไปจากแวดวงดีไซน์ ตัวอุดมเองก็หันเหจากงานออกแบบมาทำงานศิลปะอย่างเข้มข้นจริงจัง (ซึ่งอันที่จริงก่อนหน้านี้เขาก็ทำงานศิลปะควบคู่กับการทำงานออกแบบเรื่อยมาอยู่แล้ว)

และนั่นเป็นที่มาของนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาในวัย 60 ปี ที่มีชื่อว่า “STILLNESS” ที่คัดสรรผลงานศิลปะในรอบหลายปี ทั้งงานวาดเส้นด้วยดินสอและหมึกจีน งานจิตรกรรมสีน้ำมันและภาพพิมพ์หลากหลายชิ้นมาจัดแสดงด้วยกันนั่นเอง

“ตอนร่างแบบสำหรับงานออกแบบผมก็จะร่างภาพงานจิตรกรรมไปด้วย มันเป็นเรื่องเดียวกันมาตลอด คอนเซ็ปต์ ไอเดีย หรือรูปทรงในการทำงาน งานจิตรกรรมหรืองานออกแบบบางชิ้นมันก็มีความเชื่อมโยงกันอยู่ หรืออาจจะเป็นชิ้นเดียวกันด้วยซ้ำไป”

“บางครั้งทำงานออกแบบเสร็จแล้ว ก็ถอดออกมาเป็นจิตรกรรมอีกทีนึง เราก็คิดเรื่องรูปทรงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น มันก็จะไหลไปเรื่อยๆ เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา จังหวะมันไม่เอื้อให้ทำงานจิตรกรรม เราก็มุ่งทำงานออกแบบอะไรไป”

“ซึ่งจริงๆ ตอนทำงานออกแบบ เราก็ใช้วิธีคิดเหมือนกับตอนเขียนรูปนั่นแหละ มันก็เลยทำให้เราไม่ถนัดหรือไม่ชำนาญเรื่องการทำสินค้าหรือการค้าขาย ถามว่าทำเป็นไหม? เราเลือกที่จะไม่ทำมันมากกว่า”

แต่ในขณะเดียวกัน ผลงานที่อุดมทำก็มีเนื้อหาหรือแรงบันดาลใจอันเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ไม่ต่างจากแรงบันดาลใจในการทำเก้าอี้ของเขา นั่นก็คือ “ก้อนหิน” นั่นเอง

ขอบคุณภาพจาก เพจ artist + run

“มองให้ง่ายที่สุด มันก็คือก้อนหินนั่นแหละ แต่เรามองลงลึกไปถึงรายละเอียด เรามองถึงพื้นผิวของมัน เรามองถึงส่วนโค้งของมัน งานแต่ละชิ้น ภาพเขียนแต่ละภาพมันก็เป็นการถ่ายทอดรายละเอียดบางอย่างที่เราเลือกมอง แต่ทั้งหมดมันก็เป็นเรื่องเดิม คือ ก้อนหิน”

“แต่บางคนอาจจะมองเแล้วบอกว่ามันไม่ใช่ก้อนหิน มันเป็นไอ้นั่นไอ้นี่ ก็ไม่เป็นไร”

ผลงานศิลปะของอุดมทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้มีจุดสังเกตที่น่าสนใจตรงที่มันถูกวาดด้วยสีขาวดำ ซึ่งการใช้สีสันแต่เพียงน้อยเช่นนี้ เกิดจากความพยายามลดทอนรูปลักษณ์ต่างๆ แม้กระทั่งสี ให้เหลือเพียงแก่นสารของรูปทรงและสีสันอันเรียบง่ายเท่านั้น

“ที่ทำแค่สีขาวกับดำเพราะสีแต่ละสีมันมีหลากอารมณ์ สีนี้ก็อารมณ์นี้ สีนั้นก็อารมณ์นั้น ในเมื่อเราอยากให้คนอยู่ในภาวะหนึ่งเนี่ย ใช้แค่สีสองสีก็พอแล้ว ถ้าเอาสีอื่นเข้าไปมากๆ มันจะทำให้เกิดหลายภาวะ มันจะดึงความรู้สึกคนไปทางอื่น ก็เลยตัดปัญหา เอาสีขาวดำแค่นี้แหละ”

รูปทรงและสีสันอันเรียบง่ายในภาพเขียนของอุดม แฝงความรู้สึกที่สงบนิ่ง และชวนให้เกิดสมาธิยามที่เรามองดูมัน ดูๆ ไปก็คล้ายกับงานจิตรกรรมโบราณของจีน ที่ใช้วิธีการเขียนด้วยหมึกสีดำบนกระดาษ หรือภาพวาดแบบเซนอยู่ไม่น้อย

แต่หากมองดูผลงานของเขาอย่างพินิจพิเคราะห์ จะเห็นว่าในรูปทรงสีดำทะมึนบนพื้นผ้าใบสีขาวนั้น เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวของฝีแปรง

ประหนึ่งผิวน้ำต้องลมเกิดเป็นระลอกคลื่น ร่องรอยต่างๆ ซ่อนตัวอยู่ในรูปทรงและเป็นหนึ่งเดียวกัน

สร้างสนามพลังที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาในรูปทรงที่ดูเหมือนจะหยุดนิ่ง

“ความสงบมันคงมีส่วนอยู่เหมือนกัน เพราะเวลาคนเราจะสงบได้ มันก็ต้องระงับตัวเองให้ไม่เครียด พอไม่มีความเครียด เราก็เข้าสู่ความสงบ แต่ถามว่าพยายามจะเป็นเซนไหม? ไม่ใช่ หลายคนก็มาถามว่างานนิ่งแบบนี้ หรือแม้กระทั่งชื่องานนิทรรศการนี้ เป็นงานแบบเซนไหม? มันก็ไม่เชิง จริงๆ งานเรามันไม่นิ่งนะ เรามีความเชื่อส่วนตัวว่า เวลาที่เรานิ่งเนี่ย มันยังมีหลายๆ อย่างในตัวเราเคลื่อนไหวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก หรือแม้กระทั่งลมพัดผ่านเรา เราก็ยังรู้สึก เราไม่ได้นิ่งเหมือนพระ ที่เรานิ่งเพราะว่า บางทีเราอยากจะหยุดคิดอะไรบางอย่าง หรือหยุดฟังเสียงตัวเอง ในความนิ่งมันมีความเคลื่อนไหวอยู่ภายใน”

อุดมไม่ได้ถือว่าการทำงานศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรม หรือเป็นการเข้าถึงสภาวะธรรมใดๆ

แต่เขาเปรียบการทำงานศิลปะเสมือนการ “ออกเดิน”

บางครั้งที่เราออกเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดหมายปลายทาง เวลาที่เราใช้ไปกับการออกเดินนั้นมักจะเป็นเวลาของการทบทวนความคิดและทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองเสียมากกว่า

“เราอยากให้งานของเรามันเป็นอะไรที่ดูแล้วรู้สึกสบาย ง่ายๆ ไม่ใช่งานจิตรกรรมนามธรรมที่ดูแล้วเครียด สีก็ใช้ให้น้อยที่สุด ขาวกับดำ รูปทรงก็ง่ายที่สุด ให้แค่ดูแล้วรู้สึกว่าสบาย ก็โอเคแล้ว”

นอกจากงานจิตรกรรม งานวาดเส้น และงานภาพพิมพ์แล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังนำผลงานเก้าอี้อันลือลั่นของเขามาจัดแสดงในผู้ชมได้ลองสัมผัสและลองนั่งอีกด้วย

“ตอนนี้ก็คิดว่าจะทำงานศิลปะเป็นหลัก แต่จริงๆ ก็ทำมาเรื่อยๆ นะ ที่ผ่านมาทำเฟอร์นิเจอร์มันก็ใช้ความรู้สึกแบบเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง เราคิดว่าคนทำงานศิลปะหรืองานออกแบบ เขาก็มีอะไรบางอย่างอยากจะบอกเหมือนๆ กัน นั่นแหละ ตอนนี้เราก็ทำงานออกแบบบ้างเหมือนกัน เพราะมันก็สนุกนะ ไม่ใช่ไม่สนุก”

“มันเหมือนเรามีช่องทางในการนำเสนอความคิดเราได้อีกทางนึง เพียงแต่ช่วงนี้รู้สึกสบายใจที่ทำงานจิตรกรรมมากกว่า เพราะมันทำได้ด้วยตัวเราเอง มันไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอย่างอื่น ทำเฟอร์นิเจอร์มันมีองค์ประกอบอย่างอื่นเยอะ มันต้องพึ่งพาคนอื่น มันต้องทำงานกับทีมงาน ทำงานกับช่าง ส่วนการทำงานจิตรกรรมเนี่ย เพียงแต่เราคุมตัวเองให้อยู่ก็พอแล้ว”

“ต่อไปก็คงทำงานศิลปะไปเรื่อยๆ ตราบใดที่เรายังรู้สึกว่าอยากจะบอกอะไรอยู่ เราก็จะยังทำต่อไป แต่จะมีใครฟังหรือไม่ฟังก็ไม่เป็นไร”

ซึ่งอันที่จริงไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์หรือผลิตภัณฑ์ หรืองานศิลปะอย่างงานจิตรกรรม งานวาดเส้น หรือภาพพิมพ์ สิ่งที่อุดมสื่อสารผ่านผลงานของเขาตลอดมานั้นก็คือประสบการณ์แห่งความเป็นอิสระ และเสรีภาพที่ไม่มีข้อจำกัดในการตีความ ไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลหรือคำอธิบายมากไปกว่าการรับรู้ด้วยสายตาปกติธรรมดาของผู้ชมเอง

ผลงานของเขามอบประสบการณ์ที่เราอาจจะพบได้ทุกหนแห่ง ทุกห้วงเวลาที่เราหยุดนิ่ง และมีเวลามากพอเพื่อเฝ้าสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเราเอง เราจะได้พบกับความเคลื่อนไหวที่วิ่งพล่านอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าสายตาจะสะกดอยู่กับก้อนหินที่ตั้งนิ่งอยู่กับที่ก็ตาม

ผลงานศิลปะของอุดม ได้เชิญชวนให้เราหยุดนิ่งอยู่กับตัวเราเอง เพื่อเฝ้าสังเกตความคิดที่ไร้จุดหมายปลายทาง

ความรู้สึกอิสระเสรีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่สายตาของเราจ้องมอง หากแต่อยู่ลึกเข้าไปข้างในใจของเราเองต่างหาก

นิทรรศการ STILLNESS จัดแสดงที่ ARTIST+RUN GALLERY ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน – 30 พฤษภาคม 2017

มิตรรักแฟนศิลปะท่านใดสนใจไปชมก็เข้าไปสอบถามข้อมูลได้ที่ @artistrungallery2016 หรือเบอร์โทรศัพท์ 09-9454-5955

ขอบคุณภาพจาก ARTIST+RUN GALLERY