วัชระ แวววุฒินันท์ : กีฬาไทย

วัชระ แวววุฒินันท์

กว่าจะตีพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้ ก็คงทราบผลการแข่งขันของฟุตบอลทีมชาติไทยกับทีมชาติญี่ปุ่นในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกเมื่อวันอังคารไปแล้วเรียบร้อย

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร มีก้อนหินมากกว่าดอกไม้ หรือเป็นว่าดอกไม้บานสะพรั่ง แต่มีสิ่งที่นอกเหนือจากนั้นที่เราควรมองกันอย่างมีสติ

ก่อนอื่นต้องยอมรับกันว่า เรายังอยู่ห่างไกลจากคำว่า “ฟุตบอลโลก” หลายโยชน์ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราหยุดคิด หยุดท้าทาย หยุดพัฒนา แต่เราต้องยอมรับถึงการห่างชั้นที่เรากำลังจะทำให้ชั้นนั้นมันแคบลงมา แต่ยังไม่ใช่วันนี้

หากเรายังต่อกรกับทีมอย่างญี่ปุ่น เกาหลี ซาอุฯ อิรัก อิหร่าน หรือออสเตรเลีย ยังไม่ได้ นั่นก็เท่ากับเรายังไม่สามารถไปฟุตบอลโลกได้ครับ เพราะทีมที่ว่าเหล่านั้นเขาได้ไปมาแล้ว และก็ไม่ได้เข้ารอบลึกแต่อย่างใดเมื่อต้องเผชิญกับยอดทีมของโลก ทั้ง เยอรมนี สเปน บราซิล ฝรั่งเศส อิตาลี และอีกมากมาย

จะว่าไปแล้วการที่เราได้เข้ามาถึงรอบสองของรอบคัดเลือกนี้ได้ก็นับว่าเป็นก้าวย่างที่สำคัญแล้ว อย่าลืมว่าในจำนวน 12 ทีมที่เข้ารอบมา เราเป็นทีมที่ชื่อชั้นและอันดับอยู่บ๊วยสุด

ดังนั้น มันจึงไม่ใช่งานง่ายๆ หรือฟลุกๆ เลยกับการที่จะแข่งขันในรอบนี้ได้อย่างสูสี

เห็นได้จาก 4 นัดแรกกับซาอุฯ ที่เราไปเยือนเขา กับญี่ปุ่นที่บ้านเรา กับยูเออีและกับอิรัก ที่เราพ่ายแพ้มาทุกเกม

แม้เราจะเหมือนมีความหวังขึ้นมาบ้างจากการเสมอ 2-2 กับทีมออสเตรเลียในบ้านของเราเมื่อปลายปีที่แล้วก็ตาม แต่นั่นก็เป็น 1 ใน 10 นัดที่เราจะต้องแข่งขัน

ทีมชาติไทยจึงมีหน้าที่คือ ทำให้ดีที่สุด ถึงจะแพ้ก็แพ้อย่างสมควร และเรียนรู้จากทุกเกมเพื่อนำมาต่อยอดพัฒนา เพื่อที่เราจะลดช่องว่างของเรากับทีมคู่แข่งลงให้คู่คี่สูสีมากขึ้นในอนาคต

 

ขอย้ำว่า ไม่ใช่เราจะไม่สามารถไปฟุตบอลโลกได้ เพียงแต่ไม่ใช่วันนี้เท่านั้น

แล้วทำยังไงเราถึงจะไปได้ เห็นทีว่าเราต้องการการพัฒนาทั้งระบบโดยเฉพาะการสร้างบุคลากรตั้งแต่ระดับเยาวชน

บุคลากรที่ว่านี้ต้องไม่ใช่เฉพาะนักกีฬานะครับ หมายรวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องคนอื่นๆ ด้วย ทั้งนักโภชนาการ นักกายภาพบำบัด หมอนวดที่เก่งๆ แม่ครัวที่รู้ว่าจะปรุงอาหารยังไงให้นักกีฬาแข็งแรง นักจิตวิทยา นักบริหารจัดการการกีฬา นักสื่อสารมวลชนสายกีฬา เป็นต้น

ของอย่างนี้ถ้าเราสอนเด็ก ปั้นเด็ก ให้มีความรู้ มีความรักในสิ่งที่เป็นจิ๊กซอว์ให้ครบ เราก็จะได้ความพร้อมในการผลิต “ทีมชาติไทย” ที่แข็งแรงทั้งระบบ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง

เคยมีคนในแวดวงภาพยนตร์ให้ความเห็นว่า ทำไมเราไม่สอนการทำหนังให้กับคนไทยตั้งแต่เด็กๆ กันเลย เราก็จะมีบุคลากรในการทำหนังเพิ่มขึ้นมากมาย ทั้งคนเขียนบท คนกำกับ คนทำแสง คนทำเสียง คนตัดต่อ รวมทั้ง “คนดู” ที่สามารถดูหนังเป็น ดูได้หลากหลาย และเป็นทางรอดที่ดีของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างมีพื้นฐานที่แข็งแรงได้

ผมว่าปัญหาสำคัญของประเทศไทยคือ เราชอบอยากเห็นความสำเร็จ โดยไม่ชอบสร้างพื้นฐานที่ดีด้วยความอดทน

เราใจร้อน อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่มองแบบเชื่อมโยง

เราอยากให้ลูกเรียนเก่ง เป็นเด็กดี เราได้ทำอะไรในส่วนอื่นๆ เพื่อเป็นพื้นฐานให้เขาเป็นอย่างนั้นได้บ้าง

เราอยากได้นักการเมืองดีๆ เราช่วยกันสร้างระบบการเมืองที่ดีมาตั้งแต่เด็กๆ รึยัง เช่น ทำไงให้คนต้องมีคุณธรรม ทำไงให้เด็กรู้จักประเทศอื่นๆ ให้มากๆ ในทุกมิติ ทำไงให้เด็กไทยรู้จักประเทศไทยที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่กรุงเทพมหานคร

 

ย้อนกลับมาเรื่องกีฬาไทย ความจริงก็ไม่เลวที่เราได้มีการวางระบบการสร้างนักกีฬามาตั้งแต่ระดับเยาวชน มีการสอนการแข่งขันในทุกๆ ระดับ แต่องค์ประกอบอื่นๆ เราได้รองรับไปพร้อมๆ กันหรือยัง ทั้งเรื่องการศึกษา เรื่องสุขภาพ เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องความมั่นคง และเรื่องอาชีพที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

ปัจจุบันกีฬาเป็นคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจอย่างมาก และสามารถทำรายได้ให้กับทั้งระบบได้อย่างมหาศาล เป็นธุรกิจที่กำลังเนื้อหอม หากเรารู้จักการบริหารจัดการ “กีฬาไทย” ให้มีทิศทางและทันโลก เราจะสามารถทำให้ “กีฬาไทย” เป็นตัวสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ไม่น้อยเลย

อาจจะไม่ได้มีเฉพาะบุรีรัมย์ ที่สร้างเศรษฐกิจของจังหวัดจากกีฬาเท่านั้น

อาจจะไม่ได้มีนักกีฬาอาชีพที่ทำรายได้งามเฉพาะ โปรเม-เอรียา หรือ ธงชัย ใจดี เท่านั้น

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราได้รับข่าวดีในแวดวงกีฬาของประเทศไทยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะเหนือความคาดหมายของ “ศรีสะเกษ” แชมป์มวยโลก WBC คนใหม่ของไทย, การคว้าแชมป์แบดมินตันคู่ผสมของ “บาสและปอป้อ”, การคว้าแชมป์ของทีมฟุตบอลเยาวชนไทยรุ่น 16 ปีและ 19 ปีในศึก Jockey Club International, การทำผลงานได้ดีของฟุตบอลทีมชาติไทยรุ่น 23 ปี

กีฬาเยาวชนแห่งชาติที่มีเจ้าภาพร่วมคือ “ชุมพร-ระนอง เกมส์” ที่เพิ่งจบไป เราก็เห็นศักยภาพทางด้านกีฬาของเยาวชนหลายคน ที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นรุ่นใหญ่และทีมชาติต่อไปได้

รวมทั้งได้เห็นศักยภาพของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันของจังหวัดขนาดเล็กๆ

ที่สำคัญคือ กีฬาสามารถสร้างความสุขให้กับคนไทยในชาติได้ รวมทั้งสร้างความสามัคคี และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้

ในขณะที่หลายวงการได้สร้างความสับสนวุ่นวายให้กับสังคมไทยเสียนัก

เราหันมาพัฒนาการกีฬาของเราอย่างจริงจังกันเถอะ อาจจะเป็นทางรอดของสังคมไทย และเป็นทางออกของเศรษฐกิจชาติก็เป็นได้