คนมองหนัง : “หมู่บ้านอีสาน” ที่เปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ “ท้องถิ่น-รัฐ” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

“ไทบ้าน เดอะซีรีส์” คือหนังเล็กๆ จากภาคอีสาน (จังหวัดศรีสะเกษ) ผลงานของผู้กำกับภาพยนตร์หนุ่ม “สุรศักดิ์ ป้องศร”

ที่เริ่มโด่งดังในโรงหนังระดับภูมิภาค ก่อนกระแสความฮิตจะลามเข้ามายังโรงภาพยนตร์รอบนอกๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีกลุ่มคนดูหลักเป็น “ชาวอีสานพลัดถิ่น”

ผู้สนใจที่มาของหนังบ้านๆ ซื่อใส สนุก และเปี่ยมอารมณ์ขันเรื่องนี้ สามารถอ่านข้อมูลได้จากบทความของ “หนุ่มเมืองจันท์” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 3-9 มีนาคม 2560

สำหรับบทความชิ้นนี้ ผมตั้งใจจะเขียนถึงองค์ประกอบน่าสนใจบางอย่าง ซึ่งปรากฏอยู่ในเนื้อหาของภาพยนตร์

องค์ประกอบแรกที่น่าสนใจมากๆ ได้แก่ “หมู่บ้านอีสาน” ในหนัง ซึ่งถูกนำเสนอด้วยลักษณะที่ “แปลกดี”

กล่าวคือ หมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้ปะทะสังสรรค์กับโลกภายนอกอย่างชัดเจนเสียทีเดียวในแง่กระบวนการ

(ไม่มีตัวละครชาวกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตแตกต่างจากชาวบ้านอย่างสิ้นเชิง ดุ่มเดินเข้ามาสร้างความแปลกแยกในหมู่บ้าน หรือไม่ได้มีแรงผลัก/อิทธิพลแรงๆ จากภายนอก ที่ระเบิดตูมขึ้นมา จนส่งผลให้ความสัมพันธ์/การดำเนินชีวิตของผู้คนในหมู่บ้านพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ)

ตรงกันข้าม แม้หนังจะมี “ตัวละครที่คล้ายจะแปลกแยก” หรือ “ตัวละครที่เหมือนจะมาจากโลกภายนอก” โผล่ขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งนี้ แต่พวกเขากลับมีสถานะเป็นสมาชิกชุมชน ซึ่งสามารถใช้ชีวิตกลมกลืนกับชาวบ้านรายอื่นๆ

เช่น ลูกชายผู้ใหญ่บ้านที่กลับมาจากเมืองหลวง หรือฝรั่งประจำชุมชน ซึ่งพอหนังเริ่มเรื่องขึ้นมา หมอนี่ก็เป็นชาวต่างชาติที่ใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนในหมู่บ้านไปเรียบร้อยแล้ว จนเราไม่รู้ว่าเขาเข้ามาในหมู่บ้านได้อย่างไร? ต้องอาศัยเวลาปรับตัวนานแค่ไหน?

“หมู่บ้านอีสาน” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” จึงมีความเป็น “สังคมชนบท” ที่เหมือนจะดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง

ที่สำคัญ เรายังได้เห็นความสัมพันธ์แบบ “บ้าน-วัด-โรงเรียน” (แถมด้วยสถานีอนามัย) ภายในหนังเรื่องนี้

หากมองเผินๆ “หมู่บ้าน” ในหนัง จึงคล้ายจะเป็น “ชุมชนอุดมคติในจินตนาการ” เชยๆ ไม่ต่างจากพวกหมู่บ้านในหนังสือเรียนภาษาไทย “มานี มานะ ปิติ ชูใจ”

ภาพจากทวิตเตอร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ @thethibaan

อย่างไรก็ตาม “หมู่บ้าน” ใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” กลับมีพลวัตในตัวเองมากพอสมควร ซึ่งเกิดจากการได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมภายนอก (สังคมเมือง, โลกาภิวัตน์ ฯลฯ) นั่นแหละ เพียงแต่อย่างที่บอกไปแล้วว่าหนังไม่ได้พยายามฉายภาพกระบวนการ “เชื่อมต่อ” ระหว่างหมู่บ้านกับโลกภายนอกให้คนดูได้เห็นอย่างชัดๆ ละเอียดลออ

(นอกจากการแสดงให้เห็นว่า “ความเป็นเมือง” นั้นเริ่มเขยิบเข้ามาใกล้หมู่บ้านมากกว่าเดิม – “เมือง” ที่ไม่ใช่ “กรุงเทพกรุงไทย” แต่เป็น “เมือง” ในภาคอีสาน)

ดังนั้น จู่ๆ “หมู่บ้าน” ที่เหมือนจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง จึงมีการปรากฏขึ้นของ (เขย) ฝรั่ง, มีคนจำนวนไม่น้อยใช้สมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสื่อสาร-กล้องถ่ายรูป-เกมกด, ที่นี่เข้าถึงเครื่องคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ต, ชาวบ้านต่างรู้จักโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กและไลน์ ขณะที่ระบบเสียงตามสายก็ยังทรงอิทธิพลอยู่

คน (มีเงิน) ใน “หมู่บ้าน” สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต, สามารถโทรศัพท์สั่งพิซซ่าให้มาส่งถึงคันนา

และมีคนเปลี่ยนนาเป็นสนามไดรฟ์กอล์ฟ มีคนพยายามค้นหาวิธีการทำนาแบบใหม่ๆ รวมทั้งมีคนใฝ่ฝันอยากจะเปิด “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ขึ้นในหมู่บ้าน

ท่ามกลางปรากฏการณ์ของ “ความเปลี่ยนแปลง” นานัปการ ที่เราไม่ค่อยเห็น “แรงผลัก” จากโลกภายนอกอย่างเด่นชัดนัก

หนังเรื่องนี้อาจกำลังสื่อสารว่า ต่อให้ไม่มีแรงผลักดันใดๆ จากข้างนอกเลย สุดท้าย ภายในสังคมหมู่บ้านก็ต้องพยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง ไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงของประเทศและโลกอยู่ดี

ตัวละคร “ไทบ้าน” ผู้มีความเชื่อมโยงกับ “สังคมเมือง/โลกภายนอก” ชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็น “ป่อง” ลูกชายผู้ใหญ่บ้าน

ป่องถือเป็นลูกหลานในหมู่บ้านเพียงรายเดียว ที่เคยมีประสบการณ์ไปใช้ชีวิตเรียนหนังสือในเมืองกรุง ก่อนจะกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด พร้อมกับการ “อิมพอร์ต” ความรู้หรือวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตแบบใหม่ๆ เข้ามายังชุมชน

แรกๆ ป่องคล้ายจะเป็นพวก “อีลิต” ประจำหมู่บ้าน ที่พยายามทำตัวเลียนแบบคนเมือง แต่กลวงเปล่า หากินไม่เป็น จมไม่ลง และ (คง) ล้มเหลวในท้ายที่สุด

แต่อยู่ๆ ไป ชะตาชีวิตของป่องกลับไม่ได้ล่มจมอย่างนั้น

ป่องอาจจะมีโมเมนต์ตีกอล์ฟกลางท้องนาอย่างไร้แก่นสาร หรือขี่ “รถยืนไฟฟ้า” ราคาเรือนแสนไปมาในหมู่บ้านอย่างเกือบๆ จะไร้จุดหมาย

ทว่า ท้ายสุด เขาก็ประสบความสำเร็จกับการทำนาโยน

ที่ตลกร้าย คือ ป่องไม่ได้ทำนาโยนด้วยมู้ดแอนด์โทนแบบโฆษณาชวนเชื่อ แต่เขาต้องเลือกเดินทางนี้ เพราะไม่สามารถ “เอาดี” กับการทำนาดำและนาหว่านได้

“นาโยน” สำหรับป่อง จึงเป็นเหมือนสิ่งช่วยเติมเต็มให้แก่ความปรารถนาที่ยังพร่องแหว่งและความสามารถในการทำนาแบบเดิมๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ยไม่เพียงพอของตนเอง

ที่ร้ายกาจกว่านั้น คือ ป่องเฉลิมฉลองความสำเร็จด้วยงานเลี้ยงโต๊ะจีนพร้อมการแสดงจากวงดนตรีลูกทุ่งสุดฟู่ฟ่า ไม่ใช่การพอใจกับวิถีชีวิตสงบเงียบ ชิลล์ๆ ในชนบท

ป่องจึงเหมือนจะกลวง แต่ไม่ว่างเปล่าไร้กึ๋น การขี่รถยืนไฟฟ้าไปท้องนาของเขาอาจดูเหมือนไม่มี “ฟังก์ชั่น” แต่ก็ดันมีประโยชน์อยู่บ้าง

ดังนั้น ความใฝ่ฝันที่จะเปิด “เซเว่น-อีเลฟเว่น” ประจำหมู่บ้านของป่อง จึงไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ แต่มีความเป็นไปได้

(หนังช่วยขับเน้นประเด็นนี้ด้วยการแสดงให้เห็นว่า “ครูแก้ว” ตัวละครนำของเรื่องนั้นทำครัวไม่เป็น แต่ใช้วิธีฝากเงินให้ชายขี่รถขายของประจำหมู่บ้าน ออกไปซื้ออาหารกล่องเซเว่นจากในเมือง แล้วนำกลับมามอบให้เธอ)

นอกจากประเด็น “หมู่บ้านชนบท” ที่มีลักษณะคล้ายจะ “ปิด” แต่แท้จริงกลับ “เปิด” เส้นเรื่องหลักว่าด้วยความรักใคร่ของหนุ่มสาวใน “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็น่าคิดตีความต่ออย่างยิ่ง

พระเอกของหนัง คือ “จาลอด” เด็กหนุ่มที่กำลังมึนงง สับสน ริลองรัก หัดมีแฟน

เมื่อฝึกจีบสาวไปเรื่อยๆ บักลอดก็เผชิญหน้ากับ “ทางสองแพร่ง” ที่เจ้าตัวต้องตัดสินใจเลือก ระหว่างการคบหากับ “ครูแก้ว” หรือ “หมอปลาวาฬ”

ในวัฒนธรรมหนัง-ละครไทยร่วมสมัย น่าจะมีไม่กี่ครั้ง ที่ตัวละครไอ้หนุ่มไทบ้าน จบ ม.6 ทำงานรับจ้างจิปาถะไม่เป็นหลักแหล่ง (ไม่ได้ปลอมตัวมา/ไม่ได้แกล้งยากจน) สามารถ “ใช้สิทธิ์เลือก” อะไรบางอย่างได้

แถมในกรณีนี้ จาลอดยังได้สิทธิ์ “เลือกคนรัก” ซึ่งล้วนเป็น “ตัวเลือกที่ดี” ทั้งคู่

ไม่ใช่แค่ครูแก้วและหมอปลาวาฬจะเป็นสาวสวย ผิวขาว น่ารัก แต่พวกเธอยังมีสถานะเหนือกว่าบักลอดแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสถานะทางเศรษฐกิจ หรือระดับการศึกษา

ที่สำคัญ ขณะที่จาลอดเป็นชาวบ้านธรรมดา สองสาวกลับมีสถานะเป็น “ตัวแทนของรัฐส่วนกลาง” ซึ่งเข้ามาใช้ “อำนาจละมุน” ในท้องถิ่น ผ่านพื้นที่อย่าง “โรงเรียน” และ “สถานีอนามัย”

ยิ่งกว่านั้น ครูแก้วและหมอปลาวาฬยังมีอีกสถานะหนึ่งซึ่งน่าสนใจ คือ ทั้งสองสาวเป็น “คนเมือง” แต่คงไม่ใช่คนกรุงเทพฯ หากน่าจะเป็นพวกลูกหลานคนจีนตามหัวเมืองใหญ่แถบภาคอีสานมากกว่า (เพราะพวกเธอพอพูดอีสานได้บ้าง)

ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านเล็กๆ ในหนัง กับรัฐส่วนกลางที่กรุงเทพกรุงไทย จึงไม่ได้เชื่อมโยงถึงกันอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องดำเนินผ่านสายสัมพันธ์สามเส้า ระหว่าง “หมู่บ้าน”, “คนกลาง” ซึ่งมีลักษณะ “กึ่งคนเมืองกึ่งคนท้องถิ่น” และรัฐส่วนกลาง (ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรบุคคลของส่วนภูมิภาค หรืออ่อนน้อมต่อภาษาท้องถิ่นอยู่พอสมควร)

ส่งผลให้รักสามเส้าระหว่างจาลอดกับครูแก้วและหมอปลาวาฬ มีความสำคัญสองแง่มุม

แง่มุมแรก คือ ชัยชนะใน “การได้สิทธิ์เลือก” ของไอ้หนุ่มไทบ้าน (รวมถึงชัยชนะเหนือ “นายตำรวจ” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของรัฐราชการ และเป็นคนรักเก่าของครูแก้ว)

แง่มุมที่สอง คือ การเผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง “ท้องถิ่น” กับ “ตัวแทนของรัฐ” ซึ่งมีสถานะก้ำกึ่งกำกวมระหว่างการเป็น “คนนอก” และ “คนใน”

ภาพจากทวิตเตอร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ @thethibaan

กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่ “ครูแก้ว” เธอถือเป็นอีกหนึ่งตัวละคร “ครู” ที่โดดเด่นของวงการหนังไทยยุคหลัง

ครูแก้วมี “จุดร่วม” กับตัวละครครูสาวสุดเซ็กซี่ในหนังไทยเรื่อง “ป่า” ของ “พอล สเปอร์เรียร์”

เพราะหากพิจารณาไปยังพื้นที่ชีวิตส่วนตัวของครูสาวเหล่านี้ พวกเธอกลับมิได้แสดงบทบาทประหนึ่ง “แม่พิมพ์” หรือ “แม่แบบ” อันวิเศษดีเลิศเหนือความเป็นมนุษย์ธรรมดาสามัญ

แม้ครูแก้วจะไม่ต้องเข้าฉากเซ็กซ์เร่าร้อนเหมือนครูสาวใน “ป่า”

แต่ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” ก็ฉายภาพให้เห็นว่าครูแก้วนั้นย้ายออกมาใช้ชีวิตอยู่กินหลับนอนกับผู้ชายตั้งแต่ยังเรียนหนังสือไม่จบ

มิหนำซ้ำ พอไปเป็นครูฝึกสอนในหมู่บ้าน ครูแก้วก็มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้าง “ฟรี” กับจาลอด ภารโรงของโรงเรียน

ในแง่นี้ ครูแก้วจึงเป็นมนุษย์/ผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งมีอารมณ์ ความรัก ความรู้สึก มีการตัดสินใจผิด/ถูก และมีความทะเยอทะยานที่จะ “ก้าวข้าม” กรอบเส้นแบ่งของจารีตประเพณีบางชนิด

เอาเข้าจริงแล้ว หมอปลาวาฬก็ต้องพัวพันกับเรื่อง “สามานย์สามัญ” แบบนี้เช่นเดียวกัน

เพราะหน้าที่หลักของคุณหมอกลับกลายเป็นการคอยแจกถุงยางอนามัยให้แก่หนุ่มๆ ในหมู่บ้าน หรือการไปสาธิตวิธีการใช้ถุงยางให้นักเรียนได้รับชม

รวมถึงการต้องตกเป็น “ตัวเลือก” ในสนามทดลองความรักของจาลอด

ตัวแทนของรัฐราชการอย่าง “ครู” และ “หมอ” จึงมีวิถีชีวิตอีกภาคหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ปลีกตนแยกขาดออกจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ปกติหรือชาวบ้านทั่วไป (รวมทั้งเรื่องความรักหญิง-ชาย และเรื่องเพศสัมพันธ์ด้วย)

ภาพจากทวิตเตอร์ไทบ้านเดอะซีรีส์ @thethibaan

ประเด็นเรื่อง “หมู่บ้านอีสาน” ที่เปลี่ยนแปลง และความสัมพันธ์ระหว่าง “ท้องถิ่น” กับ “ตัวแทนรัฐส่วนกลาง” เป็นเพียงสององค์ประกอบสำคัญ จากอีกหลายองค์ประกอบที่น่าสนใจของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์”

ซึ่งแน่นอนว่า “จุดเด่นที่สุด” ของหนังอีสานเรื่องนี้ คือ การสร้างอารมณ์ขัน/เสียงหัวเราะออกมาห่อหุ้มความปริแยกไม่ลงรอย อันเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ดังกล่าว