อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (12) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

จากเอกสารเก่าแก่เกี่ยวกับคดีความในโลกใหม่ปรากฏว่ามีคดีความจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับเพศหญิง

จากจำนวนตัวเลขของผู้เสียหาย ผู้หญิงที่ขึ้นศาลนั้นมีมากกว่าชายอย่างเทียบกันแทบไม่ได้เลย

และเมื่อเราพิจารณาคดีความเหล่านี้อย่างละเอียดจะพบความน่าสนใจอีกประการหนึ่งด้วยตรงที่ว่าในขณะที่เพศชายนั้นต้องขึ้นศาลด้วยคดีด้านการปกครอง หรือทรัพย์สิน

เพศหญิงกลับต้องขึ้นสู่ศาลด้วยคดีส่วนตัว

คดีส่วนตัวที่ว่าประกอบไปด้วย คดีที่ถูกทำร้ายร่างกายในฐานะของหญิงโสด

หรือคดีที่ผู้เป็นภรรยาถูกสามีทุบตีในฐานะของหญิงที่มีครอบครัวแล้ว

คดีย่อยที่ติดตามมาคือคดีข่มขืน ลักพา หรือฆาตกรรม เหยื่อในคดีเหล่านี้มักเป็นหญิงสาวที่มีฐานะยากจนและอาศัยอยู่ในชนบทหรือดินแดนที่ห่างไกลจากความเจริญ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าสาเหตุที่หญิงสาวผู้มีฐานะไม่ค่อยมีคดีขึ้นสู่ศาลนั้นอาจไม่ได้เป็นเพราะพวกเธอไม่มีการกระทำผิดเลย

แต่อาจเป็นเพราะในชนชั้นเหล่านั้นการปกปิดเรื่องเสื่อมเสียไม่ให้ถึงศาลกระทำได้ง่ายดายกว่ามาก

คดีที่ว่าด้วยการทุบตีจากสามีหรือคดีครอบครัวนั้นมักเกิดจากการที่หญิงสาวไม่ปฏิบัติตนให้เป็นไปตามสภาวะที่เพศชายคาดหวัง

ในโลกใหม่ที่ระบบครอบครัวมีความห่างไกลจากขนบธรรมเนียมเดิม เพศหญิงมักกลายเป็นที่ระบายโทสะของเพศชายที่ไปไม่ถึงเป้าหมายที่พวกเขาต้องการ

ยกตัวอย่างเช่น ในคดีของ มาเรีย เทเรซ่า-Maria Teresa หญิงชาวอินเดียนผู้ยากไร้ที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็กๆ อย่างโมเรรอส ในเม็กซิโก

เธอขอร้องให้สามีออกหางานทำเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแทนการหมกตัวอยู่กับสุราไปวันๆ

ทว่า สิ่งที่เธอได้รับตอบแทนคือการที่ผู้เป็นสามีลงมือทำลายข้าวของภายในบ้านก่อนจะใช้ก้อนหินทุบศีรษะของเธอจนตาย

สาเหตุที่ความรุนแรงที่ว่านี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายเป็นเพราะบรรดาคนรอบตัวทั้งญาติหรือมิตรต่างพากันยอมรับว่าความรุนแรงเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

ในกรณีของ มาเรีย เดอ อกิลล่าร์-Maria de Aguilar ที่ถูกสามีทำร้ายเป็นเวลาเนิ่นนานจนในที่สุดเธอบาดเจ็บเจียนตายโดยไม่มีญาติพี่น้องคนใดให้ความสนใจ

และในที่สุดเพื่อนบ้านต้องนำเรื่องของเธอเข้าฟ้องศาลแทน

ปัจจัยหลักที่ทำให้การทารุณกรรมที่ว่านี้เป็นไปอย่างแพร่หลายสืบเนื่องมาจากการที่การแต่งงานในโลกใหม่นั้นเป็นสิ่งที่ยกเลิกได้ยากทั้งทางนิตินัยและในทางศาสนา

หญิงไม่อาจร้องขอการหย่าขาดจากสามีได้ง่ายดาย และหญิงที่ทำเช่นนั้นมักต้องทนต่อการถูกประณามในท้ายที่สุด

ด้วยเหตุนี้เพศหญิงจึงเลือกเอาการจำทนและจำนนเป็นหนทางออกเสมอ การไม่ยอมปล่อยสามีของตนให้มีคนรักใหม่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งแห่งการทำร้ายร่างกาย

สามีที่มีชู้รักมักหาทางระบายโทสะกับภรรยาของตนเองจนกว่าเธอจะยินยอมหย่าขาดให้เขา และหลายครั้งการลงมือเช่นนั้นมักรุนแรงเกินไป

ดังในกรณีของหญิงชาวอินเดียนในคุซโก้คนหนึ่งที่แม้ว่าเธอจะตั้งครรภ์นับแปดเดือนแต่กลับถูกสามีจับมัดและลงมือโบยตีอย่างหนักก่อนที่เขาจะหายตัวไปพร้อมกับชู้รัก

การตัดสินคดีความเช่นนี้หากเพศชายเป็นจำเลย ความเห็นใจจะมีมากกว่าเสมอทั้งที่เพศชายเป็นผู้ก่อความรุนแรง มีธรรมเนียมหนึ่งในโลกใหม่ที่อนุญาตให้เพศชายดัดนิสัยหรือดูแลพฤติกรรมหรือลงโทษภรรยาหรือคู่รักของตนที่กระทำสิ่งที่นอกลู่นอกทาง สิทธิจากการอนุญาตที่ว่านี้เรียกว่า Mala Conducta หรือการควบคุมจากชาย เป็นสิทธิซึ่งอนุญาตให้ชายไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ชนเผ่าใด ในโลกใหม่มีอำนาจเหนือผู้หญิงของตนเอง

โดยเฉพาะในยามที่เธอกระทำสิ่งที่น่าละอายหรือเสื่อมเสีย อันเป็นช่วงที่ถือว่าเธออ่อนแอและจำเป็นจะต้องได้รับการจัดการให้เข้าสู่สภาพอันเป็นระเบียบโดยพลัน

 

อย่างไรก็ตาม เพศชายไม่ใช่จำเลยเพียงประเภทเดียวที่ลงไม้ลงมือต่อหญิง

ในสังคมโลกใหม่ แม่ผัวหรือแม่สามีคือผู้ที่ก่อคดีทำร้ายร่างกายสะใภ้ของตนเองไม่น้อยเช่นกัน

โดยเฉพาะในสะใภ้ที่มีอายุเยาว์และเป็นสาวรุ่น

ในศตวรรษที่สิบแปด คดีที่ โจเซฟา โรซาเรีย-Josefa Rosalia ตกเป็นจำเลยนั้นเป็นคดีใหญ่ เธอเป็นหญิงม่ายที่ลงมือทำร้ายลูกสะใภ้ของเธอคือ มาเรีย อิกนาเซีย ซาปาต้า-Maria Ignacia Zapata เพียงเพราะว่าลูกสะใภ้ของเธอนั้นไม่สามารถโน้มน้าวจิตใจของสามีผู้เป็นลูกชายของเธอให้ทำในสิ่งที่เธอประสงค์ได้

การที่สังคมโลกใหม่เพิ่งเริ่มต้น การแยกบ้านเรือนหลังงานแต่งงานจึงมีน้อยเต็มที

ครอบครัวจึงมักดำเนินไปภายใต้อำนาจและการดูแลของหญิงอาวุโสสูงสุดภายในบ้าน (เพศชายในโลกใหม่นั้นมีอายุเฉลี่ยราวยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบต้นๆ อันเนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมากในดินแดนและทำให้หญิงม่ายเป็นประชากรหลักของสังคม)

และการที่เธอจะธำรงอำนาจสูงสุดนั้นไว้ได้ก็ด้วยเหตุที่ต้องทำความพอใจให้กับผู้ชายในบ้านซึ่งมักเป็นลูกชายหรือหลานชายของเธอเอง

และทำให้หญิงสาวที่ก้าวเข้ามาในครอบครัวนี้ต้องกลายเป็นเหยื่อของความรุนแรงจากโทสะที่หาทางออกไม่ได้โดยปริยาย

เชื้อชาติเป็นสาเหตุหนึ่งของความรุนแรงด้วยเช่นกัน ชาวสเปนมักลงมือรุนแรงกับทาสที่ถูกนำมายังโลกใหม่ (โดยเฉพาะทาสชาวแอฟริกัน) ลำดับชั้นของสังคมเป็นดังนี้

ชนผิวขาวอยู่เหนือชนพื้นเมืองและชนพื้นเมืองอยู่เหนือทาส

ในคดีที่เกิดในอารามแห่งหนึ่งในเม็กซิโก แม่ชีชาวสเปนร่วมมือกับชาววัดหรือศาสนิกชาวอินเดียนกระทำการทารุนทาสชาวมูลาต้าวัยสิบสี่ปีด้วยรองเท้าหนังและโซ่กุญแจ จนทาสได้รับบาดเจ็บสาหัส

ทาสในโลกใหม่นั้นเป็นกลุ่มชนที่ต่ำสุดและเพิ่งได้รับการมีสิทธิเสียงในชีวิตเมื่อไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง

 

คดีการทำร้ายร่างกายเพศหญิงที่สะเทือนขวัญที่สุดในโลกใหม่ไม่น่ามีคดีใดเกินคดีในศตวรรษที่สิบเจ็ดที่จำเลยเป็นเศรษฐีนีและชนชั้นสูงชาวชิลีผู้มั่งคั่งและเป็นเจ้าที่ดินรายใหญ่นาม คาทาลิน่า เดอ ลอส ลิออส เอ ลิสแปร์กัวร์-Catalina de los Rios y Lisperguer

เธอมีสมญานามว่า ลา ควินทราล่า-La Quintrala หรือผู้หญิงผมแดง

เรื่องราวความโหดร้ายและอาการเสพติดการทำร้ายผู้อื่นโดยเฉพาะบรรดาผู้รับใช้และแรงงานที่ทำงานในที่ดินของเธอเป็นตำนานที่ร่ำลือมาจนปัจจุบันนี้

ว่ากันว่าเธอสังหารคนภายใต้การปกครองของเธอไปกว่าสี่สิบคน ทุกคนล้วนถูกทรมานอย่างสาหัสก่อนตาย

เหยื่อของเธอนั้นมีตั้งแต่บิดาของเธอ (คดีนี้น้องสาวเธอเป็นผู้ร้องเรียนว่าคาทาลิน่าวางยาพิษบิดาตนเองในอาหาร) คนรักของเธอ นอกเหนือจากเหยื่อที่ตายลงยังมีบุคคลที่เธอทรมานอีกนับไม่ถ้วน

จากรายงานของคดีที่หลงเหลือเป็นเอกสารมาถึงปัจจุบัน “…โดญ่า คาทาลิน่า นั้นทรมานผู้คนเล่นทุกวันจนเป็นกิจวัตร

บางวันเธอจัดพิธีกรรมแห่งการทรมานนี้สองถึงสามรอบด้วยซ้ำไป

การทรมานของเธอที่มีต่อทาสทั้งที่โสดและทั้งที่มีครอบครัวนั้นจะเริ่มด้วยการเปลือยร่างของบุคคลเหล่านั้น มัดพวกเขาไว้กับขื่อ หรือเสา หรือบันได โดยที่มือทั้งสองอยู่เหนือศีรษะ หรือไม่ก็จับคนเหล่านั้นห้อยหัวลง

หรือไม่ก็จับคนเหล่านั้นมัดจนแน่นหนาแล้วลงมือเฆี่ยนตีจนแต่ละคนกระอักเลือดออกมา

มีครั้งหนึ่งที่เธอทรมานทาสชาวมูลาต้านามเออเรน่าด้วยการจับเขาห้อยศีรษะลงและปล่อยให้ศีรษะของทาสจ่อกับถ่านร้อนและพริกแห้งที่ถูกเผาจนควันฟุ้ง

เออเรน่า-ทาสคนนั้นแทบจะขาดใจตายด้วยการหายใจไม่ออก

การทรมานอีกแบบที่เธอชอบคือการกรอกนมร้อน ไข่ลวก หรือถ่านร้อนแดงลงในปากแล้วจับปากนั้นมัดให้สนิท

ส่วนดวงตาของทาสนั้นเธอจะใช้พริกป้ายจนทั่วแล้วเอาตำแยถูไปมา…”

การทรมานเหล่านี้เกิดขึ้นในที่พักภายในที่ดินของเธอ

 

แม้ว่า คาทาลิน่า เดอ ลอส ลิออส เอ ลิสแปร์กัวร์ จะถูกร้องเรียนในความโหดร้ายของเธอต่อบิชอปแห่งซานเทียโก้ ผู้ดูแลดินแดนแห่งนั้นในปี 1634 แล้วก็ตาม

ทว่า กว่าเธอจะถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความผิดก็เป็นเวลาอีก 26 ปีต่อมา

สาเหตุที่เธอรอดพ้นจากการพิพากษาเช่นนี้ได้เนิ่นนานนั้นเป็นเพราะญาติสนิทของเธอหลายคนมีตำแหน่งอยู่ในคณะลูกขุนในดินแดนดังกล่าว

ทั้งฐานันดรศักดิ์ อิทธิพลสังคม เงินตรา ความเป็นหญิงงามของเธอสามารถโน้มน้าวให้ระบบยุติธรรมไม่สามารถเล่นงานเธอได้ง่ายๆ

และแม้ว่าเธอจะถูกตัดสินให้มีความผิดในที่สุด หากแต่ คาทาลิน่า เดอ ลอส ลิออส เอ ลิสแปร์กัวร์ กลับไม่ต้องรับโทษนั้น

เธอเสียชีวิตในระหว่างการคุมขังเพื่อรอการส่งตัวกลับไปรับโทษที่ประเทศสเปน

ร่างของเธอถูกเผาในอารามซานเทียโก้ในปี 1665 ภายใต้ชุดคลุมสีขาวอย่างสมเกียรติสมฐานะแห่งชาติตระกูลอันสูงส่งของเธอ

 

เรื่องราวของ คาทาลิน่า เดอ ลอส ลิออส เอ ลิสแปร์กัวร์ ถูกแปลงเป็นอุปรากรโดยคีตกวีชาวเดนมาร์ก ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ มีตำนานจำนวนมากเกี่ยวกับเธอถูกขุดค้นขึ้นในฐานะของหญิงสาวที่ดุร้ายที่สุดคนหนึ่งแห่งโลกใหม่

ตำนานข้อหนึ่งกล่าวถึงรูปเคารพของพระคริสต์ในที่พักของเธอ ประติมากรรมที่แสดงถึงความทรมานของพระคริสต์บนไม้กางเขนสร้างความขัดเคืองใจให้กับเธออย่างยิ่ง

เธอกล่าวกับรูปเคารพนี้ว่า “ภายใต้ดินแดนของฉันจะไม่มีใครทำสีหน้าล้อเลียนความเจ็บปวดแบบนี้ได้”

หลังคำกล่าวนี้ เธอสั่งให้ทาสโยนรูปเคารพนี้ออกไปนอกหน้าต่างและหล่นลงแตกเป็นเสี่ยงๆ บนพื้น

หลายปีต่อมาผู้ศรัทธาในศาสนาได้เก็บเศษชิ้นส่วนจากรูปเคารพนี้และประกอบขึ้นใหม่