Vote No : “just doing my job”

ข่าวเรื่องการลงประชามติ โดยเฉพาะการจับกุมคนที่รณรงค์ให้ “ไม่รับ” รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้นึกถึงเรื่องหนึ่งซึ่งไม่เป็นข่าวเลย นั่นคือ การรณรงค์ Vote No ซึ่งออกมาเมื่อปี พ.ศ.2550

การรณรงค์ครั้งนี้ทำในนามของเครือข่าย 19 กันยา ซึ่งตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 ประกอบด้วยนักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนหลายกลุ่ม

ที่ต้องการประท้วงการรัฐประหาร

เราเริ่มจากโฆษณาเต็มหน้าในมติชนรายวัน ราว 5 ชิ้น แต่ละชิ้นมีโคว้ตจากนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยทั้งเนื้อหาและกระบวนการของร่างฯ และตามมาด้วยสิ่งพิมพ์และสติ๊กเกอร์อีกหลายชิ้น

ผมได้พูดถึงงานชุดนี้เมื่อครั้งที่เอาไปแสดงเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่เมืองสตุตการ์ต เยอรมนี

งานนี้ชื่อ Re-Designing the East : Political Design in Asia and Europe ซึ่งนำเสนอศิลปะการเมืองจากหกประเทศในยุโรปและเอเชีย คือโปแลนด์ ฮังการี เช็ก อินเดีย เกาหลีใต้ และไทย

เรื่องที่พูดคือ Fighting from Within.

ผมบอกว่าการรณรงค์ครั้งนี้มีความสำคัญเพราะเราไม่สามารถจัดอภิปราย ก่อการชุมนุม อีกทั้งทำขึ้นในบรรยากาศที่อึมครึม ปัญญาชนและสื่อมวลชนส่วนมากก็พากันนิ่งเงียบ ไม่คิดหือกับรัฐบาล ซึ่งก็คล้ายที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้

แต่ที่สำคัญ ผมบอกว่าตนเองไม่ได้มีฐานะเป็นศิลปินการเมืองหรือยืนอยู่ “นอก” ระบบ

ตรงกันข้าม เป็นดีไซเนอร์ที่อยู่ “ใน” ระบบ

ผมและเพื่อนๆ ในเครือข่าย 19 กันยา ล้วนมีอาชีพต่างๆ ที่มาร่วมกันต่อสู้ ก็ในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น

และงานนี้ ผมก็คล้ายทำตามหน้าที่ หรือ “just doing my job”

13668787_1340511979309478_1542993049339988406_o

แม้จะเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานการเมืองบ้าง แต่ก็ทำงานเชิงพาณิชย์มากว่ายี่สิบปี ไม่ใช่ศิลปินการเมืองที่ยืนอยู่ข้างนอกหรือ radical เลย จะเรียกว่าตรงข้ามกับสิ่งนั้นก็ได้

และถ้าศิลปะการเมืองหมายถึงงานที่แสดงท่าทีกราดเกรี้ยวหรือมีลีลาแบบ avant-garde การรณรงค์ครั้งนี้ก็คงไม่ใช่

vote no เป็นการประท้วงรัฐบาลทหารอย่างเปิดเผย และพูดออกมาอย่างเต็มปากเต็มคำว่า ร่างฯ ฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม เพราะมีกำเนิดมาจากยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ

แต่รูปแบบและสื่อที่ใช้ก็แสนจะธรรมดา เราใช้การ์ตูนในการสื่อสาร

ไม่ได้แสดงความโกรธเกลียด ตรงกันข้าม มีแต่อารมณ์ขันและ irony

เช่น รูปคนที่กำลังหย่อนบัตรโดยมีปืนกระบอกโตจ่อที่หัว และมีรูปท็อปบู๊ตเหยียบหน้าประชาชน

โปสเตอร์และโฆษณาไม่ได้กระตุ้นให้ผู้ดูโกรธหรือลุกขึ้นมาโค่นล้มการลงประชามติ

02

ผลของการพูด?

ไม่มากนัก เหตุผลหนึ่งคืองานเล็กมาก และตอนนั้น ความขัดแย้งก้าวขึ้นสู่ระดับใหม่ เกินกว่าที่จะมาพูดอะไรเรียบๆ อย่างนี้

การบอกว่าแค่ทำตามหน้าที่ของตนเอง หรือ “just doing my job” อาจจะไม่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่างานเหล่านั้นเป็นศิลปะหรือการไม่รับร่างฯ เป็นวีรกรรม

หลังจากนั้น สถานการณ์เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

กลุ่มนิติราษฎร์ และ อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ขึ้นเวทีในวันที่ 10 ธันวาคมปีเดียวกัน หลังจากนั้น สิ่งที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อนก็ระเบิดออกมา การต่อต้านรัฐบาล วิจารณ์สถาบัน และเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่นักโทษการเมือง ซึ่งรวมถึงการที่ปัญญาชนและนักวิชาการฝ่ายตรงข้ามออกมาอุ้มรัฐบาลก็ทำกันอย่างเปิดเผยและทวีความดุเดือดขึ้น จนถึงหลังเลือกตั้ง 2554

ซึ่งในตอนนั้น บทบาทของสื่อ ศิลปิน และนักวิชาการก็กำลังเปลี่ยนไป

คือต้องเลือกข้างและแสดงความคิดเห็นที่แหลมคมมากขึ้น เกิดความรุนแรงและการเสียสละของแต่ละฝ่ายมากมาย

ตามมาด้วยการชุมนุมของ กปปส. หรือม็อบของมวลชนที่ “สนใจการเมือง” ในแบบที่ตรงข้ามกับเรา

ในช่วงนั้น การทำอะไรตามหน้าที่ อาจจะกลายเป็นข้อหาในการด่าคนโลกสวยและที่ไม่สนใจการเมือง

อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดนำมาสู่การรัฐประหารปี พ.ศ.2557 และเมืองไทยก็เข้าสู่ช่วงแห่งการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างฯ อีกครั้ง

สำหรับการพูดวันนั้น ผมสรุปว่า แค่เป็นประชาชนที่กล้าบอกว่า “ไม่”

และแค่เป็นดีไซเนอร์ที่ “just doing my job” คุณอาจจะกลายเป็น radical

รวมทั้งถูกคุกคามและจับกุมก็ได้