เมื่อ Bob Dylan เป็น “นักดนตรีโนเบล”

บ๊อบ ดีแลน ศิลปินดนตรีชาวอเมริกัน ได้รับโนเบลสาขาวรรณกรรม ยังเป็นเรื่องเป็นราวไม่เลิก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย บ้างก็ว่านี่เป็นการหยามหมิ่นนักเขียนตัวจริง ขณะที่นักวิจารณ์ที่หลายคนบอกว่า นี่เป็นเรื่องตลกหรือยังไง

แต่นักเขียนดังหลายคน สนับสนุนการตัดสิน อาทิ ซัลมาน รัชดี นักเขียนชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ชื่นชมว่ายอดเยี่ยม เพราะเพลงและบทกวีมีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น ดีแลนเป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมบทกวีที่ยอดเยี่ยม

ฟิลิป มาร์โกแต็ง ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Bob Dylan : All the Songs – the Story Behind Every Track เมื่อปี 2015 สนับสนุนว่า ไม่กังขาเลยว่า ดีแลนเป็น “กวีผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ที่ยังมีชีวิตอยู่ของอเมริกา”

ความน่าเชื่อถือด้านวรรณกรรมของดีแลนนั้นไม่มีที่ติ เขาเป็นนักอ่านบทกวีของนักเขียนในยุคศตวรรษที่ 19 อย่าง อาเธอร์ ริมโบด์ และ วิลเลียม เบลก

ใน 500 เพลงที่เขาแต่ง ดนตรีอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญนัก แต่เนื้อร้องนั้นล้ำเลิศ

ขณะที่เจ้าตัวเองก็ยังทำเฉยๆ เดินสายร้องเพลงตามปกติ ซึ่งคงสร้างความปวดหัวให้กับกรรมการ ซึ่งจะต้องจัดพิธีแจกรางวัลพอสมควร

 

ชื่อเสียงของดีแลน มาจากเพลงที่แต่งเอง ด้วยเนื้อหาที่มีประเด็นทางการเมือง สังคม ร้องเอง ด้วยเสียงร้องเอกลักษณ์ เหมือนบ่นๆ กับดนตรีดิบๆ ในยุคแรกๆ คือ กีตาร์ เบส กลอง เม้าธ์ออร์แกน ก่อนจะปรับเป็นเครื่องไฟฟ้า มีคีย์บอร์ด ก็ยังมีบรรยากาศดิบๆ สดๆ อยู่

ผลงานของดีแลน มีมากมาย หลายๆ เพลงที่ดีแลนแต่งไว้ มีศิลปินอื่นนำไปคัฟเวอร์ เล่นใหม่ ตีความใหม่ หลายๆ เพลงได้รับความนิยมมากกว่าต้นตำรับ เพลงของดีแลน ที่อยู่ในระดับแถวหน้า คงหนีไม่พ้นเพลงอย่าง Like a Rolling Stone (1965), A Hard Rain”s A-Gonna Fall” (1963), Tangled Up in Blue (1975)

Just Like a Woman (1966), All Along the Watchtower (1967), It”s Alright, Ma? (I”m Only Bleeding) (1965), Mr. Tambourine Man (1965), The Times They Are A-Changin” (1964), Sad-Eyed Lady of the Lowlands (1966), Masters of War (1963) ที่มาของเพลง “คนกับควาย”, Knockin” on Heaven”s Door (1973) จากหนัง Pat Garrett and Billy the Kid ของผู้กำกับฯ แซม เพ็กกินพาห์

Lay, Lady, Lay (1969), Forever Young (1974) ดีแลนเขียนให้ “เจสซี” ลูกชายตัวเอง แต่ก็มีความหมายในเชิงสังคมและวัฒนธรรม, Don”t Think Twice, It”s All Right (1963) เพลงอกหักของดีแลน, Blind Willie McTell” (1991), Ballad of a Thin Man (1965)

This Wheel”s on Fire (1975), Positively 4th Street (1967), Simple Twist of Fate (1975), Highway 61 Revisited (1965), Subterranean Homesick Blues (1965), Desolation Row (1965), It”s All Over Now, Baby Blue (1965), Every Grain of Sand (1981), Mr. Tambourine Man (1965)

ราชบัณฑิตยสภาสวีเดน ผู้ให้รางวัลนี้แก่ดีแลน ระบุว่า ดีแลนได้รับรางวัลจากการ “สร้างแนวทางการแสดงออกเชิงกวีนิพนธ์ใหม่ในวัฒนธรรมเพลงอเมริกันแบบดั้งเดิม”

ดีแลนจะได้รับเงินรางวัล 8 ล้านโครนสวีเดน หรือราว 31.7 ล้านบาท พิธีมอบรางวัลจะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าดีแลนจะไปร่วมงานหรือไม่

 

ดีแลน ชื่อจริง รอเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน ปีนี้อายุ 75 ปี เกิด 24 พฤษภาคม 1941 ที่มินเนโซตา เชื้อสายยิว มีบรรพบุรุษอพยพมาอเมริกาจากยูเครน และตุรกี

เริ่มสนใจดนตรี จากบลูส์และร็อก เล่นเพลงของ ลิตเติล ริชาร์ด และ เอลวิส เพรสลีย์ เมื่อจบไฮสกูลเข้าเรียนมหาวิทยาลัยมินเนโซตา เล่นดนตรีในคอฟฟี่เฮ้าส์แถวแคมปัสมหาวิทยาลัย

ใช้ชื่อ บ๊อบ ดีแลน ด้วยแรงบันดาลจากกวี Dylan Thomas ขณะที่เพลงของดีแลน สะท้อน บอกเล่าปัญหาต่างๆ และเปิดจุดยืนต่อสงคราม และปัญหาทางสังคมอื่นๆ ซึ่งตรงกับความคิดจิตใจของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น

เพลงอย่าง Blowin” in the Wind และ The Times They are A-Changin” กลายเป็นบทเพลงในการต่อต้านสงครามและการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิพลเมือง

 

ภายหลังจากข่าวดีแลนได้รับรางวัลนี้ประกาศออกมา บรรดาศิลปิน อาทิ มิก แจ็กเกอร์ และชาวคณะโรลลิ่งสโตน ออกมาชื่นชมและสนับสนุน

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ผู้ประกาศบ่อยๆ ว่า เป็นแฟนเพลงของดีแลน ก็ร่วมแสดงความยินดี

ดีแลนเคยรับเชิญอย่างไม่เต็มใจนักไปแสดงที่ทำเนียบขาวเมื่อปี 2010 โอบามาเล่าอย่างปลื้มๆ ว่า ดีแลนเป็นอย่างที่คาดไว้ เขาไม่มาซ้อมเหมือนศิลปินอื่นๆ ไม่ขอถ่ายรูปกับประธานาธิบดีเหมือนนักดนตรีอื่นๆ ที่ได้เข้าทำเนียบขาว

ดีแลนมาเล่นเพลง The Times They Are A-Changin อย่างไพเราะในแบบที่แตกต่างจากฉบับเดิม จบเพลง เดินจากเวทีมาจับมือกับประธานาธิบดี ก้มหัว ยิ้มนิดๆ แล้วจากไป

ลุ้นกันต่อไปว่าดีแลนจะทำยังไงกับรางวัลสำคัญในครั้งนี้