คลองแม่ข่า ฟื้นชีวิตเป็นแหล่งการท่องเที่ยวสร้างเศรษฐกิจ

ในอดีต คลองแม่ข่ามีความอุดมสมบูรณ์ น้ำใสสะอาด ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากลำน้ำ เพื่อการอุปโภคและบริโภค เป็นเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำปิง โดยน้ำแม่ข่าสายหลักจะไหลผ่านตำบลดอนแก้ว เขตอำเภอแม่ริม ผ่านเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลตำบลป่าแดด เทศบาลตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จากนั้นไหลเรื่อยไปจนรวมกับลำเหมืองกางไหลลงสู่แม่น้ำปิง ในเขตเทศบาลตำบลป่าแดด รวมความยาวประมาณ 31 กิโลเมตร เนื่องจากน้ำต้นทุนที่ใช้รักษาระดับลำน้ำมีปริมาณน้อย ประกอบกับการขยายตัวของชุมชน มีการปล่อยน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ อาทิเช่น ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ ร้านอาหาร เป็นต้น ส่งผลให้มีน้ำเสียชุมชนไหลลงสู่คลองแม่ข่าเพิ่มขึ้น จึงทำให้คลองแม่ข่ามีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า จากปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่า ปี พ.ศ. 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ และ จ.เชียงใหม่ ได้ร่วมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองแม่ข่าอย่างเป็นรูปธรรมและให้เกิดความยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ การดำเนินงานที่ผ่านมากรมควบคุมมลพิษได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำคลองแม่ข่าและคลองสาขาส่วนใหญ่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมถึงเสื่อมโทรมมาก การบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ การเตรียมความพร้อมด้านการปฏิบัติการด้านกฎหมายและการดูแลระบบบำบัดน้ำเสียในแหล่งกำเนิดมลพิษ การจัดทำฐานข้อมูลแหล่งกำเนิดมลพิษ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการจัดการน้ำเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษ และจัดเวทีชาวบ้านและอปท. เพื่อให้ความรู้เรื่องการจัดการน้ำเสีย

จากการศึกษาปัญหาคลองแม่ข่า กรมควบคุมมลพิษได้เสนอแนะและร่วมแก้ไขปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการคืนน้ำต้นทุนให้กับคลองแม่ข่า โดยปรับเปลี่ยนการเปิด-ปิดประตูผันน้ำจากคลองแม่ข่าสู่แม่น้ำปิงให้เหมาะสม(บริหารจัดการบริเวณประตูระบายน้ำคลองแม่ข่าลงสู่แม่น้ำปิง โรงพยาบาลลานนา) เพื่อให้น้ำจากต้นน้ำไหลสู่คลองแม่ข่ามากขึ้น การปรับเปลี่ยนการสูบน้ำเสียสถานีหมายเลข 5 และ 6 จากระบบการตั้งเวลาสูบเป็นระบบลูกลอย และปรับปรุงระดับคันกั้นของอาคารผันน้ำให้สูงขึ้น รวมทั้งให้ทำรางระบายน้ำเสียจากตลาดสดเทศบาลลงสู่ท่อรวบรวมน้ำเสียหลัก เพื่อไม่ให้มีน้ำเสียไหลลงสู่คลองแม่ข่า ส่งเสริมสร้างองค์ความรู้การจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ชุมชนริมคลองแม่ข่า และการจัดการขยะและน้ำเสียของชุมชนริมสองฝั่งคลองแม่ข่า สร้างการมีส่วนร่วมการบำบัดน้ำเสียในครัวเรือนเบื้องต้น ให้ตระหนักถึงการรักษาสภาพแวดล้อม และลดผลกระทบที่ก่อให้เกิดน้ำเสียจากชุมชน

“จากการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคลองแม่ข่า ปัจจุบันคลองแม่ข่ากลับกลายเป็นที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยว สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และสร้างความสุขให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม เช่น พื้นที่ที่ชาวบ้านเรียกคลองโอตารุ ซึ่งมีภูมิทัศน์ที่มีชุมชนตั้งอยู่ตลอดสองฝั่งคลอง และส่วนที่ว่าเหมือนกับคลองชองกเยชอน คือการนำโมเดลการพัฒนาคลองน้ำเสื่อมโทรมให้กลายเป็นคลองน้ำใสใจกลางเมืองใหญ่มาใช้แก้ปัญหาบริเวณจุดต้นน้ำ นับเป็นการยกระดับการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำและคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่จะนำไปต่อยอดกับที่อื่นๆต่อไป” นายปิ่นสักก์ กล่าว