ระบบสาธารณสุข กทม. ไม่เพียงพอ และไม่เป็นเอกภาพโจทยท้าทาย ว่าที่ ผู้ว่าฯ คนใหม่

ปรากฏการณ์ “โควิด-19” ตีเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครราบคาบ จนทำให้ไม่มีเตียง ไม่มีหมอ และมีคนที่รอความตายอยู่ที่บ้าน ในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาระบาดเมื่อช่วงกลางปี 2564 คือสิ่งที่สะท้อนความสาหัสของระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ ได้อย่างดี และถือเป็นโจทย์ท้าทาย ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เป็นอย่างยิ่ง

และจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ในวันที่ เชื้อไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งเบากว่า และระบาดในท่ามกลางคนที่ฉีดวัคซีนจำนวนหลายสิบล้านคนแล้ว ก็ยังสะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ นั้น ‘วิกฤต’ เมื่อคนกรุงจำนวนมาก ไม่สามารถติดต่อคอลเซ็นเตอร์ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตัวได้

ปัจจัยทั้งสอง สะท้อนให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขของไทย ที่ว่ากันว่าติดอันดับต้นๆ ของโลกนั้น แท้จริงแล้ว ยังมีช่องโหว่สำคัญอยู่ที่ใจกลางเมืองหลวง ที่มีประชากรหลักและประชากรแฝงหมุนเวียนกันในหลัก 10 ล้านคน แต่กลับไม่มีระบบสาธารณสุข ระบบโรงพยาบาล และระบบหลักประกันสุขภาพที่พึ่งพาได้ 

ไล่ปัญหาไปทีละข้อ หากต่างจังหวัดมี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือสถานีอนามัย เป็นต้นทาง แต่กรุงเทพฯ นั้น จริงอยู่ที่มีศูนย์บริการสาธารณสุข ของ กทม. แต่ก็แทบไม่มีใครคิดถึงจุดนี้ หากจังหวัดอื่นๆ มีโรงพยาบาลอำเภอครอบคลุม แต่สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ประชาชนต้องดิ้นรนกันตามยถากรรม และหากต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลจังหวัด มีโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็น “ปลายทาง” แต่สำหรับกรุงเทพฯ นั้น ผู้ป่วยในโรคซับซ้อน ต้องเข้าคิวกันอย่างแออัดเพื่อรอรับการรักษาในโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

ในเวลาเดียวกัน โรงพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพฯ กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้น ขยายตัว ขยายสาขา และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น และตัวเลขที่น่าสังเกตอีกอย่างคือจำนวนของ “ร้านขายยา” ที่มีมากถึง 5,000 แห่ง ในเมืองหลวง คิดเป็น 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ ทำให้เห็นว่าคนกรุงต้องซื้อยากินเอง แทนที่จะไปหาหมอ แทนที่จะใช้สิทธิประกันสุขภาพที่ตัวเองมี สะท้อนให้เห็นว่าช่องโหว่ในกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกรัฐบาลละเลย และปล่อยให้คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญทุกข์เรื่องสุขภาพอยู่เพียงลำพัง 

ขณะเดียวกัน ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแล 2 สำนัก คือสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์ ที่ผ่านมา ก็ไม่ได้จัดการเรื่องโรงพยาบาลอย่างจริงจัง โรงพยาบาลที่ กทม. รับผิดชอบในมืออย่าง วชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลเจริญกรุง หรือโรงพยาบาลตากสิน แม้จะสามารถรับคนไข้ได้เยอะ แต่ก็กระจุกตัวอยู่ในบางที่เท่านั้น ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรทั้งหมดในเขตเมืองหลวง

การขาดแคลนสถานพยาบาลที่พึ่งพาได้ จึงทำให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีปัญหาในการเข้าถึงบริการทั้งผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในที่ไม่ซับซ้อนมาก มากกว่าในต่างจังหวัด และแผลดังกล่าว ถูกขยายให้เห็นชัดเจน ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

สำหรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2544 อิงกับระบบสาธารณสุขพื้นฐาน ในต่างจังหวัด ลำดับการส่งต่อ ใช้ รพ.สต. เป็นฐาน ก่อนส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอำเภอ หรือโรงพยาบาลจังหวัด ขณะที่ในกรุงเทพฯ นั้น โดยหลักการ มีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นด่านหน้า แต่แน่นอนว่าไม่เพียงพอ และแทบไม่มีคนกรุงคนไหนนึกถึง วิธีการในการพยายามอุดรูรั่วก็คือการผูกสัญญากับคลินิกเอกชน ให้เป็น “คลินิกชุมชนอบอุ่น” เป็นพื้นฐานในการคัดกรอง ก่อนส่งต่อผู้ป่วย

แต่ 2 ปีที่แล้ว เมื่อมีการพบปัญหาการคลินิกทุจริตของคลินิกเหล่านี้ ในการสวมรอยคนไข้ เพื่อเบิกเพิ่มเติมจากผู้มีสิทธิ์บัตรทอง คลินิกหลายแห่งก็ถูกปิด ถูกยกเลิกสัญญา จนทำให้เกิดปัญหา ผู้ใช้สิทธิบัตรทองจำนวนมาก ถูกโยกไปไว้กับคลินิกไกลบ้าน ยิ่งทำให้เกิดความยากลำบากในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขเข้าไปอีก

ปัจจัยเหล่านี้ เป็นความท้าทายใหญ่ของ ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้มีบทบาทรับผิดชอบโดยตรงในส่วนการจัดการสถานพยาบาล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าในส่วนของ กทม. นั้น มีงบประมาณไม่น้อยในการจัดการเรื่องการสาธารณสุข ทั้งยังมีสัดส่วนโดยตรงในการนั่งเป็นคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ข้อมูลจากงบประมาณ 2565 พบว่า กทม. มีงบประมาณในสำนักการแพทย์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดโรงพยาบาล กทม. และ สำนักอนามัย ซึ่งเป็นต้นสำกัดของศูนย์บริการสาธารณสุข รวมกันแล้วปีละประมาณ 6,500 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับสำนักหลักของ กทม. อย่าง สำนักการระบายน้ำ หรือสำนักการโยธา

แต่เรื่องที่น่าเศร้าคือ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมานั้น แทบจะจัดการเรื่องสาธารณสุขในรูปแบบ “รูทีน”เมื่อคลินิกชุมชนอบอุ่นเกิดอาการ “โหว่” ก็ไม่ได้เป็นเดือดเป็นร้อนกับการแก้ปัญหา โรงพยาบาลสังกัด กทม. นั้น ก็แทบมีการพัฒนาน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ ศูนย์บริการสาธารณสุขนั้น จนถึงวันนี้ มีก็เหมือนไม่มี

ไม่เพียงเท่านั้น วิธีคิดของผู้ว่าฯ กทม. ในเรื่องสาธารณสุขนั้น หลายคนยังมองว่า เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. แม้ งบประมาณจะมากในหลัก 6,500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน หน่วยงานเหล่านี้ ทั้ง 2 สำนัก ก็ยังคิดแต่เพียงการจัดการภายใต้อำนาจของตนเอง มากกว่าจะใช้แนวคิด “ประสาน” ไปยังโรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่น ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ กัน และใช้เงินจากภาษีราษฎรเหมือนกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องสุดคลาสสิกของระบบราชการ ที่ทุกคน มุ่งแต่จะจัดการภายในอาณาจักรของตัวเอง และเอาหน่วยงานของตัวเองเป็นที่ตั้งเท่านั้น ไม่ได้คิดถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง

คำถามสำคัญก็คือ แล้วผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป จะทำอะไรกับระบบสาธารณสุขอันยุ่งเหยิงในเมืองแห่งนี้ได้บ้าง… คำตอบแรกเลยก็คือการเร่งพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขที่มีอยู่เวลานี้ 69 ศูนย์ 73 สาขา ให้มีคุณภาพเพียงพอ ในการเป็น “ต้นทาง” ให้กับระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงหา “ลูกข่าย” บรรดาคลินิกเอกชน เพื่อหนุนเสริมให้คนกรุง สามารถเข้าใช้บริการได้ง่ายขึ้น

ขณะเดียวกัน หากโรงพยาบาลใหญ่ ภายใต้อำนาจของ กทม. นั้น ไม่เพียงพอ ก็ควรจะใช้ระบบการ “ประสาน” และ “ส่งต่อ” อย่างมีประสิทธิภาพได้ ไม่ว่าจะผ่านโรงพยาบาลในสังกัดอื่นๆ หรือผ่านโรงพยาบาลเอกชน โดยใช้กลไกทางการเงินการคลัง เป็นตัวสนับสนุน 

ขณะเดียวกัน กทม. ยังสามารถเจรจากับ สปสช. เพื่อเพิ่มคลินิกชุมชนอบอุ่นให้เพียงพอ สอดคล้องกับจำนวนหัวประชากรตามความเป็นจริง และหากใครได้รับเลือก ก็ถึงเวลาของผู้ว่าฯ คนใหม่ ในการตั้งทีม เดินสำรวจปัญหาสาธารณสุขในกรุงเทพฯ อย่างจริงจัง สำรวจประชากร สำรวจปัญหาสาธารณสุข แล้วสำรวจให้ได้ว่าควรจะมีสถานบริการ มีศูนย์บริการสาธารณสุข และต้องมีโรงพยาบาลตติยภูมิจำนวนเท่าไร จึงจะเพียงพอรองรับปัญหา

หาก ผู้ว่าฯ กทม. สนใจปัญหาสาธารณสุขอย่างจริงจัง และตั้งใจในการใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่า ปัญหาสาธารณสุขในกรุงเทพฯ นั้น ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าที่หลายคนคิด เพราะยังมีช่องทางอีกมาก ในการใช้ทรัพยากรในระบบให้มีประโยชน์

ขอเพียงผู้ว่าฯ กทม. ที่มีวิสัยทัศน์ และมองปัญหาสาธารณสุข เป็นความสำคัญลำดับต้นๆ ในการเร่งแก้ปัญหาเท่านั้นเอง