ทุเรียนเอฟเฟ็กต์ ตอนที่ 2

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ความเคลื่อนไหวด้วยความสัมพันธ์ทางธุรกิจจีนในประเทศไทย มีมิติใหม่ ซับซ้อน และลงลึก

เรื่องราวต่อเนื่องด้วยอรรถาธิบายจากตอนที่แล้ว คงมาถึงบทสรุปเชื่อมโยงอย่างปราศจากข้อกังขา เกี่ยวกับปรากฏการณ์เครือข่ายการค้าออนไลน์จีน มีความสามารถขายทุเรียนไทยให้กับลูกค้าได้ถึง 80,000 ผลโดยใช้เวลาเพียง 1 นาที

พลังมหัศจรรย์ของระบบค้าขายแบบใหม่ในจีน (นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว โดยอ้างอิงข้อมูลจาก How China is changing the future of shopping โดย Angela Wang, TED talk Dec 2017) ได้สร้างแรงปะทะอันเปรี้ยงปร้าง ปรากฏไปอย่างกว้างขวางในสังคมไทย

ในภาพกว้าง เป็นปรากฏการณ์กับแรงปะทะครั้งสำคัญ ได้เคลื่อนไหวเข้าสู่พรมแดนหนึ่งอย่างชัดเจน พรมแดนซึ่งเป็นพื้นฐานสังคมไทยดั้งเดิม นั่นคือสังคมเกษตรกรรม ระบบเศรษฐกิจหลักของประเทศ แม้ว่าได้ลดบทบาทไปบางระดับในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังมีผู้คนเกี่ยวข้องจำนวนมาก

ในข้อเขียนบางชิ้นของผมเอง เคยเสนอว่าสังคมเกษตรกรรมไทย มีความเชื่อมโยงกับโลกาภิวัตน์มากกว่าที่คิด ที่สำคัญต้องนำเข้าพันธุ์ ปุ๋ย สินค้าอารักขาพืช เครื่องจักร ฯลฯ

แต่ทว่า ปรากฏการณ์ “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์”นั้น ดูแตกต่างออกไป

 

ความสัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์ข้างต้น เป็นลักษณะพึ่งพิง ภายใต้กระบวนการสู่โหมดใหม่ โอกาสใหม่ ก้าวสู่ยุคเกษตรกรรมเพื่อการค้า การส่งออก

กระบวนการอันน่าตื่นเต้นเริ่มต้น ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และจริงจังมากขึ้นในยุคสงครามเวียดนาม จนเกษตรกรรมมีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย

นั้นหมายความว่า มีการจัดการ จัดระบบ กลไก และโครงสร้าง อันมีวงจรและห่วงโซ่ต่างๆ ไว้อย่างที่เห็น อย่างที่เป็นอยู่

เบื้องต้น กรณี “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” สะท้อนมิติเชื่อมโยงกับแนวคิดที่ผมเคยเสนอมาอย่างกว้างๆ ก่อนหน้า

“ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ จีน-ไทย มีพื้นฐานสำคัญมาจากผู้บริโภคในฐานะปัจเจก ฐานกว้าง เชื่อมโยงกัน ทั้งในฐานะนักท่องเที่ยว ในฐานะผู้ซื้อ-ขายสินค้าบริโภค ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ผ่านกลไกธุรกิจและหน่วยงานกี่ยวข้อง จากขนาดเล็กๆ สู่ใหญ่ มีความเชื่อมโยงกับสินค้าพื้นฐาน หลากหลาย ราคาถูก และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง เป็นความสัมพันธ์ เป็นปรากฏการณ์ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย ถือว่ามีความแตกต่าง จากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจในยุคอาณานิคมเมื่อศตวรรษที่แล้ว หรือในยุคเวียดนาม ผ่านการลงทุนสำคัญๆ ของธุรกิจใหญ่แห่งสหรัฐและญี่ปุ่น” (ข้อเขียนชุด “จีน” กับสังคมธุรกิจไทย” ธันวาคม 2560)

ข้อเขียนนั้นให้ความสำคัญกับนักท่องเที่ยวจีน

“ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าสนใจอย่างมากๆ เริ่มจากตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวเพียงชาติเดียวที่มีจำนวนมากมากมายอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะปี 2559 มีจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน หรือมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของบรรดานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมดที่มาเยือนประเทศไทย”

จากตัวเลขช6ดนั้น แสดงภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประหนึ่ง “พายุบุแคม” ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จากระดับ 4 ล้านคน (ปี 2557) มาทะลุ 7 ล้านคน (ปี 2558) เป็นอัตรkการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เฉกเช่นเดียว ในช่วงเดียวกันก็ว่าได้ กับปรากฏการณ์โลกจับจ่ายใช้สอยใหม่ในจีนแผ่นดินใหญ่ (ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว) ไม่เพียงจำนวนและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยเป็นก่อน ยังมาพร้อมกับบุคลิกนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าเราไม่คุ้นเคย

“ถือเป็นแรงปะทะครั้งใหญ่ต่อโครงสร้างและธุรกิจไทย เกี่ยวข้องเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว มีผลกระทบเป็นวงจรกว้างใหญ่ จากธุรกิจใหญ่ จนถึงผู้ประกอบการรายย่อยๆ จากเมืองใหญ่ เมืองท่องเที่ยวหลัก สู่ชุมชนระดับหมู่บ้าน” (อีกตอน) ว่าไปแล้วเป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจครั้งใหญ่

ขณะเดียวกัน ต้องเผชิญแรงปะทะ เป็นผลกระทบรุนแรงกว่าที่เคยเป็น

 

ธุรกิจท่องเที่ยวไทยเติบโตและก่อร่างโครงสร้าง ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนามเช่นกัน ด้วยเครือโรงแรมระดับโลก เครือข่ายบริษัทท่องเที่ยวระดับโลก ฯลฯ ค่อยๆ ทยอยกันเข้ามา

เบื้องต้นเพื่ออำนวยความสะดวก ตอบสนองนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากโลกตะวันตก ถือได้ว่าเป็นความจำเป็น ขณะที่สังคมไทยในเวลานั้นยังไม่พร้อม กลายเป็นธุรกิจใหม่ซึ่งค่อยๆ ขยายเครือข่ายทั่วประเทศ

เนื้อในนั้นได้สถาปนาโครงสร้างธุรกิจ ห่วงโซ่ ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ตกเป็นทอดๆ กันไป จนถึงปลายทางเครือข่ายบริษัทระดับโลก ในห่วงโซ่ซึ่งปัจเจกและรายย่อยในสังคมไทยไม่มีบทบาทมากนักในช่วงต้นๆ แต่ค่อยๆ เข้าไปอยู่ในวงจรอย่างแนบแน่นในเวลาต่อมา

เรี่องราวนักท่องเทียวจีน กับบางมุมมองซึ่งแพร่อย่างรวดเร็ว อ้างอิงโมเดลธุรกิจท่องเที่ยวที่เชื่อกันว่าแตกต่างออกไป เชื่อกันว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจตกอยู่กับเครือข่ายธุรกิจจีนอย่างเหนียวแน่น ภาพนั้นได้ขยายอย่างกว้างขวาง เป็นความรับรู้ที่แปลกแยก ไปโดยทั่วไป จนถึงผู้เกี่ยวข้องรายเล็ก แม้กระทั้งคนขับรถแท็กซี่ หรือพ่อค้าแม่ค้าแพงลอยเล็กๆ

มองอย่างกว้างๆ แล้ว เชื่อว่ามีทั้งความจำเป็นที่ควรเป็นไป กับ “มือ” ไม่ยอมเงื้อมถึง

 

ภาวะทะลักนักท่องเที่ยวจีนในสังคมไทย ส่วนหนึ่งมาจากแรงกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวจีนเอง ซึ่งเป็นธุรกิจมีความพร้อม มีความเข้าใจ ความพร้อมความสามารถในการจัดการกับ “พายุบุแคม” นั้น ขณะที่เชื่อว่าธุรกิจท่องเที่ยวไทยยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร ปรากฏการณ์แรงปะทะกับโครงสร้างเดิม ดูเหมือนเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทบกระทั่งถึงระดับปัจเจกและรายย่อย “พายุบุแคม” ดังกล่าวกระหน่ำใส่แม้กระทั่งผู้คุมกฎ กติกาและอำนาจรัฐด้วย ซึ่งที่ผ่านๆ มามองกันว่า เลือกจะมองดูอย่างงงๆ

เรื่องราวนักท่องเที่ยวจีน ไม่เพียงเป็น “พายุบุแคม” หากมีซับซ้อนมากขึ้นด้วย

ปรากฏบุคลิกใหม่ๆ ที่แตกต่างจากโมเดลการท่องเที่ยวในอดีต เป็นกระแสที่มาแรงและรวดเร็วเช่นกัน

นั่นคือ ขบวนกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ มากันเองไม่ผ่านกระบวนการธุรกิจท่องเที่ยวในแบบเดิม หรือที่เรียกว่า FIT (Free and Independent Traveler)

ผลพวงอย่างหนึ่ง สะท้อนความสันพันธ์ปัจเจกระหว่างจีน-ไทยที่มีมากขึ้นซับซ้อนขึ้น ไม่ว่าโอกาสการเกิดดีล (ข้อตกลงทางธุรกิจ) เล็กๆ ไปจนความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างปัจเจกในหลายรูปแบบ

มีการกล่าวกันว่า ขบวนนักท่องเที่ยวกลุ่มย่อยๆ ดังกล่าว พยายามใช้เครือข่ายสื่อสารสมัยใหม่ ไม่ว่า Social media และเอฟเฟ็กต์ต่างๆ โดยเฉพาะ Fin tech เป็นเครื่องมือสำคัญในการท่องเที่ยว

นี่เป็นอีกประเด็นสำคัญ เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับความพยายามอย่างหนึ่ง อย่างแข็งขันของ Jack Ma และ Alibaba เพื่อเข้ามามีบทบาทในสังคมไทย

ทำนองเดียวกับการจัดการ “พายุบุแคม” เกี่ยวกับdkiค้าบนมือถือ (Mobile Commerce) ในสังคมจีน เบื้องต้นเป็นภาคขยายมาสู่ประเทศไทย เพื่อให้บริการลูกค้าจีนไม่ขาดตอน มีความเกี่ยวข้องกับ Weibo แอพพลิเคชั่น Social media และ Alipay แพลตฟอร์มชำระเงินแบบออนไลน์ (ดังที่กล่าวมาในตอนที่แล้ว) อะไรเทือกนั้น หากภาคขยายนั้นดำเนินไปในสังคมไทยวงกว้างได้ด้วยยิ่งดี

สำหรับ Jack Ma และ Alibaba เชื่อว่าความพยายามดังกล่าวมีความสำคัญกว่ากรณี “ทุเรียน” จึงเชื่อกันอีกว่า แรงปะทะ “พายุบุแคม” ไม่เพียงขยายวงบริการต่อเนื่อง หากขยายข้ามสู่มิติอื่นโดยเฉพาะเข้าสู่สังคมธุรกิจไทยวงใน เข้าสู่ธุรกิจการเงินได้ในที่สุด แม้ว่าธุรกิจการเงินไทยจะมีระบบป้องกันตัวเองแน่นหนาเพียงใด

 

สําหรับสังคมไทยวงกว้างแล้ว ปรากฏการณ์ “พายุบุแคม” นักท่องเที่ยวจีน เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เชื่อว่ามีความซับซ้อน และส่งผลสะเทือนน้อยกว่ากรณี “ทุเรียน”

กรณี “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” ประหนึ่งเป็นภาพสะท้อนภาพใหญ่เกษตรกรรม กำลังเผชิญกระแสคลื่นลม รุนแรงและผันผวนมากขึ้น

เกษตรกรรมไทยไม่มีระบบป้องกันตัวอย่างดี จึงเผชิญความผันแปร ความไม่แน่นอนเสมอมา ไม่ว่าด้วยปัจจัยสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับธรรมชาติ กลไก การค้าและราคา ฯลฯ สังคมเกษตรกรรมไทยซึ่งเต็มไปด้วยรายย่อยก็ยังคงอยู่ คงมีเพียงบทบาทพื้นฐานของสังคม

ในภาพรวมเกษตรกรไทยยังไม่สามารถก้าวเป็นผู้ประกอบการซึ่งพัฒนาไปตามยุคสมัย

ไม่มีทุนเพียงพอ

ไม่มีความสามารถในการสะสมทุน

ไม่มีเทคโนโลยีของตนเองอย่างจริงจัง

ขณะที่หลังฉากนั้น กลับมีความเคลื่อนไหวคึกคักอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าบทบาทที่มีมากขึ้นๆ ของธุรกิจเกษตรระดับโลก เครือข่ายธุรกิจใหญ่กับธุรกิจการค้าสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในหลายทศวรรษก่อนหน้า และเติบโตมากขึ้นๆ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เครือข่ายธุรกิจใหญ่ดังกล่าว กำลังคืบคลานเคลื่อนตัวสู่ต้นธารมากขึ้น ไม่ว่าบทบาทในการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร และการถือครององค์ความรู้เกษตรกรรม

กรณี “ทุนเรียนเอฟเฟ็กต์” ประหนึ่งส่งสัญญาณว่าเกษตรกรรมไทย กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นๆ ด้วยมุมมองเชิงบวกเรื่องราคาสินค้าเกษตรไทย ตามมาด้วยกระบวนการพัฒนากลไกลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงจากต้นธารถึงปลายทาง ขณะเดียวกัน กระบวนการเคลื่อนย้ายสู่ต้นธารกับความพยายามเป็นผู้ควบคุม “ห่วงโซ่” ดังที่กล่าวข้างต้นจะเป็นไปอย่างเข้มข้นมากขึ้นๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

คงไม่มีใครเชื่อว่า กรณี “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” โดยฝีมือของ Jack Ma และ Alibaba จะเป็นแค่ปรากฏการณ์ปลายทางที่สังคมผู้บริโภคจีนเท่านั้น