จิตต์สุภา ฉิน : ต้องพูดเพราะแค่ไหน กับผู้ช่วยดิจิตอล

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

ปัญหาเรื่องเด็กและเยาวชนใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตมากเกินไปจนอาจจะก่อให้เกิดการพัฒนาทางสมองหรือการเข้าสังคมที่ล่าช้านั้นเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ดังนั้น การเห็นข่าวหรือบทความเรื่องนี้อยู่ตามสื่อประเภทต่างๆ อยู่เรื่อยๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร

แต่มีบทความหนึ่งที่สะดุดตาซู่ชิงและทำให้ต้องเก็บมาขบคิดต่อไปอีกครู่ใหญ่ คือเรื่องที่คุณพ่อคนหนึ่งเขียนไว้บนเว็บไซต์ Mashable เกี่ยวกับลำโพงอัจฉริยะประจำบ้านของอเมซอนซึ่งมาพร้อมผู้ช่วยส่วนตัวสั่งการด้วยเสียงนามว่า “อเล็กซ่า”

อเล็กซ่าเป็นผู้ช่วยส่วนตัวที่อาศัยอยู่ใน “เอ็กโค่” ลำโพงอัจฉริยะ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุย ทักทาย ถามไถ่ และออกคำสั่งได้ผ่านทางคำพูดอย่างเป็นธรรมชาติ แบบเดียวกับที่เราพูดคุยกับสิริในไอโฟนของเรา ซึ่งก็ดูมีประโยชน์ใช้สอยที่หลากหลายและไม่น่าจะมีพิษมีภัยอะไรให้เป็นห่วง

แต่ความเป็นห่วงของคุณพ่อคนนี้ก็คือ การใช้คำสั่งเสียงห้วนๆ สั่งงานอเล็กซ่า จะทำให้ลูกของเขากลายเป็นเด็กไม่มีมารยาทหรือเปล่า

 

ได้ฟังแบบนี้ทำให้ซู่ชิงถึงกับต้องชะงักไปนิดหนึ่งและทบทวนตัวเองว่าความที่เราไม่ได้เป็นแม่คนและไม่ต้องกังวลว่าใครจะโตมาเป็นยังไง ก็ทำให้เรื่องนี้ไม่เคยเป็นสิ่งที่คิดว่าจะต้องเป็นห่วงเลย

แต่พอได้อ่านบทความนี้ก็ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่ายังมีอีกหลายแง่มุมของโลกเทคโนโลยีที่คนที่ไม่ได้เป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรายังเข้าไม่ถึง

คุณพ่อคนนี้เป็นกังวลว่าการที่ลูกของเขาสามารถสั่งการอเล็กซ่าด้วยประโยคห้วนๆ ที่ไม่ต้องมีแม้แต่คำว่า “ได้โปรด” หรือ “ขอบคุณ” จะทำให้ลูกเข้าใจไปว่านี่คือการสื่อสารกับบุคคลอื่นที่ถูกต้องหรือเปล่า

แถมอเล็กซ่าก็ยังตอบคำถามกลับมาแบบห้วนสั้นไม่แพ้กันอีกต่างหาก

ในที่สุดแล้วการสื่อสารแบบเน้นผลลัพธ์แต่ไม่เน้นวิธีทำแบบนี้ จะทำให้คำว่าได้โปรด และขอบคุณ หรือมารยาทต่างๆ ที่พึงมีในการพูดคุยระหว่างกันกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยในสายตาของเด็กไปเลยหรือไม่

 

อันที่จริงซู่ชิงคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้นะคะ สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา เราแยกแยะได้ว่านี่คือภาษาที่เราจะใช้กับการสั่งงานอุปกรณ์ที่เราไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มระดับความสุภาพเข้าไปในประโยคที่ใช้

แต่พอออกไปเจอมนุษย์ด้วยกันเราก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนไปเป็นภาษาอีกแบบที่จะทำให้คู่สนทนาของเราพึงพอใจหรืออย่างน้อยก็ไม่มองกลับมาด้วยตาเขียวปัด

แต่เด็กที่เติบโตมาในยุคที่มีอเล็กซ่าเป็นผู้ดูแลประจำบ้านอาจจะไม่สามารถสลับสับเปลี่ยนการใช้ภาษาได้เหมือนผู้ใหญ่ถ้าหากว่าพ่อแม่ไม่จ้ำจี้จ้ำไชเคยสอนความแตกต่างอย่างสม่ำเสมอ

ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่ต้องมานั่งกังวลกับปัญหาแบบนี้ เนื่องจากการป้อนคำสั่งให้กับคอมพิวเตอร์ถูกจำกัดให้ทำได้ด้วยวิธีพิมพ์หรือคลิก แต่ในยุคที่นักพัฒนาเปลี่ยนให้เราสามารถใช้ภาษาอันเป็นธรรมชาติพูดคุยสั่งการอุปกรณ์ของเราได้ ก็ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและเครื่องจักรเปลี่ยนไป

จนเส้นที่คั่นระหว่างความเป็นมนุษย์กับความไม่เป็นมนุษย์นั้นบางลงเรื่อยๆ

 

ความกังวลไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การเลือกใช้ภาษาในการคุยกับอเล็กซ่าเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปครอบคลุมเนื้อหาของบทสนทนาระหว่างเด็กกับอเล็กซ่า ว่าการถามคำถามแต่ละคำถามนั้น คำตอบที่อเล็กซ่าให้จะนำไปสู่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมหรือเปล่า

อเมซอนแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการออกโหมดใหม่ที่มีชื่อว่า ฟรีไทม์ (FreeTime) สำหรับเปลี่ยนให้อเล็กซ่าเป็นเวอร์ชั่นคิดส์ เฟรนด์ลี่ เหมาะสมสำหรับเด็ก เมื่อใช้งานโหมดนี้ พ่อแม่สามารถควบคุมเนื้อหาต่างๆ ที่อเล็กซ่าจะพูดคุยกับลูกของตัวเองได้

ที่เจ๋งก็คือสามารถเปลี่ยนให้อเล็กซ่าตอบคำถามแบบที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเด็กได้มากขึ้น

เช่น ในโหมดปกติหากถามเธอว่ามีดาวเคราะห์ทั้งหมดกี่ดวง

อเล็กซ่าจะตอบห้วนๆ สั้นๆ ว่า “มีทั้งหมดแปดดวง”

แต่หากอยู่ในโหมดสำหรับเด็ก คำตอบก็จะถูกขยายความออกเพื่อเพิ่มความรู้รอบตัวให้เด็ก ก็จะกลายเป็นคำตอบที่ยาวขึ้นว่า “ระบบสุริยจักรวาลของเราประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ทั้งหมดแปดดวง ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ดาวพลูโตถือเป็นดาวเคราะห์แคระ แต่มันก็ยังเป็นดาวที่เจ๋งมากอยู่ดี” เป็นต้น

และแน่นอนว่าพ่อแม่สามารถใช้โหมดนี้ในการสอนมารยาทให้กับลูกๆ ได้ ถ้าหากเด็กๆ ถามคำถามอเล็กซ่าและใส่คำว่า “ได้โปรด” เข้าไป อเล็กซ่าก็จะตอบกลับมาอย่างน่ารักว่า “ขอบคุณนะที่พูดเพราะ” เพื่อเป็นการให้คำชมให้เด็กมีกำลังใจที่จะพูดเพราะต่อไปเรื่อยๆ

ข้อเสียมีเพียงอย่างเดียวคือการจะใช้บริการนี้จะต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้มากมายอะไร คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณแค่หนึ่งร้อยบาทต่อเดือนเท่านั้น

 

ด้วยความที่สิ่งประดิษฐ์อย่างอเล็กซ่าในลำโพงถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่และมีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ดังนั้นก็คงยังไม่มีอะไรที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าภาษาที่อเล็กซ่าใช้สื่อสารกับผู้ใช้งานที่เป็นเด็กจะก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อวิธีที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือไม่เนื่องจากยังไม่นานพอที่จะมีการทดลองที่แน่ชัด แต่การที่อเมซอนออกโหมดใหม่นี้มาก็คงทำให้พ่อแม่อุ่นใจได้ไม่น้อย จะกระทบหรือไม่กระทบในอนาคตก็ไม่รู้ แต่หากมีวิธีป้องกันไว้ก่อนตั้งแต่ตอนนี้ก็คงจะดีกว่าต้องมานั่งแก้ทีหลัง

เห็นได้ชัดว่าค่ายเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในตอนนี้ ล้วนแต่หันมามองกลุ่มเด็กเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงเฟซบุ๊กและกูเกิลที่ออกบริการมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะด้วยเหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้มุมมองก็ถูกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งมองว่าบริษัทเหล่านี้หิวกระหายเงินจนต้องลงไปเจาะกลุ่มเด็กเพื่อดูดเงินพ่อแม่และปูทางให้บริการของตัวเองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตเด็กเมื่อพวกเขาโตขึ้น

อย่างเช่น แอพพ์ส่งข้อความสำหรับเด็กที่เฟซบุ๊กเพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ มานี้

ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมองโลกในแง่บวกว่าในเมื่อชีวิตของเด็กก็จะต้องพันผูกอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่แล้วอย่างเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การออกแบบสิ่งที่พวกเขาต้องใช้ให้เหมาะสำหรับวัยก็น่าจะเป็นการรับมือที่ชาญฉลาดที่สุดมิใช่หรือ

ซู่ชิงมองว่าการแก้ปัญหาของอเมซอนนั้นเป็นมุมน่ารักๆ ที่ช่วยลดความกลัวเทคโนโลยีของพ่อแม่ และทำให้เด็กมีช่องทางการเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมสำหรับวัยได้ง่ายขึ้น

และคงจะน่ารักไม่หยอกถ้าได้ยินเด็กพูดเพราะๆ กับอุปกรณ์กลมๆ ที่วางอยู่ตรงหน้าราวกับเป็นคนในครอบครัวที่ต้องรักและให้เกียรติกัน ซึ่งผู้ใหญ่เองก็สามารถหยิบเอาบทเรียนตรงนี้มาปรับใช้กับตัวเองได้

เปลี่ยนภาษาที่เราใช้งานกับอุปกรณ์ให้ไพเราะเพื่อฝึกตัวเองไว้ยามเข้าสังคมจริง

และอย่าลืมเผื่อแผ่วาจาอันไพเราะนั้นเอาไว้ให้กับมนุษย์ด้วยกันบนอินเตอร์เน็ตด้วยนะคะ