วิเคราะห์เกม “แจ๊ก หม่า” ทุเรียนเอฟเฟ็กต์ ใครได้-ใครเสีย

กลายเป็นประเด็นสุดฮ็อตในวงการธุรกิจเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่นายแจ๊ก หม่า ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้งกลุ่มอาลีบาบาได้เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 เพื่อมาลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับรัฐบาลไทย

ภายใต้กรอบความร่วมมือ Smart Digital Hub and Digital Transformation Strategic Partnership 4 ฉบับ

1) ความร่วมมือในด้านการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล

2) ความร่วมมือด้านการลงทุน Smart Digital Hub ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

3) ความร่วมมือด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และบุคลากรด้านดิจิตอล

และ 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวผ่านดิจิตอลและการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง

พร้อมทั้งโปรยคำหวานถึงแผนการลงทุนระยะยาวในประเทศไทยด้วยงบประมาณ 11,000 ล้านบาทนับตั้งแต่ปี 2561-2562

นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือในโครงการต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิตอลและการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลของไทยอีก 4 ด้าน ได้แก่ การลงทุนสร้างศูนย์ Smart Digital Hub ในพื้นที่ EEC, ความร่วมมือพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิตอลและการส่งเสริมธุรกิจผ่าน e-Commerce, โครงการร่วมส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิตอลอีคอมเมิร์ซสำหรับผู้ประกอบการ SME และ Startup ของไทย และความร่วมมือในการจัดทำ Thailand Tourism Platform เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเมืองรอง

อาลีบาบาของแจ๊ก หม่า ยังมาพร้อมกับเงินลงทุนเบื้องต้นอีก 11,000 ล้านบาท

แต่เรื่องที่สร้างความตื่นตะลึงไปถ้วนทั่วกลับกลายเป็นเรื่องของ…ทุเรียน

 

กระแสทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เรื่องความนิยมใน “ทุเรียน” ของคนจีน เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการเปิดช่องทางการค้าออนไลน์ Thai Rice Flagship Store บนเว็บไซต์ Tmall.com ซึ่ง “อาลีบาบา” ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อช่วยผลักดันสินค้าเกษตรสำคัญของไทยที่ประสบปัญหาล้นตลาดเรื่อยมาให้มีช่องทางจำหน่ายโดยตรงจากสวนถึงมือผู้บริโภค

โดยเริ่มนำร่องที่ “ข้าวและทุเรียน” เป็นอันดับแรก

เพื่อแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาของ “อาลีบาบา” คือช่องทางใหม่ที่จะปลุกตลาดสินค้าของไทยสู่ประเทศจีน ซึ่งมีกำลังซื้อมหาศาล

อีกทั้งยังเป็นการลดกระแสการต่อต้านที่มีต่อ “อาลีบาบา” ซึ่งหวั่นเกรงกันว่าจะ “ผูกขาด” กลไกการค้าสมัยใหม่ที่ยึดโยงอยู่กับโลกออนไลน์ในอนาคต

กลายเป็นว่า “ทุเรียนเอฟเฟ็กต์” บรรลุผลเกินคาด!!!

สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานผ่านเว็บไซต์ว่า ภายในเวลา 1 นาที “อาลีบาบา” สามารถจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากไทย เป็นผลไม้ที่ชาวจีนชอบรับประทานได้ถึง 80,000 ลูก ผ่านทางเว็บไซต์ “ทีมอลล์ ดอตคอม” (Tmall.com)

ส่งผลให้คนไทยเริ่มวิตกว่าปีนี้จะต้องบริโภคทุเรียนในราคาแพงอย่างแน่นอน เพราะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกมาเผยว่าระดับราคาหน้าสวนทุเรียนพุ่งขึ้นไปแตะระดับ ก.ก.ละ 110 บาท สูงสุดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

พฤติกรรมการซื้อหาสินค้าของคนจีนเป็นที่กล่าวขานไปทั่ว ลองได้ชอบสินค้าอะไร จะทุ่มซื้อกันแบบไม่อั้น

ทำให้หลังจากนั้นเพียง 5 วัน กระทรวงพาณิชย์เจ้าของโครงการก็ออกมาแถลงข่าว “ปิดการซื้อขาย” โดยสรุปยอดรวมที่ได้จากคำสั่งซื้ออาลีบาบาปริมาณ 350 ตัน หรือคิดเป็นจำนวนทุเรียน 1.3 แสนลูก มูลค่า 70 ล้านบาท โดยมีกำหนดจะส่งมอบในเดือนพฤษภาคมนี้

เพื่อสยบดราม่าคนไทยกลัวทุเรียนขาดตลาดและแพงจนคนไทยแตะไม่ไหว

 

เป็นที่ทราบกันดีว่ากลไกในการค้าขายผลไม้ “ส่งออก” นั้นจะมีพ่อค้าคนกลางที่เรียกว่า “ล้ง” เป็นผู้รับซื้อหลัก ความนิยมในผลไม้ไทยของคนจีนซึ่งมีทุเรียนเป็นพระเอกนั้น ทำให้การเข้ามาของ “ล้งจีน” ถือเป็นกลไกที่มีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการคัดเลือกผลไม้เกรดเอเพื่อป้อนตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคกว่า 1,400 ล้านคน และมีคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงถึง 300 ล้านคน

ขณะที่มุมของวงการล้งวิพากษ์วิจารณ์ว่า “คำสั่งซื้อ” ภายใน 1 นาที 80,000 ลูกที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คำสั่งซื้อใหม่ แต่ทุเรียนไทย “ล็อตดังกล่าว” ถูกเหมาซื้อยกสวนส่งออกไปจีนตลอดเดือนเมษายน ตั้งแต่ก่อนลงนาม MOU อาลีบาบา ส่วนสาเหตุที่ราคาขายปลีกในจีนสูงมาก เพราะรถขนส่งทุเรียนติดปัญหาด่านผิงเสียง ชายแดนจีน-เวียดนาม ส่งผลทุเรียนในตลาดจีนช่วงนี้ขาดตลาด

เมื่อตรวจสอบไปยังตัวเลขการส่งออกโดยกรมศุลกากรในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าไทยส่งออกทุเรียนสดไปจีนเพียง 7,231 ตัน “เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว” จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยส่งออกไปจีนได้ 4,295 ตัน ด้านมูลค่าทำได้ 488.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เคยทำได้ 256.9 ล้านบาท

เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อาจจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีก

 

แน่นอนว่าการเปิดตัวแบบร้อนแรงในสายตาคนไทยที่มีต่อเว็บไซต์ “ทีมอลล์ ดอตคอม” โดยมีทุเรียนเป็นทัพหน้า ย่อมมีผลกระทบตามมาทั้งบวกและลบ

ในเชิงการตลาด ข่าวการเหมาซื้อทุเรียนในช่วงนี้ถือว่าเป็นจังหวะที่ “เหมาะสม” เพราะผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกจะเริ่มออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ล่าสุดตัวเลขกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จนถึงเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2561 มีผลทุเรียนออกสู่ตลาด 112,817 ตัน คิดเป็นเพียง 27.93% ของผลผลิตทั้งหมด

ยังเหลือที่ยังไม่เก็บอีก 291,089 ตัน หรือประมาณ 72.07% เลยทีเดียว หรืออาจเรียกว่าออกสู่ตลาดเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น

ดังนั้น การโหมสร้างกระแสว่ามีดีมานด์ความต้องการทุเรียนเข้ามามาก จึงเป็นกลยุทธ์การตลาดในการยกระดับราคาทุเรียนช่วงซัพพลายออกสู่ตลาด ถือเป็น “ประโยชน์” ต่อเกษตรกรโดยตรง แต่ย่อมไม่เป็นผลดีกับ “พ่อค้าทุเรียน-คนกลาง” หรือ “ล้ง”

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าวงการล้งจะออกมาตีกระแส “ออเดอร์” ที่เกิดขึ้นคือ “ทุเรียนออเดอร์เก่า” อีกทั้งโดยปกติระบบของการค้าขายอีคอมเมิร์ซทั่วไป เจ้าของแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ของโลกที่ทำหน้าที่ “ให้บริการ” จะต้องนำเข้าสินค้าไปสต๊อกไว้ล่วงหน้า เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าตามระยะเวลาที่การันตีไว้

นั่นทำให้กระแสข่าวที่ออกมาจาก “ล้ง” บางกลุ่ม มีวัตถุประสงค์เพียง “ทุบราคาระยะสั้น” เพื่อดึงสินค้าเข้าสต๊อก เพราะรู้ดีว่าเวลานี้ชาวสวนซึ่งล่วงรู้ข่าวการเข้ามาของแจ๊ก หม่า และอาลีบาบา ต่างมุ่งหวังราคาที่สูงลิบลิ่วทั้งนั้น

 

ในระยะยาวโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายสำหรับรัฐบาล ภายหลังการเปิดตลาดสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ “ทีมอลล์ ดอตคอม” ของอาลีบาบา คือการดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรหลังจากเปิดตลาดสำเร็จแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะรักษาคำสั่งซื้อให้คงอยู่ยั่งยืน เพราะปัญหาสำคัญที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไปอย่างแน่นอนก็คือ

เมื่อออเดอร์เข้ามามากๆ คุณภาพจะเป็นอย่างไร

ปัญหาทุเรียนอ่อน ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน กลายเป็นผลกระทบระยะยาวต่อคุณภาพสินค้าจากไทย

ยังไม่รวมถึงว่าการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก “ทุเรียน” ซึ่งทุกคนเชื่อว่าจะมีอนาคตข้างหน้ายิ่งกว่านาข้าวหรือยางพารา สุดท้ายแล้วจะก่อให้เกิดปัญหาการล้นตลาดตามมาหรือไม่