เรียนสุข สนุกสอนกับ sQip ตอนที่ 3 : กระบวนการ 5 Q

สมหมาย ปาริจฉัตต์

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพื่อเพิ่มโอกาสและยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยกระบวนการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (School Quality Improvement Program) หรือ sQip กำลังดำเนินไปเป็นปีที่สองอย่างน่าติดตาม

แนวทางปฏิบัติ 5 Q หรือ 5 มาตรการที่โรงเรียนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมด้วยช่วยกันทำให้เกิดขึ้น หรือถ้ามีอยู่แล้วก็ต้องพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น ส่งผลอย่างไร

1. Q-coach ทีมเพื่อนร่วมทางช่วยจุดประกาย เปิดประเด็นริเริ่มการจัดกระบวนการช่วยเหลือ

2. Q-Goal กระตุ้นการมีส่วนร่วมของบุคลากรและชุมชนตรงตามประเด็นเป้าหมายคุณภาพ แต่ละภาคเรียน

3. Q-PlCs เสริมสร้างชุมชนครูที่เข้มแข็ง นำประเด็นพัฒนาไปสู่การเรียนการสอนนักเรียน

4. Q-Info ป้อนข้อมูลแก่ผู้บริหารทีมทำงานของโรงเรียน สำรวจสถานะนักเรียนและเกิดระบบจัดการข้อมูลสารสนเทศ ลดภาระธุรการ

5. Q-Network เครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามโรงเรียน ร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขปัญหา

 

ครับ ถ้ายังไม่กระจ่าง ลองฟังคุณครูผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่าน คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง

สะท้อนคิดไว้ในจดหมายข่าวฉบับแรก สรุปภาพเชื่อมโยงการทำงานของกลไก 5 Q เริ่มตั้งแต่การมีโค้ชคุณภาพ Q-coach ที่มีประสบการณ์และเข้าใจประเด็นปัญหา เข้ามาช่วยประคับประคองเครือข่ายโรงเรียน Q-network ด้วยการทำงานผ่านเครือข่าย เสริมสร้างชุมชนการเรียนรู้ Q-PLCs ที่มีระบบข้อมูลสารสนเทศ (Q-info) เป็นเข็มทิศในการพัฒนาโรงเรียน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน Q-Goal เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทั้งองค์กร

“ดิฉันไม่ได้พุ่งความคาดหวังไปที่โรงเรียน ผู้อำนวยการ หรือครู แต่ให้ความสำคัญกับเรื่องวิธีคิด วิธีจัดการว่าจะมีทางเลือกใดที่เหมาะสมในการพัฒนาโรงเรียนของตน มิใช่วิธีเหมาเข่งที่ต้องผลักดันให้ทุกโรงเรียนใช้วิธีเดียวกัน เชื่อว่าโรงเรียนจำนวนไม่น้อยจะต้องมีพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ในการเปลี่ยนวิธีคิดของโรงเรียนโดยตรง และเปลี่ยนวิธีคิดของคนที่ทำงานร่วมกับโรงเรียน”

“ความพอดีระหว่างการทำงานบนข้อจำกัดเรื่องความขัดสน ความไม่พร้อม และการขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสอนรูปแบบใหม่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ไปด้วยกันได้ นับเป็นโจทย์ที่ยากที่สุด”

“โครงการนี้มีเป้าหมายมุ่งให้ครูมีความสุขต่อการทำหน้าที่ครู เด็กก็สนุกกับเรียนรู้ถือว่าเป็นเรื่องดี ครูจะมีความชื่นใจที่สุดเวลาทำงานแล้วมีคนมองเห็นคุณค่าของตัวครู ความลำบากที่ครูแต่ละท่านประสบพบเจอจะเป็นต้นทุนให้ครูท่านนั้นเรียนรู้และต่อสู้กับปัญหาได้ ความสุขของครูลึกๆ แล้วมีคุณค่ามากกว่าการที่ครูมีความสุข แต่ครูจะมีความสุขก็ต่อเมื่อพวกเขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ ได้รับการยอมรับจากชุมชน สังคม มิใช่ความสุข ความสบายใจที่เกิดแก่ตัวครู”

ครูกษมาย้ำหนักแน่น

 

ด้วยแนวคิด มาตรการปฏิบัติที่ชัดเจน ส่งผลถึงกันและกันทั้ง 5 Q ทำให้คณะผู้ผลักดันและขับเคลื่อนโครงการ มั่นใจว่าหากโรงเรียนปฏิบัติอย่างต่อเนื่องตามมาตรการเหล่านี้จะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน 4 ด้านภายใน 1-2 ภาคเรียนแรก ได้แก่ นักเรียนไม่ขาดเรียน ไม่หนีเรียน แต่อยากมาโรงเรียนจนถึงเพลิดเพลินกับการเรียนรู้

ครูมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนดีขึ้น มองเห็นศักยภาพของนักเรียนทุกคน ด้วยกระบวนทัศน์พรแสวงหรือ Growth Mindset ผู้บริหารทุ่มเททำหน้าที่ครูใหญ่ให้เวลาสนับสนุนการพัฒนาการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น ค้นหาจุดพัฒนาชั้นเรียนบนพื้นฐานข้อมูลจริง และชุมชน ร่วมกิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียน การสนับสนุนทรัพยากร เช่น สถานที่และโอกาสในการร่วมฝึกอาชีพให้กับนักเรียน

กระนั้นก็ตาม คำถามร่วมสมัยที่ผมทิ้งท้ายไว้ในตอนที่สอง มีของ มีกระบวนการที่ดีแล้วจะนำเข้าสู่ระบบโรงเรียนส่วนใหญ่ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย ทั้งระบบโครงสร้างและพฤติกรรมของคน

การเคลื่อนไหวของคณะทีมงานที่เกี่ยวข้อง แบบคิดใหญ่ ทำย่อย ค่อยเป็นค่อยไป ทดลองวิจัยก่อน ที่สำคัญเปิดกว้างเพื่อการมีส่วนร่วม น่าจะเป็นคำตอบได้ระดับหนึ่ง

นอกจากเข้าพบขอคำแนะนำ รับฟังความเห็นจากฝ่ายกำหนดนโยบายการศึกษา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ได้พบผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขณะนั้นปี 2560 ดร.บุญรักษ์ ยอดเพ็ชร รองเลขาธิการ ต่อมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ

เมื่อวันที่ 2-3 เมษายน 2560 มีพิธีเปิดโครงการ ลงนามคำปณิธานร่วมกันกับผู้บริหารโรงเรียนทั้งหมด นพ.ธีระเกียรติเป็นประธาน

“เชื่อว่าผู้ปกครองย่อมต้องการโรงเรียนที่ลูกเรียนอย่างมีความสุข อยากไปโรงเรียนและครูสุขที่ได้สอน กำลังใจที่พึงให้มีจาก Coach และผู้เกี่ยวข้องต้องลงไปคลุกต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ใช่เพียงป้อนคำหวานนานๆ ครั้ง” นพ.ธีระเกียรติย้ำ

ขณะที่ ดร.บุญรักษ์ยืนยันว่า การสนับสนุนโครงการ sQip จาก สพฐ. จะปรากฏเป็นรูปธรรมต่อไป

“กระบวนการพัฒนาครูแบบ On the Job Training หรือใช้กระบวนการ ชุมชนเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) จะช่วยให้คุณภาพผู้เรียนเกิดขึ้นจากทีมของโรงเรียนเอง” เขาเน้น

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้จัดสรรเงินสนับสนุนไปที่เขตพื้นที่การศึกษา 48 เขต เขตละ10,000 บาท และสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โรงเรียนละ 30,000 บาท ให้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้เชิงวิชาชีพที่จัดขึ้น 9 จุดประชุม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้บริหารและครูให้เข้มแข็งทางวิชาการ นำความรู้ไปปฏิบัติการจริงเต็มรูปแบบทั้งโรงเรียน ให้เกิด Q-PLC ในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

มีศูนย์จิตวิทยาการศึกษา มูลนิธิยุวสถิรคุณ โดย พญ.ปิยาภัสร์ จิตภิรมย์ ผศ.ดร.นพ.ชัยชนะ นิ่มนวล ทพญ.สุภาพร เจริญเศรษฐศิลป์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา โดย รศ.บังอร เสรีรัตน์ ร่วมประชุมวางแผน จัดหลักสูตรพัฒนาครูด้วยกระบวนการ PLC และ Growth Mindset จัดทำเครื่องมือที่จะใช้ในการอบรมปฏิบัติการให้กับผู้บริหารและครูของทุกโรงเรียน เพื่อให้กระบวนการโรงเรียนพัฒนาอย่างต่อเนื่องเดินหน้าไปอย่างมีหลักทางวิขาการรองรับ สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมความเป็นจริงของแต่ละโรงเรียน

หลังจากการประชุม ทีม Q-Coach ทั้งหมด 23 คน วันที่ 28-29 เมษายน 2560 ต่างยืนยันหลักการทำงานร่วมกับผู้บริหารและคณะครูของโรงเรียน ให้อิสระทางความคิดและออกแบบการพัฒนาโรงเรียนของตนเอง

ครับ กระบวนการโรงเรียนพัฒนาด้วยมาตรการ 5 Q มุ่งเน้นพัฒนาตนเองเป็นหลักก่อน ส่วนการสนับสนุนจากภายนอกเป็นแรงเสริม เดินหน้าต่อมาอย่างไร ท่านที่อาสาเป็นทีมที่ปรึกษาโรงเรียนและเครือข่าย เป็นใคร มาจากไหน ทำงานกันอย่างไร ค่อยว่ากัน