โลกร้อนเพราะมือเรา ตอนที่ 124 : สงคราม “ขยะ”

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

กว่าไต้หวันจะสร้างมหัศจรรย์พลิกฟื้นจากประเทศที่มีขยะล้นเมืองมาเป็นประเทศสะอาดและประสบความสำเร็จในการนำขยะมารีไซเคิลได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกนั้น ไต้หวันต้องเผชิญกับสงครามขยะระหว่างประชาชนกับรัฐมาหลายต่อหลายครั้ง

ย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษ 1980-1990 ไต้หวันเป็นเหมือนกับหลายประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งพยายามดิ้นรนให้ก้าวพ้นจากเส้นความยากจนและใฝ่ฝันเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

นโยบายของไต้หวันเน้นภาคอุตสาหกรรม

โรงงานอุตสาหกรรมผุดโผล่ทั่วเกาะ สินค้าหลักๆ ได้แก่ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก อาทิ ผลิตไมโครชิพให้กับบริษัทไอบีเอ็ม เจเนอรัล อินสตรูเมนต์

เศรษฐกิจไต้หวันบูมมาก เงินทองไหลมาเทมา แต่ชาวบ้านกลับรู้สึกเหมือนอาศัยอยู่ในกองขยะ

หันไปทางไหนมีแต่ขยะเกลื่อนไปหมดทั้งขยะสด ขยะเคมี ขยะอิเล็กทรอนิกส์ กองเป็นภูเขาเลากา

 

ต้นเดือนกรกฎาคม ปี 2535 ชาวบ้านซึ่งอยู่ชานเมืองของกรุงไทเปลุกฮือต่อต้านการทิ้งขยะในบ่อขยะใกล้ๆ กับหมู่บ้าน

บ่อขยะดังกล่าวรัฐบาลอนุญาตให้เปิดมานาน 12 ปีแล้ว ทุกวันจะมีรถขยะนำขยะ 300 ตันมากองทิ้ง ชาวบ้านทนไม่ไหวเพราะกลิ่นขยะเหม็นฟุ้ง น้ำเน่าไหลเยิ้มออกมาตามคูคลอง ลูกหลานคนเฒ่าคนแก่เจ็บป่วยไม่สบาย

ม็อบต้านขยะปิดล้อมพื้นที่ไม่ให้รถขนขยะเข้ามาเป็นเวลานาน 3 สัปดาห์ รัฐบาลยื่นข้อเสนอย้ายที่ทิ้งขยะและให้ทุนพัฒนาหมู่บ้านแต่ชาวบ้านปฏิเสธ อ้างจุดทิ้งขยะแห่งใหม่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน

สถานการณ์บีบคั้น เพราะขยะกำลังล้นเมือง ไม่มีที่ทิ้ง

รัฐบาลต้องระดมตำรวจนับร้อยนายเพื่อเคลียร์พื้นที่เปิดทางให้รถขนขยะเข้าไปทิ้งในจุดเดิม

สงครามขยะครั้งนั้นกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมไต้หวัน

 

ปี2539 ชาวบ้านในเขตหนานเซ่อ เมืองเกาสง ลุกฮือปิดทางเข้าบ่อขยะ ไม่ให้รถขยะ 300 คันขนขยะเข้าไปทิ้งและประกาศขับไล่นายกเทศมนตรี

รัฐบาลไต้หวันส่งหน่วยปราบจลาจลควบคุมสถานการณ์

ม็อบขยะเมืองเกาสงประท้วงเป็นเวลานานถึง 37 วัน

เหตุการณ์สงบลงได้เพราะนายกเทศมนตรียอมเปลี่ยนจุดทิ้งขยะและสัญญาจะสร้างเตาเผาขยะ

เมื่อสร้างเตาเผาขยะเสร็จ ปรากฏว่าชาวบ้านประท้วงอีกเพราะควันพิษพ่นกระจายไปทั่วเมือง

ชาวไต้หวันยังคงประท้วงปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง

รัฐบาลแทบไม่มีทางออกในการแก้ปัญหา แม้ว่าจะอนุมัติเงินให้ทำเตาเผาขยะ แต่ต้องใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี

ส่วนการหาที่ทิ้งขยะแห่งใหม่ที่ถูกสุขอนามัย ป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องยากเนื่องจากพื้นที่ไต้หวันมีจำกัด ทางออกต้องใช้พื้นที่ป่า แต่ก็กลายเป็นประเด็นเรื่องของการทำลายสภาพป่า

หรือหาจุดทิ้งขยะได้แล้ว การออกแบบก่อสร้างเพื่อให้เป็นมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมต้องใช้เวลาก่อสร้างราว 2 ปี

ขณะเดียวกันขยะในไต้หวันมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี

เมื่อปี 2512 ไต้หวันเก็บขยะครัวเรือนได้วันละ 8,800 ตัน

ปี 2533 ขยะเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 18,800 ตัน ปีถัดมา 21,900 ตัน

ขยะราว 20 เปอร์เซ็นต์ทิ้งในที่สาธารณะ เช่น ทิ้งลงแม่น้ำ หรือชายป่า

ขยะอุตสาหกรรมมีราว 15 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายราว 650,000 ตัน

ขยะอุตสาหกรรมทำให้เกิดเหตุการณ์คนงานเสียชีวิตเพราะสูดดมพิษบ่อยครั้ง

เวลานั้น ไต้หวันกำจัดขยะอย่างถูกต้องเพียง 30 เปอร์เซ็นต์

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมยอมรับว่า ปัญหาขยะเป็นภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของคนแท้ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติเลย

 

ประเด็นขยะลามเข้าสู่การเมืองระดับชาติ เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งและพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เป็นพรรคใหญ่ที่มีอิทธิพลของไต้หวัน หยิกยกมาใช้เป็นนโยบายหาเสียงและผลักดันเข้าสู่รัฐสภาเพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้

กฎหมายของไต้หวันในการแก้ปัญหาขยะ พัฒนาจากกฎหมายการกำจัดของเสีย (Waste Disposal Act) มาสู่โครงการโฟร์อินวัน รีไซคลิ่ง (4-in-1 Recycling Program)

โครงการโฟร์ อิน วัน รีไซคลิ่ง ทำให้กระบวนการรีไซเคิลครบวงจร

เริ่มจากการกำหนดประเภทขยะออกเป็น 13 ชนิด เพื่อนำมารีไซเคิล เช่น โลหะ อะลูมิเนียม แก้ว บรรจุภัณฑ์ใช้พลาสติกชนิด PET (polyethylene Terephthalate), PVC (polyvinylchloride), PP (polypropylene), โฟมและพลาสติกชีวภาพ

ดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรีไซเคิลขยะ ชักชวนให้ความรู้กับทุกครัวเรือนแยกขยะแต่ละชนิด แยกถุงและนำขยะไปทิ้งในจุดเก็บขยะตามเวลาที่กำหนด

สนับสนุนโรงงานและผู้จัดเก็บขยะรีไซเคิล รัฐบาลท้องถิ่นร่วมเก็บขยะมาแยกชนิด

ก่อตั้งกองทุนเพื่อรีไซเคิล บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าส่งออกสินค้าจ่ายค่าธรรมเนียมเก็บขยะและค่ารีไซเคิล

รัฐบาลไต้หวันเอาจริงกับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น ใครที่ทิ้งขยะทั่วไปไม่เป็นที่เป็นทาง ปรับ 6,000-30,000 บาท ทิ้งขยะอันตราย ปรับ 60,000-150,000 บาท

เมื่อปี 2535 รัฐบาลได้เงินค่าปรับจากคดีขยะ 65 ล้านบาท

ขณะเดียวกันโรงงานรีไซเคิลเฟื่องฟู ช่วงทศวรรษที่ 1990 มีแค่ 100 แห่ง ปัจจุบันขยายเป็น 2,000 แห่ง

อุตสาหกรรมการรีไซเคิลของไต้หวันก้าวหน้าไปมาก

โรงงานบางแห่งพัฒนาเทคโนโลยีในการดึงทองคำบริสุทธิ์ 99.99% ออกมาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายรีไซเคิลพัฒนาจนสามารถแบ่งประเภทขยะรีไซเคิลขยายออกเป็น 33 ชนิด

ปีที่แล้วโรงงานรีไซเคิลในไต้หวันทำรายได้จากการแยกขยะและแปรรูปขยะราว 7 หมื่นล้านบาท

“ไต้หวัน” จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ไทยควรเลียนแบบเป็นอย่างยิ่ง