สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

8 มีนาคม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีเหล็ก 25% อะลูมิเนียม 10% ต่อจีน แต่ยกเว้นแคนาดา เม็กซิโก และเสนอว่ามีความเป็นไปได้ที่ไม่รวมประเทศพันธมิตรอื่นๆ ของสหรัฐ

18 มีนาคม

45 สมาคมการค้า ตัวแทนบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาโต้แย้งประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ให้ใช้มาตรการภาษีกับจีน เตือนว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจและผู้บริโภคคนอเมริกัน กลุ่มสมาคมการค้านี้ยังรวมทั้งสภาหอการค้าสหรัฐ (U.S. Trade Association) สมาพันธ์ผู้ค้าปลีกแห่งชาติ (National Retail Trade Federation) สภาอุตสาหกรรมสินค้าไอที (Association of Industry Technology) ซึ่งเป็นสภาการค้าที่ทรงอิทธิพลทั้งของสหรัฐอเมริกาและของโลก

1 เมษายน

จีนขึ้นภาษีนำเข้า 25% กับสินค้าสหรัฐ จำนวน 128 รายการ จากหมูแช่แข็ง ไวน์ จนถึงผลไม้ต่างๆ และลูกนัท เพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจากสหรัฐ

3 เมษายน

ประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% ของสินค้าบางรายการด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมขนส่ง และสินค้าด้านยา เพื่อกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ของจีน มูลค่าประมาณ 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ

4 เมษายน

จีนประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้า 25% ต่อสินค้าสหรัฐจำนวน 106 รายการ รวมทั้งถั่วเหลือง รถยนต์ เคมีภัณฑ์ บางส่วนของเครื่องบิน ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดและสินค้าเกษตรอื่นๆ

 

สงครามการค้าสหรัฐ-จีน

เป็นที่รู้กันว่า สงครามการค้าครั้งนี้เป็นความพยายามลงโทษไปที่สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกทั้งยังไม่ใช่เรื่องของมูลค่าการขาดดุลการค้าของสหรัฐที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศอื่นๆ มองให้ตรงประเด็นยิ่งขึ้น ผู้นำสหรัฐท่านนี้ไม่พอใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของจีน และต้องการแก้ปัญหา แก้เผ็ดและแก้แค้นทุกวิถีทาง แต่อาจก่อให้เกิดผลในทางอื่นๆ ตามมา กล่าวคือ

มาตรการของประธานาธิบดีทรัมป์อาจเปิดทางให้ประเทศอื่นๆ คว้าตลาดสหรัฐแทนสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมทั้งเม็กซิโกและญี่ปุ่น ซึ่งก็เป็นประเทศเป้าหมายคู่แข่งทางการค้าของสหรัฐด้วย ทั้งนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์เองก็ประกาศออกมาเช่นนั้น

ในแง่รายละเอียด มูลค่าการค้าของสหรัฐต่อประเทศต่างๆ ในบรรดาประเทศผู้ส่งออกสินค้าเข้าสหรัฐจำนวน 1,300 รายการนับเป็น 25% ของภาษีการค้ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ดังนั้น ประเทศอื่นย่อมได้ผลดีในแง่ขายสินค้าเข้าสหรัฐในราคาที่แพงขึ้นด้วย

เม็กซิโกเป็นประเทศผู้ส่งออกโทรทัศน์จอแบนเข้าสหรัฐมูลค่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่งเข้าสหรัฐมากกว่าจีน 2 เท่า ไทยเป็นประเทศส่งออก ฮาร์ดดิสก์ ไดฟ์ไปสหรัฐมากกว่าประเทศจีนถึง 4 เท่า ส่วนญี่ปุ่น มาเลเซียและเวียดนามทั้งหมดเป็นผู้แข่งขันกันในสินค้าปริ๊นเตอร์ในตลาดสหรัฐ

ดังนั้น การเปลี่ยนผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ไม่ใช่จะเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน

ทั้งนี้ รายการสินค้านับร้อยรายการที่ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่ม ยังมีการอุทธรณ์ถ้าเกิดข้อสงสัยขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายแท้จริงของประธานาธิบดีทรัมป์คือ การกดดันเพื่อเจรจากับรัฐบาลสาธารณรัฐประชนจีน ในประเด็นการค้าที่กว้างกว่าการเก็บภาษี

ความจริงและในทางปฏิบัติสำนักงานการค้าสหรัฐหรือ U.S. Trade Representative Office ซึ่งเป็นผู้ทำรายการสินค้าเป้าหมายนั้นได้คัดเลือกและจัดอันดับแล้วว่าสินค้าส่งออกสหรัฐใดได้รับผลกระทบน้อยหากถูกตอบโต้ ในเวลาเดียวกัน การขึ้นภาษีการค้าจากต่างประเทศ สินค้าใดจะกระทบต่อผู้บริโภคอเมริกันน้อยด้วย

 

กรณีทีวี

จากการศึกษาของ Howard Schneider (1) พบว่าทีวีเป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศมากก็จริง แต่ทีวีจีนไม่ได้กระจายมากในตลาดสหรัฐ ไม่เหมือนกับ thermostats จีนส่งออกมากกว่า 40%

ยา เช่น ฮอร์โมนอะดรีนาลีน (epinephrine) และวัคซีนที่ใช้ในวงการสัตวแพทย์ก็ไม่มีการจดทะเบียนนำเข้าในตลาดสหรัฐเลยในปี 2017

นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึง “ความสลับซับซ้อน” ของการค้าโลก

ที่สำคัญประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเผชิญกับการเข้าไปจัดการการบูรณาการใหม่ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งไม่น่าจะทำได้

ยกตัวอย่างเพิ่มเติมคือ TCL Multimedia เป็นผู้ผลิตทีวีรายใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนจะย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ไปผลิตในเม็กซิโก

เพราะโรงงานผลิตทีวีในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องเผชิญความยุ่งยาก รวมทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นเป้าหมายของบรรษัทข้ามชาติ (Multinational Corperation-MNC) ของโลกในการทำเป็นฐานการผลิตสินค้าต่างๆ รวมทั้งทีวีด้วย

ในขณะที่ภาษีต่างๆ อาจเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนการผลิตให้กับกลุ่มธุรกิจจีนในสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่บริษัทของพวกเขาไม่มีบริษัทไหนอยากย้ายฐานการผลิตไปเป็นบริษัทอเมริกัน ในขณะที่บริษัทอเมริกันต้องแสวงหาแหล่งทางเลือกอื่นๆ จนกระทั่งการนำเข้าสินค้ามีราคาแพงขึ้น

กล่าวโดยสรุปคือ หากสงครามการค้าครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่รัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ใช้และยังคงมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าจีนต่อไป เพื่อเปลี่ยนแปลงการขาดดุลการค้าสหรัฐกับจีน นานวันเข้า กลยุทธ์นี้จะเป็นปัญหา เพราะการตอบโต้จากจีนก็จะยังมีอยู่ต่อไป และจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ ไม่ว่าเป็นผู้ส่งออกของประเทศไหน

ไม่มีใครชนะในสงคราม ไม่ว่าสงครามชนิดไหน


——————————————————————————————————————
(1) Howard Schneider, “US Tariffs on China may simply widen door to other countries” Reuters 5 April 2018