สนช.ไม่เห็นชอบ’ภรณี’นั่งผู้ตรวจฯ พบเรื่องอื้อฉาว เคยอ้างผู้มีอำนาจ-ไม่ตรวจสุขภาพ

สนช.ไม่เห็นชอบ “ภรณี” นั่งผู้ตรวจฯ หลังสอบประวัติพบเรื่องอื้อฉาว อ้างผู้มีอำนาจ-ไม่รับการตรวจสุขภาพ

เมื่อวันที่ 19 เมษายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ นางภรณี ลีนุตพงษ์ รองประธานผู้พิพากษาสมทบฝ่ายบริหาร ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน ด้วยเสียงไม่เห็นชอบ 117 เสียง ขณะที่เสียงเห็นชอบ มีเพียง 64 เสียง และงดออกเสียง 19 เสียง หลังจากที่ สนช.ได้ประชุมลับ เพื่อพิจารณารายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม นานกว่า 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ รายงานข่าวจาก สนช.แจ้งว่า เหตุผลที่นางภรณี ไม่ได้รับความเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เพราะมีคุณสมบัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 202 ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีสุขภาพที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ไม่ได้รับการตรวจสุขภาพจริง และการตรวจสอบประวัติเชิงลึก ตามที่คณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติฯ ได้รับ ยังพบข้อสงสัยในเรื่องความสามารถ ที่อาจจะไม่เพียงพอที่จะปฏิบัติหน้าที่ได้ และยังพบข้อร้องเรียนต่อพฤติกรรมแอบอ้างชื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ตนเองให้เข้ารับตำแหน่ง ซึ่งในการประชุมลับ สมาชิก สนช.ได้ซักถามถึงประเด็นที่เป็นปัญหา และในที่สุดการลงมติด้วยวิธีลับ ผลปรากฏกว่า สนช.ไม่ให้ความเห็นชอบในที่สุด

นอกจากนี้ การลงคะแนนดังกล่าว พบว่า สนช.ในสายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงมติไม่เห็นด้วย ขณะที่ สนช. สายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสนับสนุน

รายงานข่าวเปิดเผยว่า สำหรับชนวนสำคัญที่ทำให้ สนช. ลงมติไม่ให้ความเห็นชอบนางภรณี นั้นเป็นเพราะการส่งรายชื่อของคณะกรรมการสรรหา ที่มีนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฏีกา เป็นประธานสรรหา ใช้ความไม่รอบคอบในการพิจารณา เพราะการประกาศรับสมัครบุคคล เขียนรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน ทั้งที่ผู้ตรวจการแผ่นดินที่ต้องเข้าไปทำหน้าที่นั้น คือ ส่วนของผู้มีประสบการณ์ในการดำเนินกิจการอันเป็นสาธารณะไม่น้อยกว่า 20 ปี ทำให้มีผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงความต้องการเข้าสมัครถึง 12 คน จากยอดผู้สมัครทั้งสิ้น 14 คน

รายงานข่าวระบุว่า และเมื่อเหลือผู้ผ่านคุณสมบัติเพียง 2 คน คือ นางภรณี และ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และไม่พบการสมัครบุคคลเพิ่มเติม แต่ยังเดินหน้าลงมติเลือกโดยไม่คำนึงข้อครหาที่จะเกิดขึ้น และการลงลงมติดังกล่าวยังได้เสียงเอกฉันท์ ให้นางภรณีเข้ารับการเสนอชื่อและให้ สนช. ลงมติเห็นชอบ ดังนั้นที่ประชุมลับ สนช. ได้อภิปรายท้วงติงเป็นจำนวนมาก และให้ความเห็นด้วยว่า การเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งต่อไป ต้องประชาสัมพันธ์และเขียนรายละเอียดให้ชัดเจน เพื่อให้บุคคลที่มีความสามารถและมีประสบการณ์ด้านสาธารณะ ไม่ต่ำกว่า 20 ปี เข้าสมัคร