เรียนสุข สนุกสอน กับ sQip (2) ครูนคร กับการพัฒนาการศึกษาเชิงระบบ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เปิดฉากเรียนสุข สนุกสอน กับ sQip ตอนแรกสัปดาห์ที่แล้ว ผู้สนใจติดตามความเป็นไปหรือปวดหัวกับการศึกษาไทย คงได้รับรู้แล้ว sQip คืออะไร อาทิตย์นี้มาว่ากันต่อ

นวัตกรรมทางการบริหารการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยนี้ มีความเป็นมาเป็นไปอย่างไร

ใครคือตัวละครหลัก ที่เชื่อว่าการยกระดับคุณภาพการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการพัฒนาโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่การพัฒนาแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ เช้าชามเย็นสองชามตามระบบราชการ แต่ต้องเป็นการดำเนินการที่ต่อเนื่อง โดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้เสีย มีส่วนรวมอย่างจริงจัง ทำให้ 5 ปัจจัยหรือมาตรการที่ใส่ลงไป หรือพอมีอยู่แล้วในโรงเรียน ให้เกิดขึ้นครบถ้วนและสมบูรณ์

5 ปัจจัยอะไรบ้าง เดี๋ยวค่อยว่ากัน

 

เช้าวันนั้น กลางเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผมพบกับคุณครูนคร ตังคพิภพ อีกครั้ง หลังจากที่ได้พบกับท่านตามเวทีประชุม สัมมนา ปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางการศึกษาบ่อยครั้งในหลายๆ เวทีที่ผ่านมา

คุณครูนคร ผมชอบเรียกท่านติดปากว่า อาจารย์นคร เป็นผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และกรรมการปฏิรูปการศึกษาคณะต่างๆ เป็นผู้ก่อการ ผู้ผลักดัน ดำเนินการและรับผิดชอบโครงการที่เรียกชื่อย่อว่า sQip นี่เอง

ไม่ใช่เพียงแต่ดูแลภาพรวมของโครงการเท่านั้น แต่ลงมือปฏิบัติการด้วยตนเองในฐานะหัวหน้า Q-Coach ซึ่งก็คือหัวหน้าโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง ครูนครจึงเปรียบเสมือนครูใหญ่ของขบวนการ หรือโมเดลบริหารการศึกษาด้วย sQip ตัวจริงเสียงจริง

คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงการศึกษามาตลอดชีวิต เป็นครูจนมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ จ.เพชรบุรี เดินทางไปศึกษาดูงานการศึกษาในต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยมีการจัดการศึกษาระบบมัธยมแบบประสม หรือ คมส. ครูนครเป็นคนหนึ่งในการเกิดขึ้นของรูปแบบการจัดการศึกษาวิชาสามัญเคียงคู่ไปกับวิชาชีพ

เสียดายนโยบายนี้ถูกล้มเลิกไปด้วยเหตุผลหลายประการ

 

หลังจากเกษียณราชการแล้ว ในฐานะผู้ปฏิบัติด้วยตัวเอง เห็นปัญหา มองทะลุปรุโปร่ง ครูนครไม่เคยหยุดนิ่ง คงใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์จริงมาร่วมเสนอความคิดเห็นและลงมือทำขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา ไฟยังไม่มอดลงง่ายๆ

“โรงเรียนสังกัด สพฐ. มีหลายหมื่นโรง โรงเรียนขนาดเล็กเด็ก 1-120 คน ขนาดกลาง 121-499 คน ขนาดใหญ่ มากกว่า 500 คนขึ้นไป เรามีโรงเรียนที่มีการแข่งขันสูงจำนวนหนึ่ง เป็นโรงเรียนยอดนิยม ดำเนินงานไปได้อยู่แล้ว โรงเรียนขนาดกลางนักเรียน 200-500 คน มีราว 6,000 โรง โรงเรียนขนาดกลางเหล่านี้ โดยเฉพาะโรงเรียนขยายโอกาสจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและขยายเป็นมัธยม นี่แหละครับเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ควรได้รับการดูแล เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพการศึกษา” ครูนครเล่าก่อนพิธีเปิดกิจกรรม Workshop การใช้ประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ โครงการขยายผลระบบสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา (Q-info)

การมองไปที่โรงเรียนกลุ่มนี้เป็นเป้าหมาย ต้นธารความคิดดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2559

2 หน่วยงานสำคัญคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) โดย นพ.สุภกร บัวสาย ได้หารือกัน หาแนวทางยกระดับคุณภาพการศึกษาโดยมองภาพเชิงระบบ ด้วยการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียน

ครูนครในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิร่วมจุดประกายความคิด เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น นำผลงานวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศมาประกอบ ดึงองค์กรขับเคลื่อนทางการศึกษาหลายแห่ง ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นำชุมชนในจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ ตามโครงการพื้นที่จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง (Area-based Education) 14 จังหวัด กับ สสค. มาร่วมเสนอแนะ

รวมทั้งรับฟังความเห็นจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ และอนุกรรมาธิการด้านการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ เป็นประธาน จนตกผลึก

 

การเกิดขึ้นของ sQip จึงไม่ใช่นึกคิดขึ้นมาลอยๆ แต่มีความเป็นมาเป็นไป มีฐานทางวิชาการรองรับ ผ่านการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการหลายครั้งก่อนลงตัวเป็นโครงการชัดเจน กระทั่งสรุปนำเสนอโครงการวิจัยปฏิบัติการโรงเรียนพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง หรือ sQip ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร สสค. และ สกว. เริ่มลงมือปฏิบัติการจริงวันที่ 1 เมษายน 2560

คัดเลือกโรงเรียนขนาดกลาง 200 โรงในพื้นที่ 14 จังหวัดได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน เชียงราย ลำปาง สุโขทัย สุรินทร์ อำนาจเจริญ เพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี อยุธยา สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต เป็นโรงเรียนปฏิบัติการนำร่อง ภายในกำหนดเวลาเริ่มแรกไม่น้อยกว่า 2 ปี

สร้างและพัฒนาระบบคุณภาพโรงเรียนด้วย 5 ปัจจัย หรือ 5 Q ได้แก่ Q-coach Q-Goal Q-PLCs Q-Info และ Q-network

แต่ละ Q มีนัยความสำคัญอย่างไร ทำหน้าที่อะไร เพื่ออะไร และมีใครเป็นตัวละคร เพื่อไปสู่เป้าหมายอะไร ต้องติดตาม

พร้อมกับคำถามร่วมสมัยเช่นเคย มีของดีแล้ว ทดลองนำร่องแล้ว จะทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่พัฒนาไปได้ด้วย ภายใต้ข้อจำกัดมากมายในเชิงโครงสร้างและระบบ จะนำแนวคิด นวัตกรรม โมเดลนี้เข้าสู่ระบบการศึกษา ระบบโรงเรียนให้ยั่งยืนได้อย่างไรและใครควรตอบคำถามนี้ ยิ่งกว่าคณะผู้รังสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับการศึกษาไทย กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า