เทศมองไทย : ศักยภาพไทยในสายตา “เวิลด์แบงก์-โออีซีดี”

ในช่วงสุกดิบก่อนสงกรานต์ เมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา มีรายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยออกมาไล่เลี่ยกัน 2 ฉบับ

ฉบับแรก เป็นของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ เป็นรายงานติดตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่จัดทำขึ้น 2 ครั้งต่อปี โดยสำนักงานธนาคารโลกประจำประเทศไทย

อีกฉบับ เป็นรายงานทบทวนความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย จัดทำโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา ที่รู้จักกันดีในชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “โออีซีดี”

นัยสำคัญของรายงานทั้งสองฉบับนี้ ไม่ได้อยู่ที่เวิลด์แบงก์ คาดหมายว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ที่ระดับ 4.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2012 เรื่อยมา เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่ยังอยู่ตรงที่อูลริก ซาเกา ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย, มาเลเซีย และการเป็นหุ้นส่วนในภูมิภาคของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นศักยภาพของประเทศไทยในการก้าวไปสู่เส้นทางใหม่เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่เป็นการเติบโตในระยะยาว หาก “เพิ่มความเข้มข้นในการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง”

โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่การ “ยกระดับผลิตภาพ” เพื่อสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ “ยิ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม”

 

ธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการปฏิรูปการศึกษา, ปฏิรูปทักษะแรงงานและการลงทุนด้านสาธารณูปโภค “ที่มีคุณภาพ” แล้ว ไทยยังจำเป็นต้องเพิ่มการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในธุรกิจด้านบริการ ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวยกระดับเศรษฐกิจของไทยไปสู่แนวทางการเติบโตใหม่ที่เป็นการเติบโตในระยะยาว

สิ่งที่รายงานของธนาคารโลกเน้นเป็นพิเศษก็คือ การให้ความสำคัญต่อ “นวัตกรรม” เพื่อเพิ่มผลิตภาพและเอื้อต่อการเติบโตในระยะยาว

และเห็นว่าไทยมีโอกาสไม่น้อยที่จะทั้ง “ดึงดูด” และ “บ่มเพาะ” ผู้ประกอบการที่มี “คุณภาพ” ซึ่งพร้อมจะ “ลงทุนเชิงนวัตกรรม” ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ด้วย “นโยบายที่เป็นมิตรต่อนวัตกรรม” ต่างๆ

แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องลงมือดำเนินการในอีกหลายทาง ตั้งแต่การเปิดเสรีภาคธุรกิจบริการ, การจัดทำข้อมูลยุทธศาสตร์ชาติ และปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการปฏิรูปทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง และทำวิจัยเพื่อพัฒนา ทั้งเพื่อสร้างนวัตกรรมและเพื่อก้าวให้ทันในทางเทคโนโลยี

ในสายตาของธนาคารโลก สิ่งเหล่านี้มีบทบาทสำคัญทั้งสิ้น หากไทยต้องการก้าวไปสู่ความเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อย่างที่กำหนดเอาไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

ในรายงานชื่อ “การประเมินเบื้องต้นว่าด้วยการทบทวนประเทศไทยในหลายมิติ” ของโออีซีดี ระบุเอาไว้ว่า ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยได้สร้างความก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมที่ “น่าประทับใจ”

เศรษฐกิจไทยในช่วงดังกล่าวปรับตัวสู่ความทันสมัยได้อย่างรวดเร็ว เกิดการขยายตัวแข็งแกร่งและยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศสามารถก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (อัปเปอร์-มิดเดิล อินคัม คันทรี) ได้สำเร็จ สัดส่วนประชากรยากจนลดลงจาก 60 เปอร์เซ็นต์ เหลือเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ การศึกษาและบริการสาธารณสุขขยายออกไปมากขึ้นและดีขึ้น ทำให้ประเทศสามารถตั้งเป้าหมายก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงในปี 2036 ได้

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ที่ รายงานของโออีซีดีมองว่า “ความท้าทาย” ที่ไทยเผชิญอยู่ในการก้าวไปในเส้นทางดังกล่าวนั้น เป็นความท้าทายใหม่และมีความจำเป็นต้องหา “แหล่งที่มาของการเติบโต” ใหม่

โออีซีดีเห็นว่า “ไทยจำเป็นพลิกโฉมหน้าเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง, ต้องสร้างตำแหน่งงานที่มีคุณภาพสูงกว่าเดิม และสร้างโอกาสสำหรับประชาชนให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น โดยเฉพาะบรรดาแรงงานที่เปราะบางสูงมากที่สุดที่เคยอยู่ในรูปแบบการจ้างงานแบบเดิม”

 

ในขณะเดียวกันก็ตั้งข้อสังเกตว่า “การให้ความคุ้มครองทางสังคมยังกระจัดกระจายไม่ทั่วถึง และยังต้องการการสนับสนุนทางการเงินที่ดีกว่าเดิมอีกด้วย”

มาซามิจิ โคโนะ รองเลขาธิการโออีซีดี ชี้เอาไว้ให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายก็จริง แต่ก็ถือเป็น “โอกาสอันดี” ที่หลากหลายอย่างยิ่ง ซึ่งเปิดกว้างให้กับประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

โดยไม่ลืมย้ำเอาไว้ว่า ไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาที่ถือว่าเป็น “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญที่สุดของประเทศครับ